Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บันทึกลับปลายรัชกาล (3)


ตอน เริ่มรัชกาลปรัตยุบัน
จากพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 (ต่อจากฉบับที่แล้ว)
โดยกองบรรณาธิการ จาก RED POWER ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์ 2556




                   ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จสวรรคตแล้ว การประกอบพระราชพิธีส่งสวรรคาลัยก็มีรายละเอียดเป็นอย่างมากที่สามัญชนคนในยุคปัจจุบันนี้ไม่มีโอกาสจะได้รับทราบถึงความไม่สบายพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เริ่มตั้งแต่ทรงทอดพระเนตรเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อพระบรมศพของพวกข้าราชบริพารชั้นในตลอดถึงการประกอบพระราชพิธีและการถวายงานของข้าราชสำนักต่อพระองค์ที่ทรงขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ดูยังไม่เป็นที่เรียบร้อยโดยเฉพาะแม้แต่การจะใช้คำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระองค์ที่ขึ้นครองราชย์แล้วก็ยังเป็นปัญหาถึงขนาดพระองค์ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหัวข้อว่า ความรำคาญต่างๆในวันแรกและ เรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน และพระนิพนธ์บางตอนก็ได้แสดงออกถึงพระพิโรธของพระองค์ต่อพวกข้าราชสำนักชั้นในโดยเฉพาะการที่ข้าราชบริพารผู้หญิงที่ตั้งหน้าตั้งตาแข่งขันกันร้องไห้ว่าใครจะร้องไห้ได้ดังกว่ากัน รวมทั้งการแย่งกันเข้าไปปลุกปล้ำพระบรมศพจนพระองค์ทรงตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรงว่า ตอแหล

                   ด้วยกองบรรณาธิการเห็นว่าเหตุการณ์ในช่วงระหว่างปลายรัชกาลที่ 5 กับต้นรัชกาลที่ 6 เป็นเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งที่พสกนิกรไทยผู้จงรักภักดีทั้งหลายควรจะได้เรียนรู้และสืบทอดวัฒนธรรมความจงรักภักดีสืบต่อไปให้นานแสนนาน แต่เนื่องจากพระองค์ท่านได้ทรงนิพนธ์ไว้มีความยาวหลายตอนมากซึ่งพื้นที่หน้ากระดาษไม่อาจจะจัดพิมพ์ได้ทั้งหมด จึงเลือกบางตอนที่สำคัญที่จะให้ความรู้แก่พสกนิกรอันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และอีกทั้งเพื่อให้หลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ทรงคุณค่ามิเสื่อมคลายด้วยกาลเวลา ดังนั้นบทนิพนธ์ที่นำมาเสนอต่อท่านผู้อ่านนี้จะไม่แก้ไขใดๆเลยแม้แต่ตัวสะกด การันต์ ต่างๆที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้ กองบรรณาธิการก็จัดพิมพ์ให้เหมือนเดิมทุกประการ แม้การสะกดตัวอักษรในปัจจุบันจะได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วก็ตาม ดังเช่นในตอนที่นำเสนอนี้คือตอน เริ่มรัชกาลปัจจุบันแต่พระนิพนธ์ต้นฉบับบันทึกเป็นตัวสะกดว่า เริ่มรัชกาลปรัตยุบัน เป็นต้น ดังมีเนื้อความรายละเอียดดังต่อไปนี้
ความรำคาญต่างๆในวันแรก

          ในวันแรกแห่งรัชกาลของฉันนั้น เห็นจะไม่จำเปนที่จะต้องบอกกว่าฉันมิได้เปนสุขเลยซึ่งไม่อัศจรรย์, เพราะฉันต้องเสียทั้งพ่อทั้งเจ้านายที่รัก.ในวันนั้นฉันได้เปนพระราชาขึ้นก็จริง แต่สำหรับส่วนตัวกลับต้องมีคนรับใช้น้อยลงไปกว่าเมื่อเปนยุพราช. ในเมื่อฉันออกจากวังสราญรมย์เมื่อเวลาเช้าวันที่ ๒๒ ตุลาคม เข้าไปในวังสวนดุสิตนั้น มีคนใช้ตามหลังเข้าไปแต่หม่อมหลวงเฟื้อคนเดียวเท่านั้น, ฉนั้นเมื่อขึ้นไปนอนในเวลาดึกก็ไม่มีใครขึ้นไปรับใช้นอกจากหม่อมหลวงเฟื้อ, เพราะคนใช้อื่นๆ ติดล้อมวงเข้าไปในวังสวนดุสิตไม่ได้จนเช้าวันที่ ๒๓. แต่ฉันได้อาศัยหลวงศักดิ์นายเวร (หม่อมราชวงศ์ลพ อรุณวงศ์ ณ กรุงเทพ ซึ่งต่อมาในรัชกาลนี้ได้เปนพระยาไพชยนต์เทพ) เปนกำลังช่วยวิ่งเต้นรับใช้, จึ่งไม่ใคร่ต้องเดือดร้อนปานใดนัก. ที่สุดกางเกงที่จะผลัดนุ่งนอนก็ไม่มี, ต้องให้หลวงศักดิ์ขึ้นไปเอาพระสนับเพลาของทูลกระหม่อมมาองค์ ๑. ข้อที่ว่าขึ้นไปนอนนั้นก็สักแต่ว่านอน, เพราะหาใคร่จะได้หลับไม่. นอกจากความเศร้าโศก ฉันไม่วายโกรธในเรื่องที่พวกผู้หญิงเข้ารุมปล้ำพระบรมศพ ดังที่ได้เล่ามาแล้ว ในตอนดึกน้องหญิง (สมเด็จเจ้าฟ้าวิไลยอลงกรณ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร) ได้ออกไปพบกับฉันที่ห้องอาวุธ เล่าให้ฟังว่าตัวของเธอก็มีความเดือดร้อนรำคาญแสนสาหัส, จนเธอเองร้องไห้ไม่ออกเพราะความโกรธ. ใครๆ ก็มัวแต่แข่งกันว่าใครร้องไห้ได้ดังกว่ากัน, ใครจะเข้าปล้ำปลุกพระบรมศพได้มากกว่ากัน, ปล้ำกันไปปล้ำกันมาจนพระบังคนเบาที่คั่งอยู่นั้นไหลออกมาได้, ฉันได้สั่งน้องหญิงให้ช่วยดูแลบังคับบัญชาการงานต่างๆ ในพระนามของเสด็จแม่, เพราะจะทิ้งให้งานยุ่งไปหมดนั้นไม่ได้. ยังมีความรำคาญอีกข้อ ๑ ซึ่งฉันต้องรับในเวลาดึกนั้น, คือเมื่อฉันขึ้นไปห้องดุริยางค์ได้พบพวกผู้หญิงบางคนมีหน้าคอยดักเฝ้าฉันอยู่ถึงแก่เข้าไปซ่อนอยู่ในห้องน้ำก็มี, อัปรีย์เหลือทน ฉันต้องสั่งหลวงศักดิ์ให้ไล่ไปหมด, และให้คาดโทษว่าถ้าใครมาเพ่นพ่านอีกฉันจะจับเฆี่ยน

