Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ถ่วงดุล"ส.ว.-ศาล-องค์กรอิสระ" แก้รธน.ฉบับ"วัฒนา เมืองสุข"

สัมภาษณ์พิเศษ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555
วัฒนา เมืองสุข ไม่ใช่แค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) ธรรมดา แต่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในภารกิจหลังฉากของทั้งรัฐบาล-พท. ด้วยคุณสมบัติพิเศษคือเป็น "สายตรงนายใหญ่"

เมื่อ "วัฒนา" พูดถึงจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2550 ที่ต้องกำจัด จึงพออนุมานได้ว่าสิ่งนั้นเป็น "พิมพ์เขียวในใจของ พท." ในการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ ภายหลังร่าง รธน.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.... ที่จะนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียง 399:199

"มติชน" ขอนำเสนอไอเดีย ที่น่าสนใจของ "วัฒนา" มาบางส่วน...

รธน. ปี 2550 มีจุดบกพร่องอะไรบ้าง

ตัวโครงสร้างองค์กรต่างๆ ไม่เป็นปัญหา แต่การวางโครงสร้างการเข้าสู่อำนาจและการตรวจสอบต้องทำใหม่ จากปัญหาคือ 1.ดุลยภาพแห่งอำนาจไม่สมดุล เพราะอำนาจอธิปไตยแบ่งเป็น 3 ส่วน รธน.มาตรา 3 เขียนไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่วันนี้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติกลับตรวจสอบฝ่ายตุลาการไม่ได้เลย คำว่าตรวจสอบไม่ได้แปลว่าแทรกแซง ก่อนตัดสินคดีไม่มีใครไปยุ่งกับคุณ แต่ถ้าตัดสินแล้วผิดทำนองคลองธรรม ต้องตรวจสอบได้ว่าทำไมตัดสินแบบนี้ หรือถ้าไม่ให้ประกันตัว ทำไมถึงไม่ให้ แต่วันนี้คุณไม่มีสิทธิอย่างว่า เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ ผมเป็นตัวแทนประชาชน แต่ตรวจสอบการใช้อำนาจของประชาชนไม่ได้ มันผิดปกติแล้ว

"ถ้าองค์กรไหนถูกตรวจสอบไม่ได้ องค์กรนั้นจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่าย จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ เราจึงได้ยินคำว่าตุลาการภิวัฒน์ ตุลาการภิวัฒน์ได้ยังไง (เน้นเสียง) คุณต้องทำตามกฎหมาย คุณใช้อำนาจเกินกฎหมายได้ยังไง ที่ศาลออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ทางการเมืองมันผิด มันไม่ควรจะเกิด และมันต้องไม่เกิด"

2.องค์กรอิสระขาดการตรวจสอบ ขัดกับหลักนิติรัฐเรื่องความรับผิดชอบทางกฎหมาย คุณตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไหม ปล่อยคดีขาดอายุความ มีใครรับผิดชอบบ้าง ถ้าเป็นตำรวจหรืออัยการป่านนี้ติดคุกไปแล้ว ที่ตรวจสอบไม่ได้เพราะการถอดถอนมันต้องทำผ่าน ส.ว. ใช้เสียง ส.ว.สามในห้า แต่กลับไปดูคนที่ตั้ง ส.ว.เป็นใคร ก็ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธาน ป.ป.ช. ก็คุณตั้งเขามา แล้วเขาจะปลดคุณได้ยังไง ส.ว. 74 คน คุณเป็นคนเลือก ลงมติกี่ชาติ ยังไงก็ถอดคุณไม่ได้ ผมไม่ได้บอกว่าไม่ควรมีองค์กรเหล่านี้ มีได้ แต่ต้องไม่ใช่คนถูกตรวจสอบเป็นคนเลือกคนที่จะมาสอบ

3.การเข้าสู่อำนาจขององค์กรตาม รธน.ไม่สัมพันธ์กับอำนาจ เช่น ส.ว.ถ้าแค่ให้กลั่นกรองกฎหมาย ไม่ต้องไปเสียเงินเลือกตั้ง เลือกคนดี-คนมีความรู้มา แต่ถ้าจะใช้อำนาจอธิปไตยลอยมาแบบนี้ไม่ได้

