Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เกณฑ์ตำรวจ!....???

ที่มา:มติชนรายวัน 18 ก.พ.2556 โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



มีข่าวว่าตำรวจกำลังดำริจะ เกณฑ์Ž ตำรวจ โดยฝากให้ทหารทำให้หรือไปร่วมกับทหารทำเองในการคัดเลือกทหารเกณฑ์ประจำปี เหตุผลก็เพราะตำรวจไทยมีไม่พอ ปลดบำนาญแล้วก็ได้คนใหม่มาไม่พอทดแทน เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนั้นมีบุคลากรน้อยลงไปมาก ตำรวจตระเวนชายแดนกลายเป็นกรมแก่ๆ เพราะบุคลากรอายุสูงขึ้นมากแต่ไม่มีเด็กใหม่เข้าไปเสริม ยิ่งกว่านี้สัก 10 ปีมาแล้วเคยมีแผนให้ตำรวจมีกำลังพล 300,000 คน แต่บัดนี้ตำรวจมีกำลังพลเพียง 2 แสนกว่าเท่านั้น

ตำรวจเสนอว่า อยากได้ตำรวจเกณฑ์ปีละ 10,000 เพื่อประหยัดงบประมาณ (เพราะจ่ายเงินเดือนเพียงแค่ 9,000 บาทเท่านั้น) จะต้องได้รับการฝึกเหมือนทหาร ตำรวจผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าจะใช้ตำรวจเกณฑ์ด้านบริการประชาชนเท่านั้น ไม่ใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตำรวจผู้ใหญ่อีกบางท่านก็กล่าวว่า จะเอาไปเป็นตำรวจชายแดน เพราะหลังจากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วต้องถอนทหารตามชายแดนออก ตำรวจต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทน นอกจากนั้นก็จะให้คุ้มครองดูแลสถานที่ราชการและใช้ควบคุมฝูงชน ทั้งหมดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายทั้งนั้น ถึงอย่างไรหน้าที่ของตำรวจส่วนใหญ่ก็คือบังคับใช้กฎหมาย แม้แต่ตำรวจจราจรก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย หน้าที่บริการเป็นเพียงส่วนเสริมเล็กน้อย จะเอาตำรวจเกณฑ์มาทำคลอดริมถนนเพียงอย่างเดียวก็ดูชอบกลอยู่

วิธีหากำลังพลเพิ่มด้วยการเกณฑ์เช่นนี้ดูจะง่ายเกินไปหน่อย เพราะขัดทั้งหลักกฎหมายและหลักประชาธิปไตย



การเกณฑ์แรงงาน-ไม่ว่าเกณฑ์ทหาร หรือเกณฑ์สร้างถนน-ล้วนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งนั้น ทำกันในรัฐโบราณที่ไม่เคยประกาศแก่ใครว่า เคารพสิทธิมนุษยชน แม้แต่การเกณฑ์ทหารซึ่งทำกันในหลายประเทศปัจจุบัน ก็เป็นปัญหาให้ถกเถียงกันได้ว่า รัฐประชาธิปไตยไม่ควรทำ แม้ยอมรับว่าการมีกองทัพแห่งชาติมีความจำเป็นอยู่ แต่จะหากำลังพลให้กองทัพแห่งชาติได้อย่างไร มีแง่มุมที่ต้องคิดในเรื่องความเหลื่อมล้ำและอื่นๆ อยู่ทั้งนั้น จึงจะขอยกเว้นให้แก่การเกณฑ์ทหารไว้ก่อนในที่นี้

ตำรวจเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ (เหมือนกองทัพ แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าขอยกเว้นไม่พูดถึงกองทัพไว้ก่อน) ไม่ต่างจากกรมชลประทาน หรือกรมทางหลวง หากตำรวจใช้การเกณฑ์เพื่อหากำลังคนได้ กรมกองอื่นๆ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ในที่สุดก็เท่ากับฟื้นฟูระบบไพร่กลับมาใหม่ คนไทยแต่ละคนล้วนสังกัดกรมกองต่างๆ ทำงานเลี้ยงลูกเมียอยู่ดีๆ นายก็อาจสั่งให้ไปเข้าเวรขนหินสร้างเขื่อนสร้างถนนได้

นอกจากนี้จะคุมวินัยของตำรวจเกณฑ์อย่างไร ปลดออกก็น่าจะเป็นที่พอใจแก่คนที่ถูกเกณฑ์ หรือใช้วิธีลงโทษแบบทหาร สร้างวิธีคิดแก่เขาว่า การปราบปรามการทำผิดคือ การลงโทษทางร่างกาย จะเป็นการดีหรือแก่คนที่หน้าที่ของเขาไม่ใช่ทหารและต้องสัมพันธ์กับพลเรือนซึ่งอาจกระทำการที่เขาพิจารณาว่าผิด (ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าผิดหรือไม่ จนกว่าจะต้องคำพิพากษา) ก็แค่ตำรวจที่จ้างมาทำงานอยู่ในเวลานี้ ก็ยังคุมวินัยกันไม่ค่อยได้อยู่แล้ว

