Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เลิกไพร่-เลิกทาสยุติระบอบศักดินาเด็ดขาด

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 380 วันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2555 หน้า 13 คอลัมน์ พายเรือในอ่าง โดย อริน



สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น สยามมีทาสเป็นจำนวนกว่า 1 ใน 3 ของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าการเกิด “(ลูก) ทาสในเรือนเบี้ย” เป็นทาสตลอดชีวิตสืบต่อกันเรื่อยมาไม่มีที่สิ้นสุด โดยลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อๆกันเรื่อยไป ซึ่งตามกฎหมายโบราณที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์กำหนดว่าด้วยลักษณะทาสได้จัดประเภทของทาสไว้ 7 อย่างคือ

1.ทาสไถ่มาด้วยทรัพย์ หรือ “ทาสสินไถ่” หมายความว่าเป็นสถานภาพของบุคคลซึ่งเดิมเป็นทาสของคนอื่น แล้วผู้ใดผู้หนึ่งนำเงินไปไถ่ตามค่าตัวที่ได้กำหนดไว้ ทำให้ทาสเปลี่ยนมือหรือ “นายทาส” หรืออีกความหมายหนึ่งอธิบายว่าหมายถึงทาสที่ขายตัวเองหรือถูกผู้อื่นขายให้แก่นายเงิน ต้องทำงานจนกว่าจะหาเงินมาไถ่ค่าตัวได้จึงจะหลุดพ้นเป็นไท

2.“ทาสในเรือนเบี้ย” หมายถึงลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาส ย่อมเป็นทาสไปด้วย

3.ทาสได้มาแต่ฝ่ายมารดาบิดา หมายความถึงทาสที่บุคคลได้รับมรดกจากมารดาบิดาของตน

4.ทาสที่มีผู้ให้ หรือ “ทาสท่านให้” คือทาสที่เดิมเป็นของผู้หนึ่งแล้วถูกยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของอีกผู้หนึ่ง

5.ทาสอันได้มาด้วยการช่วยกังวลธุระทุกข์แห่งคนอันต้องโทษทัณฑ์ หรือ “ทาสที่ช่วยมาจากทัณฑโทษ” คือผู้ที่ถูกต้องโทษ ต้องเสียค่าปรับแต่ไม่มีเงินให้ ต่อเมื่อมีนายเงินเอาเงินมาใช้แทนให้ ผู้ต้องโทษก็ต้องเป็นทาสของนายเงิน

6.ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย หรือที่บัญญัติไว้เป็น “ทาสอันได้เลี้ยงไว้ในกาลเมื่อข้าวแพง” คือทาสที่เข้ามาสมัครใจยอมตัวเป็นทาสเนื่องจากสาเหตุข้าวยากหมากแพง ไม่มีจะกิน ต้องอาศัยมูลนายกิน ในที่สุดต้องยอมเป็นทาสของมูลนายนั้น

7.ทาสที่ได้มาจากการรบศึกชนะ หรือที่เรียกว่า “ทาสเชลย” หรือ “เชลยทาส” โดยทั่วไปจะเป็น “ทาสหลวง” ก่อน แล้วพระมหากษัตริย์จะพระราชทานแก่ขุนนางและเจ้านายที่มีความดีความชอบในการทำศึกสงคราม

กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในเวลานั้นตีราคาลูกทาสในเรือนเบี้ย ชาย 14 ตำลึง หญิง 12 ตำลึง แล้วไม่มีการลด ต้องเป็นทาสไปจนกระทั่งชายอายุ 40 หญิงอายุ 30 จึงมีการลดบ้าง แต่ข้อเท็จจริงคือการคำนวณการลดนี้อายุทาสถึง 100 ปี ก็ยังมีค่าตัวอยู่ คือชาย 1 ตำลึง หญิง 3 บาท แปลว่าผู้ที่เกิดในเรือนเบี้ย ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้วก็ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต

การดำรงอยู่ของ “ระบบทาส/ไพร่” ที่เคยเป็นรากฐานสำคัญของระบอบการปกครองและระบบการผลิตแบบ “ศักดินา” กลายเป็นตัวการขัดขวางพัฒนาการของสังคมสยามนับจากการเข้ามาของการขยายตัวลัทธิเจ้าอาณานิคม เพื่อขยายตลาดวัตถุดิบ ตลาดการผลิต และตลาดการค้าใหม่ ทั้งนี้ มูลเหตุที่นำไปสู่ความจำเป็นของการเลิกทาสและไพร่ (ดังที่กล่าวไปแล้ว) พอสรุปได้คือ

1.เพื่อให้เกิดแรงงานอิสระที่สามารถเดินทางไปรับจ้างได้ทั่วราชอาณาจักร ไม่จำกัดจากการสังกัดมูลนาย

2.เป็นผลดีต่อการเตรียมการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินจากระบอบจตุสดมภ์สู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในรูปกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งที่สำคัญคือการใช้คนในส่วนกลางเป็นพื้นฐาน (ในเวลาต่อมาจึงเกิด “โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการ”; ดูบทความ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในโลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 กุมภาพันธ์ 2555)

3.ราษฎรหันมาจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ และพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้น ในที่สุดก็มีอำนาจสำเร็จเด็ดขาดเมื่อการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินสำเร็จลง ทั้งทางการคลัง การทหาร และการปกครองเป็นสำคัญ เกิดการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครอง

4.เปลี่ยนระบอบการทหารจากที่กระจายอยู่ในมือของเชื้อพระวงศ์และขุนนางอำมาตย์ (ไพร่สม) มาสู่ “ทหารของพระมหากษัตริย์ (ไพร่หลวง)” เกิดการเกณฑ์ทหารและจัดระบบกองทัพแบบใหม่ขึ้น

5.เพื่อลดอิทธิพลและอำนาจของขุนนางลงและ “ยุติ” ระบอบจตุสดมภ์/ศักดินาสวามิภักดิ์ลงได้ในที่สุด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ มิได้ทรงดำเนินการเลิกทาสขาดลงไปคราวเดียว เพื่อลดการต่อต้านจากนายทาส ที่สำคัญคือนายทาสที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนนางอำมาตย์ ตลอดจนพ่อค้าซึ่งเป็นนายเงิน จึงทยอยประกาศพระราชบัญญัติสลับกับประกาศพระบรมราชโองการเป็นคราวๆไป จนถึงได้ออกพระราชบัญญัติทาสในที่สุด ซึ่งถ้าจะประมวลการดำเนินงานเป็นขั้นๆตามตัวบทกฎหมายจะเห็นได้ดังนี้

1.พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท จุลศักราช 1236 โสณสังวัจฉระ สาวนมาส ชุณหปักษ์ นวมีดีถีศุกรวาร (วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417) มีเนื้อหาหลักกำหนดให้ทาส 7 ประเภทดังกล่าวข้างต้นที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 (คือปี พ.ศ. 2411 อันเป็นปีเสวยราชย์) เป็นต้นไป เมื่อแรกเกิด ชายมีค่าตัว 8 ตำลึง หญิงมีค่าตัว 7 ตำลึง ให้ขึ้นค่าตัวจนถึงอายุ 8 ปี ต่อจากนั้นให้ลดลงตามระยะเดือน ปี อันตราไว้ในพระราชบัญญัติ จนถึงอายุ 21 ปี หมดค่าตัวและให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง; ถึงแม้ว่าบุคคลซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2411 เป็นต้นมานั้นจะได้รับการปลดปล่อยตามเงื่อนไขเวลาที่กล่าวมาแล้ว ต่อเมื่อถึง พ.ศ. 2431 เป็นต้นไปก็ตาม แต่ก็สามารถได้รับการไถ่ถอนให้พ้นจากความเป็นทาสได้ในราคาพิเศษซึ่งถูกกว่าทาสที่เกิดก่อน พ.ศ. 2411; กำหนดว่าถ้าผู้ใดจะนำบุตรหลานของตนไปขายเป็นทาสซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2411 และมีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาไปขายเป็นทาส จะต้องขายในอัตราซึ่งกำหนดไว้ในพิกัดเกษียณอายุใหม่ในรัชกาลที่ 5; ห้ามผู้ที่เกิดใน พ.ศ. 2411 หรือบิดามารดาของตนเองขายตนเป็นทาส โดยที่ตนเองและบิดามารดากล่าวเท็จว่ามิได้เกิดใน พ.ศ. 2411 จะต้องถูกลงโทษด้วย; ห้ามมูลนายคิดค่าข้าว ค่าน้ำ กับเด็กชายหญิงที่ติดตามพ่อแม่ พี่น้อง ป้า น้า อาของตนที่ขายตัวเป็นทาส จนกลายเป็นเจ้าหนี้ของเด็กและเอาเด็กเป็นทาสต่อไปด้วย

พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท พ.ศ. 2417 นี้มิได้ใช้บังคับในทุกมณฑล มีบางมณฑลมิได้บังคับใช้ คือมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือหรือมณฑลพายัพ มณฑลตะวันออกหรือมณฑลบูรพา มณฑลไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู เนื่องจากขณะนั้นมณฑลเหล่านี้ยังเป็นประเทศราชอยู่ จึงไม่นับรวมเข้ามาในพระราชอาณาเขตตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้

2.พระบรมราชโองการหมายประกาศลูกทาส ประกาศ ณ วันพฤหัสบดี เดือน 10 แรม 13 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 (8 ตุลาคม พ.ศ. 2417) ให้สลักหลังสารกรมธรรม์ของทาสที่เกิดในปีมะโรงสัมฤทธิศก (พ.ศ. 2411) ตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท โดยให้อำเภอ กำนัน พร้อมกันกับตัวทาส สลักลังสารกรมธรรม์ไว้เป็นแผนกกับให้ระบุลูกทาสซึ่งติดมากับมารดาบิดาโดยชัดเจน ถ้ามีผู้ไปติดต่อที่อำเภอห้ามเรียกเงินค่าตัว

3.พระบรมราชโองการประกาศเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ประกาศ ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1236 (18 ตุลาคม พ.ศ. 2417) บรรดาคนที่เป็นไทอยู่แล้ว หรือทาสที่หลุดพ้นค่าตัวไปแล้ว ต่อไปห้ามมิให้เป็นทาส บรรดาทาสที่มีอยู่ในเวลาออกพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ทาสที่หลบหนี ให้เจ้าเงินลดค่าตัวให้คนละ 4 บาทต่อเดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น