Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

3 ทหารหน่วยรบพิเศษบนราง BTS เบิกคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ รับยิงกระสุนจริงเข้าวัด

จาก ประชาไท


ภาพที่ถูกถ่ายจากดาดฟ้า สตช.เย็นวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งพยานรับเป็นทหารในหน่วย


จากการไต่สวนการตาย 6 ศพ วันปทุมฯ ทหารรบพิเศษ 3 นาย เบิกความรับทหารในหน่วยยิงเข้าไปในวัดจริง

แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ยิง รับทหารในภาพบนรางรถไฟหน้าวัดเป็นทหารหน่วยเดียวกัน ชี้มีกลุ่มติดอาวุธยิงตอบโต้ จนท.ตรงตอม่อรถไฟฟ้า และเสื้อขาวยิงมาจากกุฏิวัด จึงยิงกระสุนจริงสวนกดดัน นัดไต่สวนต่อ 21 ก.พ.นี้

 
14 ก.พ.56 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี


โดยพนักงานอัยการนำประจักษ์พยานเข้าเบิกความรวม 3 ปาก ประกอบด้วย พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ สังกัด ฝ่ายกิจการพลเรือน ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันรบพิเศษที่ 1 กรมรบพิเศษที่ 3 ในฐานะ หัวหน้าชุดทหารรบพิเศษ ที่ปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าสถานีสยาม ระหว่างวันที่ 18 และ 19 พฤษภาคม 2553 รวมด้วยจ่าสิบเอกสมยศ ร่มจำปา อายุ 45 ปี และสิบเอกเดชาธร มาขุนทด อายุ 38 ปี ทหารจากกองพันชุดจู่โจม รบพิเศษ 3 ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี ในฐานะทหารชุดปฏิบัติการบนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯ


พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ เบิกความว่า ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติการร่วมกับ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.53 โดยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา หน่วยรบพิเศษที่ 3 เพื่อรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่ ในวันที่ 10 เม.ย.53 บริเวณสี่แยกคอกวัว พื้นที่ที่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รับผิดชอบอยู่ มีการยิงกันอย่างหนักเป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิต

ส่วนที่พยานรับผิดชอบอยู่คือบริเวณสะพานมัฆวาน จากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.53 ศอฉ.พบว่ามีกลุ่มบุคคลที่แอบแฝงอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและใช้กำลัง จึงได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยวิธีการจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน ส่วนบุคคลที่ใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารให้ใช้วิธีการที่เรียกว่า “กฎการใช้กำลังของกองทัพไทย” โดย ศอฉ.ได้ประกาศกฎการขอคืนพื้นที่และการใช้อาวุธ


ภายหลังเดือน เม.ย.53 ผู้ชุมนุมประกาศจัดการชุมนุมที่บริเวณสีลม พยานจึงได้รับคำสั่งให้มาระวังป้องกันให้กับกองพลทหารม้า พยานจึงได้มายังพื้นที่ถนนสีลมตรงจุดทางเชื่อต่อรถไฟฟ้าบริเวณสี่แยกศาลาแดงหน้าบริเวณโรงแรมดุสิตธานี ตอมาวันที่ 15 พ.ค.53 ได้รับคำสั่งให้ระวังป้องกันให้กับกลุ่มทหารที่อยู่บริเวณถนนราชปรารภ โดยก่อนที่พยานจะเข้าไปนั้นมีคนใช้อาวุธปืนยิง M79 ตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บริเวณแยกราชปรารภ เมื่อหน่วยของพยานเข้าไปจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงคุ้มกันเพื่อไม่ให้คนที่มีอาวุธปืนดังกล่าวยิงมายังเจ้าหน้าที่ทหาร


ต่อมาวันที่ 18 พ.ค.53 ศอฉ. ต้องการกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ พยานและหน่วยของพยานจึงประจำที่แยกปทุมวัน ในเวลา 17.00 น. ต่อมาในวันที่ 19 พ.ค.53 พยานและหน่วยพยานได้ขึ้นไปประจำบนสถานีรถไฟฟ้าคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 2 รอ.) โดยทหารดังกล่าวมีหน้าที่คุ้มกันประชาชนที่ต้องการเดินทางออกจากพื้นที่กลับยังภูมิลำเนา โดย ศอฉ. ได้เตรียมรถเพื่อรับผู้ชุมนุมอยู่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์และมีการส่งข้อความหากลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อแจ้งว่าสามารถเดินทางออกจากพื้นที่การชุมนุมได้ โดยวันที่ 19 พ.ค.53 เวลา 13.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมแจ้งความประสงค์ว่าต้องการจะเดินทางออกจากพื้นที่ประมาณ 200 คน หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุมเดินทางออกมาจากพื้นที่ชุมนุม