สรงพระบรมศพ
          วันที่ ๒๓ ตุลาคม ในตอนเช้าข้างในสรงพระบรมศพตามประเพณี, ส่วนการข้างหน้าสรงนั้น ได้กำหนดเวลาไว้ว่าบ่าย ๒ นาฬิกา, แต่การตระเตรียมต่างๆ ไม่พร้อมได้ทัน จึ่งต้องเลื่อนกำหนดออกมาเปน ๔ นาฬิกา, และกว่าจะได้ลงมือสรงจริงๆ ก็ ๔ นาฬิกาเศษ การสรงได้กระทำในห้องที่พระบรรทมชั้นสาม, ใช้พระแท่นอย่างไทยที่ได้เชิญออกมาจากในพระบรมมหาราชวัง. สังเกตดูเมื่อฉันเข้าไปถวายน้ำสรงนั้น ดูเหมือนหนึ่งบรรทมหลับสนิท, พระพักตร์ยิ้ม, ไม่ปรากฏว่าได้ทรงมีทุกขเวทนาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย. ผู้ที่ได้เข้าไปถวายน้ำสรงนั้นทุกคนไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้เลย, แต่ก็มิได้มีผู้ใดออกท่าแปลกนอกจาก.............. ท่านองค์นี้อย่างไรๆ ก็อดเล่นลครไม่ได้. เมื่อขณะที่ไปยืนคอยจะเข้าไปสรงนั้นก็หน้าตาเฉยๆ อยู่ แต่พอถึงเวลาที่ต้องเข้าไปจึ่งได้เบ้หน้าและอ้าปากร้องไห้เสียงดัง อ้าแหะๆ แหะๆเหมือนตลกมันแกล้งทำร้องไห้เวลาเล่นลครฉนั้น. ฉันให้นึกมันใส้เสียนี่กระไรเมื่อเห็นเจ้าองค์นั้นเข้าไปเล่นลครอยู่ ในขณะที่ควรแสดงแต่ความเศร้าโศกอย่างมีสัมมาคารวะ. คนชนิด............มักจะเข้าใจเสียว่าตนสามารถลวงโลกได้ด้วยความประพฤติภายนอก, ฉนั้นถ้าแม้ทุกข์โศกอยู่แต่ในใจไหนใครจะรู้ได้, จึ่งต้องโฆษณาความโศกโดยร้องไห้ดังๆ แต่เพราะมันเปนความไม่จริงใจ, ฉนั้นเสียงร้องไห้ที่เปล่งออกมาจึ่งมิได้ทำให้ผู้ฟังนึกเชื่อว่าความโศกนั้นเปนของจริงใจ,...........นี้ฉันได้สังเกตเห็นได้ชัดว่ามีลักษณะเหมือนผู้หญิงแก่มากกว่าผู้ชาย เมื่อหนุ่มชรอยจะเหมือนผู้หญิงสาวกระมัง? แต่จะ สาวหรือ แก่ก็ตาม,ลักษณะที่ชนสามัญเรียกว่า ตอแหลนั้นคงมีประจำเปนเจ้าเรือนอยู่ตลอดทุกเวลา
เชิญพระบรมศพเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

          การสรงพระบรมศพและทรงเครื่องกับเชิญลงพระลองเงินกว่าจะเสร็จก็พลบค่ำ. พระบรมโกษฐ์ได้เชิญลงผ่านทางห้องทองแดง, ซึ่งเปนที่ข้างในประชุมกันอยู่, เมื่อพระบรมโกษฐ์ผ่านทางนั้น พวกผู้หญิงเบียดเสียดยัดแย่งกันดูเหมือนดูมหรศพอีกครั้ง ๑, ครั้นเมื่อเชิญพระบรมโกษฐ์ลงอัฒจันท์หน้าไปขึ้นทรงพระยานมาศสามคานที่หน้าพระที่นั่งอัมพร, พวกผู้หญิงเยี่ยมพระบัญชรเบียดกันดูแน่นอีก, ช่างไม่มีนึกถึงความต่ำสูงเสียบ้างเลยจนนิดเดียว.
          เมื่อกระบวนจะออกเดิรนั้น กรมนครชัยศรีได้ส่งพระยาสุรเสนา (กลิ่น แสง-ชูโต), ซึ่งเวลานั้นเปนสมุหราชองครักษ์, ว่าให้จัดราชองครักษ์คน ๑ ถือธงมหาราชเดิรตามเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวส่วนราชองครักษ์นั้นแบ่งให้เดิรตามพระบรมศพพวก ๑, เดิรตามฉันพวก ๑, และพวกที่เดิรตามฉันนั้นมีพระองค์กรมนครชัยศรีเองเปนอาวุโส, ชักกระบี่ทุกคน. พอกระบวนเริ่มออกเดิร, กรมนครชัยศรีก็เรียกหาธงมหาราช, ปรากฏว่าไปเชิญเดิรตามพระบรมศพอยู่ กรมนครชัยศรีฉุนใหญ่, เดิรตรงขึ้นไปที่พระยาสุรเสนาและพูดว่า นี่แกไม่รู้จักพระเจ้าอยู่หัวของแกหรือ?พระยาสุรเสนาจะตอบว่ากระไรตอนนี้ฉันได้ยินไม่ถนัด, แต่ก็เป็นอันกรมนครชัยศรีเรียกเอาคนถือธงมาเดิรตามหลังฉัน. ต่อมาภายหลังจึ่งได้ทราบจากตัวพระยาสุรเสนาเองว่า เมื่อเขาได้รับคำสั่งเรื่องธงนั้น เขาก็ได้สั่งผู้เชิญธงว่าให้เข้าริ้วเดิรตามหลังฉัน, แต่กรมหลวงนเรศร์บอกว่าผิด, ต้องไปเชิญตามพระบรมศพจึ่งจะถูก, เพราะ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังหาได้ราชาภิเษกไม่, จะเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้,ดังนี้, กรมนครชัยศรีจึ่งได้ตรัสว่า, เมื่อจะได้หรือไม่ได้ก็คอยถามดาบปลายปืนดูสิปัญหาเรื่องเรียกฉันว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้นถึงต้องปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี, ดังฉันจะได้เล่าต่อไปข้างหน้า.

