ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 397 วันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2556 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 “กลุ่ม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ภายใต้การนำของ “กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล” พร้อมผู้ชุมนุมจำนวนมาก ได้รวมตัวกันที่บริเวณลาน พระบรมรูปทรงม้า จัดกิจกรรม “หมื่นปลดปล่อย” เพื่อยื่น “ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง” ที่กลุ่มนักวิชาการ “คณะนิติราษฎร์” ได้เสนอเมื่อวันที่ 13 มกราคม ให้ปล่อยผู้มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ พ้นจากความผิด ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549-9 พฤษภาคม 2554
กลุ่ม 29 มกราฯถือว่าเป็นก้าวแรกในการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน เพราะ 6 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่มีการยึดอำนาจจากคณะรัฐประหาร ทำให้ประเทศเกิดวิกฤตทางการเมือง รวมทั้งส่งผลให้ประเทศเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนถูกทำร้าย จับกุม และมีบางส่วนถึงขั้นเสียชีวิต เฉพาะปี 2553 มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐออกหมายจับตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถึง 1,857 ราย
ขณะที่ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่คือ คดีหมิ่นฯ 6 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 1 คน คดีเกี่ยวเนื่อง จากการสลายการชุมนุม 2553 จำนวน 4 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และที่เรือนจำหลักสี่ (เรือนจำการเมือง) 22 คน
ทุกข์ของนักโทษการเมือง
นางสุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำ “ปฏิญ ญาหน้าศาล” ระบุว่า การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองควรทำตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ไม่ควรปล่อยให้ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องการเลือกตั้งต้องถูกจองจำถึง 2 ปีกว่า โดยมีผู้ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาทางการเมืองถึง 1,857 คน ถูกดำเนินคดีในศาล 59 แห่งทั่วประเทศ จนกรณีอากงหรือนายอำพล ตั้งนพกุล ที่ถูกจำคุกด้วยมาตรา 112 แม้พยายามยื่นขอประกันตัวแต่ก็ไม่ได้ กระทั่งเสียชีวิตในคุก จนมาถึงกรณีนายวันชัย รักสงวนศิลป์ นักโทษการเมืองอีกคนที่เสียชีวิตในคุกเช่นกัน
ยิ่งรัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ยิ่งต้องสร้างบรรยากาศให้เป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุกออกมามีส่วนร่วมกำหนดวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หาทางออกให้ประเทศร่วมกัน ประโยชน์ของการนิรโทษกรรมไม่ได้ตกอยู่กับคนที่ถูกดำเนินคดีเท่านั้น แต่เกิดกับคนทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมเป็นประชาธิปไตย
ขณะที่กลุ่มนักโทษการเมืองได้ส่งจดหมายขอบคุณกลุ่ม 29 มกราฯ ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการนิรโทษกรรมที่จริงจังและชัดเจนที่สุด
“พวกเราต่างประสบชะตากรรมเดียวกันคือ ต้องพบกับความยากลำบากอย่างแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ ปัญหาทางด้านการเงิน การต่อสู้คดี และผลกระทบอีกมากมายที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร้ความปรานี เราทุกคนตกอยู่ในสภาพ เดียวกันคือ ต้องประสบกับช่วงที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต
มีสักกี่คนที่จะตระหนักว่าพวกเราแทบจะทั้งหมดไม่เคยคิดที่จะต้องเจอกับปัญหานี้ ไม่เคยวางแผนล่วงหน้าที่จะติดคุก ไม่เคยวางแผนที่จะรับมือกับความหายนะของครอบครัว ธุรกิจ หรือแม้แต่กระทั่งชีวิตตัวเอง เพราะพวกเราคือประชาชนคนธรรมดา”
ตั้งข้อหาเกินจริง-ขังฟรี-ไม่ให้ประกัน
การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 29 มกราฯจึงถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่เรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์เอง ร่วมมือเร่งคืนความยุติ ธรรมให้แก่นักโทษการเมืองทุกกลุ่ม อย่างที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) และเครือข่ายสันติประชาธรรม ซึ่งเคลื่อนไหวคู่ขนานกับกลุ่ม 29 มกราฯ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลคืนสิทธิและเสรีภาพให้แก่นักโทษการเมือง
แถลงการณ์ระบุว่า นับเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง จนนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวน มาก และนับตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นบริหารประเทศ กระบวนการเยียวยาให้แก่ครอบ ครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรูปของเงินชด เชย รวมทั้งการดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เริ่มไปบ้างแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี อย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมากกลับไม่ได้รับการเหลียว แลใดๆจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างจริงจังเลย
ที่สำคัญประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังหลังเหตุ การณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริง เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยง แห ขาดหลักฐาน หลายกรณีมีเพียงภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นหลักฐานเท่านั้น ทั้งมีการซ้อมและทรมานผู้ต้องขัง และหลายรายเป็นเยาวชน
นอกจากนี้ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐ ธรรมนูญ มีการใช้ข้อหาก่อการร้ายต่อผู้ต้องขัง 44 รายในลักษณะครอบจักรวาล โดยไม่มีนิยามและขอบเขตของคำว่าก่อการร้ายที่ชัดเจน ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกคุมขังเกินกว่าคำพิพากษาจำนวนมากถูกขังฟรีเป็นเวลาปีกว่า หลังจากศาลเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอและพิพากษายกฟ้อง
ร่างนิติราษฎร์-นปช.-คอ.นธ.
