Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง..! อ่านกันให้ชัดๆ กับข้อเสนอแก้ไข ม.112 ก่อนที่จะคิด "ตัดคอเขา"

ข้อมูลจาก VOICE TV
ความเห็นที่แตกต่างในประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ขยายวงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจมีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยลองศึกษารายละเอียดข้อเสนอของนิติราษฎร์



มีเรื่องที่ขำๆ แต่อดห่วงไม่ได้ เมื่อ พบว่ามีแฟนรายการวิทยุของ “วีระ ธีรภัทร” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรายการวิทยุที่ได้รับความนิยมมาก แม้คนโทรเข้ารายการจะถูกผู้ดำเนินรายการฝีปากกล้า กัดจิก อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ฟังก็ชอบ แต่ในประเด็นเรื่องข้อถกเถียงกันในเรื่อง การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีคนโทรเข้ามารายการค่อนข้างมาก แต่พบว่า ส่วนใหญ่ยังวิพากษ์วิจารณ์กันโดยไม่รู้ว่า รายละเอียดข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นอย่างไร


ถ้ามีเวลาให้ลองอ่านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ (โดยละเอียด) เพื่อประกอบความรู้เอาไว้ไปถกเถียงกันต่อ ว่าจะโขกหรือจะสับ หรือจะแอบพยักหน้าหงึกๆ กับ คณะนิติราษฎร์ ค่อยว่ากันต่อ...
ข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์
(ข้อมูลจาก http://www.ccaa112.org : คณะรณรงค์แก้ไข ม.112)

ข้อเสนอ เพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยตระหนักว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้
กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้

ประเด็นที่ 1
การดำรงอยู่ของมาตรา112
ข้อเสนอ
ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
เหตุผล
1. มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติในมาตรานี้จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
2. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 112 ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สาเร็จราชการแทนพระองค์

ประเด็นที่ 2
ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของ
พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ข้อเสนอ
1. เพิ่มเติมลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
2. นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปบัญญัติไว้ในลักษณะ...
3. แยกความผิดในลักษณะ... เป็น 4 ฐานความผิด คือ
 ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
 ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
 ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เหตุผล
โดยสภาพของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของบูรณภาพและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ประเด็นที่ 3
ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครอง
ข้อเสนอ
แบ่งแยกการคุ้มครองสาหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสาหรับตำแหน่ง พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
มาตรา... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษ…”
มาตรา... “ผู้ใดดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”
มาตรา... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สาเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษ…”
มาตรา... “ผู้ใด ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”
เหตุผล
เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่ง พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ
 ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา 107)
 ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา 108)
 ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท และความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 109)
 ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา 110)

ประเด็นที่ 4
อัตราโทษ
ข้อเสนอ
1. ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ
2. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินสองปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี สาหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี สาหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณา ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหกเดือน สาหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สาเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เหตุผล
1. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว
2. เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และในกรณีที่ศาลเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่ไม่ควรลงโทษถึงขั้นจำคุก ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้ลงโทษปรับแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้
3. เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกาหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดา แล้วแต่กรณี และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม
4. โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตาแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน
5. โดยเหตุที่ลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท แตกต่างจากลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงสมควรแยกการกระทำความผิดทั้งสองลักษณะออกจากกันและกาหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน

ประเด็นที่ 5
เหตุยกเว้นความผิด
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้
มาตรา... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 50 รับรองเสรีภาพในทางวิชาการ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว จึงไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา

ประเด็นที่ 6
เหตุยกเว้นโทษ
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้
มาตรา... “ในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามลักษณะ... ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”
เหตุผล
แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ

