เรียบเรียงโดยทีมงาน Sunai FanClub
6 ก.พ. 56 ภายหลังจากที่ นาย ฌอง-มาร์ค เอโรต์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสได้แสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา และได้ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ล่าสุดเป็นผลให้มีคำพิพากษาจำคุก นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลาถึง 11 ปี ว่า
“การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยควรมีการสร้างกฎหมายขึิ้นมาควบคุม โดยที่ไม่ริดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ในบางประเทศ มีการใช้กฎหมายริดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางอินเตอร์เน็ต ส่วนกฎหมายหมิ่นนั้น เป็นกฎหมายที่มีอยู่ในบางประเทศ ซึ่งฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายนี้”
ซึ่งในโลกโซเซียลเน็ตเวิร์คความเห็นข้างต้นของนายกฯ ฝรั่งเศสเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบอย่างร้อนแรงจากทั้ง น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. และ อาจารย์ วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดย “รสนา” ได้โพสข้อความลงในเฟสบุ๊คของตนว่า นายกฯ ฝรั่งเศสไม่ควรให้ความความเห็นในเรื่องที่ตนเองไม่รู้รายละเอียด ถ้าสมมุตินายกฯ ไทยไปเยือนฝรั่งเศสแล้วให้สัมภาษณ์ว่า ฝรั่งเศสไม่ควรกีดกันเสรีภาพของสตรีมุสลิมในการคลุมฮิญาบ เพราะเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเสรีภาพสากลมี 4 เรื่อง คือ เสรีภาพในการพูด (Freedom of speech) เสรีภาพในการนับถือศาสนา (Freedom of Worship) อิสรภาพจากความอดอยาก (Freedom from Hunger) และอิสรภาพจากความกลัว (Freedom from Fear)
เรื่องฮิญาบเป็นเรื่องที่สภาฝรั่งเศสมีมติออกมาเหมือนกัน แล้วใครไปก้าวก่ายได้ไหมว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ฝรั่งเศสกลัวเรื่องก่อการร้าย จนสามารถละเมิดสิทธิในการนับถือศาสนาได้
นายกรัฐมนตรีไทยย่อมไม่ไปให้สัมภาษณ์ในเรื่องที่เป็นกระบวนการทางกฎหมายของประเทศอื่นฉันใด นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ควรรักษามารยาททางการเมืองที่จะไม่วิจารณ์เรื่องของกฎหมาย และกระบวนการทางตุลาการของประเทศอื่นฉันนั้น
“รสนาพูดข้อเท็จจริง ผิดๆและเพียงเสี้ยวเดียว พูดอย่างนี้อาจส่งผลปลุกปั่นคนมุสลิมนอกฝรั่งเศสให้เข้าใจผิดว่าฝรั่งเศสไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนาของคนในประเทศซึ่งไม่จริงได้เลย” วันรักระบุ
“ไม่จบง่ายๆ” ... "รสนา-วันรัก" วิวาทะ ยก 2
วิวาทะระหว่าง “รสนา-วันรัก”ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ เสียแล้ว เพราะภายหลังที่ “มติชนออนไลน์”ได้นำเสนอไปข้างต้นทั้งคู่ก็ต่างยกข้อเหตุผลมาหักล้างกันวินาทีต่อวินาที
โดย "รสนา" ได้โพสข้อความในเฟสบุ๊คตนเองชี้แจงว่า การยกเรื่อง “ฮิญาบ” มานั้นไม่ต้องการเพื่อปลุกปั่นให้คนมุสลิมเกลียดฝรั่งเศสแต่อย่างใดอีกทั้งยังโต้กลับวันรักว่า “ออกนอกประเด็น” ที่ตนต้องการจะสื่อและดาบนั้นย่อมคืนสนอง–สิ่งที่วันรักวิจารณ์จะย้อนกลับมาสู่วันรักเสียเอง (ปลุกปั่นให้คนเข้าใจผิด)
