เมื่อเห็นการเคลื่อนตัวของพม่าในทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เติบโตดีวันดีคืนเช่นนี้ เมื่อหันกลับมาย้อนมองเมืองไทยแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะไทยยังติดหล่มไม่เห็นอนาคต อำนาจเผด็จการยังแสดงอาการอาฆาตมาดร้ายกับพ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย
โดย ส.ส.สุนัย จุลพงศธร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ
การเดินทางเยือนพม่าของ นางฮิลลารี คลินตัน ผู้นำสำคัญของโลกและอีกหลายคนในโอกาสที่พม่าเปิดประเทศได้กลายเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความสำคัญของกลุ่มอาเซียน ในโอกาสที่จะเปิดศักราชใหม่ของประชาคมอาเซียน AEC อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2558
แม้วันนี้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยังคว่ำบาตรพม่า แต่เชื่อได้ว่าอีกไม่นานนักทุกอย่างจะคลี่คลาย และการแสดงออกของมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาในวันนี้โดยเนื้อแท้มิใช่เป็นความเอ็นดูพม่า แต่เป็นการแสดงถึงความกังวลแห่งอดีตที่จีนได้แสดงตัวเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มอาเซียนโดดเด่นเกินไป
และบัดนี้ได้เวลาแห่งความชอบธรรมที่สหรัฐอเมริกาจะก้าวเข้ามาตรวจตราในพื้นที่นี้แล้ว และเป็นเวลาสำคัญสำหรับไทยที่ควรจะมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ตามลูกพี่ใหญ่ที่สนิทสนมกันมานาน
แต่ไทยกลับต้องติดกับดักทางประวัติศาสตร์ของตัวเอง ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ฆ่าประชาชนกลางถนนในเหตุการณ์ ผ่านฟ้า-ราชประสงค์และการจับนักโทษทางการเมืองที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว
อันเป็นผลจากโครงสร้างระบอบเผด็จการแฝงเร้นทางประวัติศาสตร์ จึงน่าจับตามองว่าไทยจะก้าวข้ามกับดักนี้ได้อย่างไร ในภาวะที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีอย่างรวดเร็วดังนั้น
เพื่อเก็บรับบทเรียนจากเพื่อนบ้านที่ผ่านความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรงและกำลังก้าวข้ามกับดักนั้น เพื่อนำมาศึกษาเป็นบทเรียนด้านกลับให้กับไทย เราจึงควรมาเรียนรู้พัฒนาการของพม่าวันนี้
การเมืองพม่าย่างก้าวสู่ประชาธิปไตย
ในรอบปี 2554 พม่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่ดีอย่างมีนัยสำคัญโดยได้ดำเนินการตามแผน 7 ขั้นตอนสู่ประชาธิปไตยมาเป็นระยะจนสู่ความสำเร็จ
โดยขั้นตอนสุดท้ายได้จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนมีนาคม 2554 แต่ยังดำรงเนื้อในเผด็จการ ด้วยการใช้รูปแบบการหลอกลวงโดยมีพรรค Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งคือพรรคทหารแปลงกายเป็นผู้นำสู่การเลือกตั้งและได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553
ดังนั้นในภาวการณ์ขณะนี้รัฐบาลของนายเต็ง เส่ง จึงยืนอยู่บนฐานอำนาจของกองทัพ ซึ่งเป็นฐานอำนาจเก่าในระยะเปลี่ยนผ่าน
แต่มีสัญญาณที่ดีที่รัฐบาลแสดงความมุ่งมั่นที่จะไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อาทิ
(1) การแถลงนโยบายของรัฐบาลเพื่อแสดงเจตนารมณ์พัฒนาประเทศตามแนวทางประชาธิปไตย
(2) การจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(3) การประกาศอภัยโทษนักโทษการเมืองจำนวน 6,359 คน
และ (4) การรับรองกฎหมายอนุญาตการจัดการประท้วงอย่างสันติได้
ประเด็นปัญหาตัวแสดงสำคัญทางการเมืองอย่าง นางออง ซาน ซู จี ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมายาวนานว่าเป็นผู้ทรยศชาติ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในประเทศไทย ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั้นคือ รัฐบาลพม่าได้แสดงท่าทีที่เป็นมิตรกับนางออง ซาน ซู จี อย่างต่อเนื่อง
โดยนางได้พบหารือกับผู้แทนระดับสูงทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ รวมทั้งประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และสภาประชาชนพม่าได้ทำการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อเอื้อให้พรรค National League for Democracy (NLD) หรือพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซู จี มีสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง
ซึ่งต่อมาพรรค NLD จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญใหม่ และนางออง ซาน ซู จี ได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการและลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมสำหรับตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาจำนวนทั้งหมด 48 ที่นั่ง ที่จะมีในวันที่ 1 เมษายน 2555
โดยอาจลงสมัครสมาชิกสภาประชาชนเขต เมืองกอว์มู(Kawhmu)อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุไซโคลนนากีสเมื่อปี2551
