Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ปิดโรงงาน ประท้วงค่าแรง 300 บาท


โดย ดอม   ด่านตระกูล จาก RED POWER ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์  2556
 
 

            ตั้งแต่ต้นปี 2556 ที่รัฐบาลกำหนดว่าให้เริ่มจ่ายค่าแรง 300 บาทมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ข่าวคราวการปิดโรงงาน เลิกจ้างก็ดังกระหึ่มไปทั่ว เพราะมีสื่อช่วยกระพือข่าวโดยใช้ตรรกะเดียวกันว่า เพราะสาเหตุการขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำให้บริษัท ห้างร้าน โรงงาน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี กระเทือนหนักถึงขั้นไม่สามารถทำกิจการต่อได้ และโน้มนำไปทางว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือไม่สามารถทำได้จริง

            ประจวบกับช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เดินทางไปจังหวัดหนึ่งและแวะรับประทานอาหารที่ร้านอาหารร้านหนึ่งตั้งอยู่ในตึกแถวริมถนนขนาด 1 คูหา ขายอาหารหลายชนิดทั้งก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ขณะกำลังรับประทานบังเอิญได้ยินเจ้าของร้านซึ่งเป็นหญิงสูงวัยคุยกับลูกชายว่า “รัฐบาลหน้าใหญ่ อยากซื้อเสียง แล้วเป็นไง อยู่กันได้ที่ไหน จะเอา 300 บาท ชิชะ..ไม่รู้จักอยู่อย่างพอเพียง ตอนนี้เลยตกงานกันระนาว สมน้ำหน้า !! ฝ่ายลูกชายวัยหนุ่มดูแล้วไม่น่าเกิน 30 ปีมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกับมารดา ตอบว่า  “มันก็อย่างนั้นแหละ พวกโง่ๆพอได้ยิน 300 บาท มันก็อยากได้ แต่จริงๆทำได้ที่ไหน ใครเขาจะมีให้มัน”

          ได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้เลยอยากเขียนเรื่องค่าแรง 300 บาทอีกครั้ง หลังจากที่เคยเขียนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2554 ตอนที่นายแพทย์ประเวศ วะสี แสดงความคิดเห็นว่าวันละ 150 บาทก็พอเพียง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผู้เขียนก็นึกไม่ถึงเหมือนกันว่าจะออกมาจากสมองของคนที่สังคมให้เกียรติเรียกว่า “ราษฎรอาวุโส” เพราะการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำนั้นไม่ใช่คิดแค่ค่าครองชีพที่จำเป็นสำหรับคนๆเดียว แต่ต้องคิดเผื่อสำหรับผู้ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูด้วยอย่างน้อย 2 คน (บิดา มารดา และบุตร) ฉะนั้นแรงงาน 1 คนต้องได้รับค่าแรงที่เพียงพอกับการดูแลสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 2 คน อย่างมีคุณภาพ แต่ 150 บาท/ วันนั้น อย่าว่าแต่จะดูแลใครเลย แค่ดูแลตัวเองก็ยังไม่พอ

ขนาดนายแพทย์ที่ดูเหมือนจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสังคมยังคิดเช่นนั้น ก็คงไม่แปลกที่พ่อค้าแม่ค้าซึ่งทำงานง่วนเช้าจรดเย็นจนไม่มีเวลาศึกษาค้นคว้าให้รอบด้าน ได้แต่รับฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อกระแสหลักอยู่ทุกวันจะรับเอาทัศนคติเช่นนั้นมาไว้ในตัวเข้าเต็มๆ และเมื่อวิเคราะห์จากภาพประดับฝาผนังที่มีสัญลักษณ์บางอย่างแล้ว แน่ใจว่าคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นจากความไม่ชอบรัฐบาลอยู่เป็นทุนเดิม มีอคติและทัศนคติที่เชื่อว่ารัฐบาลต้องการซื้อเสียง  บวกกับข่าวคราวที่ได้ยินจากสื่อว่ามีการปิดกิจการกันหลายแห่ง  ทำให้ประสมกันเป็นความเข้าใจว่า “300 บาทนั้นมากเกินไป ทำไม่ได้ ต้องกลับไปเป็นเหมือนเดิม และนำคำว่า พอเพียง มารองรับความเชื่อของตัวเองว่า อยู่กันได้ ถ้ารู้จักพอเพียง

