โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คำถามหนึ่งที่สำคัญคือ ทำไมสังคมเราจึงควรอยู่ภายใต้อำนาจกำหนดของ "ประวัติศาสตร์กรรมเก่า"
"ประวัติศาสตร์กรรมเก่า" คือ ประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าอดีตกำหนดปัจจุบันและอนาคตอย่างตายตัว เหมือนความเชื่อเรื่อง "กรรมเก่า" ที่ว่า กรรมที่เราทำแต่ชาติปางก่อนมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์กำหนดความเป็นไปในชีวิตของเรา ทั้งตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และจะเป็นไปในอนาคตอย่างตายตัว
กรรมเก่ากำหนดเอาไว้แล้ว "อย่างตายตัว" หมายความว่า เราไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกว่าจะจัดการกับชีวิตในปัจจุบันและอนาคตให้เป็นไปในทิศทางที่พึงประสงค์ หรือที่เราปรารถนาได้เลย
น่าสังเกตว่า ความเชื่อเรื่อง "กรรมเก่า" ในความหมายดังกล่าวนี้เป็นความเชื่อที่พุทธศาสนาปฏิเสธมาก่อนแล้ว แต่ชาวพุทธเถรวาทไทยกลับยึดถือความเชื่อนี้เสมือนว่าเป็นความเชื่อของพุทธศาสนาเสียเอง ดังคำพยากรณ์ชะตาชีวิตผู้คนบนฐานคิด "เกิดแต่กรรม" "สแกนกรรม" "แก้กรรม" อันเป็นที่นิยมแพร่หลายในสังคมชนชั้นกลางสมัยใหม่ เช่น แม้แต่เจ้าอาวาสวัดใหญ่แถวปทุมธานีก็ออกรายการธรรมะทางโทรทัศน์ "พยากรณ์กรรมเก่า" ของผู้คนอยู่ทุกวัน
แท้จริงแล้ว การเข้าใจมโนทัศน์ (concept) เรื่อง "กรรม" เราไม่อาจเข้าใจได้เพียงดูตามที่สอนๆ กันอยู่ในปัจจุบัน ดูจากการวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ หรือจากคำสอนในคัมภีร์เท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องวิเคราะห์ "บริบท" ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของการใช้วาทกรรมเรื่อง "กรรม" ประกอบด้วย
คือเราต้องเข้าใจว่าวาทกรรมเรื่อง "กรรม" เป็น "วาทกรรมทางศาสนา" หลายศาสนาที่ใช้กันมาก่อนและร่วมสมัยกับพุทธศาสนายุคพุทธกาล และมีพัฒนาการเรื่อยมากว่า 2500 ปีแล้ว ปราชญ์ทางพุทธศาสนาอย่าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า หลักกรรมในพุทธศาสนานั้นไม่ได้มีความหมายเหมือน "ลัทธิกรรมเก่า" (ปุพเพกตวาท) ที่เชื่อกันอยู่ในสังคมชมพูทวีปเวลานั้น
หมายความว่า ในยุคพุทธกาลหรือก่อนหน้านั้นมีความเชื่อแบบ "ลัทธิกรรมเก่า" ที่ถือว่ากรรมเก่ากำหนดความเป็นไปในปัจจุบันและอนาคตเอาไว้อย่างตายตัวอยู่ก่อนแล้ว แต่พุทธศาสนาปฏิเสธความเชื่อนี้ และสอนกรรมในความหมายใหม่ว่า "กรรม คือ การกระทำทางศีลธรรม ที่มนุษย์มีเสรีภาพเลือกกระทำและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง"
ตามความคิดของพุทธศาสนา "กรรมเก่า" อาจมีผลต่อคุณภาพทางจิตใจและอุปนิสัยบางอย่างของคนเราอยู่บ้าง (เช่น ในช่วงชีวิตวัยนักศึกษา ถ้าเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ติดหนังสือ ก็ส่งผลให้เราในปัจจุบันที่เป็นอาจารย์เป็นคนมีความรอบรู้ มีความคิดอ่านลุ่มลึก เป็นต้น) แต่ไม่ได้หมายความว่า กรรมเก่าจะมีอำนาจกำหนดความเป็นไปในชีวิตทั้งหมด จนเราไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกเปลี่ยนแปลงชีวิตในปัจจุบัน หรืออนาคตให้ดีขึ้นตามที่เราปรารถนา
สาระสำคัญของความคิดเรื่องกรรมเก่าในพุทธศาสนาก็คือ กรรมเก่าที่เราทำมาในอดีตมีความหมายเป็น "บทเรียน" ให้เราเรียนรู้เพื่อทำ "กรรมใหม่" ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น หรือพัฒนา "ความเป็นมนุษย์" ของเราให้งดงาม มีคุณค่ายิ่งขึ้น
ฉะนั้น ตามความเชื่อเรื่องกรรมในพุทธศาสนา มนุษย์จึงไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจกำหนดอย่างตายตัวของกรรมเก่า แต่มนุษย์มีเสรีภาพที่จะทำกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาชีวิตตนเองให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ หรือแม้กระทั่งมีเสรีภาพที่จะเลือกทางชีวิตที่ดำเนินไปสู่ "ความสิ้นกรรม" คือดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8 อย่างที่พุทธะทำเป็นแบบอย่าง เป็นต้น
นอกจากมโนทัศน์เรื่องกรรมในพุทธศาสนาจะปฏิเสธ "อำนาจกำหนดอย่างตายตัวของกรรมเก่า" และยืนยัน "เสรีภาพในการเลือกกระทำกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น" แล้ว บริบทที่สำคัญยิ่งของคำสอนเรื่องกรรมในพุทธศาสนาคือ พุทธศาสนาสอนเรื่องกรรมเพื่อปฏิเสธ "สถานะอันศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น"
กล่าวคือ ในยุคพุทธกาลศาสนาพราหมณ์สอนว่า สถานะทางชนชั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ เช่น คนเกิดมาในชนชั้นไหนจะเลื่อนสถานะทางชนชั้นไม่ได้ เพราะสถานะทางชนชั้นถูกกำหนดเอาไว้แล้วอย่างตายตัวโดยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระพรหม
