Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทางรอดพลังงานไทย : รัฐหนุนผลิตไฟฟ้าหญ้าเนเปียร์7พันเมกะวัตต์

ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



"พงษ์ศักดิ์" ประกาศหนุนชุมชน-เกษตรกร ปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 7 พันเมกะวัตต์ ภายใน 10 ปี เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน


นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา "Green Energy Forum พลังงานสีเขียว ดุลยภาพสู่ความยั่งยืน" จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด ว่า แนวนโยบายพลังงานที่สำคัญก็คือการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ โดยกระทรวงพลังงานจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ หรือหญ้าเลี้ยงช้าง ซึ่งหญ้าชนิดนี้เพาะปลูกง่ายให้ผลผลิต 36-80 ตันต่อไร่ และสามารถปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง และมีราคาขายไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อตัน โดยผลผลิตในระดับต่ำสุดที่ 36 ตันต่อไร่ จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่าการปลูกมันสำปะหลัง

ทั้งนี้ จากการประเมินของกระทรวงพลังงาน พบว่าการปลูกหญ้าเนเปียร์ 1 พันไร่ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะตั้งกองทุน สนับสนุนด้านการเงินให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกรรายย่อย เข้ามาร่วมมือกับภาคเอกชน ในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ โดยเกษตรกรเป็นผู้ปลูกหญ้า และโรงไฟฟ้าจะเข้ามารับซื้อในราคาประกัน รวมทั้งเป็นผู้เก็บเกี่ยวเอง ซึ่งจะเป็นการกระจายผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม

@ตั้งเป้าผลิต 7 พันเมกะวัตต์ ภายใน 10 ปี

สำหรับเป้าหมายของการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์นั้น ในเบื้องต้นจะส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 7 พันเมกะวัตต์ จากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนทั้งประเทศ 20% จากเป้าหมายแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (2555-2564) โดยมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เพราะประเทศเยอรมันซึ่งเป็นแม่แบบในโครงการนี้ มีศักยภาพในการปลูกหญ้าต่ำกว่าไทย แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 7 พันเมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ และภูมิอากาศที่เหมาะสมกว่า จึงเชื่อว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ รัฐบาลอุดหนุนค่าไฟฟ้า หรือ ฟีดอินทารีฟ เพียง 4.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าการอุดหนุนพลังงานทดแทนหลายชนิด ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าไม่มาก โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และการตั้งกองทุนในการสนับสนุน คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมภายในปี 2558

"ปัจจุบันได้มีการตั้งโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์นำร่องแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนในปีหน้าจากนั้นจะขยายพื้นที่การปลูกหญ้าเนเปียร์ และตั้งโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่จังหวัดนครราชสีมาต่อไป ซึ่งคาดว่าการส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์นี้ จะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร และสร้างความมั่นคงทางไฟฟ้าให้กับประเทศชาติ"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

@เล็งสร้างสมดุลพลังงานสีเขียว

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในการส่งเสริมพลังงานสีเขียว รัฐบาลจำเป็นต้องมองถึงสมดุลทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟ ซึ่งหญ้าเนเปียร์เป็นทางเลือกหนึ่งนอกจากพลังงานแสงอาทิตย์ และยังต้องการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหากไม่มีปัญหาการคัดค้านและการทำความเข้าใจ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมทั้งการเจรจากับพม่า เพื่อพัฒนาโครงการพลังน้ำจากแม่น้ำสาละวิน

ปัจจุบันไทยมีการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติสูงถึง 67% ในขณะที่ในปีที่ผ่านมามี พีคของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นถึง 7 ครั้ง ซึ่งหากการใช้ไฟฟ้ายังเติบโตในอัตราที่สูงอย่างในปัจจุบัน ในอีก 2 ปีข้างหน้าอาจจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้รับคำถามจากผู้ลงทุนอยู่เสมอถึงแผนการเพิ่มกำลังผลิตและสำรองไฟฟ้าของประเทศไทย
ปรับโครงสร้างราคาหนุนประสิทธิภาพ


นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงสร้างราคาพลังงานที่สะท้อนต้นทุนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยส่งเสริมการประหยัดและประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ซึ่งมีผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่าการสร้างโรงไฟฟ้า หรือการส่งเสริมพลังงานทดแทนเสียอีก

รัฐบาลควรจะเดินหน้านโยบายการปรับราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อเป็นตัวอย่าง ว่า ราคาพลังงานสามารถปรับขึ้นได้ ไม่ใช่คอยแต่ดึงให้ราคาพลังงานต่ำ ทำให้คนรู้สึกว่าพลังงานถูกอยู่ตลอดเวลา และรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลืออยู่เรื่อย ซึ่งเงินที่เข้าไปใช้ในการอุดหนุนราคาพลังงานที่ผ่านมาก็ล้วนแต่เป็นเงินภาษีของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวของ คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนไหน

@เล็งตั้งโรงงานผลิตไบโอเจ็ทจากสบู่ดำ

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. มีแผนที่จะผลักดันให้รัฐบาลกลับมาส่งเสริม การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำอีกครั้ง เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถบังคับให้ผลสบู่ดำสุกพร้อมทั้งกว่า 80% ทำให้ลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยว จนทำให้ต้นทุนการผลิตทั้งหมดเท่ากับน้ำมันปาล์ม

นอกจากนี้ น้ำมันไบโอดีเซลที่ได้จากสบู่ดำ มีคุณสมบัติพิเศษไม่เป็นไขในอุณหภูมิต่ำ ทำให้เหมาะที่จะนำไปผลิตเป็นไบโอเจ็ทใช้ในเครื่องบิน และยังไม่กระทบกับพืชอาหาร ทำให้ต่างชาติหันกลับมาให้ความสำคัญกับสบู่ดำ

ล่าสุดอยู่ระหว่างการดึงบริษัทผลิตไบโอเจ็ต จากสบู่ดำเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสิทธิประโยชน์การลงทุนของไทย ว่าดีกว่าประเทศอื่นหรือไม่ ซึ่งหากเข้ามาตั้งโรงงานในไทย คาดว่าจะมีกำลังผลิตประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะสามารถดึงสายการบินต่างๆ เข้ามาเติมไบโอเจ็ทในไทยได้อีกมาก

"ปัจจุบันพลังงานสีเขียวกำลังเจ็บป่วยและต้องการหมอ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนพลังงานทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานชีวมวล และไบโอแก๊สมากขึ้น"

@วินด์เอนเนอร์ยี่ลุยพลังงานลม

นายนพพร ศุภพิพัฒน์ กรรมการบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ในปัจจุบันรัฐบาลได้ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมไว้ที่ 1.2 พันเมกะวัตต์ แต่ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมของประเทศไทยทั้งหมด มีอยู่ประมาณ 3 พันเมกะวัตต์ โดยบริษัทมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากลม 2 โครงการ รวมทั้งสิ้นจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 207 เมกะวัตต์ โดยจะมีกังหันลมทั้งโครงการ 90 ต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2560

นอกจากแผนการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในไทย 1 พันเมกะวัตต์ แล้ว ยังมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ในเอเชียอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ โดยประเทศที่มีศักยภาพ คือ เวียดนามและอินเดีย ซึ่งในประเทศเวียดนามได้เข้าไปศึกษาในรายละเอียดแล้ว คาดว่าจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากลมประมาณ 200 เมกะวัตต์ และที่อินเดียตอนใต้อีก 200-300 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในหนึ่งปีข้างหน้านี้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น