Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ย้อนรอย 22 ปี รสช.วังวนปฏิวัติรัฐประหาร

จาก Black Story voice TV







วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ คณะนายทหาร ที่เรียกตัวเองว่า รสช. นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจจาก นายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผล รัฐบาลร่ำรวยผิดปกติ บุฟเฟ่ต์คาบิเนต จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ชนวนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดจากการที่ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลที่มีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 จนนำไปการปราบปรามและปะทะกันระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม ทำให้ผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก
 
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก การยึดอำนาจ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมตรี ขณะนำพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี ไปเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ขณะโดยสารเครื่องบิน ซี 130 จากท่าอากาศยานทหาร บน. 6
ที่มาของ รสช. เกิดจากกระแสข่าว ปลด นายทหาร นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5 ออกจากตำแหน่ง จนต้องมีการนัดทานข้าวระหว่างนายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.สุจินดา แกนนำ จปร.รุ่น ที่ 5 ที่เรือนรับรองกองทัพอากาศ ก่อนยึดอำนาจ 5 วัน และเรือนรับรองกองทัพอากาศกลายเป็นสถานที่ขังพลเอกชาติชาย
 
เหตุผลที่ รสช. ใช้อ้าง คือ พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นรัฐบาล บุฟเฟ่คาบิเนต ร่ำรวยผิดปกติ จากนั้น ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือ คตส. มีพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน เพื่อยึดทรัพย์ของอดีตรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ถึง 10 คน แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ระบุว่า คำสั่งยึดทรัพย์ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และให้เพิกถอนคำสั่ง วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2536
 
มีการวิเคราะห์ สาเหตุการรัฐประหารของ รสช.มาจากความขัดแย้งที่สั่งสมระหว่างคณะรัฐบาลกับกองทัพ ซึ่งผู้นำกองทัพขณะนั้นคาดหมายว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรับฟังเมื่อถูกตักเตือน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุการขยายบทบาทของพลเอกสุจินดา พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล และพลเอกวิโรจน์ แสงสนิท ปรารถนาที่จะมีบทบาททางการเมือง แต่ไม่ต้องการตั้งพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้ง หากแต่ต้องการขึ้นสู่อำนาจทางอ้อม การรัฐประหารจึงเป็นวิถีทางที่นายทหารเหล่านี้เลือก
 
ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงของการรัฐประหาร ครั้งที่ 11 ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ร้อยละ 5.5 จะมาจากเหตุผลใด แต่ได้กลายเป็นต้นแบบของการยึดอำนาจประชาธิปไตยจากประชาชน ในการรัฐประหาร 19 กันายน 2549 ในอีก 15 ปีต่อมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น