          กระบวนแห่พระบรมศพครั้งนั้น ได้จัดเปนกระบวนทหารแห่, ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างบนนี้.ฉันและเจ้านายเดิรตามพระบรมศพ. เมื่อกระบวนแห่ออกเดิรจากพระราชวังสวนดุสิตนั้นค่ำแล้ว, และประทีปก็มิได้ตระเตรียมไว้ให้เพียงพอ, มีแต่คู่เคียงพระยานมาศที่ถือเทียน, จึ่งสว่างอยู่แต่จำเพาะที่ตรงนั้น, ทหารบกได้ยิงปืนใหญ่นาทีละนัดตั้งแต่ลงมือสรงพระบรมศพ, จนกระบวนเข้าไปถึงในพระบรมมหาราชวัง, คือเวลา ๙ นาฬิกาเศษหลังเที่ยง พวกราชทูตและผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศได้เข้าไปคอยเฝ้าพระบรมศพอยู่ที่ทางหน้าศาลารัฐมนตรีสภา. พระบรมศพถึงในพระบรมมหาราชวังแล้ว, เชิญขึ้นตั้งที่มุขตวันตกแห่งพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตั้งแต่พอพระบรมศพผ่านประตูวิมานชัยศรี จนประดิษฐานพระบรมศพเสร็จนั้น, นางร้องไห้ได้ร้องเรื่อย ได้ยินเขาๆ ชมกันเปาะ ว่านางร้องไห้นั้นหัดเร็วนักและว่าร้องเพราะ. แต่ส่วนฉันไม่เห็นว่าอัศจรรย์อะไร, เพราะทำนองก็ไม่ยาก และคำที่จะต้องท่องก็ไม่มีกี่คำ, และฉันรู้สึกอยู่ในใจด้วยว่าไม่ชอบ, เพราะไม่เห็นว่าเปนการแสดงความโศกจริงจัง ดูเปนการบรรเลงมากกว่า. เมื่อประดิษฐานพระบรมศพแล้ว, นิมนต์พระขึ้นสดัปกรณตามประเพณี, แต่ในครั้งนี้ได้เห็นอะไรแปลกกว่าธรรมดา, คือได้เห็นพระแสดงความเศร้าโศกจนกลั้นไม่ได้. สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า (ซึ่งเวลานั้นดำรงพระยศเปนกรมหลวงวชิรญาณวโรรส) ตรัสกับฉันพระสุรเสียงเครือและสอื้น, เสด็จกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ (ซึ่งเวลานั้นดำรงพระยศเปนพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต) ทรงสวดไม่ใคร่จะออก, สมเด็จพระวันรัตน (ฑิต) วัดมหาธาตุ, เสียงเครือจวนๆ จะเอาไว้ไม่อยู่, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) วัดอรุณสวดพลางน้ำตาไหลพลาง, และสอื้นด้วย, และสมเด็จพระวันรัตน (จ่าย, เวลานั้นเปนพระธรรมวโรดม) วัดเบญจมบพิตร์, ร้องไห้อย่างคนๆทีเดียว
ฉันนอนห้องมุขตวันออกพระที่นั่งจักรี

          กว่าจะเสร็จการสดัปกรณก็ ๑๐ นาฬิกาหลังเที่ยง, ฉันออกจากพระมหาปราสาทไปยังพระที่นั่งจักรี, ซึ่งจะได้ใช้เปนที่อยู่ต่อไป, พระที่นั่งจักรีนั้นทูลกระหม่อมไม่ได้เข้าไปประทับอยู่เสียนานแล้ว, และในห้องที่เคยเปนห้องที่พระบรรทมก็เปนที่ไว้ของต่างๆ, ไม่เหมาะแก่การที่จะเข้าไปอยู่, ฉนั้นในคืนวันที่ ๒๓ นั้นจึ่งต้องใช้ห้องที่เรียกกันว่า ห้องไปรเวตปลายมุขตวันออกแห่งพระที่นั่งจักรีเปนห้องนอน, มีฉากกั้นกึ่งกลางห้อง, กึ่งในใช้เปนห้องนอน, กึ่งนอกใช้เปนห้องนั่งและห้องเขียนหนังสือ. ห้องน้ำข้างบนก็ไม่มี, ต้องลงบรรไดไปอาบน้ำชั้นล่าง. ส่วนกินอาหารใช้ท้องพระโรงมุขตวันออก คืนวันที่ ๒๓ นั้นฉันเหนื่อยจนเพลียไปทั้งตัว, หิวเสียจนกินข้าวไม่ลง, ต้องกินน้ำสูปและนมโคแล้วนอนทีเดียว.

