Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แพะชุดดำ

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 382 วันที่ 20-26 พ.ศ. 2555 หน้า 18-19 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



“ถ้าวันนั้น ปีนั้นไม่มีชายชุดดำ ไม่ว่าตำรวจ ไม่ว่าทหาร ไม่ว่าประชาชนคนธรรมดา หรือคนเสื้อแดง จะไม่มีใครเสียชีวิตเลยครับพี่น้องครับ”


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยบนเวทีประชาชน “เดินหน้าผ่าความจริง ใครบงการมัจจุราชชุด ดำ รับจ้างฆ่าประเทศไทย” ที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 เพื่อยืนยันว่า “ชายชุดดำ” มีอยู่จริงในช่วงปี 2553 โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม

นายอภิสิทธิ์ระบุว่า หากการชุมนุมปี 2553 สงบ และปราศจากอาวุธ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้าถูก สลายโดยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รอง นายกรัฐมนตรี หรือใครสั่งให้เข้าไปสลายการชุมนุม เข่นฆ่าประชาชน นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ก็สมควรถูกประหารชีวิต แต่นั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ส่วนวาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระ ชับวงล้อม” ไม่ใช่คำสั่งให้สลายการชุมนุม โดยวันที่ 10 เมษายนเป็นการ “ขอคืนพื้นที่” เพื่อเปิดการจราจรให้คนกรุงเทพฯกับคนฝั่งธนฯใช้สะพานพระราม 8 และสะพานพระปิ่นเกล้าได้ วันที่ 14-18 พฤษภาคมตั้งด่านเพื่อ “ปิดล้อมกดดัน” ให้การชุมนุมยุติไปเอง แต่เกิดการตอบ โต้จึงเกิดการสูญเสียขึ้น เพราะที่บ่อนไก่ ราชปรารภ ดินแดง หรือที่ใดก็ตาม ไม่ใช่จุดที่มีการสลายการชุมนุม ส่วนวันที่ 19 พฤษภาคมที่ต้อง “กระชับวงล้อม” เข้ามาที่สวนลุมฯเพราะมีการซ่องสุมอาวุธ และทำให้ประชาชนคนบริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก น้ำตาผู้สั่งการ

ขณะที่นายสุเทพกล่าวปราศรัยพร้อมน้ำตาว่า “จะยืนหยัดเคียงข้างเจ้าหน้าที่ทหารที่ตกเป็นจำเลยทุกคน ขอให้พี่น้องทหารไม่ว่าจะเป็นพลทหาร เป็นนายสิบ เป็นจ่า เป็นนายร้อย เป็นนายพัน ที่กำลังจะถูกคุณธาริต เพ็งดิษฐ์ และคุณประเวศน์ มูลประมุข สอบสวน มั่นใจได้ครับว่าผมจะเรี่ยไรเงินจ้างทนายที่ดีที่สุดในประเทศนี้สู้คดีให้ทุกคน จะไม่มีวันทอดทิ้งให้เพื่อนทหารผู้เสียสละเหล่านั้นต้องว้าเหว่ในการต่อสู้เป็นอันขาด และผมประกาศยืนยันมาตลอดเวลาว่าที่บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเหล่านั้นออกมาปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาบ้านเมืองนั้น ผมเป็นคนสั่งเองทั้งสิ้น และเป็นการสั่งการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะรองนายกรัฐ มนตรีฝ่ายความมั่นคงที่มีกฎหมายรองรับ”

การปราศรัยของนายสุเทพจึงไม่แปลกที่พยายามพูดถึงการเสียชีวิตของทหารจำนวน 8 นาย โดยเฉพาะ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนว่า เกิดจาก “ชายชุดดำ” ที่ติดอาวุธระดมยิงและขว้างระเบิดสังหารใส่ที่บริเวณข้างโรงเรียนสตรีวิทย์ โดยไม่พูดถึงประชาชนที่ถูกยิงตายอีกกว่า 80 ศพเลยว่าใครฆ่าและใครต้องรับผิดชอบ

เหมือนรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ให้ความสำคัญกับ “ชายชุดดำ” ค่อนข้างละเอียดกว่าการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการตรวจสอบรายละเอียดคำสั่งและการใช้อำนาจของ ศอฉ. ว่าเป็นลักษณะ “อาชญากรรมโดยรัฐ” เหมือนกรณี 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬหรือไม่ สำนึกทางการเมือง

การปราศรัยของนายอภิสิทธิ์ที่ยืนยันให้ “ชายชุดดำ” เป็นต้นเหตุความรุนแรงทั้งหมดในเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต จึงสะท้อนให้เห็น “จริยธรรม” หรือ “สำนึก” ความเป็นนักการเมืองและ “ผู้นำ” ของนายอภิสิทธิ์ได้อย่างดีว่าเป็นนักการเมืองที่น่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ครั้งที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้อภิปรายเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มี “สำนึกความรับผิดชอบทางการเมือง” กรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่ว่า

“จะมีประชาชนจาก 1 คน หรือแสนคนลุก ขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ทบทวนตัวเอง หรือพิจารณาตัวเอง ไม่ได้ขัดกับหลักประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีข้อสงสัยว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนั้นอาจจะแค่บกพร่อง ผิดพลาด ถ้าร้ายแรงกว่านั้นคือละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของประชาชน หรือเลวร้ายอีกเรื่องหนึ่งคือการทุจริตคอร์รัปชัน จริงครับ ปัญหาเหล่านี้มีกระบวนการทางกฎหมาย แต่ท่านดูเถอะครับ ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่เขาไม่รอให้กฎหมายจัดการครับ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าสำนึกหรือความรับผิดชอบของนักการเมืองที่เขาบอกว่ามันต้องสูงกว่าคนธรรมดา มีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งยกตัวอย่างกรณีของเกาหลี นั่นแค่คิดนโยบายนะครับว่าต้องเปิดการค้าเสรี เอาเนื้อวัวจากอีกประเทศหนึ่งเข้ามา คนลุกฮือขึ้นมาเป็นแสน เขาลาออกทั้งคณะ ผมว่าอายุรัฐบาลเขาสั้นกว่ารัฐบาลนี้ตอนที่เขาตัดสินใจอย่างนั้น ใครที่เคยอยู่ในประเทศประชาธิปไตยในยุโรป ในสหรัฐจะทราบ อย่าว่าแต่รัฐมนตรีเลยครับ ส.ส. ส.ว. บางทีมีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว ลาออกครับ”

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังอภิปรายรัฐบาลนาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯที่ปิดล้อมบริเวณหน้ารัฐสภาจนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บกว่า 300 คนว่า

“ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชนถูกทำร้ายจากภาครัฐแล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่มี” อาชญากรรมโดยรัฐ

การเรียกร้องให้นายสมัครและนายสมชายมีสำนึกความรับผิดชอบทางการเมืองหรือจริย ธรรมทางการเมืองจึงย้อนกลับมาถามนายอภิสิทธิ์เช่นกันว่ามีสำนึกความรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ เพราะเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตมีคนตายถึง 98 ศพ ไม่ใช่แค่คนสองคน นายอภิสิทธิ์ก็ไม่มีแม้แต่คำ “ขอโทษ” และโยนบาปทั้งหมดให้ “ชายชุดดำ” แต่จนวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใครและจับไม่ได้แม้แต่คนเดียว อีกทั้งในขณะที่นายอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในมือก็มีแต่วาทกรรม “ชายชุดดำ” ที่ไม่ต่างกับการโฆษณาชวนเชื่อ

