Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นโรดม สีหนุ สิ้นพระชนม์ กับความแข็งแกร่งของรัฐบาลสมเด็จฮุนเซน

โดย ส.ส.ดร.สุนัย  จุลพงศธร
ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ

       
ข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จนโรดม สีหนุ ทำให้คนไทยต้องหวนคิดถึงอดีตความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในกรณีเขาพระวิหารที่มีมานานกว่า 50 ปี และแม้วันนี้ก็ยังมีคนบางกลุ่มพยายามที่จะใช้ความทรงจำที่เจ็บปวดเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่จากเหตุการณ์เขาพระวิหารในอดีตจนถึงเขาพระวิหารปัจจุบันก็บอกความจริงกับเราว่าประชาชนกัมพูชาก็มีสำนึกเช่นเดียวกับคนไทยที่รักในเอกราชแต่สำหรับประชาชนกัมพูชามีความแตกต่างจากไทยที่ได้ผ่านความเจ็บปวดในการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติมากกว่าไทยจึงหล่อหลอมเป็นนโยบายแห่งรัฐส่งผลให้รัฐกัมพูชามีลักษณะเป็นรัฐที่ท้าทายที่ไทยควรต้องศึกษา
                   กัมพูชาเป็นรัฐที่บาดเจ็บมากที่สุดในสงครามการต่อสู้เพื่อเอกราชในกลุ่มประเทศอินโดจีนแต่ความกระหายเอกราชของพี่น้องกัมพูชาช่วงหนึ่งถูกเจือปนด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แบบสุดโต่งของกลุ่มเขมรแดง สงครามปลดปล่อยของชาวกัมพูชาจึงได้สร้างตำนานหฤโหดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้แก่มนุษย์ชาติได้เล่าขานไม่รู้จักจบสิ้นและภายใต้ริ้วรอยบาดแผลแห่งสงครามที่ฉกาจฉกรรจ์นี้ก็ได้ถูกบริหารจัดการโดยชายหนุ่มผู้ห้าวหาญในนาม นายฮุนเซน ยาวนานกว่า 30 ปี ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนสามารถฟื้นชีวิตชาวกัมพูชากว่า 20 ล้านคน จากรัฐที่ไร้ระเบียบกลับเข้าสู่รัฐที่มีระเบียบและทะยานสู่การพัฒนายุคใหม่อย่างท้าทายอย่างเป็นตัวของตัวเองจากอดีตถึงปัจจุบัน ในกรณีปัญหาชายแดนไทย - กัมพูชา เขาพระวิหาร ซึ่งกัมพูชากล้ายืนขึ้นท้าทายกองทัพไทยภายใต้การสั่งการของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่หนุนหลังโดยกลุ่มอำนาจรัฐจารีตนิยมของไทย รวมตลอดถึงการแสดงจุดยืนอย่างโดดเด่นของนโยบายรัฐกัมพูชาต่อกรณีความขัดแย้งระหว่างจีน เวียดนาม ในหมู่เกาะทะเลจีนใต้กัมพูชาก็ได้แสดงออกเป็นตัวของตัวเองในฐานะรัฐเอกราชอย่างท้าทายเวียดนาม,ด้วยประวัติการต่อสู้ที่ห้าวหาญของฮุนเซนจากสามัญชนคนธรรมดาจึงก้าวขึ้นสู่สมเด็จเดโชฮุนเซนครองหัวใจประชาชนกัมพูชา และเป็นมิสเตอร์ฮุนเซนในฐานะผู้นำอาเซียนตามวาระและเป็นผู้นำรัฐอาวุโสสูงสุดของอาเซียน  ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่ไทยต้องจับตาและศึกษาการเคลื่อนตัวของรัฐกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฮุนเซนเป็นอย่างยิ่งต่อเชื่อมจากรัฐกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จนโรดม สีหนุ ในอดีต

 
 