          แต่ที่ว่านอนนี้อย่าเข้าใจว่าหลับได้ง่ายๆ ที่จริงนั้นร่างกายเหนื่อยทั่วไปและเท่ากับร้องทุกข์อยู่ว่าต้องการพัก, แต่สมองมันไม่ยอมให้พัก, มัวแต่คิดอะไรต่อมิอะไรไปต่างๆ นานา จนเหลือที่จะกำหนดจดจำได้. ข้อสำคัญคือฉันนึกอยู่เรื่อยว่า เหตุใดหนอจึ่งมีคนอยากเปนพระเจ้าแผ่นดินได้? ส่วนตัวฉันเองมิได้เคยนึกอยากเปนเลย, ฉนั้นเมื่อได้เปนขึ้นจึ่งมิได้รู้สึกยินดีเลย. การเปนตำแหน่งอื่นๆ ยังเคยนึกอยากเปนบ้าง, เพราะไม่ใช่ว่าต้องรอให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นตายเสียก่อน, แต่การเปนพระเจ้าแผ่นดินโดยสืบสันตติวงศ์เช่นฉันนี้ ต้องเสียพ่อจึ่งจะได้เปน, จะให้ยินดีได้อย่างไร? นอกจากนี้ความรู้สึกว่าต้องรับภาระการปกครองอยู่คนเดียวเปนภาระที่หนักกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่มีปาร์ลีย์เมนต์เปนที่ปรึกษานั้นเป็นอันมาก, เพราะถ้าทำอะไรพลาดพลั้งไปใครๆ ก็ต้องซัดฉันคนเดียวทั้งนั้น, และฉันจะซัดใครต่อไปอีกก็ไม่ได้เลย. ผู้ที่นึกว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินเปนของพึงปราถนาคงต้องเปนบุคคลชนิดที่ไม่มีความคิดลึกซึ้งอะไรเลยเปนแน่. ฉันจำได้ว่าทูลกระหม่อมได้เคยตรัสแก่ฉันถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิสว่า. ชายใหญ่เขามุ่งหมายจะเปนเจ้าแผ่นดินแต่สำหรับจะกินกับเสพย์เมถุนดังนี้, จึ่งทราบว่าผู้ที่อยากเปนพระเจ้าแผ่นดินนั้นมีได้อยู่. ส่วนตัวฉันอาจอวดได้ว่า ทูลกระหม่อม, ได้เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้แล้วมากมาย, ทั้งได้เคยรับราชการแลเห็นความลำบากแห่งราชการมาแล้วหลายปี, และมีอายุเกือบจะครบ ๓๐ ปีบริบูรณ์อยู่แล้ว. จึ่งมิได้มีความหลงอย่างใดเลยในข้อที่ว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินจะต้องรับความลำบากอย่างไรบ้าง. อย่างไรๆ ฉันก็มิได้หวังจะได้เปน เจ้าแผ่นดินแต่สำหรับกินกับเสพย์เมถุน นั้นแน่นอนละ.

          ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม, พ.ศ. ๒๔๕๓ ต่อมา ฉันต้องค้าขันตีอดกลั้นต่อความรำคาญต่างๆ เปนอเนกประการ, และเพื่อให้เห็นได้ว่าฉันถูกความกระทบกระเทือนต่างๆ แทบไม่เว้นวัน อย่างไร, ฉันจะได้เขียนประวัติตามที่ได้มีจดหมายเหตุไว้เปนวันๆ ต่อไป. เมื่อเธอได้อ่านแล้วก็จะเห็นได้ว่าเรื่อง ๑ เริ่มขึ้นแล้วยังมิทันจะได้ดำเนิรไปให้ถึงที่สุดก็มีอีกเรื่อง ๑ ซ้อนมาจนฉันเวียนหัว, และความเห็นของผู้ที่ตั้งตนเปนผู้รู้ผู้ชำนาญมีผิดแผกแตกต่างกันจนแทบจะจับเชื่อมกันเข้าไม่ต่อ. นอกจากคิดราชการงานเมือง, งานพระบรมศพก็ต้องเปนห่วงอยู่ทุกวันและกินเวลาวันละหลายชั่วโมงจนฉันนึกพิศวงตนเองว่าทนได้ ไม่คลั่งเปนบ้า แต่เธออ่านดูเอาเองเถิด, จะเข้าใจได้ดีกว่า.

ถือน้ำครั้งแรก
          วันที่ ๒๔ ตุลาคม ได้มีพิธีถือน้ำให้ฉันเปนครั้งแรก เวลาบ่าย ๓ นาฬิกา ฉันได้ออกไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามโดยกระบวนราบ.พอเข้าถึงในพระอุโบสถได้เบิกพวกองคมนตรีขึ้นไปอ่านคำสาบาลให้ฉัน,แล้วพราหมณ์จึ่งอ่านโองการแช่งน้ำ, อาลักษณ์อ่านประกาศ, และพราหมณ์ชุบพระแสง, แล้วเจ้านายและข้าราชการฝ่ายน่าได้ถือน้ำตามธรรมเนียม. เมื่อเสร็จการถือน้ำฝ่ายน่าแล้ว ฉันกลับจากวัดพระแก้วตรงไปยังพระมหาปราสาท, ถวายบังคมพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑, ที่ ๒, ที่ ๓, และที่ ๔, ซึ่งได้เชิญไปประดิษฐานในพระมหาปราสาทนั้นด้วย, กับถวายบังคมพระบรมศพพระเจ้าหลวง, แล้วจึ่งเข้าไปในพระฉากมุขตวันตก, ฝ่ายในถือน้ำ. การถือน้ำของฝ่ายในมียุ่มย่ามอยู่บ้าง, คือมีบางคนทำท่าดูเหมือนว่ายังไม่เข้าใจ, ฉนั้นในเวลาดื่มน้ำหาหันมาทางฉันไม่, ไพล่ไปบ่ายหน้าดื่มถวายพระบรมศพ

การยุ่งต่างๆ ของพวกข้างใน
          วันที่ ๒๕ ตุลาคม เวลาบ่ายฉันได้เข้าไปเฝ้าเสด็จแม่, ซึ่งได้เสด็จเข้าไปประทับอยู่แล้วที่พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัยในพระบรมมหาราชวัง. ฉันทูลมอบหมายให้ทรงบังคับบัญชาการสิทธิ์ขาดภายในวัง, ก็ทรงรับรองโดยทันที. เพราะท่านทรงเห็นอยู่เหมือนกันว่าถึงเวลาอย่างยิ่งที่จะจัดให้เปนระเบียบเรียบร้อย. รับสั่งว่าตามที่เปนมาแล้ว ผู้ที่ทูลกระหม่อมโปรดปรานทรงใช้ชิดอยู่จริงๆ นั้นก็ดีอยู่ ไม่สู้วุ่นวายอันใด. พวกที่วุ่นวายมากคือพวกที่ตะเกียกตะกายหาดีต่างๆ และพวกเหล่านี้เปนพวกที่จะต้องทรงใช้อำนาจกำราบให้มากหน่อย.

