Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนกรุงเทพไม่เปลี่ยน?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 380 วันที่ 6-12 ตุลาคม พ.ศ. 2555 หน้า 18-19 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


ปี 2529 สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฝนตกอย่างหนักจนเกิดน้ำท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ของฝั่งกรุงเทพฯและธนบุรี โดย พล.ต.จำลองให้สัมภาษณ์ว่าเนื่องจากฝนตกหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี

“ฝนพันปี” ที่ พล.ต.จำลองให้สัมภาษณ์ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะเมื่อ 1,000 ปีก่อนไม่รู้ว่าพื้นที่กรุงเทพฯมีสภาพเป็นอย่างไร ทั้งกรุงสุโขทัยซึ่งถือเป็นราชธานีเก่าแก่ของราชอาณาจักรไทยก็มีอายุแค่ 700 กว่าปีเท่านั้น ที่สำคัญเมื่อ 1,000 ปีที่แล้วยังไม่มีใครประดิษฐ์เครื่องวัดน้ำฝน หรือมีกรมอุตุนิยมวิทยามาเก็บบันทึกข้อมูล

ขณะที่ พล.ต.จำลองให้สัมภาษณ์ว่า “ฝนพันปี” ทำให้ กทม. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ถ้าหากรัฐบาลห้ามฝนได้ หรือฝนไม่ตกหนักที่สุดในรอบพันปี ปัญหาน้ำท่วมก็จะไม่เกิดขึ้น แต่คำแก้ตัวของ พล.ต.จำลองก็ไม่มีใครต่อว่า ไม่ว่าจะเป็นเพราะคนกรุงเทพในขณะนั้นถือเป็นเรื่องของธรรมชาติที่นานๆจะเกิดสักครั้ง หรือยอมรับการทำงานของ พล.ต.จำลองก็ตาม

ฝนยุคหม่อมหมู

ตรงข้ามกับปัจจุบันที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. ฝนตกต่อเนื่องไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็ท่วมถนนทั่ว กทม. กว่าจะระบายน้ำได้ต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง หรือครึ่งค่อนวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนหนาแน่นใจกลางเมือง และทางแยกถนนสายต่างๆ ทั้งที่ กทม. ใช้งบประมาณนับพันล้านบาทสร้างระบบระบายน้ำที่ทันสมัย โดยเฉพาะอุโมงค์ยักษ์ที่ยืนยันว่าระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้จะมีข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าปริมาณฝนที่ตกใน กทม. ปีนี้มากกว่าปรกติ เฉพาะ 10 วันสุดท้ายก่อนสิ้นเดือนกันยายน ปริมาณฝนที่ตกลงมารวมแล้วถึง 600 มิลลิเมตร และตกแทบทุกวัน แทบทุกพื้นที่ แต่ก็เป็นแค่ฝนที่ตกหนักกว่าปรกติและไม่ได้มากเหมือนสมัย พล.ต.จำลอง ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์แค่ฝนตกธรรมดายังแก้ปัญหาแบบทุลักทุเล ถ้าเป็นฝนที่เกิดจากพายุหรือมรสุมกระหน่ำก็ไม่รู้เหมือนกันว่า กทม. จะเกิดน้ำท่วมหนักมากแค่ไหน

แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยืนยันว่าที่ผ่านมาแทบไม่มีน้ำท่วมขังบนถนนสายหลักเป็นเวลานาน ผิดกับหลายปีก่อน แต่ที่เกิดปัญหาเนื่องจากฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเกือบทุกครั้ง กทม. ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำ แต่ไม่เกิน 2-4 ชั่วโมง แล้วแต่จุด จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ เพราะ กทม. ทำงานอย่างหนัก และอย่านำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยังกล่าวถึงกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่า กทม. จะได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่นในช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคม ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักเกินกว่า 90 มิลลิเมตรว่า กทม. พร้อมทำงานอย่างเต็มที่ แต่ต้องขอเวลาระบายน้ำ 1-3 ชั่วโมง เนื่องจากมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กว่า 200 จุด ส่วนพื้นที่ร้อยละ 50 สามารถระบายน้ำให้แห้งได้ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งเดือนกันยายนที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนมากถึง 850 มิลลิเมตร มากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยฝนตลอดทั้งปี

“สำนักการระบายน้ำรายงานว่าสถิติฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯเพียงเดือนกันยายนนี้มีปริมาณสูงสุดในรอบ 50 ปี ซึ่งต้องใช้เวลาในการระบายน้ำจริงๆ แต่ก็ไม่ถึงกับข้ามคืน จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจ” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว

ฝนร้อยปีของ กทม.

