Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทเรียน‘ปรีดี-ทักษิณ’?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 379 วันที่ 29 กันยายน-5 ตุลาคม 2555 หน้า 5 คอลัมน์ ถนนประชาธิป โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ



กรณีของปัญหาเริ่มจากนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555 ว่าได้เขียนบันทึกส่วนตัวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าถ้าอยากเป็นรัฐบุรุษต้องรู้จักคำว่าเสียสละ แม้จะไม่กลับประเทศก็สามารถเป็นรัฐบุรุษได้เช่นกัน เหมือนนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำงานเพื่อประเทศโดยที่ไม่เคยกลับประเทศ เพียงเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบ

ข้อเสนอของนายคณิตได้รับการวิจารณ์ทันทีว่าเป็นข้อเสนอที่มาจากความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาด และยังไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจากทรรศนะของนายคณิตเองที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่เป็นทรรศนะแบบด้านเดียว เพราะปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยและกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการรัฐประหารก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกด้านหนึ่งเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้นในรายงานของ คอป. เองก็ระบุว่าสังคมไทยมีปัญหารากฐานในทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมาก เช่น ปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ ปัญหาความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมือง ฯลฯ กรณีเหล่านี้คงแก้ไม่ได้ด้วยการเสียสละของ พ.ต.ท.ทักษิณ

แต่ที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์นั้นนายปรีดีต้องเดินทางออกจากประเทศเพราะถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ในครั้งนั้นกำลังของฝ่ายรัฐประหารใช้รถถังบุกทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่พำนักของนายปรีดี ทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยออกจากประเทศ หลังจากนั้นนายปรีดีพยายามที่จะกลับประเทศหลายครั้ง ครั้งสำคัญก็คือได้เดินทางกลับมาเพื่อยึดอำนาจคืนในกรณี “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492” แต่ล้มเหลว ถูกปราบปรามอย่างหนัก ซึ่งกรณีนี้รู้จักกันในนามว่า “กบฏวังหลวง” นายปรีดีต้องหลบซ่อนอยู่ในบ้านแถวฝั่งธนบุรี 6 เดือน จึงหลบหนีออกไปได้ และไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย

ประเด็นสำคัญต่อมาคือนายปรีดีถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมสร้างคดีใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการตัดสินประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ 3 คนคือ นายชิต สิงหเสนี, นายบุศย์ ปัทมศริน และนายเฉลียว ปทุมรส เพื่อเป็นการข่มขู่ไม่ให้นายปรีดีกลับประเทศ

ความจริงแล้วเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในเรื่องของนายปรีดีมีบทเรียนอันอุดม จากการที่นายปรีดีมีพื้นฐานเป็นลูกชาวนา แต่อาศัยความสามารถทางการศึกษาเป็นเครื่องมือสร้างโอกาสจนได้ไปศึกษาในต่างประเทศ และกลายเป็นคนแรกของประเทศไทยที่สำเร็จถึงขั้นปริญญาเอกวิชากฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส แต่นายปรีดีมิได้มุ่งที่จะนำเอากฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจชนชั้นนำสถาบันหลักและทำร้ายประชาชนเหมือนนักกฎหมายจำนวนมากในยุคปัจจุบัน หากแต่ต้องการใช้กฎหมายในการสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม และในสมัยที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย นายปรีดีได้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎร ซึ่งกลายเป็นสมาคมที่มีบทบาทนำในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายปรีดียังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอีกหลายประการในการสร้างระบอบใหม่ ตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้กันต่อมา มีส่วนในการปฏิรูปกฎหมายให้ประเทศไทยมีความทันสมัย และมีระบอบนิติรัฐอย่างแท้จริง จากนั้นก็เป็นผู้ผลักดันหลักการปกครองท้องถิ่นเพื่อการกระจายอำนาจ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่เดินทางไปเจรจาเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับมหาประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีเอกราชสมบูรณ์ เป็นผู้ผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจชาตินิยม สร้างระบบภาษีใหม่ให้มีความเป็นธรรม และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ เป็นต้น

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา นายปรีดีได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของรัชกาลที่ 8 และกลายเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยรอดพ้นจากฐานะที่จะเป็นผู้แพ้ในสงครามโลก เป็นผู้ผลักดันให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 เป็นต้นมา และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนครก็ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐบุรุษอาวุโสและเป็นนายกรัฐมนตรี จึงสรุปได้ว่านายปรีดีมีบทบาทสำคัญและสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก

ความเป็นนักประชาธิปไตยของนายปรีดียังเห็นได้จากความพยายามในการประนีประนอมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยการนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองฝ่ายนิยมเจ้าเมื่อ พ.ศ. 2488 และยังเปิดให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมออกหนังสือพิมพ์เพื่อเผยแพร่แนวคิดของตนและให้ตั้งพรรคการเมืองลงแข่งขันในการเลือกตั้ง โดยหวังว่าจะใช้กติกาประชาธิปไตยเข้ามาคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง หมายถึงว่าถ้าพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้รับความนิยมจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงที่มากเพียงพอก็สามารถเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน

แต่กรณีนี้กลายเป็นความผิดพลาด เพราะกลุ่มอนุรักษ์นิยมมิได้มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เมื่อเปิดทางให้ฝ่ายนี้มีบทบาททางการเมือง กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ใช้การเมืองแบบใส่ร้ายป้ายสีเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของนายปรีดีและรัฐบาลพลเรือน โดยเฉพาะการสร้างกระแสใส่ร้ายเรื่องกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จากนั้นก็สนับสนุนให้ฝ่ายทหารก่อรัฐประหารเพื่อทำลายคณะราษฎร ฉีกรัฐธรรมนูญ และทำลายประชาธิปไตย ผลจากการรัฐประหารนี้เองที่ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศดังที่กล่าวมา

ดังนั้น ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณจะรับบทเรียนจากนายปรีดีคงไม่ใช่เรื่องการลี้ภัยไปต่างประเทศโดยไม่กลับตามที่นายคณิตเสนอ แต่เป็นเรื่องที่ต้องสรุปว่าพวกอนุรักษ์นิยมอำมาตยาธิปไตยนั้นไม่มีแนวคิดประชาธิปไตย ชอบสนับสนุนการรัฐประหาร เข่นฆ่าประชาชน และไว้ใจไม่ได้ คนเหล่านี้ชอบอ้างสถาบันหลักเพื่อใส่ร้ายทำลายผู้บริสุทธิ์

ดังนั้น ถ้าหากต้องการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะต้องอาศัยการสนับสนุนจากประชาชนไปดำเนินการ การประนีประนอมอ่อนน้อมต่อฝ่ายกระแสหลักนั้นไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด

บทเรียนในระยะ 6 ปีสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็บอกความข้อนี้ เพราะถ้าหากไม่มีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนคนเสื้อแดง พ.ต.ท.ทักษิณคงหมดบทบาทไปแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คงไม่สามารถมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ กลุ่มชนชั้นนำอำมาตยาธิปไตยก็คงมีอำนาจนำได้อย่างสมบูรณ์

การตื่นตัวและการต่อสู้ของประชาชนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญแห่งอนาคตที่จะทำให้สังคมไทยก้าวหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น