 
ความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลฮุนเซน
                    หากใช้การเมืองไทยเป็นตัวตั้งจะมองเห็นว่าการเมืองกัมพูชามีความมั่นคงอย่างยิ่งแม้สภากัมพูชาจะมีฝ่ายค้านที่มีพฤติกรรมทางการเมืองไม่ต่างจากฝ่ายค้านของไทย แต่เสียง ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและเสียง ส.ว.ฝ่ายค้านในวุฒิสภามีจำนวนน้อยนิดจึงไม่ส่งผลสะเทือนทางการเมืองต่อรัฐบาลของสมเด็จฮุนเซน,แม้โครงสร้างการเมืองเขมรจะเป็นแบบเดียวกับไทยคือ มี 2 สภาเหมือนกัน มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกัน และกัมพูชาก็มีอำนาจนอกระบบที่แสดงตัวเป็นอีแอบเหมือนกับระบอบอำมาตย์ของไทยคือ นโรดม รณฤทธิ์ ที่เป็นเชื้อพระวงศ์และเป็นพี่ชายของพระมหากษัตริย์สีหมุนีแต่ว่ารัฐบาลของสมเด็จฮุนเซนก็บริหารจัดการจนฝ่ายค้านและอำมาตย์เขมรไม่อาจจะแสดงบทบาทเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญแข็งแกร่งอย่างประเทศไทยได้แม้เคยพยายามหลายครั้งที่จะทำรัฐประหารสมเด็จฮุนเซนและเคยลอบสังหารสมเด็จฮุนเซนมาแล้วและล่าสุดการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จนโรดม สีหนุ ซึ่งแม้จะสละราชสมบัติไปก่อนแล้ว แต่พระบารมีของพระองค์ที่ครอบงำความคิดของประชาชนชาวกัมพูชามาอย่างยาวนานตลอดรัชสมัยที่พระองค์ได้ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเอกราชและอธิปไตยของกัมพูชาจึงมีบทบาทในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกัมพูชา ดังนั้นเมื่อสมเด็จนโรดม สีหนุ ต้องเสด็จสู่สวรรคาลัยเช่นนี้ก็ย่อมส่งผลให้พลังของพรรคนโรดม รณฤทธิ์ ในฐานะตัวแทนมือที่มองไม่เห็นต้องถดถอยจนหมดบทบาททางการเมืองและด้วยเหตุนี้การเมืองของกัมพูชาจึงมีความมั่นคงมากขึ้นภายใต้ระบอบรัฐสภาย่อมจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองที่มีอัตราเร่งสูงกว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองของไทย


 
                   จากจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อ 27 กรกฎาคม 2551 พรรคประชาชนกัมพูชาของสมเด็จฮุนเซนก็ครองเสียงข้างมากโดยได้ 90 ที่นั่งจากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 123 ที่นั่งส่วนพรรคอันดับสองคือพรรคสม รังสี ได้ 26 ที่นั่ง ส่วนพรรคนโรดม รณฤทธิ์ ได้ 2 ที่นั่ง,พรรคฟุนซินเปคได้ 2 ที่นั่ง และพรรคสิทธิมนุษยชนได้ 3 ที่นั่ง และเมื่อมาดูผลการเลือกตั้งวุฒิสภาและสภาท้องถิ่นกัมพูชาที่ผ่านมาไม่นานนี้ก็จะยิ่งเห็นชัดถึงเสถียรภาพและความมั่นคง กล่าวคือ พรรคประชาชนกัมพูชาของสมเด็จฮุนเซนได้รับความสนับสนุนจากประชาชนกัมพูชาอย่างท่วมท้น โดยได้รับเลือกร้อยละ 80 ของวุฒิสภาและ ร้อยละ 97 ของสภาท้องถิ่นทั่วประเทศ
                   นอกจากนี้ภาพรวมของพัฒนาการทางการเมืองในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาก็แสดงอย่างเด่นชัดว่าระบอบการเมืองแบบรัฐสภาของกัมพูชามีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นจะเห็นจากการยุบรวมตัวของพรรคการเมืองต่างๆเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งทางการเมืองของแต่ละฝ่ายในระบบรัฐสภากัมพูชามากขึ้น เพื่อเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชาที่จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2556 ได้แก่ (1) การรวมตัวของพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชนได้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคกอบกู้ชาติกัมพูชา หรือ Cambodia National Rescue Party (CNRP) และ (2) การรวมพรรคนโรดม รณฤทธิ์ กับพรรคฟุนซินเปค แต่การรวมพรรคทั้งสองดังกล่าวเป็นผลจากการหมดบารมีของ นโรดม รณฤทธิ์ ในฐานะผู้นำพรรคจึงเกิดความแตกแยกภายในพรรคนโรดม รณฤทธิ์จนส่งผลให้เจ้านโรดม รณฤทธิ์ ลาออกจากตำแหน่งประธานพรรค และประกาศยุติบทบาททางการเมืองเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555
                   ระบอบรัฐสภาของกัมพูชามี 2 สภา คล้ายกับของไทย พรรคประชาชนของสมเด็จฮุนเซนก็ครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งวุฒิสภาเมื่อ 29 มกราคม 2555 จากจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 61 ที่นั่ง พรรคประชาชนกัมพูชาได้รับเลือกจำนวน 46 คน พรรคสม รังสี ได้รับเลือกจำนวน 11 คน และสมเด็จฯเจีย ซิม วุฒิสมาชิกจากพรรคประชาชนกัมพูชาได้รับเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภากัมพูชาเป็นสมัยที่ 3
                   ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลกัมพูชา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2555 กัมพูชาได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลกัมพูชาชุดที่ 3 ผลปรากฏว่า พรรคประชาชนกัมพูชาชนะการเลือกตั้ง 1,592 ตำบลจากจำนวนทั้งสิ้น 1,633 ตำบล (คิดเป็นร้อยละ 97 ) และชนะการเลือกตั้งในทุกจังหวัดโดยจากที่นั่งทั้งหมด 11,459 ที่นั่ง มีพรรคต่างๆได้รับเลือกตั้งดังนี้ พรรคประชาชนกัมพูชา จำนวน 8,283 ที่นั่ง,พรรคสม รังสี จำนวน 2,155 ที่นั่ง,พรรคฟุนซินเปค จำนวน 160 ที่นั่ง,พรรคนโรดม รณฤทธิ์ จำนวน 53 ที่นั่ง และพรรคสิทธิมนุษยชน จำนวน 800 ที่นั่ง


 

ความสัมพันธ์กัมพูชา – เวียดนาม
                   จากความเข้าใจของคนไทยทั่วไปที่เชื่อว่ากัมพูชาเป็นเด็กในโอวาทของเวียดนามนั้น วันนี้คงต้องเปลี่ยนความคิดได้แล้วเพราะมีรูปธรรมสำคัญในขณะนี้ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของ สมเด็จ เดโช ฮุนเซน ได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเด่นชัดคือเหตุการณ์การแก้ปัญหาเขตแดน กัมพูชา เวียดนาม และปัญหาหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ กล่าวคือ

                   1.ต่อปัญหาเขตแดนกัมพูชา – เวียดนาม กัมพูชาและเวียดนามได้เปิดการเจรจากันหลายครั้งและเร่งรัดการกำหนดแนวเส้นเขตแดนและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดทำหลักเขตแดนแล้ว 314 หลัก หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของแนวเขตแดนทั้งสิ้นของกัมพูชา เวียดนาม (ระยะทาง 1,270 กิโลเมตร) และมีแผนที่จะดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จภายในปี 2555
                   รัฐบาลทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำเขตแดนที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงสงครามที่ผ่านมาอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย คือ การคงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด และหากมีบริเวณใดที่พบว่ามีปัญหาการรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของฝ่ายใด อีกฝ่ายก็จะต้องหาพื้นที่ว่างในบริเวณอื่นมาแลกเปลี่ยนแทน
                   อย่างไรก็ดี พรรคฝ่ายค้าน (พรรคสม รังสี) ได้พยายามนำประเด็นเรื่องเขตแดนกัมพูชา เวียดนาม มาใช้โจมตีความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องและพยายามปลุกกระแสชาตินิยมคล้ายกับที่พรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรฯทำให้กรณีเขาพระวิหารว่ากัมพูชาเสียดินแดนให้แก่เวียดนามแล้วซึ่งเป็นประเด็นทางการเมืองที่ไม่อาจมองข้ามได้ เป็นผลให้สมเด็จฯฮุน เซน  ต้องยืนขึ้นชี้แจงต่อสภาแห่งชาติกัมพูชาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 เป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมง โดยกล่าวว่าพรรคฝ่ายค้านพยายามใช้ประโยชน์ทางการเมืองจากเรื่องนี้เพื่อจะก่อวิกฤติทางการเมืองก็ทำให้ประเด็นวิกฤตินี้คลี่คลายลงระดับหนึ่ง