แต่นายสัญญา ชีนิมิตร ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กลับระบุว่าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกใน กทม. เดือนกันยายนเมื่อเทียบกับผลงานวิจัยของกรมอุตุนิยมวิทยาถือว่าสูงสุดในรอบ 100 ปี คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำฝนสะสม 721 มิลลิเมตร โดยปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2555 อยู่ที่ 1,575.5 มิลลิเมตร ขณะที่ กทม. มีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝนปีละ 1,500 มิลลิเมตร เพราะฝนตกหนักจริงๆ ส่วนขีดความสามารถในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาของสถานีสูบน้ำที่ติดตั้งริมแม่น้ำรวม 1,032 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบ่งเป็นฝั่งพระนคร 695 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และฝั่งธนบุรี 337 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อุตุฯอัด กทม. มั่วฝนร้อยปี

ขณะที่นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงกรณีที่ กทม. ระบุว่าปริมาณฝนที่ตกในเดือนกันยายนเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 100 ปีนั้น ไม่ทราบว่าใช้ฐานข้อมูลไหนวัด เพราะข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาวันที่ 25 กันยายน วัดปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งเดือนได้แค่ 340.7 มิลลิเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่ภายในวันเดียวฝนจะตกมากจนขยับไปที่ 721 มิลลิเมตรตามที่ กทม. อ้าง

นอกจากนี้สถิติของกรมอุตุนิยมวิทยาเองมีฐานข้อมูลเปรียบเทียบปริมาณฝน 30 ปี และ 50 ปีเท่านั้น ไม่มีข้อมูลฐาน 100 ปี โดยปีที่ฝนตกใน กทม. มากที่สุดคือ เดือนกันยายน 2515 วัดได้ 676.3 มิลลิเมตร ทั้งเกณฑ์การวัดน้ำฝนของกรมอุตุฯวัดเป็น 24 ชั่วโมง ไม่ได้วัดเป็นรายชั่วโมง แต่รายงานปริมาณฝนใน กทม. ระบุว่าตก 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หมายความว่าตลอดทั้งวันฝนตกมากถึง 1,400 มิลลิเมตร เท่ากับอัตราเฉลี่ยของฝนตกทั้งปี

กทม. ยันมีข้อมูล 100 ปี

อย่างไรก็ตาม นายสัญญาได้ตอบโต้กรมอุตุฯว่า กทม. มีศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมที่ศาลาว่าการ กทม. 2 ซึ่งมีระบบการเก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม. พร้อมรายงานเหตุการณ์ได้ในเวลาจริง (เรียลไทม์) ส่วนปริมาณน้ำฝนสะสมในเดือนกันยายนวัดได้สูงถึง 825.5 มิลลิเมตรจริง และปริมาณน้ำฝนที่ระบุว่าสูงสุดในรอบ 100 ปีก็มีข้อมูลรายละเอียดอยู่แล้ว

นายสัญญากล่าวถึงกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ตำหนิ กทม. ว่าระบายน้ำช้า ฝนตกเมื่อใดน้ำจะท่วมขังถนนทุกครั้งว่า ไม่สนใจกระแส แต่ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ตามแผนและระบบการระบายน้ำใน กทม. เพื่อให้คน กทม. ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ส่วนกรณีท่อระบายน้ำอุดตันและกรมราชทัณฑ์ขุดลอกพบถุงทรายนับร้อยลูกในท่อระบายน้ำที่เขตมีนบุรีนั้น นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษก กทม. กล่าวว่า หากพบจริงควรแจ้งให้เขตท้องที่ทราบจะได้แก้ไข กทม. ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่มีถุงทรายอยู่ในท่อ แต่ขอความเป็นธรรมให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานทั้งวันทั้งคืนแต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการทำงาน

โยน “เพื่อไทย” ยัดถุงทรายใส่ท่อ

ขณะที่นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาปกป้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยยืนยันว่ากรมราชทัณฑ์มีหนังสือถึงปลัด กทม. ว่าดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำระยะทางกว่า 3,900 กิโลเมตร เสร็จตั้งแต่วันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ดังนั้น ถุงทรายและก้อนหินที่พบในท่อระบายน้ำแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลเพื่อไทยและหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งใจเล่นเกมการเมือง