ประเด็นที่ 7
ผู้มีอานาจกล่าวโทษ
ข้อเสนอ
1. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2. ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เหตุผล
1. เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต
2. โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 และมีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 46 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มีกองนิติการทาหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานส่วนพระองค์และดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบของสำนักราชเลขาธิการ จึงสมควรให้สำนักราชเลขาธิการทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หมายเหตุ ข้อเสนอนี้นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว คณะนิติราษฎร์ยังมุ่งหวังให้เป็นมาตรฐานในการปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทและ ดูหมิ่นกรณีอื่น ๆ ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุข หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ (มาตรา 133 และมาตรา 134) ความผิดฐานดูหมิ่น เจ้าพนักงาน (มาตรา 136) ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา (มาตรา 198) และความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (มาตรา 326 และมาตรา 328) ให้เป็นระบบและสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไปด้วย
คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, 26 ธันวาคม 2554.
***********************


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในระยะหลัง เมื่อมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เสนอแนวคิดต่อต้านการรณรงค์ของคณะนิติราษฎร์ เป็นเรื่องปกติที่สื่อกระแสหลักจะเลือกหยิบนำประเด็นเหล่านี้ไปนำเสนอในวงกว้าง ขณะที่สื่อทางเลือกนำเสนอทั้งสองแนวคิดในวงแคบ
ความสมดุลย์ของข่าว คงต้องให้ผู้อ่าน ผู้ชม ได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูลกันเอาเอง



แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่า เริ่มมี “คอลัมนิสต์” บางส่วน เริ่มมีมุมมอง อย่างเท่าเทียมกันทั้งสองมุม รวมทั้งการตั้งคำถามเรื่อง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก


คอลัมน์ “ตีแสกหน้าสมรภูมิข่าว” ผู้เขียนนามปากกา “สมิหลา” ในเดลินิวส์ วันที่ 8 ก.พ. นำเสนอในเรื่อง "เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ว่า

“...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร...”

เป็นสุนทรพจน์ของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2477

และต้องไม่ลืมว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเบื้องแรกใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ มธก. กระทั่งต่อมาได้มีการตัดคำว่า “การเมือง” ออกไปตามความต้องการของคณะรัฐประหาร เมื่อปี 2490

แม้ไม่มีคำว่า “การเมือง” แต่ด้วย “จิตวิญญาณเสรี” ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เข้าไปอยู่ในกงล้อประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาตลอด

ในฐานะ “ลูกแม่โดม” คนหนึ่งยืนยันได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วจริง ๆ

ยิ่งในช่วงหลัง 19 ก.ย. 2549 จะเห็นได้ว่า นักวิชาการและนักศึกษาทั้งที่สนับสนุนการรัฐประหาร และปฏิเสธการยึดอำนาจสามารถแสดงความเห็นทางวิชาการโต้ตอบกันได้เสมอมา โดยไม่มีการกระทบกระทั่งหรือเกิดเหตุการณ์รุนแรง

เพราะเป็นเพียงความแตกต่างทางความคิด...

ข้อเสนอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของกลุ่มนักวิชาการ “นิติราษฎร์” มิใช่เพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้

มีการจุดประกายความคิดมาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่รับรู้กันในแวดวงวิชาการ นักเขียน ศิลปิน นักเคลื่อนไหว และกลุ่มการเมืองสีเสื้อต่าง ๆ เท่านั้น

ส่วนประชาชนทั่วไปในวงกว้างมิได้รับรู้เรื่องราวดังกล่าวแม้แต่น้อย...

การที่ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี จะบอกว่า กลุ่มนิติราษฎร์ “ล้ำเส้น” การแสดงออกทางวิชาการ ก็ควรจะใช้ระเบียบของมหาวิทยาลัยหรือใช้กฎหมายบ้านเมืองจัดการเพื่อเป็นการ ป้องปรามมิให้เกิดเหตุลุกลามบานปลาย

มิใช่อ้างว่าเพื่อป้องกันการเกิดเหตุ “6 ตุลา 19” ซ้ำสอง...!!!

เสมือนเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกพร้อมกับสาดข้อหาเช่นเดียวกับวันล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน

ขนาดตัวอธิการบดียังสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ แล้วเหตุใดนักวิชาการร่วมสถาบันจะต้องถูกกดหรือถูกเหยียบมิให้เคลื่อนไหวทาง การเมืองได้เล่า...???

แม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนมติของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยุคนี้มากหน้า หลายตา แต่ดูเหมือนกองเชียร์ของกลุ่มนิติราษฎร์ยังคงอบอุ่นและอัดแน่นไปด้วยชนชั้น นำทางความคิดหรือที่เรียกว่า “ปัญญาชนสยาม”

ธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งปิดกั้นยิ่งอยากรู้ การเปิดเวทีบนดินสามารถควบคุมได้ดีกว่าปล่อยให้เกิดช่องทางสื่อสารอื่น ๆ โดยเฉพาะปากต่อปาก ใครที่เคยดูหนังระดับตำนาน “ราโชมอน” จะรู้ดีว่าผลจะออกมาอย่างไร

ไม่ว่าวันที่ 13 ก.พ. ผลการประชุมผู้บริหาร มธ. จะทบทวนมติหรือไม่ก็คงไม่มีความหมายอะไร

เพราะวันนี้กระแสมาตรา 112 จุดติดขึ้นแล้วในสังคมไทย...!!!.



ส่วน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในคอลัมน์ แกะรอย หน้า 16 โดย สิรินาฏ ศิริสุนทร นำเสนอมุมมองในหัวข้อ “นกน้อยในไร่ ม.112”
ข้อถกเถียงกรณีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลายเป็นประเด็นที่หลายคนหวั่นเกรงว่า อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ทั้งๆที่...หากใช้ปัญญาช่วยกันตรึกตรอง ข้อถกเถียงดังกล่าวจะช่วยพัฒนาเสรีภาพสร้างวัฒนธรรมของเหตุและผลของคนในสังคมไทยกันมากขึ้น
ส่วนเนื้อหาของกฎหมายมาตราดังกล่าว ระบุว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3)รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

ตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนว่าต้องการปกป้องสถาบันสูงสุดของประเทศ

แต่ทว่ากฎหมายย่อมมีช่องว่างเสมอ...

นักการเมืองบางกลุ่ม บุคคลบางจำพวกจึงฉวยโอกาสของช่องว่างด้วยการอ้างสถาบันเพื่อทำลายผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตนเอง

จะเห็นได้จากเฉพาะปี2553 มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจำนวน ทั้งสิ้น 478 คดี เมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 164 คดี ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า ขณะที่ปี 2550 มีจำนวนทั้งสิ้นเพียง 126 คดี

ด้วยเหตุผลที่ว่า กฎหมาย มาตรา 112 เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างมีอานุภาพในการทำลายล้างผู้คิดต่างรวมถึงผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และอาจปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงเสนอให้เกิดการแก้กฎหมาย

พลันที่ความคิดเห็นดังกล่าวถูกนำเสนอต่อสาธารณชน"สื่อมวลชน"กลับทำหน้าที่นำเสนอข่าวแต่เพียงอย่างเดียวนำเพียงกระพี้ของเนื้อหา ตัดเพียงบางตอนมานำเสนอ

ในลักษณะของคู่ขัดแย้งและโยงใยความสัมพันธ์ของกลุ่มที่ต้องการแก้ไข เป็นไปในลักษณะของพวกล้มเจ้าขาดความลุ่มลึกในการอธิบายละเอียดของข้อเสนอที่ชัดเจนโดยเฉพาะข้อเสนอของกลุ่มคณะนิติราษฎร์กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้นำเอาประเด็นทางวิชาการมานำเสนอเพื่อให้เกิดข้อถกเถียงในทางวิชาการอย่างมีเหตุผล