จะให้ถอดถอนรัฐมนตรีหรือ ส.ส.ได้ ต้องเป็น ส.ว.เลือกตั้ง

ถ้าจะมีอำนาจเหมือนที่เขียนไว้ใน รธน. ปี 2550 สรรหาไม่ได้ มีสิทธิอะไรให้คน 7 คนเหนือกว่าประชาชนหลายแสนที่เลือกผมมา ทฤษฎีคือคนเลือกผมมา 1.5 แสนคน ส.ว.ต้อง 3 แสนคนถึงจะครอบผมได้ อย่างในสหรัฐอเมริกามี ส.ว.ประมาณ 100 คน ส.ส.ประมาณ 400 คน อำนาจ ส.ว.จึงมากกว่า ส.ส. หลักการทั่วโลกเป็นอย่างนี้ รธน. ปี 2550 มันไม่เป็นประชาธิปไตย การถ่วงดุลจึงล้มเหลว

4.บทบัญญัติเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาประเทศ เช่นมาตรา 67 บอกท้องถิ่นขัดขวางการใช้อำนาจของรัฐบาลกลางได้ แม้จะเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือมาตรา 190 จะไปเจรจาที่ไหนต้องมาขอสภาก่อน มีใครเขาทำกัน 5.บทบัญญัติขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง ที่เป็นศาลเดียวจบ 6.กฎหมายที่ดีต้องเข้าใจง่าย กฎหมายไหนที่ต้องจ้างทนายมา ตีความเป็นกฎหมายเลว ใช้ไม่ได้ แล้ว รธน.ฉบับนี้นำไปสู่การตีความตลอดเวลา แปลว่าบทบัญญัติมันไม่ได้ ต้องแก้

ที่ผมพูดเป็นหลักการล้วนๆ จะมีที่มาจากไหน ไม่สำคัญ แต่โครงสร้างมันผิด วิธีคิดมันผิด แล้วจะแก้ยังไง โครงสร้างมันดีแล้ว แต่ต้องสร้างสมดุลที่ตรวจสอบ กันและกันได้ อำนาจไหนหรือองค์กรไหนที่ถูกตรวจสอบได้ จะไม่กล้าใช้อำนาจตามอำเภอใจ ที่ผ่านมาคุณจะเห็นว่าบางคดีที่ไม่ควรจะมีมูล มันก็มีมูล ไปถึงศาลยกฟ้องหมด เช่น คดี คตส. นี่แปลว่าอะไร แปลว่าคุณใช้อำนาจตามอำเภอใจ เป็นเครื่องมือทางการเมือง

คนออกแบบ รธน. ปี 2550 หวังให้ไม่สมดุล

เขาตั้งใจ

เพราะต้องการใช้บางองค์กรเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ถูกต้อง ไม่งั้นจะใช้ ส.ว.มาครอบงำองค์กรเหล่านี้ ใช้องค์กรเหล่านี้ไปเช็กบิลอีกฝั่งทำไม

ทั้งศาล ส.ว.และองค์กรอิสระถูกใช้หมด?

รธน. ปี 2550 ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง มันผิด ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง ที่มา ให้อำนาจมันดุลและคานกัน แค่นั้นก็จบ

คนร่างบอกว่า รธน. ปี 2550 แก้ปัญหาฝ่ายตรวจสอบอ่อนแอ

มันทำให้ฝ่ายตรวจสอบมีที่มาไม่โปร่งใส เลยกลายเป็นเครื่องมือของมือที่มองไม่เห็น มันไม่ได้ตอบอะไรเลย โครงสร้าง รธน. ปี 2550 ดีแล้วละ แต่การเข้าสู่อำนาจมันไม่ใช่ ผมไม่ได้บอกว่าจะไปช่วยใคร แต่มันจริงหรือเปล่าละ ที่ผมพูด ถ้ามันจริง ทำไมไม่แก้ ทำไมคุณมีความสุขกับความบิดเบือนของมัน ทำไมต้องปกป้องสิ่งที่มันชำรุดไว้

มีการอ้างว่ารัฐบาลสมัยนั้นแทรกแซงองค์กรอิสระผ่าน ส.ว.ที่เป็นพรรคพวกตัวเอง-เราก็แก้ตรงนั้นสิ

