ยันจนท.ยิง-คดีลุงคิมจาก ข่าวสดออนไลน์
พยานเบิกความต่อศาล ตร.สรุปอีก2ศพม็อบแดง
บช.น.สอบเสร็จอีก 2 สำนวน ศพเหยื่อปืนสลายม็อบปี"53 ส่งให้อัยการพิจารณายื่นศาลไต่สวน ระบุทั้ง 2 ศพถูกยิงบริเวณร.พ.จุฬาฯ เหลืออีก 7 สำนวนอยู่ระหว่าง สอบสวน หาพยานหลักฐาน ขณะที่ช่างภาพทีวีเบิกความไต่สวนคดี "ลุงคิม" ศพที่ 99 ยันเห็นเจ้าหน้าที่ถือปืนเอ็ม 16 กระชับพื้นที่บ่อนไก่ แล้วยิงใส่ผู้ชุมนุม ส่วนฝ่ายม็อบใช้พลุ ตะไล ยิงหนังสติ๊กต่อสู้ แต่ก็มีเอ็ม 79 มาจากฝั่งผู้ชุมนุม พยานโดนสะเก็ดระเบิดบาดเจ็บไปด้วย ส่วนพยานอีกรายยันเสียงปืนมาจากฝั่งจนท. หันปากกระบอกปืนใส่ประชาชน เห็นทั้งลุงคิม และ "ลุงบุญมี" โดนยิงคว่ำ ย้ำไม่มีชายชุดดำ ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาใต้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง หรือลุงคิม อายุ 55 ปี ถูกยิงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลุมพินี ย่านบ่อนไก่ ในเหตุการณ์กระชับพื้นที่เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 รักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 2 ปี และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2555
จากนั้นพนักงานอัยการนำนายอนิรุทธิ์ ชวางกูร ช่างภาพสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เบิกความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 ปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิป ไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถนนพระราม 4 ตั้งแต่สะพานไทย-เบลเยียม ถึงสนามมวยลุมพินี โดยเมื่อเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ 1 กองร้อย บริเวณสะพานไทย-เบลเยียม เดินกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสนาม มวยลุมพินีให้ถอยร่น จนผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ประมาณ 1,000 คน ถอยไปอยู่สะพานลอย ใกล้ปั๊มน้ำมันย่านบ่อนไก่ แต่มีผู้ชุมนุม 10-20 คน เข้ามาใกล้เจ้าหน้าที่ จึงถูกจับกุมโดยใช้เชือกพลาสติกสำหรับมัดสายไฟรวบมือไพล่หลัง
นายอนิรุทธิ์เบิกความต่อว่า ระหว่างนั้นมีการปะทะกันเรื่อยๆ โดยเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา และยิงปืนเอ็ม 16 ไปทางกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ไม่ทราบว่าใช้กระสุนจริง หรือกระสุนยาง ขณะที่ผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊ก พลุ ตะไล ใส่เจ้าหน้าที่ และมีผู้บาดเจ็บเรื่อยๆ เพราะเห็นรถพยาบาลวิ่งเข้าออกตลอดเวลา ระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมชี้บอกให้ระวังเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนยอดตึก พยานจึงหันไปมองและยกกล้องขึ้นถ่ายแต่มองไม่เห็น
พยานเบิกความต่อว่า ช่วงเย็นขณะยืนอยู่กับผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ ได้ยินคนพูดให้ใช้กระสุนจริง แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นใคร กระทั่งช่วงค่ำทราบจากประชาชนว่ามีคนถูกยิงบริเวณสะพานลอยย่านบ่อนไก่ ทราบชื่อภายหลังว่าคือนายฐานุทัศน์ และเวลา 19.00 น. ได้ยินเสียงระเบิดที่มาจากฝั่งผู้ชุมนุมตกลงด้านขวามือของพยาน ห่างออกไปประมาณ 10 เมตร พยานถูกสะเก็ดหินจากแรงระเบิดได้รับบาดเจ็บบริเวณฝ่ามือ ขา และเข่า จึงออกจากพื้นที่ไปแจ้งความที่ สน.ลุมพินี และรักษาที่ ร.พ.พญาไท และทราบจากทหารว่าเป็นระเบิดเอ็ม 79
ส่วน พ.ต.ต.นพ.เอกสิทธิ์ พงศ์แก้ว นายแพทย์ (สบ 2) กลุ่มงานนิติพยาธิ สถาบันนิติเวชวิทยา ร.พ.ตำรวจ เบิกความโดยสรุปว่า วันที่ 27 ก.พ.2555 สน.บางรัก ส่งศพนายฐานุทัศน์มาให้ตรวจชันสูตร สภาพภายนอกพบแผลเป็น ลักษณะแนวเส้นโค้งบริเวณหน้าท้องด้านขวาส่วนบน ยาว 30 ซ.ม. แผลเป็นแนวเส้นตรงบริเวณสะบักขวา ยาว 24 ซ.ม. แผลเป็นลักษณะแนวเส้นตรงบริเวณใต้สะบักด้านซ้าย ขนาดกว้าง 0.7 ซ.ม. ยาว 0.8 ซ.ม. สภาพศพผ่านน้ำยารักษาสภาพศพมาแล้ว เริ่มเน่า และพบแผลกดทับบริเวณก้นกบ