และเวลาต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงหนังสยาม พยานได้รับคำสั่งจาก ร.31 พัน 2 รอ. ให้ พยานไปตรวจค้นบริเวณแนวบังเกอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ ร.31 พัน 2 รอ. เดินทางนำเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไปยังโรงหนังสยาม ขณะรับคำสั่งนั้นพยานประจำอยู่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ โดยก่อนหน้าที่พยานและหน่วยได้รับคำสั่งทราบว่ามีกองกำลังติดอาวุธยิงกระสุนมายังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถปฏิบัติงานได้


ศอฉ.มีคำสั่งให้หน่วยของพยานที่มีประมาณ 60 คน ทำหน้าที่ป้องกันให้กับหน่วยภาคพื้น ซึ่งมี ร.31 พัน 2 รอ. ปฏิบัติหน้าที่บนพื้นราบ ส่วนหน่วยของพยานประจำอย่าบนสถานีรถไฟฟ้าเพื่อทำหน้าที่ระวังป้องกัน โดยหน่วยของพยานใช้อาวุธปืน M16


วันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 15.00 น. หน่วยของพยานได้ปฏิบัติการระวังป้องกันโดยเริ่มจากแยกปทุมวันฯ หลังจากนั้นได้เดินบนสะพานลอยรถไฟฟ้ากระทั้งข้ามแยกปทุมวัน และเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้าสยาม โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานที่อยู่ด้านหน้าทำการสำรวจ ขณะนั้นมีชาย 2 คนใช้อาวุธปืนยิงใส่ โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานแจ้งว่าชาย 2 คนดังกล่าวยืนอยู่บริเวณแยกเฉลิมเผ่าตรงจุดที่รถ 6 ล้อจอดอยู่ ขณะนั้น ร.31 พัน 2 รอ. ได้แจ้งให้หน่วยของพยานถอนตัวออกมาจากบริเวณดังกล่าวก่อนเนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งเกรงว่ายังคมมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลงเหลืออยู่บริเวณดังกล่าว ขณะที่หน่วยของพยานถอนตัวนั้นพยานทราบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมหลบเข้าไปในวันปทุมฯ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


ขณะที่หน่วยของพยานได้รับคำสั่งให้ถอนตัวออกจากบริเวณดังกล่าว ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานยิงไปยังบริเวณรถ 6 ล้อ ที่บริเวณแยกเฉลิมเผ่าเพื่อกดดันไม่ให้ชาย 2 คนที่มีอาวุธ โดยนอกจากยิงไปยังบริเวณรถหกล้อแล้วยังยิงไปยังตอหม้อเสารถไฟฟ้า จากนั้นหน่วยของพยานได้ถอนออกมาจากบริเวณดังกล่าวแล้วมายังบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ หลังจากนั้นเห็นเพลิงไหม้ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ร.31 พัน 2 รอ. ได้รับคำสั่งให้อำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพื่อไปยังห้างเซ็นทรัลเวิลด์และบริเวณสยามสแควร์


พยานทราบว่า ศอฉ. ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารที่แยกเพลินจิตร แยกปทุมวันและแยกสีลม ให้อำนายความสะดวกให้รถเข้าไปดับเพลิงที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์และบริเวณสยามแควร์ หากทางด้านใดใน 3 ทางนั้นอำนวยความสะดวกได้ก็ให้อำนวยการไป โดย ร.31 พัน 2 รอ. ที่ประจำอยู่ แยกปทุมวันนั้น ไปทางพื้นราบถนนพระราม 1 และอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพื่อไปยังสยามสแควร์และห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยหน่วยของพยานจะประจำป้องกันให้บนพื้นที่สูง บนรางรถไฟฟ้าสถานีสนามกีฬาแห่งชาติและเดินไปกระทั้งถึงสถานีสยามสแควร์


โดยหน่วยของพยานจะทำการล้อมป้องกันไม่ให้บุคคลใดยิงปืนมายังเจ้าหน้าที่ทหาร ร.31 พัน 2 รอ. ที่ประจำอยู่บริเวณภาคพื้นดิน หน่วยของพยานเดินทางไปบนรางรถไฟฟ้าชั้น 2 และชั้น 3 บนสถานีสนามกีฬาแห่งชาติมาจนกระทั้งถึงก่อนชานชาลาสถานีสยามมองเห็นตาขายสีเขียวและกองยางรถยนต์วางปิดกั้นอยู่จนไม่สามารถมองเข้าไปเห็นด้านในของชานชาลาของสถานีรถไฟฟ้าสยามได้ ตรวจพบเศษอาหารและระเบิดเพลิงกองอยู่ 5-6 ขวด


หน่วยของพยานเดินทางออกจากสถานีรถไฟฟ้าสยามกีฬาเวลาประมาณ 17.20 น. และไปถึงสถานีสยามเวลาประมาณ 18.00 น. เหตุที่ทราบเนื่องจากได้ยินเสียงเพลงชาติ และพยานได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้าชั้น 2 และ 3 ตั้งแต่สถานีจนถึงท้ายของชานชาลา เนื่องจากชั้นที่เป็นสถานีจำหน่ายตั๋วนั้นพยานไม่สามารถเดินเข้าไปได้เพราะมีตะแกรงเหล็ก