นอกจากร่างนิรโทษกรรมของกลุ่มนิติราษฎร์ที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นองค์กรทางรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีการกระทำความผิดอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทาง การเมืองแล้ว กลุ่ม นปช. ยังเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม และข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ) ที่เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549-30 พฤษภาคม 2554
โดยข้อเสนอของนายอุกฤษระบุว่า การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎหมายในการรักษาความสงบหรือยุติเหตุการณ์ ช่วงระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549-30 พฤษภาคม 2554 ซึ่งนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ได้แถลงการณ์สนับสนุนข้อเสนอของนายอุกฤษ เพราะเห็นว่ามีความชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้มากกว่าร่างของทุกฉบับ ทั้งเรียกร้องคู่กรณีให้ใช้ความเจ็บปวดในอดีตมาเป็นบทเรียนเพื่อฝ่าข้ามวิกฤต ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการนำเสนอกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับแก่ทุกฝ่าย และสามารถนำไปดำเนินการโดยเร็วที่สุด ทั้งรัฐบาล เจ้าหน้าที่ ผู้นำเหล่าทัพ และแกนนำทุกฝ่ายไม่ตั้งข้อรังเกียจการนิรโทษกรรมประชาชน
ไม่ผิดต้องเยียวยาและชดใช้
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายอุกฤษที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. ดำเนินการว่าเป็นหลักการที่มาถูกทางแล้ว คลายความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะนิรโทษกรรมเฉพาะบุคคลที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม การต่อสู้ขัดขืน การทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สินผู้อื่น แต่ไม่รวมนักการเมือง แกนนำ หรือผู้มีบทบาทนำคนออกมาชุมนุม คล้ายกับ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของ นปช. เพราะเหตุการณ์การชุมนุมผ่านมานาน แล้ว ผู้ชุมนุมที่ได้รับเคราะห์กรรม ความไม่เป็นธรรมยังมีอยู่เยอะ คนที่รอการเยียวยายังมีอยู่ จึงถึงเวลาที่จะนำเรื่องนี้มาคุยกัน ไม่เหมือนการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่เกิดความตึงเครียด เพราะจะนิรโทษกรรมแบบยกเข่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วย
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ไม่ว่าข้อเสนอของ นปช. หรือกลุ่มนิติราษฎร์ เพราะประชาชนที่ติดคุกนานเป็นปี เท่ากับว่าชีวิตถูกทำลาย ไม่สามารถ ทำมาหากินได้ ครอบครัวอาจแตกแยก หากศาลตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิดก็ต้องให้ได้รับสิทธิเยียวยาจากสิ่งที่สูญเสียไป
แต่ พล.อ.เอกชัยได้ตั้งข้อสังเกตข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้ตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นองค์กรทางรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คนว่าจะเชื่อถือได้อย่างไร หากการทำงานไม่ต่างจากองค์กรอิสระจะทำอย่างไร การเสนอกฎ หมายนิรโทษกรรมในช่วงเวลานี้นับว่าเหมาะสม แต่เหมาะสมเพียงแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่บรรเทาความขัดแย้งในระยะสั้น เพราะภาพใหญ่อย่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะแก้ไขความขัดแย้งในระยะยาวยังค้างอยู่ในสภา รัฐบาลซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องผลักดันกลับไม่กล้าเดินหน้า เนื่องจากเกรงว่าจะถูกล้มเหมือนการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 และการทำประชามติ รัฐบาลก็ไม่กล้าเดินหน้า หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโอกาสที่จะจบความขัดแย้งอย่างราบรื่นคงยาก ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยังหาทางบรรจบกันไม่ได้
“เพราะหลักเกณฑ์การสร้างความปรองดองคือต้องค้นหาความจริง อย่างที่กระบวนการยุติธรรม กำลังเดินหน้าเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และต้อง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้น”
วิวาทะ “โอ๊ค-มาร์ค”
แม้การนิรโทษกรรมจะได้รับการตอบรับจากหลายฝ่าย แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยอมรับได้หากเป็นการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้จะยังอ้างว่าต้องดูรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. ก่อนว่ามีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ เพราะหากมีอะไรซ่อนเร้นก็พอเดาออกได้ รวมทั้งต้องดูว่าคำจำกัดความและความหมายเรื่องผู้สั่งการมีแค่ไหน
