Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เสรีภาพ สัญญาประชาคม และนักโทษการเมือง

จาก RED POWER ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์  2556



นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 เป็นต้นมา เกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับนักโทษการเมืองหลายอย่างนับตั้งแต่การเสียชีวิตของคุณวันชัย รักษ์สงวนศิลป์ มาจนถึงการพิพากษาคดี 112 ของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และครบรอบ 2 ปี ที่คุณสุรชัย แซ่ด่าน ถูกจับขังคุกในเดือนกุมภาพันธ์ รวมทั้งปี 2556 นี้ จะมีการเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับนักโทษการเมือง เช่น กลุ่มนิติราษฎร์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่มีคดีการเมือง การเคลื่อนไหวปลดปล่อยนักโทษการเมืองของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลและองค์กรแนวร่วม ฯลฯ บทความนี้จะลองประเมินสถานะของนักโทษการเมืองภายใต้กรอบเสรีภาพและสัญญาประชาคมของรุสโซ(Jean-Jacques Rousseau;1712–78) ซึ่งเป็นนักปรัชญาในยุคตาสว่างของยุโรป(enlightenment) โดยก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า อำนาจอธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค ในทัศนะของรุสโซเป็นเบื้องต้นเสียก่อน คือ

ความคิดว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน(popular sovereignty)มีที่มาจากการเสนอของ รุสโซ รุสโซได้สร้างประชาคมการเมืองขึ้นมาด้วย "เจตจำนงค์ส่วนรวม"(general will) เจตจำนงค์ส่วนรวมคือที่มาของหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในปัจจุบัน ซึ่งเขากล่าวไว้ในหนังสือสัญญาประชาคม(The Social Contract) แต่ก่อนหน้าหนังสือสัญญาประชาคม รุสโซได้เสนอความคิดอันเป็นพื้นฐานที่เป็นต้นกำเนิดของความไม่เสมอภาคของมนุษย์ โดยจำแนกความไม่เสมอภาคเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก ความไม่เสมอภาคอันเกิดจากธรรมชาติหรือความไม่เสมอภาคทางกายภาพ ประกอบไปด้วยความแตกต่างด้านอายุ สุขภาพ ความแข็งแรงของร่างกาย และคุณภาพของจิตใจหรือจิตวิญญาณ  ประเภทที่สอง ความไม่เสมอภาคทางการเมืองหรือศีลธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับระเบียบแบบแผน ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือความยินยอมของมนุษย์ ประกอบด้วย อภิสิทธิ์ต่างๆ ที่ทำให้บางคนมีความสุขมากกว่า ร่ำรวยกว่า การมีอคติต่อผู้อื่น  มีเกียรติยศ อำนาจ ตลอดจนการบังคับให้คนอื่นอยู่ใต้อำนาจ

          รุสโซเชื่อว่ามนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ มีอิสระ มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์โดยไม่อยู่ใต้ผู้อื่น จึงเป็นผลให้ทุกคนเสมอภาคกัน เพราะมีสถานะอย่างเดียวกันคือต่างก็มีเสรีภาพ หรืออีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์มีเสรีภาพและความเสมอภาคกันตามธรรมชาตินั่นเอง (เสรีภาพและความเสมอภาคจึงเหมือนเป็นสองด้านของเหรียญที่มิอาจแยกขาดจากกันได้) แต่เมื่อถึงจุดที่สภาพการณ์บังคับให้ต้องยกเลิกความเป็นอยู่ตามธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด จึงเป็นที่มาของการเกิดสังคมขึ้น สังคมเป็นผลของวิวัฒนาการด้านลบของมนุษย์ การเกิดขึ้นของสังคมในทัศนะของรุสโซจึงไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ เมื่อมาอยู่ในสังคมมนุษย์กลับตกเป็นทาสของสิ่งที่มนุษย์คิดค้นพัฒนาขึ้น ตกเป็นทาสของมนุษย์ด้วยกัน ความเจริญก้าวหน้าในศิลปะวิทยาการกลับยิ่งทำให้มนุษย์อ่อนแอลงเพราะตกอยู่ในพันธนาการจนไม่อาจมีเสรีภาพและความเสมอภาคที่เคยมีตามธรรมชาติได้ ดังที่รุสโซเริ่มต้นประโยคแรกของหนังสือสัญญาประชาคมว่า มนุษย์เกิดมาเสรี และทุกแห่งหนเขาตกอยู่ในพันธนาการ มีบางคนที่เชื่อว่าพวกเขาเป็นนายเหนือผู้อื่น และซึ่งเขาก็เป็นทาสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่น