                   แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2555 กัมพูชาส่งเสริมความสัมพันธ์และเข้าใจอันดีกับเวียดนามโดยสมเด็จ นโรดม สีหมุนี  กษัตริย์กัมพูชา เสด็จฯเยือนเวียดนามเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 โดยเป็นการแวะเยือนระหว่างการเดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งการที่ผู้นำระดับสูงสามารถไปมาหาสู่กันได้ตลอดเวลาเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม

                   2.ต่อปัญหาความขัดแย้งจีน – เวียดนาม

                   ปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ระหว่างจีน เวียดนาม ได้เป็นบททดสอบของความเป็นตัวของตัวเองของกัมพูชาอีกรูปธรรมหนึ่งว่ามิได้เป็นเด็กในโอวาทของเวียดนามในนโยบายต่างประเทศ จากการประชุมรัฐสภาอาเซียนหรือ AIPA ที่เกาะลอมบ๊อก ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 16 21 กันยายน ที่ผ่านมานี้โดยสมเด็จฯเดโช ฮุน เซน ในฐานะประธานอาเซียนได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการประชุมและสมเด็จเฮง สัมริน ประธานสภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชาและนายเชียงวุน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานกรรมาธิการการต่างประเทศกัมพูชา ได้แสดงบทบาทที่ขัดแย้งกับเวียดนามต่อกรณีที่เวียดนามจะนำประเด็นเรื่องอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่ขัดแย้งกับจีนอยู่ในขณะนี้เข้าพิจารณาในการประชุมของ AIPA ด้วยหวังจะเอาที่ประชุมของรัฐสภาอาเซียนบีบจีนในฐานะที่จีนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ โดยฝ่ายกัมพูชาได้นำเสนอในที่ประชุมอย่างชัดเจนไม่เห็นด้วยกับเวียดนามในประเด็นนี้ด้วยเหตุผลลึกๆคือผลประโยชน์จากการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการของจีนในกัมพูชาและรัฐบาลของสมเด็จฯเดโช ฮุนเซน ต้องการแสดงบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของเวียดนาม
 



กัมพูชากับนานาชาติ
                   จากบทบาทที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนในปี 2555 กัมพูชาได้ใช้โอกาสนี้สร้างบทบาทในเวทีระดับโลก รวมถึงการเข้าร่วมการประชุม G20 ที่เม็กซิโก ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2555 อย่างไรก็ดีในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 45 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ประชุมฯไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมในเรื่องทะเลจีนใต้ได้ส่งผลให้เห็นถึงจุดยืนของสมเด็จฯฮุน เซน ที่จะไม่นำความขัดแย้งระหว่างจีนและเวียดนามที่เป็นมิตรเข้ามาสร้างความแตกแยกในอาเซียนในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน แต่คาดว่ากัมพูชาจะต้องเผชิญกับปัญหานี้อีกครั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้
                   นอกจากนี้กัมพูชายังได้มีโอกาสจัดพิธีต้อนรับประมุขจากประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่ไม่เคยเยือนกัมพูชามานานกว่า 10 ปีแล้ว คือการเดินทางมาเยือนของประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม    2 เมษายน 2555 โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน ความร่วมมือทางทหาร รวมทั้งได้กำหนดเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2017 ส่วนมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาก็เดินทางไปเยือน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯคือนางฮิลลาลี คลินตัน ได้เดินทางมาเยือนกัมพูชาระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2555
                   นอกจากกัมพูชาได้กระชับความใกล้ชิดกับมหาอำนาจทางการเมืองการทหารอย่างจีนและสหรัฐฯแล้ว กัมพูชายังได้มีโอกาสต้อนรับแขกวีไอพีเชื้อพระวงศ์ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอีกด้วย คือการเสด็จเยือนของมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ แห่งญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนกัมพูชาระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2555 ซึ่งนับว่าฐานะในทางสากลของกัมพูชาวันนี้ได้ปรับระดับขึ้นสู่ความน่าเชื่อถืออย่างยิ่งภายใต้การนำของสมเด็จฯ ฮุน เซน