ซึ่งการตัดสินใจของนางออง ซาน ซู จี และพรรค NLD ในครั้งนี้มีส่วนส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยในพม่าให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แม้ว่าชัยชนะของนางอองซานซูจีจะไม่ทำให้พรรคของเธอมีเสียงข้างมากในสภาก็ตาม เพราะถือเป็นการเปิดสัญญาณแห่งระบอบประชาธิปไตยในพม่าแล้ว
ในประเด็นนี้เมื่อเปรียบกับไทยแล้วเห็นชัดว่า ไทยยังติดหล่มไม่เห็นอนาคต เพราะอำนาจเผด็จการในประเทศไทยยังแสดงอาการอาฆาตมาดร้ายกับพ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทย ถึงขั้นเผลอเป็นไม่ได้เพราะอาจจะถูกยุบพรรค รัฐประหารเงียบได้ทันทีเหมือนที่เคยทำกับรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
และล่าสุดก็ส่งสัญญาณข่มขู่ท่ามกลางข่าวลือว่า จะมีการรัฐประหาร เพราะไม่พอใจที่มีคณะนิติราษฎร์เสนอแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยการรวมตัวกันของกลุ่มเผด็จการทหารอย่างมีนัยสำคัญ โดยอ้างการทำบุญหล่อพระ โดยมีพระ เจ้าอาวาสที่เป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรเป็นตัวประสานงาน
ส่วนความขัดแย้งด้านสงครามกับชนกลุ่มน้อยพม่าก็มีสัญญาณที่ดีกล่าวคือ มีการพัฒนาการทางบวกอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม เช่น กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army-UWSA) กลุ่มกองทัพแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือกลุ่มโกกั้งเมืองลา (National Democratic Alliance Army-NDAA) กลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (Democratic Kayin Buddhist Army-DKBA) และกลุ่มสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS)
ล่าสุด กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) และกลุ่มแนวร่วมชาติแห่งจีน (Chin National Front-CNF) โดยได้ลงนามตกลงหยุดยิงกันในเดือนมกราคม 2555 และยังขยายตัวเดินหน้าเจรจากับกลุ่มอื่นๆต่อไปอีก
การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
ในปี 2554 เศรษฐกิจพม่าขยายตัวเติบโตขึ้นร้อยละ 5.3 เป็นผลจากการลงทุนจากต่างประเทศและผลผลิตภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และเงินสกุลจั๊ตก็แข็งค่าขึ้นอย่างมากปัจจุบันอยู่ที่ 800 จั๊ตต่อดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20
การค้าระหว่างประเทศของพม่ามีมูลค่า 15,279 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 มีจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1
ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศมีมูลค่า 40,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 โดยจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในพม่า ทั้งนี้ไทยเคยครองอันดับ 1 ในการเป็นคู่ค้ากับพม่าและขณะนี้
รัฐบาลพม่ามีนโยบายเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ควบคู่ไปกับการรับฟังข้อห่วงกังวลของประชาชนและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
เห็นได้จากการออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกฎหมายเฉพาะสำหรับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เมืองทวายติดกับชายแดนไทย
และขณะเดียวกันก็ระงับโครงการสร้างเขื่อนมิตโสนในแม่น้ำอิระวดีที่รัฐบาลร่วมทุนกับบริษัทเอกชนจีนเพื่อเอาใจประชาชน เนื่องจากประชาชนพม่าได้ต่อต้านอย่างกว้างขวาง ด้วยกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและสังคม
ในขณะเดียวกันรัฐบาลพม่าก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทและการแก้ปัญหาความยากจน โดยได้จัดการประชุมระดับชาติในเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง ที่เมืองเนปิดอว์ โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชนบทและการเกษตร
มีผู้นำระดับสูงทั้งจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่นเข้าร่วมจำนวนมาก
และที่มีจุดเด่นสำคัญที่แสดงถึงการปรองดองคือได้เชิญนางออง ซาน ซู จี อดีตศัตรูคนสำคัญเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
เปิดกว้างด้านการต่างประเทศ
รัฐบาลพม่าได้เปิดบทบาทเชิงรุกในต่างประเทศมากขึ้น โดยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS Summit) ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 ,เตรียมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในปี 2555,จะจัด การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในปี 2556
และที่สำคัญที่สุดคือ พม่าได้รับความไว้วางใจจากอาเซียนให้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2557
ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้นำระดับสูงของพม่าได้เดินทางเยือนต่างประเทศต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเยือนประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญอย่าง จีน และอินเดีย นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่ายังเดินทางเยือนประเทศอื่นๆที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนในพม่า อาทิ ไทย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ด้วย