ขณะที่ประจำอยู่บริเวณชั้น 3 ของสถานีรถไฟฟ้าเห็นรอยไหม้ของร้านเสริมสวยบริเวณสยามสแควร์ ซึ่งพยานเห็นว่าน่าจะเกิดจากการขว้างระเบิดเพลิงจากบนลงล่าง พยานยังได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำคีมมาตัดตะแกรงเหล็ก ขณะรอนั้นหน่วยของ ร.31 พัน 2 รอ. ได้ประจำอยู่ด้านล่างของสถานีรถไฟฟ้าสยาม ขณะนั้นได้ยินเสียงปืนดังมาจากแยกเฉลิมเผ่า ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ประจำอยู่บริเวณชั้น 2 ของสถานีรถไฟฟ้า ได้ยินเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.31 พัน 2 รอ. ด้านล่างร้องขอความช่วยเหลือ ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.31 พัน 2 รอ. ขึ้นจากบันไดด้านล่างมายังชั้นจำหน่ายตั๋วของสถานีฯ แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากตะแกรงเหล็กปิดกั้นอยู่


พยานจึงสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้า 2 ทำหน้าที่ระวังป้องกันให้กับทหาร ร.31 พัน 2 รอ. จากนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานได้แจ้งว่ามีกลุ่มคนยิงปืนมายังชั้น 2 ของสถานีรถไฟฟ้าสยาม โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานได้ปฏิบัติตามกฎของกองทัพไทยที่เริ่มต้นด้วยการเตือนก่อน จากนั้นยิงอาวุธปืนเล็งมายังพื้นถนนซึ่งไม่ได้มุ่งหมายไปยังบุคคล แต่หากยังมีภัยคุกคามอยู่อย่างต่อเนื่องจึงจะยิงไปยังกลุ่มคนเพื่อกดดันให้ถอยร่นไป


หลังจากนั้นเวลา 18.10 น. หลังจากหน่วยของพยานได้ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้น 2 ชั้น 3 และชั้นล่างตรงสถานีเพื่อเฝ้าระวังให้หน่วยที่ปฏิบัติยังภาคพื้นซึ่งขณะนั้น เวลาประมาณ 18.00 น. หน่วยพยานได้เคลื่อนกำลังจากสถานีรถไฟฟ้าสยามไปกระทั้งด้านหน้าวัดปทุม โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของพยาน 7 นายเคลื่อนที่บนรางรถไฟฟ้าชั้น 2 ไปจนกระทั้งบริเวณหน้าวัดปทุม เนื่องจากขณะนั้นมีภัยคุกคามเกิดขึ้นภายในวัดปทุมและบริเวณนอกวัด โดยภัยคุกคามนั้นหมายถึงคนที่อยู่ในวัดปทุมและนอกวัดยิงปืนใส่


เวลาประมาณ 18.20 น. พยานได้เรียกกำลังทั้ง 7 นาย กลับมาประจำการอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าสยามและพยานประจำอยู่ที่สถานรถไฟฟ้าสยามจนกระทั้งวันที่ 21 พ.ค.53 เมื่อวันที่ 20 พ.ค.53 หน่วยของพยานได้รับคำสั่งให้เฝ้าระวัง ร.31 พัน 2 รอ. เข้าตรวจค้นในวัดปทุม โดยหน่วยของพยานประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าเช่นเดิม ศอฉ.ให้ ร.31 พัน 2 รอ. เข้าไปตรวจค้นในวัดปทุมและนำกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากวัด


ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดหน่วยของพยานใช้กระสุนปืนน้อยมากแต่จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ ในการปฏิบัติหน้าที่หน่วยของพยานไม่มีเจ้าหน้าที่ในหน่วยผู้ใดได้รับบาดเจ็บ พยานได้ทราบจากรายงานของสื่อมวลชนว่าภายในวัดปทุมมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในวันที่ 19 พ.ค.53


ในการปฏิบัติหน้าที่หน่วยของพยานมีประมาณ 60 นาย ได้รับคำสั่งโดยตรงจาก ศอฉ. ให้ M16 ชนิด A2 และ A4 ซึ่งจะใช้กับลูกกระสุนปืน M866 มีหัวสีเขียว กระสุนปืน M855 มีหัวสีเขียวสามารถใช้กับปืนทราโวหรือปืนชนิดอื่นได้ด้วย และสามารถให้กับ M16 ชนิด A1 ได้ แต่ประสิทธิภาพในการยิงอาจจะลดลงและอาจจะก่อให้เกิดการชำรุดของปืน หน่วยของพยานไม่มีพลซุ่มยิง หน่อยของพยานจะทำหน้าที่ระวังป้องกันเมื่อมีการร้องขอ และเป็นหน่วยที่ชำนาญที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ในเมือง