แต่ รธน. ปี 2550 มันหนักเลย หลักการมันผิด ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไม่มี ส.ว.ควรจะมีไหม มีได้ แต่ที่มาต้องสัมพันธ์กับอำนาจ องค์กรอิสระต้องมี แต่ต้องมาโดยปราศจากการครอบงำ และต้องมีความรับผิดชอบ คุณทำคดีขาดอายุความ คุณต้องติดคุกคดีมีเป็นหมื่นคดี คุณต้องตอบได้ว่าทำไมหยิบคดีนี้ ทำไมคดีโน้นคุณไม่ทำ ถ้าประชาชนตรวจสอบได้ ทุกอย่างจะโปร่งใส

จากปัญหาทั้ง 6 ข้อที่ยกมา ข้อไหนร้ายแรงที่สุด

ดุลอำนาจ การเข้าสู่อำนาจ การตรวจสอบ นั่นเรื่องใหญ่ที่สุดแล้ว ไม่งั้นมันถูกใช้เป็นเครื่องมือ มันนำมาซึ่งความขัดแย้ง องค์กรไหนที่ตรวจสอบยาก เช่น ทหาร สุดท้ายจะกลายเป็นแดนสนธยา

ทีมกฎหมาย พท.บางคนเสนอโละองค์กรอิสระให้เหลือแค่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช.

ควรจะเหลือเท่าที่จำเป็น

แล้วศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองยังจำเป็นหรือไม่

มันไม่จำเป็นนี่ ก็ใช้ศาลฎีกาแล้วเปิดแผนกขึ้นมาก็ได้ เวลามีคดีก็ส่งเขา ก็คัดผู้พิพากษาขึ้นมา

ทำไมต้องเลิก

มันใช้ผู้พิพากษาเป็นแผนกได้ เช่น แผนกคดีเลือกตั้งไง ไม่เห็นจำเป็นต้องมีศาลเลือกตั้งเลย เพราะมันไม่ได้มีคดีเกิดขึ้นทุกวันเป็นอาจิณ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคดีทุกวัน นานๆ ที ก็ใช้แผนกของศาลฎีกาได้

ถ้ามี รธน.ฉบับใหม่ ผลพวงรัฐประหารปี 2549 จะลบล้างอย่างไร

มันไม่เกี่ยวกับ รธน.ฉบับนี้ คนละตัวกัน รธน.จะเขียนบทบัญญัติลบโน่นลบนี้ไม่ได้ นิติประเพณีไม่มีใครพิเรนทร์ขนาดนิรโทษกรรมผ่าน รธน. ไม่มีใครเขาทำกันหรอก

แล้วองค์กรอิสระที่ตั้งโดย คมช.อย่าง ป.ป.ช. กกต. ถ้าเขียนวิธีสรรหาใหม่ควรจะทำอย่างไร

ก็สรรหาใหม่ ใน รธน.ต้องกำหนดเวลาไว้ แต่ถ้ามีสปิริตก็ควรจะลาออก ไม่ควรจะนั่งอยู่ ถ้าเป็นผมผมละอาย ผมลาออก ไม่อยู่หรอก

ส.ว.บางคนท้าว่ามี รธน.ใหม่ก็ต้องยุบสภาเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่

ไม่ขัดข้อง เมื่อไรก็ได้ ผมไม่เคยกลัวประชาชน คนเป็นนักการเมืองทำไมถึงกลัวประชาชน ได้ รธน. ฉบับใหม่ ถ้าเขาจะเคลียร์ ยุบสภาใหม่ พวกผมก็ไม่ขัดข้อง

กลัวกระแสต่อต้านระหว่างยกร่าง รธน.ฉบับใหม่แค่ไหน

ไม่กลัวฮะ เพราะแก้ก็ขัดแย้ง ไม่แก้ก็ขัดแย้ง แล้วคนที่ไม่อยากให้แก้ คือคนที่มีความสุขกับการบิดเบือนเพียงกลุ่มเดียว ผมไปยอมตรงนั้นไม่ได้ ทำไมไม่มาเถียงกับผมว่า มันถูกหรือไม่ถูก มานั่งบอกว่าจะช่วยคนใดคนหนึ่ง หลักการแบบนี้รับไปได้อย่างไร ไม่เกี่ยวกับคนใดคนหนึ่ง แต่ประเทศจะได้เดินไปข้างหน้า พอกันสักที นักค้าอาวุธทั้งหลายที่มีความสุขกับซากปรักหักพังของประเทศ พอสักที หันมามองประชาชนเถอะ ทำให้มันโปร่งใส สะอาด เราจะได้เดินไปบนทางที่มันโล่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น