ในขณะเดียวกันพม่าได้รับการเยือนของผู้แทนระดับสูงจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตก ซึ่งได้เพิกเฉยต่อพม่ามายาวนาน อาทิเช่น การเยือนของสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป,สหราชอาณาจักร,ออสเตรเลีย และนอร์เวย์
ที่สำคัญที่สุดคือ การเยือนของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2554
โดยนางคลินตันได้พบหารือกับผู้นำรัฐบาลพม่าที่เนปิดอว์และพบหารือและรับประทานอาหารค่ำกับนางออง ซาน ซู จี ที่กรุงย่างกุ้งด้วย ซึ่งการแสดงออกของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งตะวันตกนี้ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เห็นชอบต่อการปรับตัวของพม่าสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าอาเซียนได้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาและยุโรปมีความสบายใจที่จะคบหาสมาคมด้วยโดยไม่ผิดหลักการทางด้านประชาธิปไตย
ซึ่งในอดีตปัญหาอยู่ที่พม่า ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้ส่งสัญญาณต่อชาวโลกแล้วว่าพร้อมเข้าสู่ระบบตลาดเสรีแล้วจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 15 – 19 พฤศจิกายน 2554 ได้เห็นชอบให้พม่าดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2557
สำหรับประเทศตะวันตกและประเทศพันธมิตรกับโลกตะวันตก อาทิ ญี่ปุ่นจึงได้เพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับพม่ารวมทั้งอีกหลายประเทศได้ลดมาตรการคว่ำบาตร รวมทั้งแสดงความพร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่พม่า
เส้นทางพม่าในปี 2555 ที่ถูกจับตามอง
ประเด็นสำคัญที่โลกกำลังจับตามองพม่าในปี 2555 คือ การเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เมษายน 2555 เพื่อเปิดทางให้แก่ นางออง ซาน ซู จี เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการ และการเจรจากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มคะฉิ่นที่เข้มแข็งที่สุด ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงหรือไม่
ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ประเทศตะวันตกยังไม่วางใจจึงยังต้องคงมาตรการคว่ำบาตรบางประการไว้เพื่อกดดันให้พม่าเปิดทางให้ นางออง ซาน ซู จี และปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เหลือทั้งหมด
เพราะประเด็นการก้าวเข้าสู่อำนาจของนางออง ซาน ซู จี และพรรคฝ่ายค้านยังสร้างความหวาดวิตกให้กับกลุ่มทหารฝ่ายขวาจัดอนุรักษ์นิยม จึงทำให้พม่ายังจะมีความเสี่ยงต่อการหวนกลับมามีอำนาจของกลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมอย่างสมบูรณ์แบบอีกครั้งหนึ่งด้วย
เพราะพวกหัวเก่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปและเปิดประเทศอย่างรวดเร็ว ที่เป็นอยู่ในขณะนี้เพราะบทเรียนในอดีตที่อดีตนายกฯขิ่น ยุ้นต์ พยายามเปิดประเทศก็ถูกฝ่ายขวาจัดทำรัฐประหารมาแล้ว
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ : ความสัมพันธ์ไทย – พม่าดีขึ้น
นับแต่การเปลี่ยนรัฐบาลจากนายอภิสิทธิ์มาเป็นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-พม่าดีขึ้นเป็นลำดับ
โดยมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงอย่างต่อเนื่อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยได้เดินทางเยือนพม่าแล้ว 2 ครั้ง
โดยครั้งแรกเป็นการเยือนในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 และครั้งที่ 2 เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำ 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS Summit) ที่เนปิดอว์ เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 และได้พบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีพม่า ที่เนปิดอว์
และที่สำคัญยิ่งคือการพบกันของ 2 ผู้นำหญิงแห่งอาเซียนคือภาพการจับมือของ นางสาวยิ่งลักษณ์ และนางออง ซาน ซู จี ที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งส่งสัญญาณให้สายตาชาวโลกจับตามาที่พม่าและไทย
เพราะ 2 ผู้นำสตรีนี้อยู่ในสถานการณ์การเมืองอย่างเดียวกันคือ อยู่ภายใต้ความเสี่ยงของเผด็จการทหารขวาจัดด้วยกันทั้งคู่ และต่างก็เป็นผู้นำสตรีคนแรกของแต่ละประเทศด้วยกัน
ดังนั้น จากภาพ 2 ผู้นำสตรีนี้จึงสร้างแรงดึงดูดใจให้ชาวโลกหันมามองผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นของชาวโลกต่อความร่วมมือกันในการปราบปรามยาเสพติดที่เป็นปัญหาของชาวโลกมากยิ่งกว่าภาพการจับมือระหว่างนายกฯยิ่งลักษณ์ กับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เสียอีก
ความสัมพันธ์ที่ก้าวรุดหน้าของพม่าและไทยนี้ได้ส่งผลให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังลุล่วงขึ้นหลายประการ เช่น การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือบริเวณแนวชายแดนและเรื่องเขตแดน
