จาก คอลัมน์ คนเดินตรอก ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์
โดย วีรพงษ์ รามางกูร
เงินร้อนก็คือเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็น เงินสกุลหลักของโลก เป็นเครื่องมือในการชำระหนี้ระหว่างประเทศ เป็นเงินที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นเงินที่ใช้กู้ยืมกันไปมาระหว่างประเทศ และเป็นเงินตราสกุลเดียวที่ใช้เป็นเครื่องมือในการ "เก็งกำไร" จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุต่าง ๆ รวมทั้งการเก็งกำไรในตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ ทั้งที่เป็นตราสารหนี้ของรัฐบาลต่าง ๆ และตราสารหนี้ของเอกชน รวมทั้งการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
การที่สหรัฐอเมริกาสามารถขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดย การผลิตเงินดอลลาร์ออกมาให้ชาวโลกถือไว้ได้โดยไม่เป็น "เศษกระดาษ" ก็เพราะไม่มีเงินตราสกุลใดมีจำนวนมากพอที่จะสนองตอบต่อการถือเงินไว้เพื่อ วัตถุประสงค์หลักทั้ง 3 อย่างนั้นได้ เพราะประเทศอื่นที่เป็นเจ้าของเงินไม่ต้องการพิมพ์เงินออกมาในตลาดโลกมาก มายอย่างนั้น
อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสกุลต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินหยวน กับเงินริงกิต เงินยูโร เงินปอนด์และเงินอื่น ๆ ทั่วโลก ก็จะเริ่มจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ แล้วอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินหยวน กับเงินริงกิต เงินยูโร เงินปอนด์และเงินอื่น ๆ ทั่วโลกก็จะปรับตามให้สอดคล้องกัน ไม่เขย่งกัน ถ้าเขย่งกันไม่สอดคล้องกัน
ก็จะมีผู้ที่หากำไรคอยจ้องซื้อขายเงินตรา สกุลนั้นจนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ เงินบาทกับเงินหยวน เงินริงกิตหรือเงินอื่น ๆ สอดคล้องกัน สมมติเช่น หนึ่งดอลลาร์เท่ากับสามสิบบาท หนึ่งดอลลาร์เท่ากับหกหยวน ฉะนั้นหนึ่งหยวนต้องเท่ากับห้าบาทจึงเรียกว่าสอดคล้องกัน ไม่เขย่งกัน
เงิน ดอลลาร์จึงเป็นสกุลเงินที่ยังมีความสำคัญอยู่เสมอมา โดยเฉพาะสัดส่วนของความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อใช้เก็งกำไรจะมีสัดส่วน มากขึ้นตามลำดับ เมื่อเทียบกับความต้องการถือเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และการถือเพื่อใช้เป็นทุนสำรอง
การเคลื่อนย้ายไหลไปมาของเงินดอลลาร์นั้นอาจจะแยกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆประเภท แรกเป็นการเคลื่อนย้ายอันเกิดจากการเกินดุลหรือขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นเงินที่ได้ขาด ไม่มีพันธะจะต้องจ่ายคืนหรือได้คืนในอนาคต ปัญหาไม่ค่อยมี
อีกประการหนึ่งก็คือปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปมาระหว่างประเทศในรูปของเงินกู้ยืมและเงินลงทุน เงินประเภทนี้มีทั้งที่ เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา เช่น การนำเงินมาลงทุนจริง ๆ ตั้งโรงงาน ซื้อที่ดิน เครื่องจักร นำมาหมุนเวียน เงินลงทุนอย่างนี้เรียกว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ foreign direct investment หรือ FDI เมื่อได้กำไรก็โอนเงินกำไรกลับ หรือเมื่อขาดทุนมากเข้าก็โอนเงินมาเพิ่มทุนในบริษัท
เงินลงทุนอีก ประเภทหนึ่งคือ เงินลงทุนซื้อหุ้นหรือซื้อตราสารทางการเงินต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า portfolio investment ในตลาดรอง หรือ secondary markets เงินที่ไหลเข้ามาในประเภทนี้เกือบทั้งหมดหรือจะเรียกว่าทั้งหมดก็ได้เรียก ว่า "เงินร้อน" หรือ "hot money" เพราะสามารถขายตราสารและนำเงินออกเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งมีทั้งในรูปเป็นทางการบนดินและไม่เป็นทางการอยู่ใต้ดิน แม้จะเป็นตราสารระยะยาวก็อาจจะขายขาดทุนแล้วนำเงินกลับไปก็ได้
เงิน ร้อนพวกนี้แหละที่ตำราเศรษฐศาสตร์ทุกตำรากล่าวว่า เป็นเงินที่ไม่ได้สร้างสรรค์ เป็นเงินที่ไม่มีประโยชน์หรือ "unproductive" เป็นเงินที่เป็นอันตรายและมีพลังการทำลายสูง หรือ "destructive" เพราะเงินพวกนี้เข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์หากำไรจากช่องว่างที่เขย่งกันของ อัตราผลตอบแทนของตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก หากำไรจากประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเงินต่ำแต่มีผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดอัตราผลตอบแทนโดยทางการที่ทำให้เกิดการเขย่งกัน ของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่น ๆ ที่กลไกตลาดไม่สามารถทำให้ความแตกต่างหายไปจนเหลือแต่ความแตกต่างจากความ เสี่ยงด้านการเงิน
ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทยมีความมั่นคงทางการเงิน สูง ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ความเสี่ยงในด้านนโยบายการเงินมีน้อย เพราะทางการประกาศว่าจะยึดมั่นในเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างมั่นคง พร้อมกับจะไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงทางด้านการเมืองก็ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งต่างกับประเทศอื่น ๆ ที่ยังมีความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ สูงอยู่ ดังนั้น "เงินร้อน" จึงไหลเข้ามาหากำไรจากความแตกต่างของผลตอบแทนที่สูงกว่า รวมทั้งเข้ามาเพื่อ "ปั่นราคา" ตลาดที่มีสภาพคล่องสูง ให้ราคาสูงขึ้น เมื่อราคาสูงขึ้นถึงจุดหนึ่งก็ขายทำกำไร เมื่อถึงจุดนั้นเศรษฐกิจก็ทรุดตัวทำความเสียหายได้
การไหลเข้ามาของ "เงินร้อน" ดังกล่าวในประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคมั่นคงเท่ากันแต่ทางการให้ผลตอบแทนต่อ เงินสูงกว่าประเทศอื่น จะเริ่มจากตลาดหุ้น ตลาดตราสารแล้วก็ลุกลามไปยังตลาดอสังหาริมทรัพย์ แล้วก็ขยายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยที่การลงทุนจริง ๆ ในการสร้างโรงงานขยายโรงงานและอื่น ๆ เพื่อขยายการผลิตของภาคเอกชนมีน้อย
หรือ ไม่มีเลย ทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงขึ้นในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ สภาพการณ์อย่างนี้นิยมเรียกกันในสมัยหลังว่า "เศรษฐกิจฟองสบู่" หรือ "bubble economies" เมื่อร้อนแรงถึงจุดหนึ่งที่ฟองสบู่แตก ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสถาบันการเงินก็จะล่มสลายกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินได้อย่างที่เคยพบมาแล้วในประเทศไทยและประเทศ
อื่น ๆสิ่งที่น่าห่วงก็คือ ความรู้ความเข้าใจของทางการที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน บทบาทของดอกเบี้ยและมาตรการทางการเงินในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือ real sector กับบทบาทในภาคการเงินหรือ financial sector
บทบาทดอกเบี้ยใน ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงจะเป็นตัวกดหรือกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนจริง ๆ หรือ direct investment เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนโดยตรง แต่ก็มีผลไม่มากเท่ากับการขยายตัวหรือการหดตัวของรายได้ประชาชาติ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการขยายตัวหรือชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุน
แต่ ในภาคการเงินสำหรับเศรษฐกิจเล็กและเปิดอย่างประเทศไทย การเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อให้ดอกเบี้ยภายในประเทศมีความแตกต่างกับดอกเบี้ยภาย นอก ถ้าพื้นฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจยังอยู่เหมือนเดิม จะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้นแทนที่จะน้อยลง
การ จะลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาคการเงินอันมีพื้นฐานมาจากการหลั่ง ไหลเข้ามาปั่นตลาดของ "เงินร้อน" หรือเงินทุนระยะสั้นโดยการขึ้นดอกเบี้ยจึงเป็นการกระทำที่ผิด ผลจะออกมาตรงกันข้ามกับที่เข้าใจ กล่าวคือ เศรษฐกิจจะร้อนแรงยิ่งขึ้น แทนที่จะลดความร้อนแรงลง เพราะจะมี "เงินร้อน" ไหลเข้ามามากขึ้น
การพิจารณาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจะเอาไปเปรียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงทาง ด้านมหภาคที่แตกต่างกันไม่ได้ เพราะนั่นเป็นความรู้สึกของเราเองซึ่งแตกต่างกับความรู้สึกของนักค้าเงินที่ นำเงินเข้ามาแสวงหากำไรอย่างตรงกันข้ามก็ได้ พฤติกรรมของตลาดเก็งกำไรนั้นไม่สามารถคาดการณ์ไปจากตัวเราเองได้ เป็นพฤติกรรมที่คาดการณ์ได้ยาก ทฤษฎีที่ว่าด้วยพฤติกรรมของตลาดเก็งกำไรจึงไม่มี
แม้ แต่เศรษฐกิจของเราเองในแต่ละช่วงเวลา ความเสี่ยงทางด้านมหภาคในสายตาของนักเก็งกำไรก็แตกต่างกัน ซึ่งเขาต้องนำมาพิจารณาด้วย ตัวอย่างเช่น มีผู้กล่าวว่า "เราเคยตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้สูงกว่าดอกเบี้ยดอลลาร์ถึงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์มาเป็นเวลาหลายปีก็ไม่เห็นเป็นไร" เป็นการกล่าวที่ไม่เข้าใจ เพราะเมื่อ 3-4 ปีก่อนประเทศเราอาจจะมีความเสี่ยงด้านอื่น เช่น ความเสี่ยงทางด้านการเมือง ความเสี่ยงทางด้านนโยบายการคลัง ความเสี่ยงทางด้านนโยบายการเงิน หรือประเทศอื่นมีความเสี่ยงน้อยกว่าของเรา รวมทั้งปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาดโลก ความเสี่ยงใน ความมั่นคงของยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อเมริกาที่เปลี่ยนไป การเปรียบเทียบกับประเทศอื่นจึงทำไม่ได้หรือไม่ควรทำ ต้องดูตัวเราเองเป็นหลัก
ความเสียหายร้ายแรงจากการมาของเงินร้อนนั้น มีมากนัก จะเบาใจไม่ได้ ต้องช่วยกันคิด อย่าคิดว่าตนเองรู้ดีคนเดียว ที่สำคัญโลกทุกวันนี้ไม่มีความลับ อย่านึกว่าเราปิดได้
ความลับมีอย่างเดียวคือ เรารู้หรือไม่รู้เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น