Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตรึงกางเขน “สมยศ” คุก 11 ปี เสมือนโทษประหาร


โดย เส้นยาแดง ผ่าเก้า จาก RED POWER ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์  2556

 

          การรอคอยอันยาวนานเกือบ 2 ปี ในที่สุดก็มาถึงวันแห่งการพิพากษา หลังจากต้องเลื่อนมาถึงสองครั้ง(ครั้งแรก 19 กันยา 55 ครั้งที่สอง 19 ธันวา 55) คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เกิดจากการที่เขาถูกดีเอสไอดำเนินคดีจากการพิมพ์และเผยแพร่บทความในนิตยสารวอยส์ออฟทักษินของผู้เขียนนามว่า “จิตร พลจันทร์” สองบทความ เกือบสองปีมีการยื่นประกันตัวสิบกว่าครั้งแต่ไม่สำเร็จ นายสมยศถูกนำตัวระหกระเหินไปขึ้นศาลทั่วประเทศ ทั้งภาคตะวันออก ขึ้นเหนือ ล่องลงเกือบใต้สุดของประเทศ  สร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเหตุเพราะสุขภาพไม่ดีมีโรคประจำตัว ในที่สุดวันแห่งการรอคอยก็มาถึง เช้า 23 .. นายสมยศถูกนำตัวมาศาลแบบเท้าเปล่าไม่ใส่รองเท้า ถูกล่ามโซ่ตีตรวน  มีทูตกว่ายี่สิบประเทศเข้าร่วมฟังการตัดสิน รวมทั้งมีผู้มาให้กำลังใจนับร้อย ยังไม่นับผู้ที่รอหน้าห้องพิจารณาและหน้าศาลอีกเกือบร้อยคน

704 รหัสลับประหัตประหาร?

ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือไม่ที่การพิพากษาคดีเกิดขึ้นที่ห้อง 704 เมื่อเอาเลข 7 บวก 4 ก็จะได้ 11 เท่ากับโทษจำคุกที่ได้รับ โทษที่ศาลตัดสินคือ 5 ปี สองกรรม รวมเป็น 10 ปี แต่ศาลเอาคดีเก่าที่นายสมยศเคยถูกตัดสินจำคุกคดีหมิ่นประมาทพลเอกสะพรั่ง กัลยาณมิตร แต่รอลงอาญาไว้ มาลงโทษด้วย รวมเป็น 11 ปี ก่อนพิพากษา นายสมยศค่อนข้างมั่นใจว่าจะชนะคดี ก่อนมาศาลนายสมยศบริจาคของใช้ให้กับเพื่อนนักโทษในเรือนจำเกือบหมด ด้วยความมั่นใจว่าจะได้รับอิสรภาพ เหตุเพราะว่าทั้งในข้อกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ รวมทั้งในแง่ข้อเท็จจริงที่มีการสืบพยาน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ แต่ผลกลับตาลปัตร นายสมยศรับไปเต็มเหนี่ยว 10 ปี พร้อมของแถมอีก 1 ปี

สิ้นเสียงพิพากษา เสียงวิจารณ์ดังมาจากทุกสารทิศ

23 ม.ค. 2556 สหภาพยุโรป ออกแถลงการณ์ว่า "คณะผู้แทนสหภาพยุโรป มีความเป็นห่วงต่อคำพิพากษาของศาลในการตัดสินจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี คำพิพากษาดังกล่าว มีผลอย่างมากต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน ส่งผลกระทบต่อภาพลักษ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นสังคมแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย สหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้ทางการไทยกำหนดข้อจำกัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยมาตรการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการรักษาไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนสากล"

23 ม.ค. 2556 อิสเบล อาร์ราดอน องค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า เป็นการตัดสินแบบถอยหลังเข้าคลอง ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศและนักโทษทางความคิดทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไขและจ่ายเงินชดเชยด้วย รวมทั้งเรียกร้องให้พักการใช้มาตรา 112 ทันที และให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

23 ม.ค. 2556 แบรด อดัมส์ องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ศาลรับบทบาทหัวหน้าผู้พิทักษ์สถาบันกษัตริย์ด้วยการทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก คำพิพากษาศาลเกี่ยวข้องกับการที่นายสมยศสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 มากกว่าจะเกี่ยวกับอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ การตัดสินคดีนี้เป็นสัญญาณว่าความแตกแยกทางการเมืองที่ร้าวลึกของไทยยากเกินเยียวยา

23 ม.ค. 2556 วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ   ตั้งคำถามว่า “พระเกีรยติยศของพระมหากษัตริย์ไทย อันเป็นที่ยกย่องสรรเสริญทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ แท้จริงแล้วก็สามารถถูกทำลายและล้มครืนลงจนกระทบต่อความมั่นคงได้โดยง่าย เพียงเพราะ 'บทความหนึ่งฉบับ' กระนั้นหรือ ?