“ที่อ้างว่าฝรั่งเศสเป็นรัฐฆราวาสก็เลยห้ามการแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาในสถานที่ราชการเพราะคนเคยฆ่ากันในฝรั่งเศสเพราะเหตุผลทางศาสนา แล้ว Secular State อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน และประเทศยุโรปอีกหลายประเทศซึ่งก็มีสงครามศาสนาเช่นเดียวกันอย่างในเยอรมันก็มีสงครามศาสนา 30 ปี เขาก็ไม่ได้ห้ามแสดงสัญญลักษณ์ทางศาสนาเหมือนในฝรั่งเศสส่วนเยอรมันห้ามตั้งพรรคนาซี และพรรคคอมมูนิสต์ ซึ่งเขาก็เป็นประเทศประชาธิปไตยการห้ามแต่ละเรื่องที่ต่างกันก็ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศจะเอามาตรฐานฝรั่งเศสไปใช้กับเยอรมัน หรืออเมริกาก็คงไม่ได้จะอธิบายเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็คงไม่ครบถ้วน ดิฉันเพียงแต่ยกตัวอย่างมารยาททางการทูตว่าผู้นำที่มาเยือนในฐานะที่มาเป็นแขกเมืองไม่ควรวิจารณ์ในสิ่งที่เป็นประเด็น controversial เหมือนที่เราถ้าไปในฐานะแขกเมืองของเขาเราก็จะไม่ไปพูดในประเด็นแบบเดียวกัน”
“การยกประเด็นฮิญาบมิได้มุ่งหมายจะไปปลุกปั่นให้คนมุสลิมเกลียดชังฝรั่งเศสแต่ประการใด
การโยงของคุณออกนอกประเด็นที่ดิฉันต้องการสื่อ สิ่งที่คุณชี้นำกลับจะนำไปสู่สิ่งที่คุณวิจารณ์ดิฉันค่ะ" รสนากล่าว
ทางด้าน “วันรัก” ยอมรับว่าเพราะความเร็วในการโพสและไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นขนาดนี้จึงมีข้อผิดพลาด จึงไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง“ฮิญาบ” และตอบโต้ “รสนา” กลับใน 4 ประเด็น คือ 1. แม้จะห้ามใส่ฮิญาบแต่ก็ไม่ต้องติดคุก 10 ปี 2. สังคมสามารถวิจารณ์กฎหมายนี้ได้ 3. ประชมคมโลกก็วิจารณ์ได้เช่นกัน 4. ฝรั่งเศสอธิบายเหตุผลผ่านหลักการเรื่อง Republic ว่าด้วยรัฐฆราวาสและผ่านข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ของการฆ่ากันด้วยเหตุผลของความรัก
“ดีเบตเรื่องนี้เริ่มจากการมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งเริ่มใส่สัญลักษณ์ทางศาสนา (ผ้าคลุมหัว)ในโรงเรียนของรัฐฝรั่งเศสเมื่อซัก 5-6 ปีก่อน ซึ่งจริงๆก็ห้ามใส่สัญลักษณ์ของทุกศาสนาใน รร.รัฐอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อพรรคฝ่ายขวาของฝรั่งเศสขึ้นมาประเด็นถูกขยายให้เป็นเรื่องของ "อัตลักษณ์แห่งชาติ" (idée nationale) การใส่ฮิญาบกลายมาเป็นประเด็นสำคัญและเป็นที่ถกเถียงไปทั่วสังคมเริ่มจากการห้ามในพื้นที่ราชการ ไปจนขยายไปสู่พื้นที่สาธารณะทั้งหมดสังคมฝรั่งเศสแตกแยกกันมากๆ มีทั้ง คนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนกระทั่งปี 2553 มีการห้ามใส่ฮิญาบในพื้นที่สาธารณะจริงๆอย่างที่คุณรสนาว่าไว้”
“แต่ประเด็นที่คุณรสนาเปรียบเทียบ 112 กับกฎหมายห้ามฮิญาบนั้นมีปัญหา เพราะอย่างที่เฟย์บอกไป 1.ห้ามใส่ฮิญาบไม่ต้องติดคุกเป็น 10 ปี 2. เราวิพากษ์วิจารณ์ กม.นี้ได้ (คนวิจารณ์ก็ไม่ติดคุก) นอกจากนี้คนในสังคมฝรั่งเศสก็ถกเถียงถึงมันได้อย่างเปิดเผยและสื่อกระแสหลักก็เล่นประเด็นนี้อย่างชัดเจน, 3.ประชาคมโลกก็วิจารณ์ได้ (ไม่โดนด่าว่าประเทศชั้น ออกไปซะ) 4. ฝรั่งเศสอธิบายเหตุผลผ่านหลักการเรื่อง Republic ว่าด้วยรัฐฆราวาสและผ่านข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ของการฆ่ากันด้วยเหตุผลของความรัก (จนถึงคลั่ง) ศาสนา”
วิวาทะอันร้อนแรงระหว่าง “รสนา-วันรัก”ที่เกิดขึ้นนี้ ใครแพ้-ใครชนะตอนนี้ดูจะไม่สำคัญเท่ากับความอดกลั้นต่อความแตกต่างที่ทำให้การตอบโต้กันด้วยเหตุผลของคนทั้งสองเกิดขึ้นได้สร้างโอกาสและเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในสังคมที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับฝ่ายใดก็ตามได้คิดและตรองเหตุผลอีกครั้ง จากวิวาทะนี้หลายๆประเด็น และที่สำคัญ ประเด็นเรื่อง “เสรีภาพ” จึงได้ถูกนำกลับมาพูดคุยอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าวิวาทะนี้อาจจบลง แต่หนทางสู่ “เสรีภาพ”ของไทยก็ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะขรุขระไปบ้างก็ตาม
คุณ วันรัก มีเหตุผลดีกว่า รสนา คับ
ตอบลบคุณวันรักอธิบายเหตูผลได้ตรงประเด็นและเข้าใจง่ายกว่าคุณ รสนา ครับ
ตอบลบ