กฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังได้รับการพูดถึงในวงกว้าง
หากใช้ "กระแส" เป็นตัววัด ทั้งจากหน้าจอโทรทัศน์ หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ และสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต วันนี้เรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "นิติราษฎร์" และคณะ ในนาม "คณะรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 (ครก.112)" ถูกพูดถึงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สำหรับกรณีที่ค่อนข้าง "อ่อนไหว" อย่างนี้
มีทั้งฝ่ายต้าน อาทิ กลุ่มคนเสื้อเหลือง, กลุ่มคนเสื้อหลากสี ฯลฯ
มีทั้งฝ่ายสนับสนุน อาทิ ผู้ที่ร่วมลงชื่อในการรณรงค์ครั้งนี้
"คำ ผกา" หรือ "ลักขณา ปันวิชัย" คือหนึ่งในคนที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ "กลุ่มนิติราษฎร์" เธอแสดงออกทั้งจากงานเขียน และการพูดถึงในเวทีต่างๆ
โดยเฉพาะใน "มติชนสุดสัปดาห์" มีทั้ง "ดอกไม้" และ "ก้อนอิฐ" ที่ถาโถมเข้ามาหานักเขียน - คอลัมน์นิสต์ฝีปาก(กา)กล้าคนนี้
"มติชน ทีวีออนไลน์" มีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ และปรากฏการณ์ ต่อต้าน และขับไล่ฝ่ายต้านกลุ่ม "นิติราษฎร์" ที่เป็นอยู่ในขณะนี้
มองความเคลื่อนไหวนิติราษฎร์ยังไง?
ชื่นชม เพราะว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการเสนอหนทางของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แล้วก็ตั้งอยู่บนฐานของวิธีคิดทางวิชาการและข้อกฎหมายที่ "นูเทริล"หรือความเป็นกลาง (neutral- มติชนทีวีออนไลน์)" มากๆเลย คือยืนอยู่บนหลักนิติศาสตร์ ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักของ อคติ หรือ อัตวิสัย แต่ว่ายืนอยู่บนหลักวิชา นี่เป็นเรื่องที่ดีมาก
มาตรา 112 เห็นว่าควรแก้ไขหรือยกเลิก?
เชื่อมั่นในหลักวิชาการ หลักนิติศาสตร์ เพราะฉะนั้นให้ยืนอยู่บนหลักเหตุผลของหลักนิติศาสตร์ก่อน ทีนี้ต้องไปดูว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์คืออะไร ปัญหาหลักๆของ 112 ตอนนี้คืออะไร ไปแก้กันเป็นเปลาะๆตรงนั้น จะแก้ หรือจะยกเลิก ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราสามารถเปลี่ยนอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตและการใช้กฎหมายนี้ เพราะฉะนั้น จะต้องทำสองอย่างไปควบคู่กัน คือ กฎหมายต้องได้รับการปรับปรุง ไม่พูดว่าแก้หรือยกเลิก ขณะเดียวกันอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายนี้เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันให้มากขึ้นในสังคมไทย
ทำไมไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องอุดมการณ์นี้?
พูด ก็พูดเยอะ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล พูดตอนแถลง
หมายถึงคนอื่นๆ ทำไมไม่พูด?
ต้องไปถามว่าทำไมนักข่าวไม่พูด ทำไมนักเขียนคนอื่นไม่พูด ทำไมสังคมไม่พูด ทำไมสื่ออื่นไม่พูด ต้องกลับไปถามสื่อมวลชนทั้งหมด
นักการเมืองในสภาไม่แตะเรื่องนี้ เป็นเพราะอะไร?
ไม่มีสิทธิไปตอบแทนใครว่าทำไมเขาไม่ทำ
ปรากฏการณ์ไล่คนออกนอกประเทศ สะท้อนอะไร?
สะท้อนให้เห็นว่า จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องความเป็นชาติของคนไทย คงมีหลายชุดปะทะกันอยู่ตอนนี้ บางคนคิดว่าชาติเป็นของคนไทยทุกคน บางคนคิดว่าชาติเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ตราบเท่าที่คิดว่าเรามีความสามารถที่จะไล่ใครคนใดคนหนึ่งออกจากบ้าน แสดงว่าเราคิดว่าชาติเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ชาติไม่ใช่หน่วยจินตนาการทางการเมืองร่วมกันของคนในชาติ เพราะฉะนั้น เราจะไล่ใครออกจากบ้านได้ต้องมีเจ้าของบ้าน แต่ถ้าหากว่าบ้านหลังนี้มีคนอยู่ 20 คน แล้วทุกคนมีความเป็นเจ้าของบ้าน ร่วมกัน เท่าๆกัน 20 คน มันไม่มีใครไล่ใครออกจากบ้านได้ เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าๆกันในบ้านหลังนี้เท่าๆกัน
คิดอย่างไรกับคำวิจารณ์ นิติราษฎร์เป็นพวกหัวนอก ไม่เข้าใจบริบทสังคมไทย?