คำว่า “พอเพียง” ที่ผู้เขียนได้ยินเจ้าของร้านอาหารพูดนั้น ผู้เขียนก็อยากรู้ว่า จริงๆแล้วคำนี้หมายความว่าอย่างไรกันแน่  เห็นพูดกันเกือบทั้งประเทศ คุณหญิงคุณนายสังคมไฮโซ ชนชั้นสูงสวมเครื่องประดับกันวับวาวพราวไปทั้งคอ ทั้งแขน ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ดิฉันอยู่อย่างพอเพียง เพราะซื้อเพชรเม็ดเล็กๆแค่ไม่กี่กะรัต?  นักธุรกิจร้อยล้าน พันล้าน สวมเสื้อผ้าฝ้าย ที่บ้านสะสมรถยนต์หรูนับสิบคัน ก็บอกใครๆ ว่า ผมอยู่อย่างพอเพียง เรื่องรถยนต์เป็นแค่ความชอบส่วนตัว??

แต่พอคนจนๆ จะมีค่าแรงเพิ่มขึ้นแค่ไม่กี่สิบบาท รุมโจมตี ประณามกันว่า “ไม่รู้จักพอเพียง”

ได้ยินได้ฟังแบบนี้แล้ว เข้าใจว่ารัฐบาลอาจทำงานด้านประชาสัมพันธ์อ่อนไป การขึ้นค่าแรง 300 บาท อันที่จริงแล้วไม่ได้มากเกินไปเลย เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอื่นๆ ของทวีปเอเชียด้วยกัน ค่าแรงของไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ด้วยซ้ำ  แต่เมื่อเป็นสิ่งใหม่นายจ้างย่อมไม่พอใจ เพราะจิตใจของนายจ้างย่อมต้องการลงทุนต่ำ และได้กำไรสูงสุดอยู่แล้ว ส่วนประชาชนที่ไม่ได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง และไม่เดือดร้อนกับการจะขึ้นค่าแรง 300 หรือไม่ บางส่วนเห็นใจและเข้าใจว่า เป็นการช่วยลดช่องว่างในสังคม แต่บางส่วนไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วย เพราะฟังจากสื่อที่ประโคมกันแล้วคิดว่าทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย และถ้าโรงงานต้องปิดกันมากๆ เข้าก็อาจจะกระเทือนมาถึงหน้าที่การงานของตัวเองด้วย

            แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมทำให้เกิดปัญหาตามมา  แต่ที่สำคัญทัศนคติโดยรวมของสังคมควรเข้าใจและเห็นใจผู้ใช้แรงงานที่ต้องอยู่อย่างยากลำบาก ปากกัดตีนถีบมาชั่วชีวิต ถึงคราวที่เขาจะได้ลืมตาอ้าปากบ้างก็ควรมองอย่างเข้าใจ และสนับสนุน ตรรกะที่สื่อนำเสนอควรอยู่ในแนวทางสร้างสรรค์ที่ว่า จำเป็นต้องขึ้นค่าแรง 300 บาท เพื่อให้เพียงพอกับภาวะเศรษฐกิจในทุกวันนี้  แต่รัฐบาลควรเตรียมแนวทางแก้ไขไว้สำหรับปัญหาอื่นๆที่จะตามมาด้วย และเชิญชวนคนในสังคมให้เข้าใจและร่วมกันฝ่าฟันปัญหานี้ไปพร้อมๆกัน