          ต่อมาเสด็จแม่ได้ทรงเล่าถึงเรื่องยุ่งเหยิงต่างๆ ของพวกข้างในเปนอันมาก, ทั้งในเวลาก่อนที่ทูลกระหม่อมประชวร, ทั้งในเมื่อประชวรแล้ว, มีข้อความมากมายเหลือที่จะจดจำ. สรุปตามความเห็นของฉันก็มีอยู่ว่า ในสมัยนั้นเปนด้วยกำลังเปนเวลาที่เปลี่ยนแปลง, ผู้หญิงเริ่มจะได้มีความศึกษาขึ้น มีความรู้งูๆ ปลาๆ, เก่าก็ทิ้ง ใหม่ก็ไม่รู้จริง, จึ่งพาให้มีความคิดเขวไปหมด. ที่เปนมาอย่างไรภายในวังทูลกระหม่อมจะได้ทรงทราบมากน้อยเพียงใดก็รู้ไม่ได้แน่. เสด็จแม่รับสั่งเล่าว่าที่ได้ถูกกริ้วกันก็มี, แต่กริ้วก็มักจะมีแต่ทรงบ่นลับหลัง, ที่กริ้วจังๆ ไม่ใคร่มี. ส่วนผู้ที่ถูกกริ้วนั้นก็มักร้องว่ากริ้วเพราะทรงหลงเชื่อคนนั้นคนนี้ทูลยุยง, ไม่มีที่จะยอมรับว่าตนผิด มิใช่แต่ผู้อื่นที่เปนเช่นนั้น, พวกลูกเธอเองก็ตัวดี. เปนที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง.สัมมาคารวะแทบจะไม่มีเลย. เมื่อเวลาที่ทรงพระประชวรนั้น ไม่ได้มีใครเข้าไปในห้องที่พระบรรทม, รับสั่งให้หาแต่เสด็จแม่พระองค์เดียวเท่านั้น, แต่เสด็จแม่ได้รับสั่งให้คนไปทูลพระนางสุขุมาลให้ไปช่วยพยาบาลด้วย, และได้โปรดให้เจ้าจอมเฉพาะแต่ที่ได้เคยรับใช้ปฏิบัติใกล้ชิดพระองค์อยู่แต่เดิมนั้นเข้าไปคอยรับใช้อยู่ด้วย, แต่ทูลกระหม่อมก็มิได้ตรัสเรียกผู้ใด, นอกจากครั้ง ๑ รับสั่งให้เจ้าจอมเอี่ยมขึ้นไปกดหน้าพระเพลา, แต่ขณะนั้นเจ้าจอมเอี่ยมลงไปนอน, จึ่งโปรดให้เจ้าจอมเอิบขึ้นไปถวายอยู่งานแทน. พระนางสุขุมาลหรือข้างในอื่นๆ ไม่ได้ตรัสเรียกหาเลยอีกสักคนเดียว. ส่วนลูกเธอนั้น ถึงแต่ก่อนๆ เมื่อประชวรก็ไม่ได้เคยเข้าใกล้ชิดพระองค์. เมื่อประชวรแล้ว. ในขั้นต้นก็ยังไม่กล้าเข้าไป, ต่อเมื่อจวนๆ จะสวรรคตทูลกระหม่อมหญิงกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร จึ่งไปเรียกพี่น้องผู้หญิงขึ้นไป, และพอสวรรคตแล้วก็เข้าชุลมุนกันใหญ่, สิ้นสัมมาคารวะหมด, หาแบบธรรมเนียมที่ไหนไม่ได้เลย

          ตามแบบธรรมเนียมโบราณที่ฉันได้เคยรู้จัก. ในขณะเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประชวรหนัก, ผู้ที่จะเข้าไปในห้องที่พระบรรทมได้ก็แต่เฉพาะผู้ที่มีพระราชดำรัสให้หาเจาะตัวเท่านั้น. เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรใกล้จะสวรรคต (พ.ศ.๒๓๖๗), ข้างในไม่ได้มีใครเข้าถึงพระองค์สักคนเดียว พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งเวลานั้นทรงเปนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่, ทรงพระอิศริยยศเปนพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์) ได้ประทับกำกับอยู่ตลอดและปิดพระทวารเสียด้วย. แม้แต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี, ผู้ทรงเปนพระอัครมเหษี, ก็หาได้เสด็จเข้าไปไม่. ถึงเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต (พ.ศ.๒๓๙๔), และเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต (พ.ศ.๒๔๑๑) ก็มิได้มีข้างในเข้าไปยุ่มย่าม. ฉนั้นยิ่งนึกไปถึงยิ่งทำให้ฉันแค้นเคืองเหลือประมาณในการที่ต้องได้เห็นความยุ่มย่ามไม่เจริญตาในเมื่อเวลาที่ทูลกระหม่อมของฉันเสด็จสวรรคต.

เรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน
          ฉันได้เล่าไว้แล้วข้างบนนี้ว่า เกิดมีปัญหาเรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน. ในเวลาดึกวันที่ ๒๓ ตุลาคม, คือเมื่อทูลกระหม่อมได้สวรรคตลงแล้วนั้น. ได้เกิดโจทย์กันขึ้นว่าจะควรใช้ออกชื่อฉันว่ากระไร. พวกเจ้านายรุ่นใหม่, มีกรมนครชัยศรี เปนต้น, ร้องว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร ควรเรียกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ท่านพวกเจ้านายผู้ใหญ่, มีกรมหลวงเทววงศ์ และกรมหลวงนเรศร์ เปนต้น, กล่าวแย้งว่าธรรมเนียมเก่าต้องรอให้บรมราชาภิเษกแล้วจึ่งเรียกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมนครชัยศรีถามว่า, ถ้าเช่นนั้นแปลว่าในเวลานี้ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินฉนั้นหรือ? ท่านผู้ใหญ่ก็ตอบอ้อมแอ้มอะไรกัน, จำไม่ได้. กรมนครชัยศรีจึ่งได้กล่าวขึ้นว่า ธรรมเนียมเก่าจะเปนอย่างไรไม่ทราบ แต่ในสมัยนี้จะปล่อยลังเลไว้เช่นนั้นไม่ได้, ชาวต่างประเทศเขาจะเห็นแปลกนัก, เพราะเปนธรรมเนียมที่รู้อยู่ทั่วกันในยุโรปว่าในประเทศที่มีลักษณะปกครองเปนแบบราชาธิปตัย, พระราชาต้องมีอยู่เสมอ, จนถึงแก่มีธรรมเนียมในราชสำนัก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลงเมื่อใด ก็เปนน่าที่เสนาบดีกระทรวงวัง, หรือผู้ที่เปนหัวน่าราชเสวก, ออกมาร้องประกาศแก่เสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ว่า. “Messeigneurs et Messeieurs le Roi et Mort Vive le Roi” (ใต้เท้าทั้งหลายและท่านทั้งหลาย, สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเจริญยิ่งๆ). ในเวลาดึกวันที่ ๒๓ นั้นจึ่งไกล่เกลี่ยกันว่า ในประกาศภาษาไทยให้ใช้ออกชื่อฉันว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน,แต่ในหนังสือที่มีบอกไปยังพวกทูตใช้เปนภาษาอังกฤษว่า “His Majesty the King” กรมนครชัยศรีว่าดึกแล้วขึ้เกียจเถียงชักความยาวสาวความยืดต่อไป, แต่พระองค์ท่านเองไม่ยอมเรียกฉันว่าอย่างอื่นนอกจากว่า พระเจ้าอยู่หัวและเกณฑ์ให้ทหารบกเรียกเช่นนั้นหมดด้วย. แต่มิใช่จะมีแต่คนไทยสมัยใหม่ที่ทักท้วงในเรื่องออกพระนามผิดกันในภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเช่นนั้น, ถึงพวกฝรั่งที่รู้ภาษาไทยก็ร้องทักกันแส้ ว่าเหตุไฉนจึ่งใช้เรียกไม่ตรงกันในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ. มิสเตอร์เย็นส ไอเวอร์สัน เว็สเต็นการ์ด (Jens Iverson Westengard, ภายหลังได้เปนพระยากัลยาณไมตรี), ที่ปรึกษาราชการทั่วไป, ได้ทูลท้วงอย่างแขงแรงกับกรมหลวงเทววงศ์ว่า การที่จะคงให้เปนไปเช่นนั้นอีกไม่ได้เปนอันขาด, เพราะอาจที่จะทำให้เกิดมีความเข้าใจผิดต่างๆ เปนอันมากอันไม่พึงปราถนา. นี่แหละ, ท่านผู้ใหญ่ของเรามักจะเปนเสียเช่นนี้, คือไม่ใคร่ชอบเชื่อฟังเสียงพวกเรากันเอง, และผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าพูดอะไรก็มักจะไม่ใคร่ยอมตาม, ต่อมีฝรั่งทักท้วงกระตุ้นเข้าจึ่งจะยอมแพ้.

          ครั้นเวลาบ่าย ๕ นาฬิกา วันที่ ๒๕ ตุลาคม, ฉันได้นัดประชุมพิเศษเปนครั้งแรกที่พระโรงมุขตวันตกแห่งพระที่นั่งจักรี, มีผู้ที่ได้เรียกเข้าไปวันนี้คือ น้องชายเล็ก, กรมหลวงนเรศร์, กรมขุนสรรพสิทธิ์, กรมหลวงเทววงศ์, กรมขุนสมมต, กรมหลวงดำรง, และกรมหมื่นนครชัยศรี, เพื่อปรึกษาข้อราชการและวางระเบียบที่จะได้ดำเนิรต่อไป. แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องอื่นๆ ได้กล่าวกันถึงเรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน, กรมหลวงเทววงศ์ตรัสว่าแก้ปัญหาตกแล้ว,  คือไปค้นหนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพาวรวงศ์ (ที่เรียกกันว่า กรมท่าตามืด) ได้ความว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จสวรรคตแล้วนั้นได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า เรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรทันที, หาได้รอจนเมื่อกระทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้วไม่. ที่มาเกิดมีรอไว้ไม่เรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็คือตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์, เมื่อก่อนที่กระทำพิธีราชาภิเษกหาได้ออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ต่อมาจึ่งกลายเปนธรรมเนียมไป. แต่เมื่อปรากฏว่าเคยได้มีธรรมเนียมเรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ แล้ว ก็เปนอันว่าในครั้งนี้ควรให้เปนไปเช่นกัน, ไม่ต้องรอราชาภิเษก, แต่คำว่า มีพระบรมราชโองการควรให้รอไว้ก่อน, ให้ใช้ว่า มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมไปพลาง. ส่วนข้อที่ได้ใช้ในคำประกาศว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินพลาดมาแล้วนั้น, เพื่อจะแก้หน้ากับฝรั่ง, กรมหลวงเทววงศ์ทรงรับรองว่าจะไปกล่าวแก้ไขว่ารอไว้จนกว่าจะถือน้ำแล้วเท่านั้น.