 
 
 
ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชา
                   ภาพการค้ากัมพูชาครึ่งปีแรกในปีนี้ดีขึ้นแต่ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติยุโรปเช่นเดียวกับทุกประเทศในอาเซียนกล่าวคือในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2555 กัมพูชา มีมูลค่าการค้ารวม 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ) และการนำเข้า 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9) โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และสิ่งทอ และสินค้าที่กัมพูชานำเข้ามากที่สุด คือ ผ้าผืนเพื่อตัดเย็บ และน้ำมันเชื้อเพลิง
                   สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ครองสัดส่วนร้อยละ 84 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด โดยมีสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดสำคัญ ดังนั้น กัมพูชาจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปด้วยซึ่งแม้ว่าในช่วง 6 เดือนแรกจะมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2554 แต่เป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 กว่าร้อยละ 25
                   ด้านการลงทุน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (Cambodian Investment Board -CIB) ได้อนุมัติโครงการลงทุนจำนวน 72 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 168.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชาอนุมัติจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 15 โครงการ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.32 และเงินทุนเพิ่มขึ้น 14.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มร้อยละ 9.6 โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป (40 โครงการ) ,รองเท้า (8 โครงการ),ธุรกิจโรงสี (4 โครงการ),ถุงเท้า (2 โครงการ),อุตสาหกรรมยางพารา (2 โครงการ),อาหารแปรรูป (2 โครงการ),กระเป๋า (2 โครงการ),ถุงมือ (2 โครงการ),โรงแรม (2 โครงการ),จุดให้บริการนักท่องเที่ยว (2 โครงการ),โทรคมนาคม (2 โครงการ),สิ่งทอ ( 1 โครงการ),ปุ๋ย ( 1 โครงการ),อุตสาหกรรมการเกษตร (1 โครงการ) และอุตสาหกรรมอื่นๆ     (2 โครงการ) โดยประเทศที่ได้รับอนุมัติโครงการลงทุนมากที่สุดตามจำนวนโครงการคือ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง ไทย และอังกฤษ ตามลำดับ และหากพิจารณาตามมูลค่าการลงทุนก็อยู่ในลำดับเดียวกัน คือ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ตามลำดับ

 

ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา

                    ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในภาพรวมมีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มาเป็นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  แน่นอนที่สุดคนไทยและชาวโลกได้รับรู้ถึงความแนบแน่นในความสัมพันธ์ภาคประชาชนของสองประเทศในงานสงการนต์ประวัติศาสตร์ที่เป็นครั้งแรกของโลกที่คนชาติหนึ่งเดินทางไปร่วมงานประเพณีเดียวกันกับคนอีกชาติหนึ่งเป็นจำนวนกว่า 50,000 คน โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนับว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลก ภาพลักษณ์ความสัมพันธ์ไทย กัมพูชา ภาคประชาชนจึงยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปในทางที่ดีและหากจะพิจารณาถึงภาคความสัมพันธ์ในระดับผู้นำก็จะเห็นว่าไทย - กัมพูชาได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำระดับสูงและหารือร่วมกันในระดับต่างๆ อาทิ การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีกัมพูชาระหว่างการร่วมประชุม US-ASEAN Business Forum ที่จังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 การเดินทางเยือนจังหวัดจันทบุรีของนายซอร์ เค็ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนกัมพูชา เพื่อร่วมกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์และกีฬากอล์ฟกระชับมิตรกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายไทย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2555

