Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กษัตริย์สเปนเผชิญกระแสกดดันสละราชสมบัติ

ข้อมูลจาก Voice TV



 
กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส เผชิญเสียงเรียกร้องจากชาวสเปนให้สละราชบัลลังก์ หลังบุตรเขยถูกไต่สวนตั้งหน่วยงานการกุศลบังหน้าสูบเงินหลวง และพระองค์ได้ไปล่าช้างในแอฟริกา

เมื่อเดือนมกราคม หนังสือพิมพ์เอลมันโด ได้รายงานผลโพล 2 ครั้งของสำนักสำรวจซิกมา ระบุว่า สถาบันกษัตริย์ของสเปนกำลังได้รับความนิยมลดลง ชาวสเปนที่มองการครองราชย์ของกษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ในทางบวก ได้ลดลงเหลือ 50% เศษ จากระดับ 75% เมื่อปี 2555 และพบว่า ชาวสเปนที่เห็นว่าประมุของค์นี้ควรสละราชสมบัติในทันที มีจำนวนมากกว่าชาวสเปนที่คิดว่าพระองค์ควรครองราชย์ต่อไป อยู่เล็กน้อย
@ กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส แห่งสเปน
กระแสดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังจากพระชามาดา หรือบุตรเขย ของพระองค์ คือ ดยุค อินากิ เออร์ดันการิน อดีตนักกีฬาโอลิมปิก และนักเล่นแฮนด์บอลมืออาชีพ ซึ่งได้แต่งงานกับพระราชธิดาองค์สุดท้อง เจ้าหญิงคริสตินา ได้ถูกคณะกรรมการพิเศษซึ่งนำโดยศาลฎีกา วินิจฉัยเมื่อเดือนมกราคมว่า มีหลักฐานเพียงพอที่จะไต่สวนว่า เออร์ดันการินได้ตั้งองค์กรการกุศลบังหน้า และยักยอกเงินของรัฐกว่า 238 ล้านบาท จริงหรือไม่

@ ดยุค อินากิ เออร์ดันการิน


พระชามาดาของกษัตริย์องค์นี้ได้ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมพิธีการต่างๆ และประวัติของเขาได้ถูกลบออกจากเว็บไซต์ที่เป็นทางการของพระมหากษัตริย์ ขณะมกุฏราชกุมาร เจ้าชายเฟลิเป ได้หลีกเลี่ยงที่จะปรากฏพระองค์ร่วมกับเออร์ดันการินในระหว่างไปชมกีฬาเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งๆที่ทั้งสองต่างเข้าร่วมในงานเดียวกัน

@ กษัตริย์แห่งสเปน เสด็จฯล่าสัตว์ ที่บอตสวานา


นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2555 กษัตริย์ฮวน คาร์ลอส ได้เสด็จฯล่าช้างป่าที่ประเทศบอตสวานา โดยมีนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพออกค่าใช้จ่าย ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งกรณีนี้ได้ตกเป็นข่าวอื้อฉาวหลังจากพระองค์ได้รับบาดเจ็บ และเข้ารับการรักษา ขณะออกจากโรงพยาบาล พระองค์ทรงตรัสขอโทษกับประชาชนโดยมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ "ข้าพเจ้าเสียใจอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาด เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก"

กรณีหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จุดกระแสกดดันดังกล่าว อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงตรัสในการพระราชทานสัมภาษณ์เป็นครั้งแรกในระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ว่า "ข้าพเจ้าแข็งแรงดี และมีกำลังใจที่จะเผชิญเรื่องท้าทายต่างๆ" และ "ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้รับการจดจำในฐานะกษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวสเปน และร่วมกับประชาชนในการกอบกู้ประชาธิปไตย และสถาบันกษัตริย์"

@ คนงานในเมือง Palma de Mallorca เปลี่ยนป้ายชื่อถนน ซึ่งเดิมตั้งชื่อตามพระนามของเจ้าหญิงคริสตินากับดยุคอินากิ เออร์ดันการิน
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556