ตามกฎการใช้กำลังหากมีการใช้อาวุธปืนหรือขว้างระเบิดเพลิงมายังเจ้าหน้าที่ทหารๆ สามารถจะยิงปืนไปเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการกระทำนั้นต่อไป แต่จะไม่ยิงไปเพื่อมุ่งหมายต่อชีวิต


ภาพที่ปรากฏบนรางรถไฟฟ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของพยาน ขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้านั้นจะรายงานมายังพยานผ่านทางวิทยุสื่อสาร หากจะใช้อาวุธปืนยิง จ่าสิบเอกสมยศ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตพยานก่อน ขณะที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าพยานอยู่ตรงกลางสถานีและมอบภารกิจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปตรวจระวังป้องกันตามที่ได้รับการร้องขอ โดยผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานได้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณหน้าวัดปทุมบนรางรถไฟฟ้า


ซึ่งภายหลังได้รับรายงานด้วยว่าจ่าสิบเอกสมยศ ได้ยิงปืนไปยังบริเวณหน้าศาลและผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานอีก 1 นาย ได้ยิงปืนไปยังบริเวณรถซึ่งจอดภายในวัดปทุมด้วย ซึ่งเป็นการรายงานด้วยวาจาหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่
หน่วยของพยานได้เคยฝึกควบคุมฝูงชนและปราบจลาจล กระสุนปืนที่พยานใช้นั้นหากยิงไปกระทบของแข็งกระสุนปืนจะแตกกระจายออก จึงเป็นไปได้น้อยมากที่จะแฉลบ การที่กระสุนไประทบของแข็งจะแฉลบได้นั้นจะต้องทำมุม 10-15 องศา เท่านั้น กระสุนที่ไปกระทบของแข็งหรือปูนจะมีการกระจายออกรอบทิศทาง


จ่าสิบเอก สมยศ ร่มจำปา เบิกความกรณีการชุมนุมของ นปช. นั้น พยานมาปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 5 พ.ค.53 ภายใต้การบังคับบัญชาของ ศอฉ.และผู้บังคับบัญชาคือ พ.ท.วินัย พิมาย ที่เป็นผู้บังคับกองพัน ส่วน พ.ท.นิมิตร วีรพงษ์ นั้นพยานมาขึ้นต่อการบังคับบัญชาในวันดังกล่าว ซึ่งประจำอยู่ที่ราบ 11 แล้วไปที่บริเวณสี่แยกสีลม และในวันที่ 15 พ.ค.ได้ไปประจำการอยู่ที่แอร์พอตลิงค์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอาคารสถานที่ หลังจากนั้นพยานได้กลับไปที่ราบ 11 อีก จนวันที่ 18 พ.ค.53 ได้เดินทางลงรถที่กระทรวงพลังงานและได้เคลื่อนไปที่สถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬา มีคำสั่งให้รักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าทีทหารจากกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.31 พัน 2 รอ.)

วันที่ 19 พ.ค.53 เวลาประมาณ 10.00 น. ศอฉ. เริ่มมีการประกาศให้ประชาชนทยอยออกมาจากพื้นที่ชุมนุมมาทางด้านสนามกีฬา โดยพยานยังรักษาความปลอดภัยให้กับ ร.31 พัน 2 รอ. ในด้านล่างและคุ้มกันกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการออกพื้นที่

ต่อมาก่อน 15.00 น. ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา คือ พ.ท.นิมิตร ให้เข้าไปเคลียร์พื้นที่ด้านล่างที่มีกองยาง ถังน้ำมันและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ที่อยู่บริเวณหน้าสนามกีฬาไปจนถึงแยกปทุมวัน รวมทั้งให้ดูแลคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เนื่องจากในตอนนั้นโรงภาพยนตร์ สยาม เกิดเหลิงไหม้แล้ว

ซึ่งขณะนั้นพยานเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการมีกำลัง 9 นาย หลังจากได้รับคำสั่งให้เคลียร์พื้นที่เข้าไปในพบเต้นท์และสิ่งกีดขวางกองอยู่และได้ยินเสียงปืนมาจากด้านหน้า โดยก่อนหน้าพยานจะเข้าไป ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปชุดหนึ่งแล้วในพื้นราบ ขณะนั้นพยานอยู่เลยบริเวณแยกปทุมวันฯ ไปประมาณ 15 เมตร จึงทำให้เข้าไปต่อไม่ได้ เนื่องจากถูกยิงโดนมาจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย จึงกลับไปอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาแห่งชาติ อย่างไรก็ตามตอนที่ได้รับแจ้งว่ามีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงสกัดนั้น พยานไม่ได้เห็นด้วยตาแต่มีการวิทยุมาแจ้ง