เพราะคนใช้แรงงานเหล่านั้นก็เป็นเพื่อนร่วมประเทศของเราไม่ใช่หรือ เห็นเรียกร้องเรื่อง ความสามัคคีกันนักหนา ประเทศชาติต้องการความสามัคคี แล้วจะให้สามัคคีอย่างไร พวกคุณอยู่สบายไม่เดือดร้อน แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เขาเดือดร้อนและต้องการได้ค่าแรงที่เพียงพอกับการดำรงชีพ ไม่ใช่เสนอแต่ว่า ค่าแรง 300 บาท ทำไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาโน่น นี่ นั่น สารพัด  และคนในสังคมก็ร่วมวิพากษ์วิจารณ์ไปทางเดียวกันว่า ทำไม่ได้ ทำไม่ได้  แล้วอย่างนี้เมื่อไรเมืองไทยถึงจะก้าวหน้าไปสู่สังคมที่เท่าเทียมได้สักที ?

            ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์ ควรวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์และช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลเร่งหาทางออกให้สมดุลทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง จะดีกว่า ธุรกิจเล็กๆ เอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มต้น รัฐอาจช่วยเรื่องการปรับลดภาษี การพักชำระหนี้ ส่วนธุรกิจใหญ่ที่หนีค่าแรง 300 บาท ด้วยการปิดโรงงาน หรือย้ายฐานการผลิต สื่อและภาคประชาชนควรสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าไปเจรจาผลักดันให้เจ้าของกิจการยอมลดกำไร ไม่ใช่ขาดทุนแต่แค่ลดผลกำไรลงจากที่เคยได้เท่านั้น และปรับลดเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงลงมาดีไหม ให้ช่องว่างในสังคมได้แคบลงมาสักนิด  เพื่อมนุษยธรรมให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีคุณภาพ 

            ถ้าเจ้าของโรงงานเหล่านั้นไม่ยอม อีกทั้งขู่ว่า ค่าแรงสูง สู้ไม่ไหวต้องย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ก็ต้องกล้าหาญยืนยันนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนต่อไป  รัฐต้องคุ้มครองคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ถ้าเหล่านายจ้างยังรวมตัวกันปิด รวมตัวกันย้าย ปล่อยให้ย้ายไป รัฐต้องสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการจ้างงานที่ควรเคารพในสิทธิ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หยุดกดขี่ขูดรีดกันสักที พร้อมกับการสร้างมาตรการรองรับคนตกงานด้วยการจัดอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้พร้อมเป็นมืออาชีพ ถ้ายังไม่มีแหล่งงาน ให้รัฐสร้างกิจการสร้างการผลิตของรัฐในรูปสหกรณ์ไปเลย ผลิตสินค้าคุณภาพ ราคาเป็นธรรม คนงานได้รับค่าแรง และสวัสดิการที่มีคุณภาพครอบคลุมทั้งบิดา มารดาและบุตร เช่นเดียวกับข้าราชการ และอย่าลืมมาตรการควบคุมราคาสินค้าที่ต้องทำควบคู่กันไป ไม่เช่นนั้นค่าแรงขึ้น ราคาสินค้าขึ้นทันทีก็ไม่มีประโยชน์อะไร

รับรองว่า ถ้ารัฐบาลแสดงความกล้าหาญอย่างแน่วแน่เช่นนี้ รวมทั้งสื่อและภาคประชาชนช่วยกันสนับสนุนในแนวทางสร้างสรรค์ บนพื้นฐานที่เข้าใจและเห็นใจเพื่อนร่วมชาติ  300 บาท ทำได้แน่นอน แต่ต้องช่วยกันทำทั้งสังคม ร่วมกันฝ่าฟันปัญหานี้ไปพร้อมๆกัน เพื่อลดปัญหาช่องว่างทางชนชั้น นำพาประเทศไทยไปสู่สังคมสวัสดิการอย่างยั่งยืนและมั่นคง

..........................................................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น