แม้แต่รายงานของ คอป. ที่นายอภิสิทธิ์เอามาเป็นใช้เป็น “ยันต์กันผี” ก็ระบุว่า “ชายชุดดำ” ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนตาย 10 คน แต่ประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสงบกว่า 80 คนที่เสียชีวิตก็มีหลักฐานชี้ว่าน่าจะเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็น “อาชญากรรมโดยรัฐ” เหมือน เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ความจริงฉบับวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่มี “ชายชุดดำ” แต่ “ชายชุดดำ” จะเป็น “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “ชายชุดลายพราง” ที่ใช้ปืนซุ่มยิงนกยิงใส่ผู้ชุมนุมนั้นก็ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาความจริงของ คอป. หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะคลิปภาพ “ชายชุดดำ” ที่ปรากฏนั้น มีทั้งที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่และกลุ่มคนเสื้อแดง ขณะเดียวกันก็มีคลิป “ทหารใส่ชุดพลเรือนถือปืน” ซึ่ง ศอฉ. อ้างว่าเป็นชุดยิงคุ้มครองเพื่อนำคนเจ็บออกจากพื้นที่


รายงานของ คอป. ที่เน้นไปที่ “ชายชุดดำ” จึงไม่ใช่ “ความจริงทั้งหมด” และ “ความจริงที่สุด” เพราะรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ที่ทำงานคู่ขนาน แต่มีงบประมาณและอำนาจน้อยกว่า กลับทำรายงานได้ละเอียดกว่า และสรุปการสลายการชุมนุมครั้งนี้ว่า “อำพราง อัปลักษณ์ และอำมหิต”

โดยเฉพาะการเสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่และประ ชาชนจำนวน 94 คน ซึ่งระบุชัดเจนว่า ประชา ชนจำนวน 88 คน ถูกยิงที่ศีรษะถึง 32 คน ในจำนวนนี้เป็นอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพและพยาบาล 6 คน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 คน ทั้งยังระบุการเบิกกระสุนของกองทัพจำนวน 597,500 นัด แต่ส่งคืน 479,577 นัด เท่ากับใช้กระสุนในการปราบปรามไป 117,923 นัด มีการจับกุมประชาชนดำเนินคดีทั่วประเทศ 1,857 คน

นอกจากนี้ยังมีรายงานของ “คณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง” วุฒิสภา ซึ่งนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน ได้สรุป “ข้อเท็จจริง” จำนวน 44 หน้า จากการศึกษาเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ว่าการใช้กำลัง 7 ขั้นตอนของ ศอฉ. ในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้รับการฝึกฝนตามขั้นตอนมาก่อน ประกอบกับเครื่องมือที่ใช้ในแต่ละขั้นตอนมีไม่เพียงพอ และไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วนการประกาศใช้ “เขตการใช้กระสุนจริง” บริเวณถนนราชปรารภถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสากลอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะมีข้ออ้างหรือเงื่อนไขใด รัฐบาลก็ไม่สามารถประกาศเขตการใช้กระสุนจริงได้

รายงานของวุฒิสภายังระบุว่า การตั้งคณะกรรม การหลายคณะเพื่อค้นหา “ความจริง” ที่เกิดขึ้นยังไม่มีความจริงที่ชัดเจน เพราะเหตุการณ์มีหลายมิติ โดยเฉพาะ “ชายชุดดำ” เป็นใคร ใครเป็นผู้ลอบวางเพลิงอาคารต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือในกระบวนการค้นหาความจริงของฝ่ายต่างๆ ไม่ยอมเปิดเผยความจริงหรือเปิดเผยเพียงบางส่วน จึงทำให้มีการกล่าวโทษของฝ่ายต่างๆมาจนทุกวันนี้ โดยรายงานของวุฒิสภาสรุปว่า

“เงื่อนไขที่เป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่การค้นหาความจริงได้ คณะกรรมการหรือผู้ที่ทำหน้าที่สอบสวนหาความจริงต้องมีความเป็น “อิสระ” อย่างแท้จริง และเมื่อความจริงปรากฏ ผู้สั่งการ ผู้กระทำผิด ต้องยินยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และยอมรับการลงโทษ” โศกนาฏกรรมอำมหิต

การปราศรัยและจัดนิทรรศการ “เดินหน้าผ่าความจริง ใครบงการมัจจุราชชุดดำ รับจ้างฆ่า ประเทศไทย” ของพรรคประชาธิปัตย์ และวาทกรรมที่พยายามทำให้ “ชายชุดดำ” เป็นต้นเหตุของความรุนแรงทั้งหมด เหมือนการจัดฉากให้เป็น “แพะชุดดำ” แทนที่จะค้นหาความจริงว่า “ใครคือผู้สั่งการ” และ “ผู้กระทำผิด” ซึ่งไม่ต่าง กับการ “ขุดเอาคนตายมาฆ่าซ้ำแล้วซ้ำอีก” เป็น “โศกนาฏกรรมอำมหิต” ที่ไร้ยางอายอย่างยิ่ง