                   ไทย-กัมพูชา ต่างก็ผลัดกันเป็นเจ้าภาพการประชุมทวิภาคีที่สำคัญๆ(ซึ่งหยุดชะงักไปในช่วงที่เกิดความระหองระแหงระหว่างกันในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์) เช่น การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2555 ,การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 4 ที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2555 ,การประชุมคณะกรรมาธิการการค้าร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 เป็นต้น

                   การเปิดจุดผ่านแดนถาวรและยกระดับจุดผ่านแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา นับเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้ทั้งสองฝ่ายให้การรับรองผลการสำรวจภูมิประเทศร่วมบริเวณที่จะเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว  บ้านสตึงบท จังหวัดบันเตียเมียนเจยแล้ว และในการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ฝ่ายไทยกำลังพิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้างสถานที่ตั้งด่านและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในเขตไทยต่อไป ตลอดจนมีแผนที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาในการพัฒนาเส้นทางถนนเชื่อมต่อจากจุดผ่านแดนถาวรไปยังทางหลวงหมายเลข 5 ของกัมพูชา และสะพานรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดปอยเปตด้วย นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกันว่าการยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นจุดผ่านแดนเพิ่มเติมบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จะช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุน รวมทั้ง การไปมาหาสู่ของประชาชนระหว่างกันเช่นที่จุดผ่อนปรนการค้าที่ช่องอานม้า จังหวัดอุบลราชธานีกับบ้านสะเตียลกวาง อำเภอจอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร เป็นต้น

                   สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นแผลเรื้อรังของไทยและกัมพูชานั้นก็มีพัฒนาการในทางบวก โดยทั้งสองฝ่ายสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Working Group - JWG) ครั้งที่ 1 (เมษายน 2555 ที่กรุงเทพฯ) และครั้งที่ 2 (มิถุนายน 2555 ที่กรุงพนมเปญ) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดร่วมกันในพื้นที่เขตปลอดทหารชั่วคราวให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการถอนกำลังทหาร ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของคณะผู้สังเกตการณ์ร่วมไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป นอกจากนี้ ในระหว่างการพบหารือของนายกรัฐมนตรีไทยกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 ที่จังหวัดเสียมราฐ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการปรับกำลังพร้อมกันบนพื้นฐานความสมัครใจเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกทำให้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ไทยและกัมพูชาจึงได้จัดพิธีปรับกำลังทหารในพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียง โดยจัดตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนเพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยเบื้องต้นของศาลโลก



                   ด้านการค้า ในช่วงเดือนมกราคม มิถุนายน 2555 การค้าระหว่างไทย กัมพูชา ภาพรวมดีขึ้นโดยมีมูลค่าการค้ารวมไทย กัมพูชาเท่ากับ 64,453.72 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.50) โดยไทยส่งออก 60,265.32 ล้านบาท และนำเข้าจากกัมพูชา 4,188.40 ล้านบาท ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 56,076.92 ล้านบาท

                   สินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชาที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปน้ำตาลทราย อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ปูนซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าจากกัมพูชาที่สำคัญ ได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์โลหะ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาสูบ

                   การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 39,325.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 เช่นกัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.15) โดยส่วนใหญ่ผ่านด่านจังหวัดสระแก้วและจังหวัดตราด

                   นอกจากการแลกเปลี่ยนการค้าระหว่างกันที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว พัฒนาการเชิงบวกที่สำคัญในด้านการค้า คือ การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-กัมพูชา (Joint Trade Committee – JTC) ครั้งที่ 3 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย และนายจอม ประสิทธิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเป็นประธานร่วม โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นหลังจากเว้นว่างมาเป็นเวลากว่า   6 ปี ในช่วงของการรัฐประหารและภาวะความไม่สงบของไทย (ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ที่จังหวัดเสียมราฐ)

