โดย ประชาชนคนธรรมดา
1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางกำหนดวางคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเอาไว้เพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับในขั้นแรก และเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในขั้นต่อไป จึงเข้าข่ายลักษณะการรัฐประหารประเทศไทยและยึดอำนาจประเทศโดยใช้รัฐธรรมนูญให้ตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเผด็จการรัฐสภาโดยกลุ่มทุนสามานย์ผูกขาดของพรรคการเมืองในที่สุด
ข้อตอบโต้
ข้อตอบโต้
(ก) การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงนิติกรรมอำพราง เป็นการเปิดเผยสู่สาธารณชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
(ข) ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา รวมทั้งมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น ดังนั้น จึงไม่ใช่เป็นการกำหนดคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(ค) การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวหา เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการทหาร
2. ความจริงแล้วการเมืองปัจจุบันหาใช่ระบอบประชาธิปไตยในทางปฏิบัติไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายรัฐบาลจึงไม่สามารถตรวจสอบได้จริงในทางปฏิบัติ
ข้อตอบโต้
(ก) หมายความว่า รัฐบาลต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างน้อยเท่านั้นหรือ ถึงจะเป็นประชาธิปไตย
(ข) ในทางปฏิบัติตามหลักสากล ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีระบบรัฐสภา รัฐบาลจะมีฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายรัฐบาล
3. ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จึงเป็นความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจของฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์แห่งระบอบทักษิณ ที่คิดจะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อันถือเป็นการเข้ายึดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือเพื่อล้างความผิดในอดีตและกระชับอำนาจให้กับนักการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนไม่สามารถตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สุขของนักการเมือง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น อันเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ ทั้งๆ ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ทั้งจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพงสูงขึ้นมาก ราคาน้ำมันและพลังงานสูงขึ้นจากการผูกขาดและหาผลประโยชน์จาก ปตท. การเยียวยาจากผู้ประสบอุทกภัยที่ยังไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ และยังไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ฯลฯ แต่นักการเมืองเหล่านี้ก็ยังสนใจแต่จะล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง วิกฤติปัญหาของประเทศครั้งนี้จึงไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นักการเมืองที่พฤติกรรมฉ้อฉล
ข้อตอบโต้
(ก) เป็นข้อความกล่าวหาใส่ร้าย
(ข) เป็นข้อความที่หยิบยกเรื่องปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน รวมทั้งปัญหาของผู้ประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่ผ่านมาเกี่ยวกับการจ่ายชดเชยเยียวยาพี่น้องผู้ประสบภัย เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลควรจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
(ค) รัฐบาลมีความตระหนักและใส่ใจในปัญหาเหล่านี้ โดยพยายามทำทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งเห็นผลได้เป็นรูปธรรมและมีความสัมฤทธิ์ผล ดังจะเห็นได้ตามข่าวในการแก้ปัญหาและลงพื้นที่สัมผัสกับปัญหาอย่างจริงจังของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้
ข้อตอบโต้
(ก) การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(ข) การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการทหาร
(ค) ไม่ควรนำมาตรานี้ไปบิดเบือน หรือกล่าวร้ายให้ร้าย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5. ข้อความตามมาตรา 291/1 ถึง มาตรา 291/16 ตามร่างของรัฐบาลแล้ว ย่อมเป็นการยืนยันชัดเจนว่า กรณีนี้ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หากแต่เป็นบทบัญญัติให้มีคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจพิเศษในการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทน คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้อำนาจตนเอง คือ รัฐสภา มีอำนาจเลือกคณะบุคคลซึ่งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ด้วย อีกทั้งยังให้อำนาจพิเศษคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ให้เป็นผู้มีอำนาจให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติในรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้นได้ และให้เป็นผู้มีอำนาจรับรองการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะบุคคลดังกล่าวได้อีกด้วย ฯลฯ การแก้ไขครั้งนี้จึงเข้าข่ายเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างชัดเจน
ข้อตอบโต้
(ก) การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 กำลังเข้าสู่วาระการพิจารณา ซึ่งก็คือการประชุมร่วมของรัฐสภา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ข้อ (16) ซึ่งก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
(ข) การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ยังไม่ได้รับการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะต้องผ่านการพิจารณา ผ่านการอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันในสภา จึงมาอนุมานสรุปไม่ได้ว่า มาตรา 291/1 ถึง มาตรา 291/16 ตามร่างของรัฐบาล ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
(ค) สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่บุคคลซึ่งมีอำนาจพิเศษในการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ เพียงแต่เป็นบุคคลที่ประชาชนเลือกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ
6. นอกจากนี้ยังเป็นร่างที่จัดทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ครั้งนี้ ยังจัดทำขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีโดยที่ไม่ได้มีมติของมหาชนเสียก่อนว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญจึงได้บัญญัติให้ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 291” ต้องเป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 136 (16) โดยรัฐสภาต้องร่วมประชุมกันหากมีความคิดหรือมีปัญหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้ยุติเสียก่อน หาใช่จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเลยนั้น ไม่อาจทำได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรีหรือสภาผู้แทนราษฎร
ข้อตอบโต้
(ก) กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ข้อ (2) กำหนดว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(ข) กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ข้อ (1) วรรค 2 กำหนดว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
(ค) กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า ร่างที่จัดทำแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยคณะรัฐมนตรี ต้องมีมติได้รับความเห็นชอบจากมหาชน
(ง) มหาชนจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน สามารถเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตามมาตรา 291 ข้อ (1) และ (2)
(ง) การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา 136 ข้อ (16) โดยเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น และพิจารณาเป็น 3 วาระ ตามมาตรา 291 ข้อ (2)
7. ตามร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 136 ด้วย โดยเพิ่มข้อความว่า “(17) การให้ความเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/1(2)” อันเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 136 พร้อมกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 โดยที่ไม่มี “ญัตติ” ของการแก้ไขมาตรา 136 แต่อย่างใด
ข้อตอบโต้
(ก) การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ยังไม่ได้รับการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะต้องผ่านการพิจารณา ผ่านการอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันในสภา จึงมาอนุมานสรุปไม่ได้ว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 136 ด้วย
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 นั้นได้มาจากการลงประชามติเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศจำนวน 14.7 ล้านเสียง การดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 โดยไม่สนใจประชามติดังกล่าวจึงถือเป็นการล้มรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่เป็นการยัดเยียดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนลงประชามติแทน
ข้อตอบโต้
(ก) เดิมรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้มีการลงประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากการลงประชามติต้องใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท
(ข) เงินจำนวน 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่จะมากมายเท่าใดนัก แต่เนื่องจากประเทศต้องประสบกับมหาอุทกภัยอันร้ายแรง ซึ่งต้องใช้เงินในการเยียวยาบูรณะซ่อมแซมฟื้นฟูประเทศรวมหลายแสนล้านบาท
(ค) นับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เศรษฐกิจประเทศไทยตกต่ำ ทำให้การจัดเก็บภาษีไม่ตรงเป้า ในขณะที่รายจ่ายนั้นมีมากกว่ารายรับ การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สัมฤทธิ์ผลประโยชน์สูงสุด และไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่หนี้เก่ากองทุนฟื้นฟูก็ยังใช้ไม่หมด
(ง) ถ้าประเทศชาติไม่เกิดอุทกภัยและอยู่ในภาวะเศรษฐกิจปกติ รัฐบาลสามารถจัดให้มีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่มีปัญหา
(จ) การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน จำนวน 15 ล้านกว่าเสียง ในการเลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล และนำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในนโยบายนั้นก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงถือได้ว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้รับมติจากประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น