จนกระทั่งเวลา 17.00 น.เศษ มีการจัดกำลังใหม่ เคลื่อนที่ไปยังสถานีรถไฟฟ้าสยามฯ โดยมีคำสั่งจาก พ.ท.นิมิตร เนื่องจากในตอนนั้นเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ห้าง CTW สำหรับเหตุที่ต้องเคลื่อนกำลังเนื่องจากตอนนั้นหน่วย ร.31 พัน 2 รอ. จะต้องเคลื่อนไปด้านล่าง หน่วยของพยานมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับหน่วยดังกล่าว แกละจะต้องพาพนักงานดับเพลิงไปดับไฟด้วย โดยขณะนั้นหน่วยของพยานได้เคลื่อนไปที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม บนชานชรารถไฟฟ้าชั้นล่าง เริ่มออกเวลาประมาณ 17.30 น. ก่อนถึงสถานีสยามประมาณ 5 เมตร พบบังเกอร์และสแลนตาข่ายสีเขียวดำที่เป็นของฝ่าย นปช. อยู่บนรางรถไฟ จึงเข้าตรวจวัตถุระเบิดบริเวณดังกล่าวก่อน และเมื่อเข้าไปยังสถานีรถไฟฟ้าสยาม เวลา 18.00 น. เพราะขณะนั้นได้ยินเสียงเพลงชาติจากด้านหน้า

เมื่อเข้าไปในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าสยามก็ควบคุมพื้นที่ พบร่องรอยการอยู่อาศัย มีกล่องอาหาร หนังสือพิมพ์สำหรับปูนอน และถังน้ำมันชุดคบเพลิงไว้ในถัง ขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีเศษผ้าที่ปากขวดสามารถจุดไฟแล้วกว้างให้เกิดเพลิงได้ ระหว่างตรวจสอบสถานที่นั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้นด้านล่าง และเจ้าหน้าที่ทหารจาก ร.31 พัน 2 รอ. ที่อยู่ด้านล่างได้เรียกให้หน่วยของพยานคุ้มกันจากกองกำลังไม่ทราบฝ่ายซึ่งใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหาร โดยที่ขณะนั้นพยานยังไม่เห็นกองกำลังไม่ทราบฝ่ายดังกล่าว

พยานจึงแจ้งผ่านวิทยุสื่อสารไปที่ผู้บังคับบัญชาคือ พ.ท.นิมิตร เพื่อขออนุมัติให้คุ้มกัน จึงได้มีคำสั่งมาให้คุ้มกัน หลังจากนั้นพยานเคลื่อนที่ออกมาจากสถานีรถไฟฟ้าสยามฯ โดยอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้นแรกเคลื่อนที่ไปทางห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ประมาณ 5 เมตร พยานได้โผล่หน้าไปตรวจการพบชายชุดดำ 4 คน อยู่ตรงบริเวณตอหม้อรถไฟฟ้าถืออาวุธปืนยาว และหนึ่งในนั้นได้ยิงขึ้นมาแต่ไม่โดนใคร หลังจากนั้นพยานจึงได้ยิงสวนไปยังตอหม้อบริเวณแยกเฉลิมเผ่า 4-5 นัด ในเวลาประมาณ 18.10 น. กระสุนถูกตอหม้อรถไฟฟ้า แต่ไม่โดนใคร

หลังจากนั้น 4 คน ดังกล่าวได้วิ่งหลบหายไปหลังตอหม้อ พยานได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปตรวจด้านซ้ายของรางรถไฟฟ้าด้านที่ติดกับห้างสยามพารากอน และหน่วยของพยานได้เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ มาถึงคลองตรงระหว่างห้างสยามพารากอนกับวัดปทุมฯ มองไปยังกุฏิวัดปทุมฯ เห็นบุคคลอยู่บริเวณนั้น เป็นชายสวมเสื้อสีขาว กางเกงลายพรางสวมโม่งสีดำถืออาวุธปืน M16 เล็งมาที่พยานอยู่ ประมาณ 18.10 น. เศษ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มืด และพยานห่างจากชขายเสื้อขาวดังกล่าวประมาณ 30 เมตร พยานได้ยิงไปยังแนวกำแพงวัดด้านข้างติดกับคลอง 1 นัด ชายคนดังกล่าวจึงได้หลบไปด้านในกุฏิวัด ต่อจากนั้นพยานได้เคลื่อนไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีภัยคุกคามอยู่ด้านหน้า และต้องทำหน้าที่คุ้มกัน ร.31 พัน 2 รอ. ที่อยู่ด้านล่าง

จนกระทั่ง 18.25 น. ได้รับการสั่งการจาก พ.ท.นิมิตร สั่งถอนกลับไปที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม แต่ช่วงที่เคลื่อนมาประจำอยู่นั้นพยานอยู่บนรางหน้าวัดปทุมฯ ตางหน้าเป็นสระน้ำ มีกลังที่แบ่งไปทางด้านหน้าพยาน(ไปทางห้าง CTW) 10 เมตร จำนวน 3 นาย โดยมีพยานยืนตรงกลาง และมีการกระจายกำลังไปด้านหนังพยานห่างไป 3 เมตรด้วย ขณะนั้นพยานใช้อาวุธ M16 A 2 เป็นอาวุธประจำกายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยทาง ศอฉ.และผู้บังคับบัญชากำชับให้ใช้จากเบาไปหาหนัก ห้ามยิงใส่กลุ่มคน เด็กและสตรี โดยให้ยิงขึ้นฟ้าหรือในทิศทางที่ปลอดภัย และหากยังปรากฏภัยคุกคามอีกให้ยิงไปทางส่วนล่างของร่างกายที่ไม่เป็นอันตราย