          การที่ได้ตกลงกันไปเสียได้เช่นนั้นทำให้ฉันโล่งใจมาก, เพราะก่อนนั้นรู้สึกไม่เปนที่เรียบร้อย, ดูราวกับฉันเปนผู้ที่ฉวยอำนาจไว้ได้แล้ว, แต่ยังจะต้องรอรับเลือกของใครๆ ต่อไปอีกก่อนจึ่งจะได้เปนพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ พวกฝรั่งได้ร้องถามว่า การที่ยังไม่เรียกฉันว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้น แปลว่ายังไม่แน่ว่าจะได้เปนฉนั้นหรือ? อาจจะมีองค์อื่น เคลมได้อีกด้วยหรือ? พูดกันอย่างแสลงเช่นนี้เว็สเต็นการ์ดจึ่งได้รู้สึกเดือดร้อน และไปทูลท้วงแก่เสด็จลุงอย่างแขงแรง. ส่วนเสด็จลุงเองท่านจะได้มีความคิดอยู่ในพระทัยอย่างไรบ้างฉันก็หาทราบไม่, แต่ฉันนึกเดาเอาว่า ที่ท่านยังไม่ให้เรียกฉันว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้น ดูเหมือนจะเกิดจากความวิตกไปว่า ผู้อื่นเขาจะนินทาได้ว่าพระองค์ท่านเห่อแหนหลาน, ซึ่งเปนธรรมดาของเสด็จลุงต้องชอบถ่อมไว้เช่นนั้นเสมอ. แต่แท้จริงเมื่อคำนึงดูแล้ว ก็ควรจะต้องเห็นว่า ครั้งฉันนี้ผิดกันกับครั้งก่อนๆ ทีเดียว. เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าทรงพระประชวรหนักนั้น, มิได้มีเวลาที่จะทรงสั่งไว้ว่าให้ผู้ใดเปนพระเจ้าแผ่นดินต่อพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าในเวลานั้นทรงผนวชอยู่, และมีพระชนมายุเพียง ๒๐, แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเปนพระเจ้าลูกยาเธอผู้ใหญ่และเปนผู้กำกับราชการอยู่หลายตำแหน่ง, พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าเสด็จสวรรคต ท่านก็ทรงฉวยอำนาจไว้ได้หมด, ฉนั้นท่านจึ่งมิได้ให้ผู้ใดเรียกพระองค์ท่านว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าจะได้กระทำพิธีราชาภิเษกแล้ว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวรหนัก ได้ทรงพระประชวรเรื้อรังอยู่นาน, แต่ก็หาได้ทรงส่งมอบหมายราชสมบัติแด่พระองค์ ๑ พระองค์ใดไม่, ทั้งนี้ก็เปนเพราะพระองค์ท่านทรงรู้สึกอยู่ว่า ได้ทรงแย่งราชสมบัติที่รู้กันอยู่ว่าเปนของทูลกระหม่อมปู่ของฉัน, โดยพระองค์ทรงเปนเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่พระโอรสแห่งสมเด็จพระพุทธเลิศหล้ากับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี. ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงเปนเพียงพระองค์เจ้าพระโอรสของพระสนม. การที่ทรงแย่งครองราชสมบัตินั้นก็ได้เคยมีพระราชดำรัสอยู่ว่า จะรักษาไว้ให้เขาเท่านั้น. ฉนั้นที่ควรก็ควรต้องทรงสั่งไว้ว่าเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วให้ราชสมบัติตกเปนของทูลกระหม่อมปู่, แต่พระราชโอรสของพระองค์ท่านก็มีอยู่หลายพระองค์ที่กำลังทรงพระเจริญวัยขึ้น, และเปนธรรมดาบิดาย่อมจะต้องอยากให้บุตรเปนทายาท, ฉนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าจึ่งมิได้ทรงส่งมอบราชสมบัติแก่พระองค์ใด, เปนแต่มีพระราชกระแสรไว้ว่า เมื่อท่านเสนาบดีมุขมนตรีเห็นสมควรจะมอบราชสมบัติถวายแด่พระราชวงศ์พระองค์ใด ก็ให้ถวายแด่พระองค์นั้นเถิด. เมื่อทราบกันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงพระประชวรหนักนั้น ก็ได้มีผู้ตระเตรียมการกันไว้พร้อม. แต่ไม่มีฝ่ายใดพร้อมเพรียงหรือมีกำลังมากเท่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ (ดิศ บุนนาค. ซึ่งเวลานั้นเปนเจ้าพระยาพระคลัง, ว่าที่สมุหพระกลาโหม) กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ทัด บุนนาค, ซึ่งในเวลานั้นเปนพระยาศรีพิพัฒน์), และท่านทั้ง ๒ นี้ตั้งใจไว้มั่นคงว่าต้องให้ทูลกระหม่อมปู่ได้ราชสมบัติ, และไม่ยอมเปนอันขาดที่จะให้ลูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าได้, ท่านทั้ง ๒ นี้มีความแค้นเคืองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่, เพราะสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่นั้นได้เปนผู้ ๑ ในพวกที่สนับสนุนให้พระนั่งเกล้าขึ้นครองราชย์, แต่มาครั้งเมื่อพระนั่งเกล้ากริ้วหม่อมไกรสรได้พลอยกริ้วสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ด้วย, จนต้องหนีออกไปตั้งกองสักเลขที่เมืองชุมพร จึ่งได้รอดภัย เมื่อครั้งหม่อมไกรสรรับพระราชอาญา. สมเด็จองค์ใหญ่ร้องว่าพระนั่งเกล้าไม่ทรงซื่อตรงต่อผู้ที่ภักดี. ใช้คำว่า ท่านใช้เราเปนบรรไดขึ้นถึงที่สูงได้แล้ว ท่านจะเตะบรรไดเสีย ดังนี้. ข้างฝ่ายผู้ที่อยากให้ลูกพระนั่งเกล้าได้เปนพระเจ้าแผ่นดินออกจะไม่มีผู้ใดที่หลักแหลมและเจ้านายน้องยาเธอที่จะพอหวังให้ช่วยสนับสนุนลูกพระนั่งเกล้าได้ก็มีอยู่แต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศร (พระองค์เจ้าลมั่ง, เวลานั้นเปนกรมหลวงเดชอดิศร), เพราะพระนั่งเกล้าโปรดปรานท่านอยู่มาก, แต่พระองค์กรมสมเด็จพระเดชาดิศรเองท่านวางพระองค์เปนกลางเฉยอยู่. ฉนั้นก็ยากที่จะหวังให้ท่านเปนหัวหน้าได้. พูดไปตามจริงพระราชโอรสของพระนั่งเกล้าก็ไม่มีองค์ใดที่แหลมอยู่เลย. พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ, พระโอรสพระองค์ใหญ่ (เปนพระบิดาของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๔), กับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (พระองค์เจ้าสิริวงศ์, เปนพระชนกของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ก็ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้วทั้ง ๒ พระองค์, พระโอรสพระองค์ที่ ๓ (ซึ่งได้เปนกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์ในรัชกาลที่ ๔) ก็ไม่ใช่คนโปรดปรานและออกจะมืดๆอยู่, คงมีที่ค่อยยังชั่วอยู่ก็พระองค์เจ้าคเณจร (ซึ่งได้เปนกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร), แต่ก็มีคนนับถือน้อย, ฉนั้นพอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จสวรรคตลง สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็รีบไปจัดการล้อมวงที่วัดบวรนิเวศ, และอัญเชิญเสด็จทูลกระหม่อมปู่เข้าไปในพระบรมมหาราชวังทั้งๆ ยังทรงพระผนวชอยู่, และทูลอันเชิญให้เสด็จลาผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, แล้วและจัดการให้มีการถือน้ำโดยเร็วด้วย. เพราะเหตุทั้งปวงที่แสดงมาข้างบนนี้ จึ่งมิได้ออกพระนามทูลกระหม่อมปู่ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าจะได้กระทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว. เมื่อทูลกระหม่อมปู่เสด็จสวรรคตนั้น,อันที่จริงก็ไม่ควรที่จะมีข้อสงสัยเลย, หากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค, ซึ่งเวลานั้นเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ที่สมุหพระกระลาโหม) ทำเหตุให้ยุ่งไปเองแท้ๆ ในขณะเมื่อทูลกระหม่อมปู่ทรงพระประชวรหนักนั้น พะเอินทูลกระหม่อมของฉันก็ทรงพระประชวรเปนไข้มีพระอาการมากอยู่เหมือนกัน. อีกประการ ๑ ในเวลานั้นทูลกระหม่อมก็มีพระชนมายุเพียง ๑๕ เต็มๆ เท่านั้น, ทูลกระหม่อมปู่จึ่งได้มีพระราชดำรัสฝากให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ช่วยเปนผู้ประคับประคองด้วย สมเด็จเจ้าพระยาเห็นว่าเปนโอกาสเหมาะที่จะรวบรัดอำนาจไว้ในกำมือของตน, ฉนั้นเมื่อได้ไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมจากพระตำหนักสวนกุหลาบเข้าไปประทับที่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์แล้ว, และได้จัดการถือน้ำตามประเพณีแล้ว, ก็ยังมิได้ให้เรียกทูลกระหม่อมว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, เพราะเขานึกว่าทูลกระหม่อมจะสวรรคตเสียก่อนที่จะได้รับราชาภิเษก ที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยานึกเช่นนี้ ไม่ใช่เปนการใส่ความ, เพราะมีสิ่งที่เปนพยานอยู่. อย่าง ๑ คือสมเด็จเจ้าพระยาได้จัดการให้กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ, หรือที่เรียกกันอยู่ว่า ยอร์ช วอชิงตั้น), พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, รับบวรราชาภิเษกเปนกรมพระราชวังบวรก่อนงานบรมราชาภิเษกของทูลกระหม่อม, ซึ่งเปนการทำนอกธรรมเนียมราชประเพณีโดยแท้, เพราะมิได้เคยมีเลยในรัชกาลใดๆ, ทั้งครั้งกรุงเก่าและกรุงรัตนโกสินทร์, ที่วังน่าจะได้รับบวรราชาภิเษกก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลนั้นจะได้รับบรมราชาภิเษก. อีกอย่าง ๑ ทูลกระหม่อมได้รับสั่งเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อพระองค์ท่านกำลังบรรทมประชวรอยู่ในพระฉากในพระที่นั่งอมรินทร์นั้น, คุณหญิงพันเมียสมเด็จเจ้าพระยาได้เข้าไปยืนอยู่ทางบนพระเจ้า, แล้วแลพูดว่า. พ่อคุ๊ณ น่าสงสาร นี่พ่อจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร?ทูลกระหม่อมได้ทรงเล่าต่อไปว่า ครั้นเมื่อถึงเวลาทำงานศพคุณหญิงพัน ท่านได้เสด็จขึ้นไปที่บนเมรุ. ทรงเคาะโกษฐ์แล้วตรัสว่า. ยายพัน, แกได้เคยถามว่าฉันจะอยู่ไปได้อีกสักเท่าไร. วันนี้ฉันมาตอบแกว่าฉันอยู่มาได้นานพอที่จะมาในงานศพของแกแล้วละ, จะว่าอย่างไร?ขอกล่าวเรื่องเดิมต่อไปว่า, เมื่อเหตุการณ์มีปรากฏอยู่ดังที่ได้เล่ามาข้างบนนี้ การที่มิได้ออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนได้บรมราชาภิเษกแล้วนั้นก็พอจะเข้าใจได้อยู่ แต่ในครั้งฉันเองนี้มิได้มีเหตุการณ์อย่างใดๆ เลยที่จะทำให้เปนที่สงสัยหรือไม่แน่ใจ, จึ่งไม่ควรเลยที่จะต้องมีปัญหา, และไม่ควรที่จะได้พลาดไปเลย. ส่วนตัวฉันเองนั้นเธอคงจะต้องเห็นใจว่าฉันตกอยู่ในที่ลำบาก.ถ้าหากว่าปัญหานั้นเนื่องด้วยผู้อื่น ฉันคงจะได้อยู่ในพวกที่เห็นว่าควรเรียกว่า  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทีเดียว, แต่ฉันจะวินิจฉัยเข้าแก่ตัวเองเช่นนั้นอย่างไรได้, ก็ได้แต่นั่งนิ่งฟังเขาเถียงกันไปเท่านั้น, เปนแต่อดนึกในใจไม่ได้ว่าเรื่องนั้นมันเกิดยุ่งกันขึ้นเพราะท่านพวกผู้ใหญ่ รู้มากยากนานเท่านั้นแท้ๆ และไม่ควรเลยที่จะให้ช่องให้ชาวต่างประเทศเขาทักท้วงเอาได้. การที่พลาดก็เพราะมิได้ไตร่ตรองสอบสวนกันเสียให้ได้ความถ่องแท้, แต่ก็เปนเคราะห์ดีที่แก้ไขได้โดยพลัน, มิทันได้ปรากฏในหนังสือราชการใดๆ มากฉบับไป


(* หมายเหตุ : ข้อความที่กองบรรณาธิการนำมาตีพิมพ์นี้เป็นพระราชนิพนธ์ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เขียนถึงเจ้าพระยารามราฆพ หรือหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ กรุงเทพ โดยใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ และตอนต่อไปเตรียมพบกับแนวพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการตั้งรัฐมนตรีสภา ซึ่งจะทำให้รู้ถึงประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อก่อนที่จะถึงยุคประชาธิปไตย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น