อย่างที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการ “สายล่อฟ้า” โพสต์ข้อความพร้อมรูปผ่านเฟซบุ๊คว่า ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์และแลกเปลี่ยนข้อมูลในบอร์ดเสรีไทยและราชดำเนิน เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงกรณี 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม จนสรุปได้ชัดเจนเรื่องวิถีกระสุน โดยเฉพาะจากผลการชัน สูตร “น้องเกด” น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา “มีลักษณะทิศทางจากล่างขึ้นบน” ทำให้คนที่ปลิดชีวิตน้องเกดต้องอยู่ในแนวระนาบเดียวกับผู้ตาย ไม่ใช่ยิงจากสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งนายศิริโชคเปรียบว่าเหมือนทั้ง 6 ศพยืนตรงเคารพธงชาติให้ถูกยิง ทั้งที่ทุกคนพยายามหนีหัวซุกหัวซุนหาที่กำบังเพื่อหนีตาย หากวิถีกระสุนเป็นไปตามที่นายศิริโชคอ้าง ยิ่งเป็นการฆ่าที่โหดร้ายอำมหิต

นอกจากนี้นายศิริโชคยังระบุว่า ขณะที่ “น้องเกด” โดนยิงไม่ได้ใส่เอี๊ยมกาชาด แต่มีการเอาเอี๊ยมกาชาดมาวางบนศพหลังจากเสียชีวิต เป็นการจัดฉากและมีคนหากินกับความตาย ทั้งยังท้านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ให้ดีเบตกับตนผ่านฟรีทีวี.ช่องไหนก็ได้แบบ 2 ต่อ 1 เพื่อพิสูจน์ว่า “ชายชุดดำ” มีจริง ไม่ต้องให้นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพดีเบตตามที่นายณัฐวุฒิออกมาท้า

ข้อความของนายศิริโชคจึงยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ใครที่กำลังเอา “คนตาย” มาหากิน ทั้งที่มีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอประจานไปทั่วโลกว่าใครสั่งการ และใครฆ่าประชาชน

“แพะชุดดำ” จึงเหมือนการดิ้นเฮือกสุดท้าย ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อปกป้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะผู้รับผิดชอบ คดี 98 ศพ ระบุว่า มีแนวโน้มสูงที่อาจต้องพิจาร ณาดำเนินคดีในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา 289 และมาตรา 59 กับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ หลังจากที่ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งว่า การตายของนาย พัน คำกอง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตในคืนวันที่ 14 ต่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 บริเวณแอร์พอร์ตลิ้งค์ราชปรารภเสียชีวิตจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ทหาร

การ “เดินหน้าผ่าความจริง ใครบงการมัจจุราช ชุดดำ รับจ้างฆ่าประเทศไทย” ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงอาจไม่ใช่แค่การจัดฉาก “แพะชุดดำ” แต่อาจเป็นการยั่วยุให้คนเสื้อแดงออกมาตอบโต้จนเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองและเกิดสุญญากาศ ทางการเมือง เป็นเงื่อนไขให้กองทัพใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งไม่ใช่แค่วงจรอุบาทว์ที่จะกลับมาอีกครั้งเท่านั้น แต่ยังทำให้ “ผู้นำมือเปื้อนเลือด” กลายเป็น “คนบริสุทธิ์” และกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

“แพะชุดดำ” จึงเป็น “โศกนาฏกรรมอำมหิต” ที่ไร้ยางอาย เหมือนใช้ “สไนเปอร์” ทั้งกองทัพยิงเป้าประชาชนที่อยู่ในวงล้อมกลางกรุงเทพฯ ดุจยิงนกในกรง ที่ไม่มีทางหนีไปไหนได้!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น