นอกจากตัวพยานยิงไปที่ตอหม้อรถไฟฟ้าและกำแพงวัดแล้วยังมีผู้ใต้บังคับบัญชาอีกที่ยิง และมีมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ในส่วนหน้าได้ยิงไปที่แนวถนนและกำแพงวัดอีกด้วย โดยได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีชายชุดดำอยู่บริเวณดังกล่าวทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายิงไปยังบริเวณนั้น ขณะปฏิบัติหน้าที่นั้นหน่วยของพยานไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ หลังจากถอนกำลังไปอยู่ที่สถานีรถไฟฟ้าสยามฯ แล้วพยานอยู่ที่นั่นจนถึงวันที่ 23 พ.ค.53 จึงถอนกำลังกลับออกไป

จ่าสิบเอก สมยศ ได้ตอบการซักของทนายญาติผู้ตายด้วยว่า การมาปฏิบัติหน้าที่มาวันที่ 5 พ.ค.53 โดยมาปฏิบัติหน้าที่ทดแทนกำลังที่มีอยู่ ปืนประจำกายเป็นปืน M16 A2 นั้นได้มาจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ถอนกำลังออกไป เช่นเดียวกับทหารในหน่วยของพยานด้วย สำหรับ M16 A2 นั้น พยานสามารถถอดประกอบเพื่อเอามาทำความสะอาดได้ ในระดับผู้ใช้เท่านั้น ซึ่งสมารถถอดได้ทั้งในส่วนล่าง ส่วนบนและลูกเลื่อน ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีสำหรับถอด และ 5 นาทีสำหรับการประกอบ โดย M16 A2 มีระยะในการยิงหวังผลที่มีเป้าหมายเป็นจุดอยู่ที่ 150 เมตร แต่ถ้าเป็นพื้นที่กว้าง 350 เมตร อาวุธปืนชนิดนี้มีแรงสะท้อนถอยหลัง โดยการเล็กนั้นเป็นการเล็กจากศูนย์หลังไปศูนย์หน้า สำหรับระยะ 150 เมตร หากเล็งแบบปราณีก็จะแม่นยำ โดยปืนชนิดนี้จะมีการปรับการยิงได้แบบ 1 นัด และ 3 นัด แต่ไม่สามารถยิงแบบออโต้ได้


ในวันที่ 19 พ.ค.53 พยานเป็นหัวหน้าชุด รวมตัวพยานด้วยชุดนั้น มี 9 นาย ตอนเคลื่อนมาจากสนามกีฬาเพื่อมาที่สยามพารากอนนั้น ในช่วงแรกมีกำลังส่วนหน้าบนพื้นราบอยู่ ส่วนที่ไม่ได้เคลื่อนไปต่อในครั้งแรกนั้น เพราะถูกต่อต้านจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย โดยช่วยที่เคลื่อนไปช่วงแรงนั้นหน่วยของพยานไม่ได้ขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้า ส่วนการเคลื่อนอีกครั้งในเวลา 17.30 น. นั้นพยานได้มีการยิงไปที่ตอหม้อรถไฟฟ้าร่วมกับ ส.อ.วิฑูรย์ อินทำ โดยบริเวณนั้นมีชายชุดดำ พยานยิงไป 4-5 นัด ส่วน ส.อ.วิฑูรย์ ยิงไป 2 นัด โดยยิงแบบชะโงกหน้าไปยิงตรงช่องว่าง โดยในขณะนั้นไม่มีประชาชนที่อยู่บริเวณถนนพระราม 1 แล้ว หลังจากที่พยานได้ยิงแล้วนั้น 4-5 คนนั้นก็หลบไปหลังตอหม้อ แต่ยังคงได้ยินเสียงยิงปะทะกันด้านล่าง เสียงดังเป็นระยะๆ ต่อๆ กัน จากทั้งทางฝั่งทหารและจากด้านหน้าข้างล่างบนถนน

ความสูงของพนังรางรถไฟฟ้าที่พยานอยู่ประมาณ 1.2 เมตร การเคลื่อนที่ไปนั้นเป็นการเคลื่อนแล้วหยุด แล้วขยับไปเรื่อยๆ เพื่อตรวจการ โดยในขณะนั้นฝั่งสำหนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ ขณะตรวจการมองไปที่วัดปทุมนั้นยังคงเห็นได้ชัดเจน ในวัดมีคนประมาณการไม่ได้ แต่มีมากพอสมควร ส่วนบริเวณริมสระน้ำด้านในนั้นมีกลุ่มเล็กๆอยู่ แต่เข้าไปในวัดมีมากพอสมควร มีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนชรา ที่เป็นผู้ชุมนุมหลบเข้าไป และทราบว่าที่นั่นเป็นเขตอภัยทาน


ตอนถอนกำลังกลับไปนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาได้รายงานกับพยานโดยการยิงทั้งหมดยิงไปด้วยกระสุนจริง สำหรับการตัดสินใจยิงนั้นเป็นการใช้ดุลยพินิจของแต่ละบุคคล โดยพยานไม่ได้สั่ง สำหรับระยะเวลาที่เคลื่อนกำลังไปหน้าวัดปทุมถึงถอนกำลังนั้น ใช้เวลา 15 นาที ขณะที่พยานใช้อาวุธปืนยิงนั้นตัวพยานไม่ได้เตือน แต่มีลูกน้องคือ ส.อ.วิฑูรย์ ที่แจ้งว่ามีชายชุดดำหลบอยู่ใต้รถ และแจ้งชายดังกล่าวให้ออกมา แต่พยานไม่ทราบว่า ส.อ.วิฑูรย์ ได้ยิงคนที่หลบอยู่ใต้รถหรือไม่ แต่ ส.อ.วิฑูรย์ มีการยิงไปในบริเวณนั้น

ทนายญาติผู้ตายได้นำภาพชายแต่งกายคลายทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯ ให้ จ่าสิบเอก สมยศ ดู พร้อมกับสอบถามว่าเป็นใคร จ่าสิบเอก สมยศ เบิกความต่อศาลว่าไม่ทราบว่าคนในภาพเป็นใคร แต่คิดว่าเป็นทหาร และบนรางรถไฟฟ้าตรงหน้าวัดปทุมฯนั้น มีเฉพาะชุดของพยาน 9 นาย โดยการปฏิบัติการนั้นพยานกับลูกน้องมีกระสุนคนละ 140 นัด เวลาส่งกระสุนคืนจะมีนายสิบประจำหมวดรวบรวมนับส่งคืน ในการปฏิบัติการตรงนั้นพยานใช้ไป 5 นัด ส่วนคนอื่นนั้นไม่ทราบว่าใช้ไปกี่นัด

ส.อ.วิฑูรย์ อยู่หน้าพยาน ซึ่งมี 3 นาย ห่างไปจากจุดที่พยานอยู่ประมาณ 10-15 เมตร และตรงจุดนั้นหลังวันที่ 19 พยานได้เคยเดินไปและหากมองจากจุดนั้นจะมองเห็นด้านหน้าประตูทางเข้าวัดปทุมได้ชัด วันที่ 20 พ.ค.53 ยังมีเต้นท์และเห็นรถที่จอดอยู่หลายคัน โดย ส.อ.วิฑูรย์ ได้แจ้งให้กับพยานทราบว่าเห็นชายชุดดำหลบเข้าไปในรถ และ ส.อ.วิฑูรย์ ยังแจ้งพยานด้วยว่าได้ยิงไปยังพื้นถนนหน้าวัดด้วย

หลังจากนั้นทนายได้นำภาพกลุ่มคนที่แต่งกลายคล้ายทหารมาให้พยานพิจารณาอีกครั้ง จำนวน 4 ภาพพร้อมตั้งคำถาว่าจากในภาพมีการหลบหรือไม่ จ่าสิบเอก สมยศ เบิกความต่อศาลว่า เป็นไปได้ว่าจะเป็นการหลบกระสุนหรืออาจจะกำลังเล็งก็ได้ โดยการหลบกระสุนปืนต้องหลบให้ต่ำกว่าแนวที่บังถึงจะหลบได้ แต่ถ้าหลบจากแนวกำแพงที่กระสุนมาจากด้านล่างก็เพียงแค่หลบวิถีกระสุนก็ได้ มันอาจไม้ต้องหลบตามแนวทั้งหมด แต่เป็นการหลบในลักษณะตกใจก็ได้


ส.อ.เดชาธร มาขุนทด เบิกความว่า เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อ เม.ย.53 โดยมาในส่วนของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ มี พ.ท.นิมิตร วีรพงษ์ (ยศขณะนั้น พ.ต.) เป็ยผู้บังคับบัญชา ได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยคุ้มกันให้กับ ร.31 พัน 2 รอ. ที่สีลม ก่อนจะกลับไปที่ราบ 11 หลังจากนั้นวันที่ 18 พ.ค.53 เวลาประมาณ 17.00 น. ได้เคลื่อนกำลังจาก ราบ 11 มาที่กระทรวงพลังงาน โดยมีหน้าที่คุ้มกัน ร.31 พัน 2 รอ. เหมือนเดิม เวลาตี 1 ของวันที่ 19 พ.ค.53 ได้เคลื่อนกำลังจากกระทรวงพลังงานมายังสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ จนกระทั้งบ่าย 3 โมง โดยประมาณ ขณะนั้นเกิดเพลิงไหม่ที่โรงหนังสยาม มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าไประงับเหตุได้ เนื่องจากบริเวณด้านหน้าทางเข้ามีสิ่งกีดขวาง พยานและหน่วยจึงเข้าไปเคลียร์พื้นที่ด้านล่าง เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถไปดับเพลิงได้ โดยเริ่มเคลียร์พื้นที่ตั้งแต่แยกสนามกีฬาฯ มุ่งหน้าไปเรื่อยๆ แต่เคลียร์ไปได้เล็กน้อยเนื่องจากมีเสียงปืนดังมาจากด้านหน้าพยานฝั่งทางโรงหนังสยาม หลังจากนั้น พ.ท.นิมิตร ได้สั่งให้พยานถอนกำลังกลับมายังที่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาฯ

เวลา 17.30 น. พยานได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ระวังป้องกันให้ ร.31 พัน 2 รอ. เพราะหน่วยดังกล่าวจะต้องเข้าไปเคลียร์พื้นที่ด้านล่าง โดยพยานมี จ่าสิบเอก สมยศ เป็นหัวหน้าชุด ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้า โดยจ่าสิบเอกสมยศ ให้พยานเคลียร์พื้นที่บนรางรถไฟฟ้าตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาฯ ถึง สถานีรถไฟฟ้าสยามฯ ซึ่งขณะนั้นพบสิ่งกีดขวางเป็นยางรถยนต์กับสแลนสีดำเขียวขวางอยู่ระหว่างสถานีสนามกีฬาฯ กับสถานีสยามฯ วางอยู่บนรางรถไฟฟ้า

หลังจากเคลียร์แล้วก็เคลื่อนคู่ขนานไปกับ ร.31 พัน 2 รอ. ที่อยู่ด้านล่าง ถึงสถานีสยามในเวลา 18.00 น. ทราบเวลาจากการได้ยินเสียงเพลงชาติ หลังจากนั้นได้ยินเสียงปืนจากรอบทิศทาง มีทหารด้านล่างตะโกนให้หน่วยของพยานคุ้มกัน หน่วยของพยานจึงได้ทำการตรวจการด้วยสายตาโดยมองไปด้านล่างพบเป็นชายผมสั้นเสื้อขาวสวมหมวกโม่ง กางเกงลายพราง ถือปืนตรงข้างกำแพงวัด พยานจึงได้แจ้งไปยังจ่าฯสมยศ ทราบ แต่ไม่ทราบว่าจ่าฯ สมยศได้ยิงลงไปหรือไม่เนื่องจากพยานเดินไปด้านหน้าต่อเพื่อตรวจการ

ขณะนั้นเห็นชายชุดดำบริเวณกำแพง 1 คน จึงได้แจ้งให้ ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง เพื่อให้ตรวจดูชายชุดดำแทนพยาน เนื่องจากพยานต้องการเคลื่อนไปหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

ระหว่างตรวจการอยู่บนรางรถไฟฟ้า พยานไม่เห็นชุดของจ่าสิบเอกสมยศ ยิงปืนไปทางด้านใด เนื่องจากพยานอยู่ทางด้านหน้า ต่อมาผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้หน่วยของพยานถอนกำลังไปที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม พยานอยู่ตรงนั้นจนถึงวันที่ 22 พ.ค.53 จึงกลับลพบุรี

ในวันที่ 19 พ.ค.53 นั้น ชุดของพยานและทหารในบังคับบัญชาของ พ.ท.นิมิตร แต่งกายชุดลายพรางและมีสติ๊กเกอร์ สีชมพูติดด้านหลังหมวกทุกนาย ที่ติดสติ๊กเกอร์ ที่หมวกเพื่อเป็นสัญญาลักษณ์บอกว่าเป็นทหารหน่วยเดียวกัน ซึ่งปกติจะไม่ติดมีการติดในวันที่ 19 พ.ค.วันเดียว สำหรับในหน่วย 9 นายที่พยานอยู่นั้นพยานทำหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุ

บนรางรถไฟฟ้าไม่มีการยิงปะทะกันเนื่องจากไม่มีใครอยู่บนรางนั้น ส่วนกรณีชายเสื้อขาวสวมหมวกไหมพรมนั้นถืออาวุธ M16 ในท่าเล็งมาทางรางรถไฟฟ้า ระยะห่างจากจุดที่พยานอยู่ประมาณ 50 เมตร นอกจากคนนั้นแล้วไม่พบคนอื่นอยู่บริเวณนั้น โดยขณะที่พยานเห็นบุคคลดังกล่าวไม่มีการยิง แต่หลังจากนั้นไม่แน่ใจว่ามีการยิงขึ้นมาหรือไม่ ระหว่างที่อยู่หน้าวัดปทุมไม่เห็นและไม่ได้ยินทหารในชุดของพยานยิงปืน ในระหว่างที่เดินตรวจการนั้นเห็นประชาชนเดินในวัดปทุมฯ ตัวพยานนั้นไม่ถูกใครยิงปืนใส่และไม่ได้รับบาดเจ็บ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น