24 ม.ค. 2556 กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย “การลงโทษจำคุก 11 ปี ไม่ต่างอะไรกับการลงโทษประหารชีวิต เหตุเพราะจำเลยมีอายุค่อนข้างมากและสุขภาพไม่ดี อีกทั้งสภาพความเป็นอยู่ในคุกต่ำกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป จึงมีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตก่อนพ้นโทษ” เมื่อเปรียบเทียบกับคดีค้ายาเสพติด คดีอุกฉกรรจ์ หลายคดีก็มิได้ลงโทษรุนแรงขนาดนี้

24 ม.ค. 2556 นางนาวี ฟิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  "คำตัดสินและการลงโทษที่รุนแรงอย่างที่สุดต่อสมยศส่งสัญญาณที่ผิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย คำพิพากษาของศาลเป็นตัวชี้วัดล่าสุดของแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอย่างการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ฉันกังวลใจเมื่อสมยศไม่ได้รับการประกันตัว และหลายครั้งที่ปรากฏตัวในศาลโดยถูกใส่โซ่ตรวน ราวกับเขาเป็นอาชญากรร้ายแรง ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกไม่ควรถูกลงโทษตั้งแต่แรกแล้ว" นอกจากนั้นเธอยังสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และชี้ให้เห็นถึงการเสื่อมถอยในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

24 ม.ค. 2556 สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์การสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (OMCT) และสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) ออกแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงต่อคำตัดสินคดี นายแดนทอง บรีน  สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า "คำตัดสินวันนี้ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน การคงไว้ซึ่งกฎหมายเผด็จการและใช้กฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง นำประเทศไทยไปไกลจากการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่บนการเคารพเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน"

          24 ม.ค. 2556 นักกิจกรรมทางสังคม 26 คน ซึ่งหลายคนเป็นเสื้อเหลือง ออกแถลงการณ์ว่า การแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิพื้นฐานที่พึงได้รับการคุ้มครอง การเคารพสิทธิในการแสดงความเห็นและอดกลั้นต่อความเห็นต่างเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการคนที่เห็นต่าง ผู้ต้องคดีทุกคนต้องได้รับสิทธิประกันตัวโดยไม่เลือกปฏิบัติ โทษจำคุก 10 ปี รุนแรงเกินไป ข้อหาดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ควรมีการลงโทษจำคุกหรือลงโทษเยี่ยงอาชญากร

24 ม.ค. 2556 ดร.วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้นายสมยศได้รับสิทธิการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมกับแกนนำอื่นๆ เช่น แกนนำ นปช. หรือแกนนำพันธมิตร

          24 ม.ค. 2556 .ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ(คอ.นธ.) เสนอว่า ศาลยุติธรรมควรพิจารณาทบทวนแนวทางบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในทางการเมือง ควรใช้กรอบของหลักเมตตาธรรม นอกจากนั้น ประชาชนที่กระทำผิดทางการเมืองหรือแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-10 พ.ค. 2554 ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความสุจริตทางการเมือง แสดงออกตามสิทธิ รวมทั้งเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย หรือการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย จึงเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.และส.ว. ที่จะต้องดำเนินการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความสามัคคีและความสมานฉันท์ของคนในชาติ และเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

25 ม.ค. 2556 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ออกแถลงการณ์ระบุว่า คำพิพากษานี้คือยุทธวิธีทางการเมืองเพื่อปิดปากการวิจารณ์ โดยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายสมยศทันทีและกลับคำตัดสิน รวมทั้งเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติให้แสดงท่าทีต่อการพิจารณาคดีนี้ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพสื่อโดยตรง ตลอดจนเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112

ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกมากมายจนไม่สามารถยกมากล่าวถึงได้ทั้งหมดทั้งจากนักวิชาการ องค์กรสื่อ องค์กรสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ องค์กรแรงงานทั้งไทยและเทศ


เงื่อนงำคำพิพากษา ที่มาของโทษจำคุก

          ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ฝ่ายนายสมยศยกขึ้นต่อสู้ในศาล คือ พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 ไม่ได้ระบุความรับผิดชอบของบรรณาธิการต่อข้อความที่ลงตีพิมพ์ ซึ่งต่างจาก พรบ.การพิมพ์ 2484(ยกเลิกไปแล้ว)ที่บรรณาธิการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าว่ากันตามหลักการทางกฎหมายที่ถูกต้องแล้ว พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับคนที่ประกอบวิชาชีพสิ่งพิมพ์ ซึ่งมิได้กำหนดให้รับผิดก็เท่ากับว่านายสมยศไม่มีความผิด แต่ความรับผิดเป็นของผู้เขียนบทความโดยตรง ถ้ากฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดว่าเป็นความผิดแม้จะมีกฎหมายทั่วไป เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติให้มีความผิดก็ตาม ก็ต้องถือว่านายสมยศพ้นผิด เพราะหากเอากฎหมายทั่วไปมาบังคับใช้แก่กรณีนี้ก็จะมีผลทำให้กฎหมายเฉพาะทางอย่าง พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ต้องหมดสภาพการบังคับใช้ไปโดยปริยาย แต่ศาลชั้นต้นกลับให้เหตุผลทำนองว่า แม้นายสมยศจะพ้นผิดในฐานะบรรณาธิการ แต่เนื่องจากนายสมยศเป็นผู้นำบทความไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย และเผยแพร่ จึงก็ยังถือว่านายสมยศยังผิดกฎหมายมาตรา 112 อยู่ดี การพิพากษาลงโทษนายสมยศนี้ขัดแย้งกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6268/2550 ที่นายชวน หลีกภัย ฟ้องบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในข้อหาหมิ่นประมาท ศาลฎีกาพิพากษาว่าบรรณาธิการฯไม่ต้องรับผิดเหตุเพราะ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.. 2550 ไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการ ฉะนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป  คำถามคือ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนายสมยศ อาศัยหลักวิชาจากตำรากฎหมายใด?

จบคำพิพากษา การต่อสู้ยังไม่จบ แต่ประชาชนจะพิพากษาบ้าง

          หลังศาลชั้นต้นพิพากษาเสร็จ ผู้เขียนเดินไปจับแขนนายสมยศ และถามสั้นๆว่า “เอาไงต่อพี่” นายสมยศตอบด้วยประโยคสั้นๆ แค่สามพยางค์ว่า “สู้ต่อไป”  คำพิพากษาศาลชั้นต้นจบลงไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่จบ กำลังเกิดขึ้นและดำเนินต่อไป คือ การพิพากษาของประชาชนต่อความอยุติธรรม ถ้าจะลองหาถ้อยคำใดๆ มาแทนความรู้สึกของประชาชนที่มาฟังคำพิพากษารวมถึงประชาชนที่รักความเป็นธรรมทั้งหลาย อาจจะแทนด้วยคำกล่าวของ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่า “ถ้าระบอบเก่า รู้จักปรับตัว ก็ไม่มีทางได้ชื่อว่าเป็นระบอบเก่า และไม่ต้องถูกแทนที่ด้วยระบอบใหม่ ถ้าระบอบเก่า อ้วนพีอุ้ยอ้ายจนไม่มีศักยภาพในการปรับตัว ระบอบเก่าก็จะนอนอย่างสบายและมีความสุขบนความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติ แต่การนอนรอเช่นว่านั้น เป็นการนอนรอวันล่มสลาย”

          ความทุกข์ทรมานที่พี่น้องประชาชนรวมทั้งนายสมยศได้รับอย่างช้าๆ ฉายให้เห็นภาพเมื่อครั้งพระเยซูคริสต์ถูกตรึงไม้กางเขนให้เจ็บปวดทุกข์ทรมานและค่อยๆตายลงอย่างช้าๆ แต่สุดท้ายความตายของพระเยซูและอิทธิพลของคริสตศาสนานำมาซึ่งการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น