แต่พุทธศาสนาปฏิเสธว่า ไม่มีสถานะทางชนชั้นที่ศักดิ์สิทธิ์และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่กำหนดสถานะทางชนชั้นเช่นนั้อยู่จริง คนเรามีสถานะแตกต่างกันทางสังคมเพราะทำ "กรรม" ในความหมายของ "หน้าที่การงาน" ต่างกัน เช่น ทำหน้าที่นักรบจึงเป็นกษัตริย์ คนสอนศาสนาจึงเป็นพราหมณ์ คนค้าขายจึงเป็นแพศย์ คนใช้แรงงานจึงเป็นศูทร เป็นต้น ซึ่งหน้าที่การงานเหล่านั้นก็เป็นไปตามระบบสังคมที่สมมติกันขึ้น ณ เวลานั้น
ส่วน "กรรม" ที่เป็น "การกระทำในความหมายทางศีลธรรม" คือสิ่งที่กำหนดว่าใครประเสริฐ ไม่ประเสริฐ ไม่ใช่ชาติกำเนิดเป็นสิ่งกำหนดความประเสริฐ ไม่ประเสริฐของคน ถ้าศูทรมีสัมมาทิฐิ ดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรมย่อมประเสริฐกว่ากษัตริย์ที่เป็นมิจฉาทิฐิและไร้ศีลธรรม เป็นต้น
ฉะนั้น คำสอนเรื่อง "กรรม" ที่เป็น "การกระทำทางศีลธรรม" ตามทัศนะทางพุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนที่เน้น "ความเสมอภาคทางศีลธรรม" คือ "ใครทำชั่ว ชั่ว ทำดี ดี อย่างเสมอภาคกัน" ไม่มีข้อแม้ว่าจะเป็นชนชั้นไหน
ซึ่งความเสมอภาคทางศีลธรรมนี่เองที่เป็นพื้นฐานของความเสมอภาคทางกฎหมาย หมายความว่า เราต้องเชื่อว่า "มนุษย์เสมอภาคทางศีลธรรม" อยู่ก่อน เราจึงควรกำหนดหลักการทางสังคม-การเมืองขึ้นมาว่า "มนุษย์เสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย"
จะเห็นว่า สาระสำคัญของมโนทัศน์เรื่องกรรมในพุทธศาสนาคือ การเน้น "เสรีภาพ" ในการเลือกการกระทำเพื่อปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น และเน้น "ความเสมอภาคทางศีลธรรม" ซึ่งมีความหมายในเชิงสนับสนุนเสรีภาพในการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล เสรีภาพ และความเสมอภาคทางสังคม-การเมือง อย่างมีนัยสำคัญ
แต่คำสอนเรื่องกรรมของพุทธเถรวาทไทย หรือ "พุทธเถรวาทมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์" กลับ "เน้น" ความเชื่อเรื่องกรรมในความหมายของ "ลัทธิกรรมเก่า" (ที่พุทธศาสนาดั้งเดิมปฏิเสธ) ว่า กรรมมีอำนาจกำหนดสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้น คนทำบุญมามาก มีบุญญาธิการมากก็เกิดมาเป็นชนชั้นสูงที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเท่ากับยกให้กรรมมีบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์แทนบทบาทของพระพรหม
หรือเท่ากับปฏิเสธว่า พระพรหมมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์กำหนดสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้น แล้วยกให้กรรมมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการกำหนดความสูง-ต่ำทางชนชั้นแทน การปฏิเสธเช่นนี้จึงไม่ได้ปฏิเสธ "สาระสำคัญ" เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ "พรหม" มาเป็น "กรรม" เท่านั้นเอง แต่เนื้อหายังคงเดิม
แน่นอนว่า พุทธะคงไม่ปฏิเสธอะไรแบบฉาบฉวยเช่นนั้น!
แต่ว่า "ประวัติศาสตร์กรรมเก่า" ที่นิยมยกมาอ้างเพื่อโต้แย้งข้อเสนอของ "นิติราษฎร์" ซึ่งต้องการสร้าง "กรรมใหม่" เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยเชิงโครงสร้างและเชิงอุดมการณ์มากขึ้น กลับเป็นประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงอยู่กับความเชื่อแบบ "ลัทธิกรรมเก่า" และความเชื่อเรื่องสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้น ตามการปลูกฝังเน้นย้ำของ "พุทธเถรวาทมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์"
จึงแม้แต่การจะสร้าง "ประวัติศาสตร์กรรมใหม่" ด้วยการแก้ไขกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็กระทำมิได้ เพราะอ้างว่าจะกระทบต่อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ทางชนชั้นของ "คนบางกลุ่ม" ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องเป็นเช่นนั้นอย่างตายตัวด้วย "กรรมเก่า"
ทั้งที่จริง "คนส่วนใหญ่" คือ ไพร่ ทาส ก็มีบุญคุณต่อประเทศเช่นกัน ต่างอุทิศชีวิตเลือดเนื้อเสียสละสร้างชาติบ้านเมืองมาเช่นกัน
และในโลกสมัยใหม่ พวกเขาต่างก็มีสิทธิ์อย่างเสมอภาคที่จะสร้างชาติบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคตให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยคนทุกชนชั้นควรอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้กติกาและอุดมการณ์ที่เป็นประชาธิปไตยเฉกเช่นกัน!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น