ในหลายประเทศ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินบางอย่างที่ตำรวจต้องการกำลังคนอย่างเร่งด่วน เขาใช้วิธีอาสาสมัครให้ อำนาจตำรวจŽ แก่คนเหล่านั้น (เช่นหนังคาวบอยอเมริกันคือเอาดาวมาติดที่อกเสื้อ) ตำรวจอาสาเหล่านี้ไปร่วมปฏิบัติงานเฉพาะกิจ เสร็จแล้วก็ปลดออก (เอาดาวคืนในหนังอเมริกัน) กลายเป็นพลเรือนสามัญธรรมดา สูญสิ้น อำนาจตำรวจŽ ซึ่งเคยมีเฉพาะกิจไปอย่างสิ้นเชิง ตำรวจไทยเองก็มีตำรวจอาสา แต่ให้ภารกิจจำกัดและดูเหมือนไม่ปลด อำนาจตำรวจŽ ออกอีกเลย ตราบเท่าที่ยังเป็นตำรวจอาสาอยู่

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า หน้าที่ของตำรวจนั้น (ดูแลความสงบเรียบร้อยในสังคม และบังคับใช้กฎหมายด้วยวิธีที่กฎหมายกำหนดไว้) ไม่จำเป็นต้องทำโดยตำรวจอย่างเดียว แต่ควรแสวงหาหรือขับเคลื่อนให้ประชาชนทั้งหมดเข้ามามีส่วนช่วยเหลือได้ แม้การเข้ามาช่วยของประชาชนนั้น อาจไม่มี อำนาจตำรวจŽ อยู่ในมือเลยก็ตาม
เมื่องบประมาณมีจำกัดลง ซึ่งไม่ได้เกิดกับตำรวจไทยเท่านั้น แต่เกิดกับตำรวจอังกฤษด้วย ตำรวจจะทำหน้าที่ของตนต่อไปอย่างไร มีวิธีอีกหลายอย่างนอกจากการเพิ่มกำลังพล เช่นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (ผมไม่ได้หมายความว่าตำรวจไทยไม่ได้ทำงานหนักอยู่แล้ว แต่หากมีการวางแผนอย่างดีจากผู้บังคับบัญชา งานหนักนั้นก็อาจมีประสิทธิภาพกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็ได้) ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาร่วมรับผิดชอบกับงานบางอย่างของตำรวจมากขึ้น เป็นต้น การเกณฑ์ตำรวจน่าจะไม่อยู่ในทางเลือกเลย หากผู้ใหญ่ในวงการตำรวจจะศึกษาและคิดให้มากกว่านี้

นโยบายตำรวจเกณฑ์ของ ตร.ในครั้งนี้ ทำให้ผมอยากรู้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ประเทศไทยมีตำรวจมากน้อยเพียงไร

จนถึงปีที่แล้วนี้ ประเทศไทยมีตำรวจอยู่ 230,000 นาย เท่ากับมีตำรวจ 344 นาย ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ตัวเลขก็ออกจะสูสีกันอยู่ เช่น กัมพูชามี 428 : 100,000 อินโดนีเซียมี 243 มาเลเซียมี 370 พม่ามี 154 แต่บรูไนมี 1,076 นาย และสิงคโปร์มี 752 นาย

อย่างไรก็ตาม ประเทศอาเซียนมีตำรวจต่อจำนวนประชากรค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมหาอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจแล้ว ต่างกันไกลพอสมควร เช่น จีนมีเพียง 120 นาย ญี่ปุ่นมี 197 นาย ออสเตรเลียมี 217 นาย อังกฤษมี 307 นาย และสหรัฐมี 256 นาย

สหประชาชาติให้คำแนะนำว่า แต่ละประเทศควรมีตำรวจต่อประชากร 100,000 คนอย่างน้อยที่สุดคือ 222 นาย

ดูตัวเลขทั้งหมดเหล่านี้แล้ว ไทยไม่ได้ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของเพื่อนบ้านมากนัก แต่อาจสูงกว่าคำแนะนำของสหประชาชาติไปบ้าง


ฉะนั้น เมื่อเห็นว่ากำลังพลของตำรวจไม่พอแก่การปฏิบัติงาน การมองแต่ตัวเลขกำลังพลที่มีอยู่อย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ ผมคิดว่าควรมองปัญหาให้กว้างกว่าการหากำลังพลมาเติมได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1/ ประเทศตะวันตกหลายประเทศที่มีตำรวจต่อหัวประชากรน้อยกว่าไทย รวมทั้งคำแนะนำ

ของสหประชาชาตินั้น ที่จริงแล้วตำรวจที่มีกำลังพลน้อยกว่าไทยเหล่านั้น ไม่ได้สังกัดอยู่ในองค์กรเดียวกันด้วยซ้ำ แต่กระจายอยู่ในหลาย รัฐบาลŽ

ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น การบริหารตำรวจที่รวมศูนย์อย่างไทยนั้นทำให้เกิดประสิทธิภาพได้ยาก