“ผมเชื่อว่าข้าราชการจำนวนไม่น้อยลำบากใจกับเกมการเมืองเกมนี้ เพราะไหนจะต้องระวังสภาวะที่เกิดน้ำท่วม แล้วยังต้องมาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจากขบวนการที่สอดรับกับการทำเรื่องน้ำท่วมให้เป็นเรื่องการเมือง เป็นการแก้ปัญหาที่เคยบอกว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ จึงต้องการโยนความผิดให้ กทม.” นายณัฎฐ์กล่าว

คนกรุงเทพ...ไม่เปลี่ยน

ฝนที่กระหน่ำ กทม. จึงเหมือนกระหน่ำลงที่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะ กทม. ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังคงมีบทบาททางการเมืองในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านได้ต่อไป แม้จะไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยในระยะหลังได้เลยก็ตาม

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงต้นปี 2556 จึงมีความสำคัญอย่างมากกับพรรคประชาธิปัตย์ และการทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีผลอย่างมากกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังใน กทม. ซึ่งถูกโจมตีมาตลอด โอกาสที่คนกรุงเทพจะไม่เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็มีมาก แม้แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์เองยังเห็นว่าควรส่งคนอื่นลงแทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งระยะหลังมีความเห็นขัดแย้งกับกรรมการบริหารพรรคบ่อยครั้ง จึงไม่แปลกที่จะมีชื่อของนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค เพราะคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สมัครในนามอิสระ หรือพรรคเพื่อไทยที่มีชื่อของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แม้แต่รุ่นใหญ่อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ล้วนมีผลงานและมีโอกาสชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ทุกคน

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่าจะชิงพื้นที่ กทม. คืนให้ได้หลังจากสูญเสีย ส.ส. และ ส.ก. ให้พรรคประชาธิปัตย์ไปไม่น้อย จึงต้องส่งคนที่สด ใหม่ และมีผลงานเข้าตาคนกรุงเทพมากที่สุด

ดังนั้น โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จึงมีไม่น้อย แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ยืนยันว่าตามธรรมเนียมของพรรคประชาธิปัตย์ต้องส่งตนลงแข่งขันต่อ เพราะไม่ได้ทำอะไรเสียหาย อีกทั้งก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมจะลงสมัครในนามอิสระหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่ง แม้ต่อมาจะปฏิเสธก็ตาม แต่ก็ตอกย้ำถึงปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน

ในขณะที่ป้ายโฆษณาขนาดยักษ์หรือบิลบอร์ด ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองหลวงกรุงเทพมหา นคร โดยมีข้อความว่า “คนกรุงเทพ รักในหลวง ไม่เปลี่ยน” โดยใต้คำว่า “ไม่เปลี่ยน” มีรูปคุณชาย หมูหรือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ที่กำลังจะครบวาระในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมกับภาพดารา นักร้อง นักกีฬา ได้สร้างกระแสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความเหมาะสม “บังควรมิบังควร”?

หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงใช้คำว่า “คนกรุงเทพ” แทนที่จะใช้ “คนไทย” ความหมายก็จะดูดีขึ้น หรือทำไมต้องมีรูป ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ขนาดใหญ่กว่าบุคคลอื่นๆในภาพ? หรือนี่คืออีกครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามดึงสถาบันมายุ่งกับการเมือง

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้จัดทำป้ายโฆษณากลางแจ้งดังกล่าว เพียงแต่มีกลุ่มจิตอาสาที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มคิดดีทำดี” มาขอรูปในฐานะพ่อเมืองไปร่วมในแคมเปญ “รักในหลวง” เท่านั้น

เรื่องป้ายโฆษณากลางแจ้งด้วยแคมเปญ “รักในหลวง” แต่พ่วงรูปผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบันไปด้วย จึงเป็น “อุบัติเหตุ” ที่ส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์โดยมิทันตั้งตัว ในขณะเดียวกันในเรื่องร้ายๆย่อมมีเรื่องดีแทรกด้วยเสมอ ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่

เราเชื่อว่า “คนไทยรักในหลวง ไม่เปลี่ยน” แต่ไม่รู้ว่า “คนกรุงเทพอยากเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่?”

แต่ที่แน่ๆจากวิกฤตป้ายโฆษณาจนกลายเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ “คุณชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เห็นทีฟากฝ่ายที่ไม่เอาคุณชายในพรรคประชาธิปัตย์คงสบโอกาสเปลี่ยน ผู้ชิงผู้ว่าฯ กทม. สมัยหน้าแน่นอน

คนกรุงเทพ ..ไม่เปลี่ยน! ประชาธิปัตย์ขอ เปลี่ยนให้เอง!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น