          รุสโซให้ความสำคัญกับเสรีภาพในฐานะที่เป็นแก่นของความเป็นมนุษย์ โดยนิยามเสรีภาพผูกโยงกับความเป็นมนุษย์และศีลธรรม การไม่มีเสรีภาพเป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมและเมื่อใดที่ปราศจากเสรีภาพเมื่อนั้นก็ไม่อาจเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป “การปฏิเสธเสรีภาพ คือ การปฏิเสธความเป็นมนุษย์ สิทธิและหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ไม่มีอะไรที่จะทดแทนได้สำหรับคนที่สละทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้น การสละซึ่งเสรีภาพนั้นเป็นการฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ การลบล้างเจตจำนงค์แห่งเสรีภาพเท่ากับเป็นการลบล้างศีลธรรมออกจากทุกการปฏิบัติของมนุษย์”

          การปราศจากเสรีภาพและความเสมอภาค ความเลวร้าย ความอัตคัตขัดสนทั้งปวงล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ในสังคม ทางออกของรุสโซที่จะแก้ปัญหานี้ คือ "สัญญาประชาคม" หรือการสร้างระเบียบสังคมการเมืองเสียใหม่ โดยมนุษย์จำต้องยอมเสียสละเสรีภาพและความเสมอภาคตามธรรมชาติเพื่อแลกกับเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองในฐานะที่เป็นพลเมือง นั่นคือสัญญาประชาคมจะทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากภาวะอันไม่พึงประสงค์และได้เสรีภาพและความเสมอภาคกลับคืนมา สัญญาประชาคมของรุสโซเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ทุกคนต้องยอมมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้มาอยู่ภายใต้เจตจำนงค์ส่วนรวม ดังที่รุสโซกล่าวว่า "พวกเราแต่ละคนมอบตนเองและอำนาจทั้งหมดให้มาอยู่รวมกันภายใต้เจตนารมณ์อันสูงสุดของเจตจำนงค์ส่วนรวม(general will) ; และเราในฐานะประชาคมก็จะรวมสมาชิกแต่ละคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดที่มิอาจแบ่งแยกได้" การรวมกันเป็นประชาคมก็เพื่อจะรวมพลังของทุกคนมาเอาชนะสภาพการณ์อันเลวร้ายต่างๆ และขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่พึงปรารถนาร่วมกัน แต่ละคนจะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างเทียบเท่ากับสิ่งที่เขาสูญเสียไปและจะได้พลังที่เข้มแข็งกว่าเดิมในการปกป้องสิ่งที่เขามีอยู่ โดยประชาคมนั้นจะได้ชื่อร่วมกันว่า "ประชาชน"(people)(ความหมายแบบองค์รวม) และเรียกว่า "รัฐาธิปัตย์"(sovereign) เมื่อมันแสดงออกว่าเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด สมาชิกของประชาคม(ประชาชนแต่ละคน)จะมีส่วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหนึ่งในส่วนของทั้งหมด นี่คือที่มาของหลักการอำนาจอธิปไตยของประชาชน