ในทางตรงข้ามกลับใช้วิธีการโยนคำถาม แบบเติมเชื้อไฟ ที่ซ้ำๆ กันต่างแค่วันและเวลา

การทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลักในยุคปัจจุบันขาดหายไปในหลายมิติเช่น การนำเสนอโดยการอธิบายความของตัวบทกฎหมาย การวิเคราะห์ เหตุผลรวมถึงข้อถกเถียงในเชิงวิชาการ อันเป็นการสร้างปัญญาให้แก่ผู้อ่านซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อควรจะทำแต่กลับขาดหายไป

สื่อมวลชนจำนวนมากกำลังทำตัวเสมือนนกน้อยที่บินวนรอบความขัดแย้งของผลส้มหลากสีสัน ทั้ง ส้มอ่อน ส้มแก่ และ ส้มเน่า ภายในไร่มาตรา 112

โดยเลือกนำเสนอแต่เพียงแค่ว่ามีกลุ่มใดเห็นด้วยกับการแก้ไขและกลุ่มใดไม่เห็นด้วยบ้าง

รวมทั้งยังพยายามตั้งคำถามในลักษณะชี้นำในหลายกรณีโดยเฉพาะกับเหล่าขุนพลทหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่เห็นด้วยจนเลยเถิดไปถึงคำถามเรื่องการปฏิวัติ

นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนบางประเภทที่ละทิ้งจรรยาบรรณการตรวจสอบเสนอทางออกแห่งปัญญาให้แก่คนอ่าน ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขซึ่งหากกระทำการในนามตัวบุคคลถือเป็นเรื่องธรรมดาแต่การกระทำการในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน เป็นบุคคลสาธารณะขณะที่บางครั้งเลยเถิดถึงขั้นด่าทอกลุ่มที่คิดต่างจากตนเองว่าเป็นพวก"เนรคุณประเทศชาติ" "เป็นคนไทยหรือเปล่า"

สื่อซึ่งควรทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางสำหรับแก้ไขปัญหาเสนอทางออก เป็นแสงสว่าง สำหรับความมืดบอดทางปัญญาของสังคม กลับกลายเป็นชนวนเป็นตัวกระตุ้นเร่งความขัดแย้งของสังคมโดยที่ไม่ยอมแยกสำนึกในตัวตนกับการทำหน้าที่

สื่อกำลังลากตัวเองเข้าไปสู่วังวนความขัดแย้งอีกครั้งหนึ่งโดยลืมไปว่าบทบาทนั้นไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ...


ขณะที่คอลัมน์ “สถานีคิดเลขที่ 12” ในเรื่อง “112 (อีกที)” เขียนโดย ฐากูร บุนปาน วันที่ 8 ก.พ. สะท้อนว่า การปั่นกระแสเพื่อสร้างความแตกแยก โดยอ้างการแก้ไข ม.112 มาเป็นชนวน เป็นเรื่องที่พึงระวัง พร้อมยกหลักการสำคัญที่นักปราชญ์ประชาธิปไตยระดับโลก ชาวฝรั่งเศส “วอลแตร์” กล่าวไว้ว่า “ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด ผมก็พร้อมจะตายเพื่อให้คุณมีโอกาสได้พูด” (I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it.)
พร้อมได้ทวงถามถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในธรรมศาสตร์ด้วยว่า เคยผ่านหูผ่านตาในประโยคเหล่านี้หรือไม่ (ติดตามอ่านรายละเอียด หน้า 3 มติชน วันที่ 8 ก.พ.)
************
ทั้งนี้ หากมีการศึกษารายละเอียดอย่างครบถ้วน และรอบด้าน จนสามารถนำไปสู่การถกเถียงอย่างละเอียดและรอบคอบ น่าจะดีกว่าการใช้อารมณ์ และการกล่าวหา เพื่อผลักไส แบ่งแยกคนไทยออกจากกันและกัน.

1 ความคิดเห็น:

  1. เหตุผลดี แต่มันเป็นเรื่องระเอียดอ่อนมาก

    ตอบลบ