Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กสม.เล็งส่งเรื่องราชทัณฑ์ ย้าย 3 ผู้ต้องขัง 112 คดีไม่ถึงที่สุดมาเรือนจำหลักสี่

ข้อมูลจาก ประชาไท



18 ก.พ.56 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ คือ นายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ รักษาการ ผอ.ทัณฑปฏิบัติ เพื่อสอบถามเรื่องการย้ายผู้ต้องขังในคดีความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ รวมทั้งขอทราบผลความคืบหน้าในการพักโทษ การขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษกลุ่มนี้ หลังจากทางญาติผู้ต้องขังได้เข้าร้องเรียนเรื่องดังกล่าวว่าได้รับการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องขังเหล่านี้ก็จัดเป็นนักโทษการเมืองด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในการประชุมมีอดีตผู้ต้องขังและกลุ่มญาติผู้ต้องขังเข้าร่วมด้วย อาทิ นายสุชาติ นาคบางไทร อดีตผู้ต้องขัง ม.112, นายสุรภักดิ์ อดีตผู้ต้องขัง ม.112, นายเอกชัย ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ได้รับการประกันตัว
ตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า อำนาจในการย้ายนักโทษไปเรือนจำชั่วคราวหลักสี่นั้นเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ย้ายผู้ต้องขังคดีการเมือง เหตุสืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จากเรือนจำจังหวัดต่างๆ มารวมกันที่เรือนจำหลักสี่แล้ว แต่ยังคงเหลือผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีกราว 6 คน ที่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า นักโทษคดี 112 เป็นนักโทษการเมืองจึงไม่มีการย้ายไปเรือนจำหลักสี่ ต่อมาวันที่ 23 ม.ค.55 ทางกรมราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง คอป.ในเรื่องนี้อีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

ตัวแทนจากราชทัณฑ์ระบุด้วยว่า หากทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปความคิดเห็นในเรื่องนี้ส่งให้ทางราชทัณฑ์ ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในเบื้องต้นคาดว่าผู้ที่จะสามารถย้ายไปเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ได้จะต้องเป็นผู้ต้องขังที่โทษยังไม่ถึงที่สุด ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 11 ปี ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ , นายยุทธภูมิ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังที่ถูกพี่ชายแจ้งจับ คดีอยู่ในชั้นศาลและสืบพยานนัดแรกในเดือนส.ค.นี้, นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องขังหญิงที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ส่วนที่เหลืออีก 3 ราย คือ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ จำคุก 12 ปี 6 เดือน , นายธันย์ฐวุฒิ (สงวนนามสกลุ) จำคุก 13 ปี และนายวันชัย (สงวนนามสกุล) จำคุก 15 ปี นั้นถือเป็นนักโทษเด็ดขาดที่คดีถึงที่สุดแล้ว และทั้งสามอยู่ระหว่างขอพระราชทานอภัยโทษ
นายกิตติพัฒน์ ให้ข้อมูลด้วยว่าผู้ต้องโทษตามมาตรา 112 บางส่วนอยู่ระหว่างการทูลเกล้าถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ โดยที่คำขอของนายสุรชัยเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนอีก 2 ราย ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

นายจอน อึ๊งภากรณ์ และนายศราวุฒิ ประทุมราช อนุกรรมการฯ ได้สอบถามประเด็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการประกันตัวว่า หากยังมีการคุมขังผู้ต้องหาโดยไม่ให้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี ก็ควรที่จะมีการแยกขังผู้ต้องหาในสถานที่ต่างหาก ไม่ใช่เรือนจำเสมือนเป็นนักโทษ ซึ่งผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ยอมรับว่า การคุมขังผู้ต้องหาระหว่างการพิจารณานั้น อาจใช้เวลานานถึง 3 ปี กว่าศาลจะมีคำพิพากษา จึงมีแนวความคิดที่จะเอาคนออกจากคุกก่อนกำหนด ในรายของนักโทษที่มีความผิดเพียงเล็กน้อย เมื่อรับโทษครบเงื่อนไขที่สามารถพักโทษได้ กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการคืนตัวสู่สังคมก่อนครบกำหนดโทษปีละประมาณ 40,000 คน คาดว่าในวันที่ 16 เมษายนนี้ จะได้ปล่อยตัวออกก่อนอีกจำนวนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมโดยส่วนรวมด้วย



นายสุชาติ นายสุรภักดิ์ และผู้ร่วมประชุมได้เล่าประสบการณ์ตรงที่ได้พบในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และกรณีการให้ผู้ต้องหา/ผู้ถูกคุมขังทายชื่อให้ถูกต้องจึงจะอนุญาตให้เยี่ยมนางสาวดารณี ได้ตามเงื่อนไขของทัณฑสถานหญิงกลางและเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์ปฏิบัติต่อนักโทษในฐานะมนุษย์ด้วย
นอกจากนี้ผู้ร่วมประชุมที่เป็นญาติผู้ต้องหามาตรา 112ได้เรียกร้องต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้พิจารณาการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีการเมืองทั้งหมด ซึ่ง นพ.นิรันดร์ได้สรุปผลการประชุมในวันนี้ว่า คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะมีหนังสือสรุปความเห็นของที่ประชุม เพื่อแจ้งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้พิจารณาย้ายผู้ต้องหาในคดีตามมาตรา 112 ทั้ง 3 ราย คือ นายสมยศ นายยุทธภูมิและนางสาวดารณี ไปเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ รวมทั้งประเด็นสิทธิในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั้งหมดในเรือนจำที่ได้รับงบประมาณต่อหัวเพียงคนละ 133 บาทต่อคนต่อปี ครอบคลุมเพียง 180,000 คน ทั้งที่มีผู้ต้องขังและนักโทษอยู่ถึง 245,000 คนและเงื่อนไขการเข้าเยี่ยมนักโทษหญิงที่น่าจะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา และในปีนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะจัดทำรายงานผลศึกษาปัญหานักโทษทางการเมืองในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น