พ.ต.ต.นพ.เอกสิทธิ์เบิกความต่อว่า แผลเป็นบริเวณสะบักซ้าย ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากอะไร ส่วนแผลกดทับค่อนข้างเรื้อรังทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งการติดเชื้อจากแผลกดทับเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้เสียชีวิตได้ รายนี้พบว่ามีมะเร็งตับเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเป็นเหตุสนับสนุนให้การติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น การติดเชื้อที่ทำให้ถึงแก่ความตาย ต้องเป็นการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่วนการที่ศพผ่านน้ำยารักษาสภาพศพมาแล้ว ไม่เป็นเหตุให้การตรวจบิดเบือนไปมาก ยกเว้นการตรวจเลือด หรือปัสสาวะที่ไม่สามารถทำได้ ขณะที่สภาพศพที่เพิ่งจะเริ่มเน่านั้น ยังพอวินิจฉัยได้
พยานเบิกความอีกว่า ผลการตรวจบริเวณอก พบซี่โครงขวาชิ้นที่ 4 และ 5 หักทางด้านหลัง สาเหตุเกิดจากมีวัตถุมากระแทก ส่วนปอดขวาพบว่ามีเนื้อเยื่อพังผืดยึดติดผิวปอดกับเยื่อหุ้มผนังช่องอก ขณะที่ปอดซ้ายผิวเรียบ พังผืดนี้อาจเกิดจากปอดติดเชื้อ หรืออักเสบจากสาเหตุอื่น เฉพาะปอดติดเชื้อไม่อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ทุกราย แต่กรณีนี้มีมะเร็งตับด้วย อาจเป็นเหตุสนับสนุนให้เกิดการเสียชีวิตได้เร็วขึ้น ทั้งนี้สภาพศพของผู้ตายไม่มีบาดแผลใดที่ยืนยันได้ชัดเจนว่ามาจากกระสุนปืน กรณีนี้อวัยวะภายในที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ ได้แก่ เนื้อมะเร็งในตับ ซึ่งอาจเกิดในตับเอง หรือจากที่อื่นแล้วลุกลามมาตับ อีกสาเหตุคือปอดติดเชื้อ ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งทำให้ถึงแก่ความตายได้
พ.ต.ต.นพ.เอกสิทธิ์ เบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบยังพบหัวกระสุนปืนตะกั่วหุ้มด้วยทองแดง 1 ชิ้น ฝังอยู่ในผิวหนังสะบักขวา สรุปสาเหตุการตายสันนิษฐานว่าเกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และมะเร็งระยะลุกลาม ส่วนกระสุนที่สะบักขวาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ผู้ตายเสียชีวิต เพราะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีอวัยวะสำคัญ สามารถอยู่ในร่างกายได้โดยไม่ต้องเอาออก กรณีนี้เชื่อว่าแพทย์ที่รักษาเห็นว่า การผ่าตัดออกจะเป็นอันตรายมากกว่า จึงไม่ผ่าตัดให้ อย่างไรก็ตาม พยานตรวจจากสิ่งที่พบตรงหน้าเป็นหลัก ไม่ได้เอาประวัติการรักษาของผู้ตายมาประกอบ
ด้านนายธนพร วงษณรัตน์ การ์ดนปช. เบิกความว่าเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในผู้ชุมนุมอยู่บริเวณปากซอยงามดูพลี ตั้งแต่เวลา 05.00-11.00 น. จากนั้นเข้าไปพัก และออกมาอีกครั้งเวลา 13.00 น. ก่อนไปพักเที่ยงเห็นเจ้าหน้าที่อยู่บริเวณสะพานไทย-เบลเยียม อีกส่วนอยู่บริเวณสนามมวยลุมพินี และยิงปืนมาทางประชาชนเป็นระยะตั้งแต่ช่วงเวลา 07.00 น.เป็นต้นมา พยานจึงพยายามกันไม่ให้แนวร่วมออกจากปากซอยงามดูพลี กระทั่งช่วงบ่ายเมื่อพยานออกมาปากซอยงามดูพลีอีกครั้ง มีผู้ชุมนุมบอกว่าช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมงมีคนถูกยิงบริเวณสะพานลอยบ่อนไก่ ทราบภายหลังว่าคือนายฐานุทัศน์
พยานเบิกความต่อว่า เวลาประมาณ 14.00 น. เห็นเจ้าหน้าที่พันผ้าพันคอสีฟ้า สวมหมวกเหล็ก มีโล่ และปืนยาว ประมาณ 200-300 คน เคลื่อนแถวจากสะพานไทย-เบลเยียม มาทางบ่อนไก่ มีผู้ชุมนุมและประชนชนทั่วไปอยู่ และเห็นนายบุญมี เริ่มสุข ถูกยิงอยู่ข้างตู้โทรศัพท์ หน้าปั๊มน้ำมันปตท. จึงเข้าไปช่วย เชื่อว่าถูกเจ้าหน้าที่ยิง เพราะขณะนั้นมีเพียงเสียงปืนดังมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ หันปากกระบอกปืนมาทางประชาชน ส่วนนายฐานุทัศน์ที่ถูกยิงก่อนหน้านี้อยู่ห่างจากจุดที่นายบุญมีถูกยิง 40 เมตร และขณะเกิดเหตุไม่เห็นชายชุดดำต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และประชา ชนไม่มีอาวุธ มีเพียงการจุดไฟเผายางรถยนต์ เพื่อกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 09.00 น.
