Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 381 วันที่ 13-19 ตุลาคม 2555 หน้า 5 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ



ที่วงเวียนหลักสี่ จุดตัดระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา มีอนุสาวรีย์แห่งหนึ่งตั้งอยู่ เป็นอนุสาวรีย์รูปพานรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันอนุสาวรีย์แห่งนี้เรียกกันว่า “อนุสาวรีย์หลักสี่” ซึ่งปราศจากความหมายอันชัดเจน แต่อนุสาวรีย์แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” สร้างขึ้นในโอกาสที่รัฐบาลคณะราษฎรสามารถเอาชนะและปราบปรามกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นกบฏฝ่ายนิยมเจ้าที่คุกคามประชาธิปไตยของสยาม

อนุสาวรีย์นี้เป็นที่บรรจุอัฐิของทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ภายในรวม 17 นาย และรูปแบบของอนุสาวรีย์ยังกลายเป็นต้นแบบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินด้วย อนุสาวรีย์ยังมีชื่อเรียกอื่น เช่น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ และอนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น

กบฏบวรเดชเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยเริ่มจากกลุ่มนายทหารและข้าราชการฝ่ายนิยมเจ้าที่ต่อต้านคณะราษฎร ได้ไปตั้งกองบัญชาการที่นครราชสีมา แล้วเรียกตนเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” โดยมีนายพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า แล้วตั้งให้ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นแม่ทัพ ยกกำลังเข้ามาในพระนคร

คณะกู้บ้านกู้เมืองตั้งกำลังที่ดอนเมือง แล้วยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลคณะราษฎรลาออก แต่ฝ่ายคณะราษฎรตัดสินใจต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย จึงตั้ง พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการในการต่อสู้ ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ปะทะกัน และฝ่ายรัฐบาลสามารถเอาชนะฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ จนฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองต้องถอนกำลังในวันที่ 15 ตุลาคม ต่อมาพระยาศรีสิทธิสงคราม เสียชีวิตในการรบที่หินลับ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหนีไปลี้ภัยที่อินโดจีนฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลมีผู้เสียชีวิตจากการปกป้องประชาธิปไตยครั้งนี้ 17 คน ที่สำคัญก็คือ พ.ต.หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) ซึ่งเป็นผู้ก่อการคณะราษฎร และเป็นเพื่อนของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐบาลคณะราษฎรถือว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 17 คน เป็นวีรบุรุษผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตย จึงได้มีการจัดงานศพอย่างยิ่งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการทำศพสามัญชนที่สนามหลวง แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะมีพระราชกระแสว่าพระองค์ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าสนามหลวงเป็นที่ทำศพเฉพาะเจ้านาย คณะราษฎรได้ตั้งชื่อถนนอำนวยสงคราม และสะพานเกษะโกมลเพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงอำนวยสงคราม และได้สร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของทั้ง 17 คน

อนุสาวรีย์ปราบกบฏได้รับการออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเรขการ (เยื้อน บุณยะเสน) อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยยึดหลักทางการเมืองของคณะราษฎร คือการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาประชาธิปไตยของบ้านเมือง การก่อสร้างดำเนินไปในปี พ.ศ. 2479 และมีพิธีเปิดในวันที่ 14 ตุลาคมปีเดียวกัน โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นประธานในพิธี จึงถือได้ว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการพิทักษ์ประชาธิปไตยจากภัยคุกคามของฝ่ายนิยมเจ้า

ที่น่าสนใจคือ ผนังของฐานแต่ละด้านของอนุสาวรีย์มีการจารึกและประดับเรื่องราวที่ต่างกันไป โดยผนังด้านทิศตะวันตกมีการจารึกรายนามของทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิต ด้านทิศใต้เป็นรูปแกะสลักนูนต่ำของครอบครัวชาวนา คือ พ่อ แม่ และลูก โดยผู้ชายถือเคียวเกี่ยวข้าว ผู้หญิงถือรวงข้าว และเด็กถือเชือก ซึ่งสื่อถึงราษฎร และเป็นอนุสาวรีย์แรกในประเทศไทยที่สร้างรูปชาวนา ด้านทิศเหนือเป็นรูปธรรมจักร ซึ่งหมายถึงศาสนา และด้านทิศตะวันออกเป็นแผ่นทองเหลืองจารึกโคลงสยามานุสติ ซึ่งเป็นโคลงในลักษณะชาตินิยม