โดยเฉพาะการเปิดจุดผ่านแดนถาวรเมียวดีตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ภายหลังจากที่ปิดมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2553 ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์
รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษชาวไทย 8 คน จากฑัณฑสถานเกาะสอง นับว่าเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายใต้นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ชัดเจนที่สุด
แต่อย่างไรก็ตามพม่ายังคงให้ความสำคัญอันดับต้นกับปัญหาความมั่นคงบริเวณชายแดน ซึ่งพม่าชื่อว่าชนกลุ่มน้อยติดอาวุธยังอาศัยดินแดนไทยในการเคลื่อนไหว
ทั้งนี้ ทางการไทยก็ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลพม่า โดยใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าไทยแทรกแซงกิจการภายใน โดยเมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2554 หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายได้อำนวยความสะดวกให้นายอ่อง มิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรถไฟพม่า ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ให้เจรจากับชนกลุ่มน้อย 5 กลุ่มที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
การหารือได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หลายกลุ่มได้เจรจาในรอบต่อไปเพื่อนำไปสู่การตกลงหยุดยิง
ทั้งนี้ การอำนวยความสะดวกแก่รัฐบาลพม่าครั้งนี้น่าจะทำให้รัฐบาลพม่าไว้วางใจและเชื่อใจไทยมากขึ้น
แต่แหล่งข่าวระดับลึกรายงานว่าฝ่ายพม่าเชื่อว่า ความปั่นป่วนจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในพม่าที่มีมาเป็นระยะๆเป็นฝีมือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าที่อาศัยอยู่กับอำนาจพิเศษในแดนไทย ซึ่งยังเป็นปัญหาคาใจกันอยู่ที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป
ด้านเศรษฐกิจการค้าปรากฏว่าดีวันดีคืน โดยการค้าชายแดนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นภายหลังจากพม่าเปิดจุดผ่านแดนที่เมืองเมียวดี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 โดยไทยมีมูลค่าการลงทุนสะสมตั้งแต่ปี 2531 ถึงปี 2554 รวม 9,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน
รัฐบาลพม่ายังคงไว้วางใจเอกชนไทยในการขยายการลงทุนในพม่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขาพลังงานและการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่เมืองทวาย
โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2554 พม่าให้สัมปทานเพิ่มเติมแก่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบก 2 แปลง ได้แก่ แปลง PSC-G และ E2 บริเวณตอนกลางของประเทศ ส่วนโครงการท่าเรือที่เมืองทวายฯ โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้รับความร่วมมือจากทางการพม่าเป็นอย่างดีตามแผนงานที่วางไว้
เมื่อเห็นการเคลื่อนตัวของพม่าในทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศที่เติบโตดีวันดีคืนเช่นนี้ เมื่อหันกลับมาย้อนมองเมืองไทยแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะยังมองไม่เห็นอนาคตว่าคนไทยจะปรองดองกันได้อย่างไร
ยิ่งการประสานเสียงระหว่างกลุ่มพันธมิตรกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะพูดต่างกันแต่เนื้อหาเดียวกันคือ พยายามทุกวิถีทางที่จะทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณและรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงขนาดจัดเตรียมแผนลับที่จะล้มรัฐบาล โดยป้ายสีให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่จงรักภักดี โดยใช้การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ ผนวกเป็นเรื่องเดียวกันกับการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างความสันสนและใช้เป็นข้ออ้างที่จะก่อการรัฐประหาร
และล่าสุดก็มีการรวมตัวกันของอดีตผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันในสายงานบูรพาพยัคฆ์ที่เป็นกลุ่มผู้ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ตัวจริงรวมตัวกันที่วัดอ้อน้อยที่เจ้าอาวาสเป็นผู้มีบารมีของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเป็นอาจารย์ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่แสดงถึงความพร้อมที่จะกระทำการดังกล่าว
โดยพร้อมจะทำการกวาดล้าง เข่นฆ่าประชาชน อย่างโหดร้ายเหมือนที่เคยกระทำมาแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อข่มขู่ให้หวาดกลัวและถอนรากถอนโคนอำนาจฝ่ายตรงข้ามโดยไม่หวาดกลัวต่อสายตาชาวโลกที่กำลังจ้องมองอยู่
พม่ากำลังฟื้นแต่ไทยกำลังฟุบ ภาวนาอย่าให้ถึงขั้นเป็นตัวถ่วงอาเซียนเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น