แต่ยังไม่น่าสนใจเท่ากับการที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊คภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณและน้องสาวที่กำลังเดินเล่นในห้างดูไบ พร้อมระบุว่า ครอบ ครัวถูกกลั่นแกล้งจนไม่ได้เจอกันพร้อมหน้า และเริ่มชินที่ไม่ได้กลับเมืองไทยแล้ว แต่ยังเป็นห่วงประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จึงรับคำท้าของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุว่าให้อภัยโทษนักโทษการเมืองทุกคน ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่านายอภิสิทธิ์จะทำจริงหรือไม่
“หรือเป็นเพียงลมปากเกรียนๆ เท่ๆ ถ้าพูดจริง-ทำจริง ยืนยันมาเลยครับ เปิดประชุมสภาสมัยนี้จะได้เห็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันบำบัดทุกข์-บำรุงสุขแบบไร้รอยต่อให้กับพี่น้องประชาชนเสียที
ทักษิณโดนโทษจำคุก 2 ปี โทษฐานที่เมียไปซื้อที่ดิน กับอภิสิทธิ์-สุเทพสลายการชุมนุม มีคนตายเกือบร้อย จะโดนโทษอะไรยังลุ้นกันอยู่ สมน้ำสมเนื้อกันดี ดีลนี้ตกลงเลยครับ”
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวสนับสนุนแนวคิดของนายพานทองแท้ว่าเป็นเจตนาที่ดีในการแสดงความจริงใจที่คิดว่าการนิรโทษกรรมผู้มาร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่ควรถูกจำคุก โดยเชื่อว่านายพาน ทองแท้คงมั่นใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์จากคดีที่ดินรัชดาฯอยู่แล้ว เมื่อเทียบข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่างกันราวฟ้ากับเหว จึงหวังว่าพรรคประชาธิ ปัตย์จะรับคำท้าด้วยดี
ส่วนนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงคำท้าของนายพานทองแท้ว่า ตนรอฟังคำตอบจากปาก พ.ต.ท. ทักษิณเช่นกันว่าจะไม่นิรโทษกรรมตัวเองและเดินทางกลับประเทศไทยมาสู้คดี ส่วนที่ คอ.นธ. มีข้อเสนอให้นิรโทษกรรมก็ไม่ขัดข้อง และเห็นด้วยกับแนวทางนิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่พ่วงคดีอาญาและคดีการทุจริตเข้ามาด้วย โดยเฉพาะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ
“ไม่ควรเอากลุ่มคนเสื้อแดงมาเป็นตัวประ กัน เพื่อที่จะนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และหากรัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมตามแนวคิดดังกล่าวก็สามารถมาคุยกับฝ่ายค้านได้ เราพร้อมให้การสนับสนุน โดยต้องคุยกันในจุดที่เห็นตรงกัน แต่แนวทางการปรองดองที่ไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะติดขัดอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
คืนความยุติธรรมแก่ประชาชน
การเคลื่อนไหวให้นิรโทษกรรมนักโทษทาง การเมืองจึงมีความเป็นไปได้สูง ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีความจริงใจหรือไม่ก็ตาม แต่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประชาชนที่ต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมืองส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ การนิรโทษกรรมจึงอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ความเห็นใจจากคนเสื้อแดงก็ได้ รวมถึงคนเสื้อเหลืองที่มีคดีจ่อคอหอยอยู่
การนิรโทษกรรมครั้งนี้บางฝ่ายอยากให้รวมไปถึงนักโทษและผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 ด้วย โดยเฉพาะกรณีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ถูกตัดสินจำคุก 11 ปีนั้น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก เพราะองค์กรระ หว่างประเทศและสหภาพยุโรปเห็นว่าเป็นการบ่อน ทำลายอย่างร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน เป็นการถอยหลังอย่างร้ายแรงในเรื่องเสรีภาพการแสดง ออก และเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย
และก่อนมีคำพิพากษาคดีนายสมยศเมื่อวันที่ 23 มกราคม องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ส่งข้อความถึงสมาชิกทั่วโลกเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 แสดงความกังวลถึงการพิจารณาคดีของนายสมยศ และได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ร่วมกันส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลไทยผ่านทางนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนายสมยศโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะถือว่านายสมยศเป็น “นักโทษทางความคิด” (prisoner of conscience) ที่ถูกควบคุมตัวเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ
การเคลื่อนไหวเพื่อให้นิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ไม่ว่ารัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรค การเมืองต่างๆต้องไม่ละเลยนักโทษทางความคิด ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาในมาตรา 112 ที่ทุกฝ่ายทราบดีว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง
แม้การนิรโทษกรรมจะไม่ทำให้เกิดความปรองดองในทันที แต่ อย่างน้อยก็ลดความ ขัดแย้งที่ฝังลึกได้ระดับหนึ่ง เพราะได้คืนความยุติธรรม ให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น