ต่อมาหลังจาก พ.ศ. 2490 เมื่อคณะราษฎรสิ้นอำนาจ และฝ่ายนิยมเจ้าได้รับการฟื้นฟู อนุสาวรีย์ถูกทอดทิ้งในเชิงของความหมายเรื่องการปราบกบฏ กลายเป็นวงเวียนหลักสี่ ทำให้ความสนใจลดลงอย่างมาก และเมื่อมีอัตราการใช้รถยนต์ในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก วงเวียนหลักสี่และอนุสาวรีย์ถูกพิจารณาว่ากีดขวางการจราจร จึงมีการพิจารณาปรับภูมิทัศน์หลายครั้ง เช่น ใน พ.ศ. 2536 มีการยกเลิกวงเวียนทำเป็นสี่แยก และนำมาซึ่งการขุดอุโมงค์ลอดอนุสาวรีย์ และใน พ.ศ. 2553 กรมทางหลวงมีโครงการจะสร้างสะพานลอยข้ามแยกเพื่อเชื่อมต่อถนนแจ้งวัฒนะและถนนรามอินทรา ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการย้ายบริเวณของอนุสาวรีย์ และในอนาคตยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู ซึ่งก็คงจะส่งผลต่ออนุสาวรีย์อีก

กรณีนี้ฝ่ายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอความเห็นว่า อนุสาวรีย์นี้เป็นเพียงสัญลักษณ์จำลองเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลอะไร จึงมองว่าน่าจะก่อสร้างได้โดยไม่มีผลกระทบอะไร แต่กลับกลายเป็นว่า “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ” ได้กลับมารื้อฟื้นความหมายครั้งล่าสุด เมื่อคนเสื้อแดงเริ่มการชุมนุมครั้งใหญ่ พ.ศ. 2553 นายวีระ (วีระกานต์) มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เลือกอนุสาวรีย์หลักสี่เป็นสถานที่รวมพลเป็นครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 ก่อนกิจกรรมการชุมนุมใหญ่ที่ยืดเยื้อ โดยนายวีระประกาศในตอนนั้นว่ามาสักการะดวงวิญญาณของคณะราษฎร เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

หลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิต 94 คน และบาดเจ็บนับพันคน ประชาชนจำนวนมากถือว่าผู้เสียสละชีวิตในกรณีเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นวีรชนที่เสียสละในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงได้เกิดการแสวงหาวีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในระยะก่อนหน้านี้ อนุสาวรีย์ปราบกบฏจึงสามารถฟื้นความหมายได้ในลักษณะเช่นนี้ เพราะถือเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยครั้งแรก และมีลักษณะเดียวกันกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ปกป้องประชาธิปไตย

ดังนั้น ในปีนี้ซึ่งจะเป็นปีครบรอบ 79 ปีแห่งการเสียสละของวีรชนประชาชนคราวกบฏบวรเดช กลุ่มประชาชนคนเสื้อแดงจึงจะไปจัดพิธีรำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยจะมีการวางพวงมาลา มีการอภิปรายและร้องเพลง การจัดงานฉลองอนุสาวรีย์ปราบกบฏในปีนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การรณรงค์จัดงาน 80 ปีในปีหน้า

นั่นหมายความว่าสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของประชาชนอีกหนึ่งจะถูกรื้อฟื้นความสำคัญ เพื่อสะท้อนถึงสายธารแห่งประชาธิปไตย เป็นการประกาศต่อฝ่ายอำมาตย์และพวกนิยมเจ้าว่าประชาชนจะไม่ยอมจำนน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น