สหภาพยุโรป จัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้กฎหมายหมิ่นฯ จากยุโรป โดยมีผู้พิพากษาจากเดนมาร์ก และอัยการจากเสปนที่เคยพิจารณาคดีหมิ่นฯ เข้าร่วม ชี้หลักเสรีภาพการแสดงออกต้องมาก่อนเนื่องจากเป็นรากฐานของเสรีภาพทุกชนิด
หลังจากคำตัดสินลงโทษนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บ.ก. นิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน เป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการตีพิมพ์บทความสองบทความที่หมิ่นเบื้องสูงในนิตยสาร หนึ่งสัปดาห์ถัดมา สหภาพยุโรป ก็ได้จัดงานสัมมนาเรื่องเสรีภาพการแสดงออก และการปรองดอง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ อาทิ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสรีภาพสื่อ และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีนักวิชาการ นักกฎหมาย ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมราว 100 คน
โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 56 มีวงเสวนาในหัวข้อ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ - การใช้ ความท้าทาย และนัยสำคัญ" มีผู้พิพากษาจากเดนมาร์ก นายปีเตอร์ มอร์ค ธอมเสน ซึ่งเป็นเคยพิพากษาหลักในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเดนมาร์ก นายออกุสติน ไฮดัลโก จากสำนักงานอัยการสูงสุดของสเปน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้กฎหมายนี้ในยุโรป รวมถึงจอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นายออกุสติน ไฮดัลโก กล่าวว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือการดำรงอยู่ระหว่างการปะทะกันของเสรีภาพการแสดงออก และสิทธิในการเชิดชูและให้การพิทักษ์เป็นพิเศษแด่สถาบันกษัตริย์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างสองอย่าง
เขากล่าวว่า รัฐธรรมนูญของสเปน นอกจากจะวางรากฐานเรื่องระบอบการปกครองคือรัฐสภาที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ยังกำหนดให้เสรีภาพ และความหลากหลายทางการเมือง มีคุณค่าสูงสุดในรัฐสเปน รวมถึงเรื่องเสรีภาพในทางอุดมการณ์ นอกจากนี้ ต้องตีความตามคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมืองเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญของสเปน ก็ได้ระบุไว้ว่า เสรีภาพการแสดงออกก็ไม่ใช่ว่ามีขีดจำกัด โดยตามกฎหมาย ไม่อนุญาตให้มีการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการใช้คำพูดที่เหยียดหยาม หากแต่อนุญาตให้ใช้คำพูดที่น่ารำคาญ (annoying) หรือเจ็บช้ำน้ำใจ (hurtful) ได้ ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ บทลงโทษตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสเปน กำหนดให้ผู้ที่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือรัชทายาท ถูกจำคุกระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี หากเป็นการดูหมิ่นร้ายแรง และ 6 เดือนถึง 12 เดือนหากเป็นการดูหมิ่นที่ไม่ร้ายแรง
อัยการอาวุโสของสเปน กล่าวว่า มาตรา 490 ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุด้วยว่า บทลงโทษต่อการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จะรุนแรงขึ้น หากว่าพระองค์อยู่ในขณะที่ทรงงานหรือปฏิบัติในหน้าที่ แต่หากมีการดูหมิ่นประมาทต่อองค์กษัตริย์หรือรัชทายาทที่ไม่ได้ทรงปฏิบัติงาน จะลดบทลงโทษเป็นเพียงการปรับเท่านั้น เนื่องจากศาลสูงสุดสเปนเห็นว่ากฎหมายหมิ่นฯ มีไว้เพื่อพิทักษ์เกียรติและศักดิ์ศรีประมุขของรัฐ และเพื่อการรักษาอำนาจและหน้าที่ของรัฐที่เหมาะสม
ไฮดัลโกกล่าวถึงกรณีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญสเปนในปี 1990 ที่กลายมาเป็นหลักชี้วัดขอบเขตของการกระทำผิดตามกฎหมายหมิ่นฯ และเสรีภาพในการแสดงออก โดยศาลรัฐธรรมนูญได้กลับคำตัดสินของศาลฎีกาเมื่อปี 1987 ที่เอาผิดนักหนังสือพิมพ์ที่เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ว่ามีความคล้ายคลึงกับเผด็จการสมัยฟรังโก
ศาลรัฐธรรมนูญระบุในกรณีดังกล่าวว่า สิทธิในการแสดงออกในความคิดและความเชื่อนั้นอยู่เหนือสิทธิในการเชิดชู โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสาธารณะในทางสังคมเรื่องการเมือง และยิ่งหากเป็นบุคคลที่มีหน้าที่สาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับความจำเป็นของสาธารณะ ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการถูกกระทบจากความคิดเห็นหรือข้อมูลจากสาธารณะได้
"นั่นเป็นเพราะว่าเสรีภาพในการแสดงออก เป็นวิธีที่แสดงออกถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ นั่นคือ เสรีภาพในอุดมการณ์ หรือมาตรา 16 ในรัฐธรรมนูญสเปน และหากว่าไม่มีเสรีภาพทางอุดมการณ์ คุณค่าของระบบกฎหมายซึ่งเป็นพื้นฐานของนิติรัฐในทางสังคมและการเมือง ก็จะไม่มีประสิทธิผลใดๆ" ไฮดัลโกกล่าว
เดนมาร์ค: เสรีภาพการแสดงออกถือว่าเป็น "ออกซิเจน" ของสิทธิทั้งหมด