ไม่เห็นมีอะไรซับซ้อนเลย เขาวิจารณ์ 2475 อย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ตอนคณะราษฎรปฏิวัติ 2475 เขาบอกว่า ไอ้พวกนี้เป็นพวกหัวนอก ไปเรียนจบเมืองนอกมา แล้วอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบฝรั่ง
ไอ้ "อาร์กิวเมนต์ หรือข้อโต้แย้ง(argument -มติชนทีวีออนไลน์)" ขอบอกพวกฝ่ายขวาจัด บอกฝ่ายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงว่า พวกคุณช่วยไปหาเหตุผลที่มันทันสมัยกว่านี้ได้มั้ย เหตุผลนี้มันเก่ามากแล้ว เชยมากแล้ว เบื่อแล้ว พล็อตนี้ซ้ำ ช่วยหาเหตุผลอื่นที่มันแสดงให้เห็นว่าคุณมีสติปัญญาลึกซึ้ง ทำการบ้าน ทำงานหนักหน่อยได้มั้ย คือเขารู้ทันกันหมดแล้ว ไอ้มุขชิงสุกก่อนห่าม มุขอยากเป็นฝรั่ง มุขจะเอาแอ๊ปเปิ้ลมาปลูกในเมืองไทย ผลไม้นี้กับดินนี้อากาศนี้มันไม่เข้ากัน มุขอย่างนี้มันทำกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เชยมากเลย รู้สึกว่าฝ่ายขวาไม่ทำงาน
ก่อนนิติราษฎร์แถลงคิดอยู่แล้วว่าต้องโดนแบบนี้?
ไม่ใช่คิดอยู่แล้ว อาร์กิวเมนต์นี้มันอยู่ๆแล้ว อยู่ในแบบเรียน อยู่ในหนังสือเรียน อยู่ในการดิสเครดิตประชาธิปไตย มันอยู่ในการดิสเครดิตคณะราษฎร แล้วไอ้พวกที่ดิสเครดิตเรื่องพวกนี้ มันไม่เคยพัฒนาอาร์กิวเมนต์อะไรเลย แล้วมันใช้ซ้ำซาก คนเขาอธิบายมาเยอะแยะมากมายแล้วว่ามันเป็นผลงานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย ผลิตซ้ำกันมาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่อาร์กิวเมนต์อะไรที่แบบ...โอ้เซอร์ไพรซ์ ตกใจมากเลย
วันที่นิติราษฎร์แถลงไปร่วมงานมั้ย?
ไปค่ะ
เห็นคนเยอะรู้สึกอย่างไร?
มันไม่เยอะหรอกนะ คนไทยมีตั้ง 70 ล้านคน คนมาฟังนิติราษฎร์แค่ 2,000 มันไม่เยอะหรอกนะ
แต่ก็เต็มห้องประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์?
เยอะคุณต้องมีเรฟเฟอร์เร้นต์ (ข้ออ้างอิง-มติชนทีวีออนไลน์) แต่ฉันเรฟเฟอร์เร้นต์ว่าคนไทยมี 70 ล้านคน แต่มีคนสนใจนิติราษฎร์ 500 คน ลงชื่อ 700 นี่เป็นคนส่วนน้อยมากๆๆ ในสังคม แต่ถามว่าเราควรหยุดมั้ย นี่ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรหยุด เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราทำเป็นชายขอบ เป็นอุดมการณ์ที่ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ถืออำนาจนำ เราคือเสียงที่เบามาก เราคือเสียงที่อยู่ขอบนอก ชายขอบของอำนาจมากๆ ต่อให้เรามีคนเยอะแค่ไหน เสียงของเราเป็นเสียงที่อยู่แค่ชายแดนของอำนาจ เราไม่ได้อยู่ที่จุดศูนย์กลางของอำนาจ
ถ้ารณรงค์ได้ถึง 10,000 รายชื่อ คิดว่าคนในสภาจะหนุนมั้ย?
ต้องได้สัก 5 ล้าน
เขาไม่ได้มองว่าตรงนี้เป็นฐานเสียงเหรอ?
ไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น