ทั้งในการปฏิบัติงานและการใช้กำลังพล เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ส่วนกลางจะสามารถกำกับได้ทั่วถึง อีกทั้งไม่มีทางจะรู้ว่าควรวางกำลังพลในแต่ละท้องถิ่นให้แตกต่างกันตามความจำเป็นในแต่ละท้องถิ่นซึ่งต่างกันได้อย่างไร ทุกสถานีทำงานเหมือนกันหมด ตั้งแต่สถานีตำรวจตำบลขึ้นมาถึงนครบาล นี่ก็เป็นการใช้แรงงานอย่างสิ้นเปลืองและไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง

ดังนั้น ปัญหากำลังพลจึงเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกจากการรวมศูนย์การบริหาร กิจการของตำรวจจำนวนมาก ควรถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตร.เก็บไว้แต่หน่วยงานที่การรวมศูนย์จะทำให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, กองพิสูจน์หลักฐาน, กองบังคับการปราบปราม, เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะรับโอนคดียากๆ จากท้องถิ่นมาทำ หรือให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ตำรวจท้องถิ่น หากไม่มีตำรวจคนใดใน 230,000 นาย ยอมย้ายไปเป็นตำรวจท้องถิ่นเลย ปัญหาด้านกำลังพลจะเป็นตรงกันข้าม คือจะปลดออกให้ได้ขนาดที่พอเหมาะกับภารกิจใหม่ได้อย่างไร

องค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิดเท่านั้น ที่ควรจะบังคับบัญชาตำรวจของตนเอง เพราะต้องมีใครที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในเรื่องการปฏิบัติงานของตำรวจ และคนนั้นไม่ควรเป็นนายตำรวจที่ดูแลทั้งประเทศ แต่ควรเป็นคนที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ตามกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

2/ เพราะตำรวจนั้นถืออำนาจที่เป็นอันตรายต่อประชาชนยิ่งกว่าทหารเสียอีก นั่นคืออำนาจที่จะขัดขวางยับยั้งสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้ (จับกุม, คุมขัง, ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ, ยึดทรัพย์ หรือขัดขวางการใช้เสรีภาพ เช่น การชุมนุมหรือเดินขบวน) อำนาจเช่นนี้เรียกรวมๆ ว่า อำนาจตำรวจŽ ซึ่งไม่ได้ให้ไว้แก่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ตำรวจป่าไม้ก็ใช้ อำนาจตำรวจŽ ในเงื่อนไขหนึ่ง เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ยึดทรัพย์หรือจับกุมบุคคลก็ใช้ อำนาจตำรวจŽ ในอีกเงื่อนไขหนึ่ง พลเมืองดีซึ่งเข้าจับกุมคนร้ายขณะกำลังทำผิดกฎหมายบางอย่าง (เช่นป้องกันชีวิตของผู้อื่น) ก็ใช้ อำนาจตำรวจŽ ในอีกเงื่อนไขหนึ่ง

(และนี่คือเหตุผลที่การใช้ อำนาจตำรวจŽ ไม่ว่าจะโดยผู้ใด ต้องถูกควบคุมตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเสมอ เพราะมีอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองมาก)

เมื่อมองจากแง่ของ อำนาจตำรวจŽ แล้ว เราอาจกระจายภาระหน้าที่ออกไปได้กว้างขวาง โดย ตร.ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น ตำรวจรถไฟก็น่าจะเป็นของรถไฟ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับตำรวจตรงไหน แก้กฎหมายที่จะทำให้พลเมืองดีที่มีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง (เช่นรวมกลุ่มและได้ขึ้นทะเบียนไว้กับทางการแล้ว) สามารถขัดขวางอาชญากรรมบางอย่างได้ เช่น จับกุมผู้ทำประมงอวนลากอวนรุนในเขตหวงห้ามส่งเจ้าพนักงาน (หากจับผิดหรือแกล้งจับ จะถูกฟ้องกลับว่าทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ เป็นคดีอาญา) จับผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ฯลฯ



โดยสรุปก็คือ ตำรวจสามารถกระจายการบริหารจากการรวมศูนย์ไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่น ในขณะเดียวกันก็สามารถกระจาย อำนาจตำรวจŽ ไปสู่เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ และประชาชนในวงกว้างได้ โดยมีเงื่อนไขบางอย่าง และใช้ อำนาจตำรวจŽ ได้ในวงจำกัดเฉพาะบางเงื่อนไขเท่านั้น

ตร.ไม่ต้องเกณฑ์คนพวกนี้ และไม่ต้องจ่ายเงินเดือนด้วย

ในภาวะที่ ตร.ไม่อาจเพิ่มกำลังพลได้ตามความต้องการ น่าจะเป็นโอกาสดีที่นักการเมืองและสังคม จะกลับมาคิดปฏิรูปตำรวจกันใหม่ทั้งระบบ แทนที่จะคิดง่ายๆ แต่เพียงการเรียกเกณฑ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น