นายปีเตอร์ มอร์ค ธอมเสน ผู้พิพากษาจากเดนมาร์ก กล่าวถึงความคล้ายคลึงของเดนมาร์คและไทย ทั้งการมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นประมุขของศาสนา และการที่กฎหมายหมิ่นฯ ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญหมวดความมั่นคงของรัฐและการก่อการร้าย นอกจากนี้ ประชาชนเดนมาร์คก็ยังมีความรู้สึกที่เป็น "เอกลักษณ์" ต่อราชินีของตนเอง เช่นเดียวกับคนไทยต่อสถาบันกษัตริย์ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม บทลงโทษของกฎหมายหมิ่นฯ กำหนดไว้เป็นการจำคุกสูงสุด 4 ปีเท่านั้น และไม่มีบทลงโทษขั้นต่ำ และปัจจุบันการใช้กฎหมายนี้ในเดนมาร์ค ก็แทบจะไม่มีแล้ว โดยตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมา เดนมาร์คได้ยกเลิกการเอาผิดคำพูด (statements) ที่หมิ่นประมาท และเอาผิดเพียงการกระทำ (action) ที่มุ่งจะทำให้เกิดภัยต่อกษัตริย์เท่านั้น
เขากล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้พิพากษาที่ดี ควรใช้สามัญสำนึกในการตัดสินและพิจารณาคดี ว่าตุลาการต้องการที่จะควบคุมการกระทำของพลเมืองแบบใด และควรต้องเข้าใจจุดประสงค์ของกฎหมาย มิใช่ตีความจากที่มาของกฎหมาย และตีความตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ผู้พิพากษาจากเดนมาร์คกล่าวถึงคดีความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเดนมาร์คเมื่อเร็วๆ นี้ ที่นักเคลื่อนไหวจากกลุ่มกรีนพีซได้บุกเข้าไประหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำของพระราชินีในปี 2009 เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จากนั้นในปี 2011 นักเคลื่อนไหวทั้งหมด 11 คน ได้ถูกตั้งข้อหาบุกรุก และหมิ่นประมาทพระราชินี
นายธอมเสน ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษาคดีดังกล่าว ชี้ว่า กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ในเดนมาร์คมิได้ถูกใช้มานานมากแล้ว เนื่องจากว่าเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นสิทธิหลักในเดนมาร์ค
"มันเป็นเสรีภาพที่เป็นฐานของเสรีภาพอื่นๆ ถือเป็นอ็อกซิเจนของเสรีภาพทั้งมวล และเสรีภาพในการแสดงออกนับเป็นสิ่งสำคัญในการท้าทายความคิดของระเบียบเดิม" เขากล่าว
คณะผู้พิพากษา ได้พิจารณาว่า เนื่องจากการกระทำที่มุ่งประทุษร้ายราชินี ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา อย่างไรก็ตาม พบว่าการกระทำของนักเคลื่อนไหวกรีนพีซ มิได้มุ่งก่อภัยอันตรายต่อราชินี เพราะบุกเข้าไปในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อต้องการจะส่งข้อความทางการเมืองเท่านั้น แต่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชินีแต่อย่างใด อัยการจึงยกฟ้องข้อหาดังกล่าว
เขากล่าวต่อว่า เป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะทำให้ข้อกำกวมทางกฎหมายเป็นเรื่องที่ชัดเจน เนื่องจากเขาได้ยินมาว่า ประชาชนที่นี่ยังสับสนและมีความไม่ชัดเจนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่โดยตามหลักการแล้ว ควรจะเป็นหน้าที่ของศาลที่ทำให้สิ่งต่างๆ ชัดเจนกว่านี้
"มันน่าจะมีการจำกัดความการใช้หรือตีความกฎหมายที่ดีกว่านี้ อย่างบางกรณีที่มีชาวต่างชาติพ่นข้อความที่งี่เง่าลงไปบนพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่ห้ว ก็ต้องถามว่าข้อความดังกล่าวเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้หรือไม่...ผมคิดว่าไม่ควรไปเอาข้อความดังกล่าวมาคิดอย่างจริงจัง" ธอมเสนกล่าว
โดยสรุป เขาเสนอว่า ควรให้ตุลาการค่อยๆ พิจารณาลดจำนวนการดำเนินคดีในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพลงไป และศาลควรจะต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนออกมา ว่าสิ่งใดถือเป็นอาชญากรรมและอะไรบ้างที่ถือว่าไม่ใช่
จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องยากที่จะตำหนิสถาบันโดยที่ไม่พูดชมไปด้วยพร้อมกัน เนื่องจากมีบรรยากาศของโฆษณาชวนเชื่อเต็มไปหมดทั้งในโทรทัศน์และวิทยุ นอกจากนี้ ศาลไทยก็ยังถือว่าเป็นผู้ปกป้องสถาบันมาก แต่มิได้มองตนเองว่าเป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั่วไป มีการตีความตามตัวอักษร และไม่มีมุมมองที่ก้าวหน้า ทำให้ตีความกฎหมายไปในทางที่แย่ที่สุด
เขากล่าวว่า หลังจากการศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้สรุปออกมาเป็นข้อเสนอแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคือ ให้กำหนดบทลงโทษสูงสุดเป็น 7 ปี โดยไม่มีโทษขั้นต่ำ และ หากว่าการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับเรื่องประโยชน์สาธารณะและเป็นไปด้วยความตั้งใจที่ดี ก็จะเป็นข้อยกเว้นจากการเอาผิด นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้มีสิทธิกล่าวหาฟ้องร้องเป็นสำนักพระราชเลขาธิการเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น