เมื่อเร็วๆนี้ ระหว่างเสด็จฯร่วมการแข่งบาสเกตบอล โคปา เดล เรย์ นัดชิงชนะเลิศ ระหว่างทีมของเมืองบาร์เซโลนากับวาเลนเซีย ที่สนามกีฬาบัวซา อารีนา พระองค์ได้ถูกผู้ชมในสนามส่งเสียงโห่ ซึ่งเสียงโห่นั้นดังมากจนกระทั่งทางสนามต้องหยุดเพลงชาติที่กำลังบรรเลงลงกลางคัน

โฮเซ อันโตนิโอ เอสกูเดโร นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสถาบันกษัตริย์ ให้ความเห็นว่า กระแสกดดันในครั้งนี้ นับว่าใหญ่ที่สุดนับแต่สถาบันกษัตริย์ได้ถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่ ผลลัพธ์ที่ตามมาจะร้ายแรงและไม่อาจคาดการณ์ได้ ประชาชนมีความรู้สึกในทางลบต่อพระมหากษัตริย์ สิ่งที่จะเป็นคุณแก่กษัตริย์ที่สุด คือ คดีพระชามาดาได้ยุติลงโดยเร็วที่สุด

เออร์ดันการินถูกกล่าวหาว่า ใช้ความสัมพันธ์กับราชวงศ์และความเป็นชนชั้นสูงของตนในการทำสัญญากับบรรดาหน่วยการปกครองท้องถิ่นในการจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ และอาศัยองค์การไม่แสวงกำไรเป็นหน่วยงานบังหน้าในการไซฟ่อนเงินเข้ากระเป๋า โดยหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี หากมีความผิดจริง เขาจะต้องโทษจำคุกกว่า 20 ปี

เมื่อศาลเรียกเงินประกันตัวเกือบ 300 ล้านบาท เขากับหุ้นส่วน ดิเอโก ตอร์เรส ไม่มีเงินจ่าย ในเดือนนี้ ศาลจึงได้เข้าพิทักษ์ทรัพย์ของเออร์ดันการินและเจ้าหญิงคริสตินา อาทิ พระตำหนักที่เมืองบาร์เซโลนา ซึ่งทั้งสองยังคงประทับอยู่ที่นั่น แต่คาดว่าจะถูกยึดหากถูกตัดสินว่ามีความผิด

นอกจากนี้ กระแสอภิปรายโต้แย้งกันว่า กษัตริย์ฮวน คาร์ลอสควรสละราชสมบัติหรือไม่ ยังได้ถูกโหมกระพือเพราะกรณีการสละบัลลังก์ของพระราชินีเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีพระชนมายุ 75 พรรษาเท่ากับพระองค์ และกรณีการสละตำแหน่งของโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ด้วย

สถาบันกษัตริย์ของสเปนเคยถูกยกเลิกเมื่อปี 2474 หลังจากชาวสเปนได้โหวตเลือกพรรคที่นิยมระบอบสาธารณรัฐให้เป็นรัฐบาล ต่อมาจอมเผด็จการ นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ซึ่งก้าวขึ้นมีอำนาจหลังพิชิตรัฐบาลนิยมสาธารณรัฐในสงครามกลางเมืองสเปน ได้แต่งตั้งฮวน คาร์ลอส เป็นเจ้าชาย หลังจากฟรังโกเสียชีวิตได้ 2 วัน พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2518

โฮเซ อัลวาเรซ จังโก หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ความคิด และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง แห่งมหาวิทยาลัย Universidad Complutense de Madrid บอกว่า แรงสนับสนุนพระมหากษัตริย์ที่เสื่อมถอยลงเกิดจากกรณีคอรัปชั่นดังกล่าว แต่ความรู้สึกนิยมในสถาบันกษัตริย์ในหมู่ชาวสเปนก็ไม่เคยเข้มแข็งนับแต่ยุคสาธารณรัฐเป็นต้นมา ชาวสเปนไม่ได้เป็นพวกนิยมสถาบันกษัตริย์ เพียงแต่นิยมในตัวของฮวน คาร์ลอส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น