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. กล่าวถึงความคืบหน้าสำนวนชันสูตรพลิกศพที่คาดว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ว่าจากสำนวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งมาให้ 36 สำนวน และบช.น.ทำเองอีกสำนวน รวมเป็น 37 สำนวนนั้น พนักงานสอบสวนบช.น.ทำเสร็จและส่งให้อัยการไปแล้วก่อนหน้านี้ 28 สำนวน และล่าสุดส่งไปอีก 2 สำนวน คือนายถวิล คำมูล ถูกยิงบริเวณหน้าตึกสก. ร.พ.จุฬาลงกรณ์ และชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกยิงบริเวณหน้าตึกสก. ร.พ.จุฬาฯ เช่นกัน รวมเป็น 30 สำนวนแล้ว เหลืออยู่ระหว่างสอบสวนอีก 7 สำนวน จึงสั่งการให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดสำนวนที่เหลือต่อไป
รองผบช.น.กล่าวต่อว่า สำหรับ 7 สำนวนที่เหลือคือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงที่สถานีรถไฟใต้ดินลุมพินี ถนนพระราม 4 นายสวาท วางาม ถูกยิงที่สี่แยกคอกวัว นายไพรศล ทิพย์ลม ถูกยิงที่สี่แยกคอกวัว นายมนต์ชัย แซ่จอง ถูกยิงที่สี่แยกคอกวัว จ.อ.พงศ์ชลิต พิทยานนท์กาญจน์ ถูกยิงหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนัก งานใหญ่ ถนนสีลม นายสมชาย พระสุพรรณ ถูกยิงปากซอยงามดูพลี 7.นายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงที่บริเวณทางเท้าข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนายถวิล คำมูล นั้น ขณะเสียชีวิตมีอายุ 38 ปี อาชีพรับจ้าง อยู่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 4 ต.คูคำ อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ถูกกระสุนปืนความเร็วสูงเข้าศีรษะ เหตุเกิดเมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 19 พ.ค.2553 บริเวณหน้าตึกสก. ร.พ.จุฬาฯ ส่วนชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงเข้าที่ศีรษะ เหตุเกิดช่วงเวลา 10.00-12.00 น. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 บริเวณหน้าตึกสก. ร.พ.จุฬาฯ
วันเดียวกัน ที่ห้องศิลปินไพร่ ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ศูนย์ประสานงานเพื่อประชา ธิปไตย และกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ในนามแนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง แถลงถึงข้อเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง โดยน.ส.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการนำร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ฉบับนิติราษฎร์ ไปยื่นให้รัฐบาลเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา เห็นปฏิกิริยาเด่นชัดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบและใส่ใจเรื่องนิรโทษกรรม โดยสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจาร ณาในประเด็นรายละเอียดข้อกฎหมาย รวมถึงร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ และ พ.ร.ก. นิรโทษฯ ฉบับ นปช.ด้วย
"ขณะนี้มีข้อกล่าวหาว่ากลุ่มเราวางแผนและตั้งใจล้มรัฐบาล ต้องขอชี้แจงสั้นๆ ว่าเราเพียงเรียกร้องอ้อนวอนกับรัฐบาลให้เร่งปล่อยนักโทษการเมือง ด้วยการนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไปยื่นให้ ไม่มีเหตุผลที่เราจะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" น.ส.สุดากล่าว และว่าในวันที่ 14 ก.พ.นี้ เป็นวันแห่งความรัก จะมีกิจกรรมเยี่ยมนักโทษ นัดรวมตัวกันที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เวลา 09.00 น. จากนั้นเดินเท้าไปที่ทัณฑสถานหญิง เรือนจำคลองเปรม และไปต่อที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น