                   อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2554 ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างสองประเทศ คือ ปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรจากกัมพูชามาประเทศไทยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว อาทิ มันสำปะหลังและข้าวโพด แต่ทั้งสองฝ่ายได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยได้มีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับต่างๆรวมทั้งในการประชุม JTC ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 3 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตจัดสรรสินค้าเกษตรพิเศษ (Special Agriculture Inland Port) บริเวณจังหวัดชายแดนไทยและกัมพูชา สำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากกัมพูชาเก็บพักไว้แปรรูปก่อนส่งออกไปยังประเทศที่สามต่อไป



 
                   ด้านการลงทุน ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 มีนักลงทุนไทยที่ได้รับอนุมัติโครงการลงทุนในกัมพูชา รวมทั้งสิน 4 ราย ดังนี้ (1) บริษัท Crystal Rice (Kampuchea) Co.,Ltd.ประกอบธุรกิจโรงสีข้าวขนาดใหญ่ พร้อมท่าเรือและระบบขนส่งแบบครบวงจรที่จังหวัดกัมปอต โดยเป็นการลงทุนของบริษัท Asia Golden Rice ของไทยกับนักลงทุนกัมพูชา (2) โรงสีข้าว Rice Mill Complex Co.,Ltd. เป็นการร่วมลงทุนระหว่างไทยกับจีน (3) โรงงานทำรองเท้า Aero soft Summit Footwear Ltd. เป็นการลงทุนระหว่างไทยกับกัมพูชา และ (4) โรงงานผลิตเสื้อผ้า Trax Apparel (Cambodia) Co.,Ltd. ของนักลงทุนไทย

                   ด้านการท่องเที่ยว บรรยากาศความสัมพันธ์ ไทย กัมพูชา ที่ดีขึ้นทำให้มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในกัมพูชามากขึ้น โดยในช่วงเดือนมกราคม พฤษภาคม 2555 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปกัมพูชา 78,156 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.8 (ยอดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นผลจากงานสงกรานต์เสื้อแดงดำหัว พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เสียมราฐ) ทำให้ไทยขยับจากอันดับที่ 8 ขึ้นเป็นอันดับที่ 5 รองจากนักท่องเที่ยวเวียดนาม เกาหลีใต้ จีน และลาว สำหรับนักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางมาไทยนั้น ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2555 มีจำนวน 196,282 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวของปี 2554 ร้อยละ 63.63 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551

 
บทสรุป

                   ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเป็นผลมาจาการมีเสถียรภาพของรัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฮุนเซนที่เดินแนวทางนโยบายอย่างถูกต้องและท้าทายและอาศัยความเก๋าเกมส์เฉพาะตัวในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบรัฐสภาที่ยาวนานที่สุดในอาเซียน จึงยิ่งส่งผลให้กัมพูชากลายเป็นรัฐที่โดดเด่นที่สุดในอาเซียนและจากบาดแผลความไม่สงบหลายครั้งในกัมพูชาที่มุ่งหมายจะทำรัฐประหารสมเด็จฮุนเซนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทางการไทยในอดีตได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะการลอบสังหารสมเด็จฮุนเซนโดยคนใกล้ชิดกับนายสม รังสี ที่เคยหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จึงทำให้เราเข้าใจบทบาทที่ท้าทายของรัฐบาลสมเด็จฮุนเซนมากยิ่งขึ้น และนับจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จนโรดม สีหนุ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกัมพูชาประกอบกับการแสดงบทบาททางการเมืองของสมเด็จเดโช ฮุนเซน ในการจัดงานส่งสวรรคาลัยให้แก่สมเด็จนโรดม สีหนุ อย่างสมพระเกียรติ์ก็ยิ่งได้รับพลังจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำให้ฐานะทางการเมืองของสมเด็จเดโช ฮุนเซน ที่มั่นคงอยู่เดิมแล้วยิ่งมั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งก็จะยิ่งส่งผลให้สมเด็จเดโช ฮุนเซน แสดงบทบาทในเวทีอาเซียนและในเวทีโลกได้อย่างโดดเด่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องจับตาและให้ความสำคัญแก่รัฐกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จเดโช ฮุนเซน

 



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น