          ในแง่ของระบบกฎหมาย สัญญาประชาคมหรือเจตจำนงค์ส่วนรวมก็คือต้นกำเนิดของกฎหมายทั้งปวง หรืออำนาจอธิปไตยที่ชี้นำโดยเจตจำนงค์ส่วนรวมคือที่มาของกฎหมายทั้งปวง กฎหมายจะมีได้โดยเจตจำนงค์ส่วนรวมเท่านั้น รุสโซได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่สังคมจะต้องมีกฎหมาย โดยมีเป้าหมายคือความยุติธรรม ซึ่งมีแต่ประชาชนเท่านั้นที่มีสิทธิในการบัญญัติกฎหมาย(กฎหมายที่มาจากอำนาจอธิปไตยของประชาชนเท่านั้นจึงจะเรียกว่าเป็นกฎหมาย) และผู้ปกครองจะไม่สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้เพราะผู้ปกครองเป็นแค่สมาชิกคนหนึ่งของประชาคม

ในประการสำคัญ รุสโซได้ผนวกรวมแก่นทางปรัชญาของเขาคือ เสรีภาพและความเสมอภาคเข้ากับกฎหมาย และกลายเป็นเป้าหมายของการบัญญัติกฎหมายหรือเป้าหมายของสัญญาประชาคม ดังที่รุสโซได้กล่าวว่า "ถ้าเราจะหาว่าสิ่งใดคือประโยชน์สูงสุดของเป้าหมายอันจำเป็นสำหรับระบบกฎหมาย เราจะพบว่ามันถูกจำกัดอยู่ในสองสิ่งเท่านั้น คือ เสรีภาพและความเสมอภาค เสรีภาพเพราะทุกรูปแบบของการไร้ซึ่งเสรีภาพย่อมหมายถึงว่ารัฐเองก็ได้สูญเสียความเข้มแข็งลงไปดุจเดียวกัน ความเสมอภาคเพราะเสรีภาพมิอาจดำรงอยู่ได้หากปราศจากความเสมอภาค" ในทัศนะของรุสโซ ระบบสังคมโดยพื้นฐานคือพันธะสัญญาที่จะนำความเสมอภาคทางกฎหมายและศีลธรรมมาแทนที่ความเสมอภาคตามธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคทางกายภาพตามธรรมชาติ ได้แก่ ความแข็งแรงหรือสติปัญญา ความเสมอภาคจะเป็นจริงได้ก็ด้วยข้อตกลงและสิทธิของคนทุกคน ถึงที่สุดแล้วสัญญาประชาคมของรุสโซคือความพยายามแสวงหารูปแบบการปกครองที่ชอบธรรม การปกครองที่ชอบธรรมจำต้องได้อำนาจมาจากประชาชนในฐานะที่เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์เท่านั้น และการปกครองที่ชอบธรรมต้องปกป้องเสรีภาพ(และความเสมอภาค)ซึ่งเป็นแก่นของความเป็นมนุษย์

ในสังคมไทยที่เสรีภาพหลายเรื่องเป็นสิ่งต้องห้าม การบัญญัติกฎหมายที่มิได้มาจากอำนาจของประชาชน มีระบบกฎหมายที่กดขี่บังคับไม่ให้มีเสรีภาพ  นักโทษการเมืองถูกขังโดยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไร้ความยุติธรรม ภายใต้ระบอบการปกครองอันเลวร้ายนี้ ต่อให้คุณสมยศชนะคดี 112 คุณสุรชัยและนักโทษการเมืองตลอดจนคนที่โดนคดีการเมืองทั้งหมดได้รับนิรโทษกรรม ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่าไหร่นัก รวมทั้งประชาชนไทยทั้งประเทศก็ไม่ต่างกันคือเป็นได้แค่สิ่งมีชีวิตที่หน้าตาคล้ายมนุษย์ มีสถานะที่แท้จริงต่ำกว่ามนุษย์ เหตุเพราะพวกเขายังไม่มีเสรีภาพและความเสมอภาคที่แท้จริง ตราบใดที่ยังไม่ปลดปล่อยให้ประชาชนคนไทยมีเสรีภาพอย่างแท้จริง พวกเขาทั้งหมดก็มีสถานะไม่ต่างจากสัตว์เท่านั้น

เรามาเขียนสัญญาประชาคมกันใหม่เถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น