สุธาชัย
ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า วันนี้คือ
“วันแพะแห่งชาติ” เพราะตรงกับวันประหารชีวิตมหาดเล็ก 3 คน คือนายเฉลียว ปทุมรส, นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน เมื่อ 17 กุมภา 2498 ในคดีสวรรคต ร.8
โดยผ่านการตัดสินของทั้งสามศาล แม้มีการขออภัยโทษแล้วแต่ไม่สำเร็จ
มีข้อเท็จจริงในสมัยนั้นและเวลาต่อมายืนยันว่าทั้งสามคนไม่ผิด
แต่เสียดายที่ประเทศไทยไม่มีกระบวนการทบทวนเรื่องนี้
ความผิดพลาดนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกรวมถึงคดีนายสมยศด้วย เขายังเล่าต่อว่า
กฎหมายหมิ่นตอนเริ่มในปี 2442 สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
ปรับไม่เกิน 1,500 บาท หลังรัฐประหาร 6 ตุลา 19
มีการเพิ่มโทษสูงอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน
การเอาข้อหาหมิ่นมาโจมตีกันมีตลอดตั้งแต่หลัง 14 ตุลา
โดยมากเป็นไปตามกระแสการเมืองที่แหลมคม โดยสรุป คดี ม.112 ก่อน ปี 49 มีน้อยมาก
แต่หลังปี 49 มีมากมาย ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
คนที่โดนคดีเกือบทั้งหมดเป็นคนเสื้อแดง ทุกคดีล้วนหลักฐานอ่อน
ใช้การตีความเป็นหลัก ไม่เว้นแม้นักวิชาการที่ออกข้อสอบให้นักศึกษาอภิปรายว่า
“สถาบันกษัตริย์สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยหรือไม่” ก็ถูกดำเนินคดีเช่นกัน
นอกจากนั้นการพิจารณาคดีขัดหลักนิติธรรมเพราะไม่ให้ประกันตัว อัตราโทษสูงเกินไป
ประเทศไทยมีคดีหมิ่นมากที่สุดในโลก ทั่วโลกมี 25 ประเทศที่มีกฎหมายนี้ แต่ไทยมีโทษรุนแรงสุด
แม้จะอ้างว่ามีการพระราชทานอภัยโทษผู้กระทำผิด แต่เป็นคนละส่วนกันเพราะกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต้องมีการแก้ไขได้ #
ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโส
จากเดอะเนชั่น กล่าวว่า เวลามีการถกเถียงหรือเสนอแก้ไข ม.112 คนเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นพวกล้มเจ้า
จนละเลยที่จะมองปัญหาที่ใหญ่กว่าว่า ม.112
กระทบต่อการใช้เหตุผลสาธารณะของสังคมอย่างไร เราถูกสอนไม่ให้ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์
ให้เชื่อข้อมูลด้านเดียว
ใครสงสัยจะถูกบังคับให้เชื่อโดยห้ามสงสัยว่าสถาบันกษัตริย์มีแต่ด้านดีด้านเดียวหรือไม่
ม.112
ทำให้เรากลัวที่จะตั้งคำถามในที่สาธารณะและเชื่อข้อมูลที่อยู่ในสื่อกระแสหลัก
สังคมไทยจึงเป็นสังคมเชื่องๆ ที่ไม่ได้ถูกท้าทายอย่างถึงแก่น
สถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมโดยรวม
มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันมากมาย
มีเผยแพร่พระราชดำรัสแทบทุกชั่วโมง ถ้าตั้งคำถามกับสิ่งนี้ไม่ได้
ใครตั้งคำถามจะติดคุก แสดงว่าพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์มีสถานะเหมือนคำสอนของพระเจ้าในศาสนาคริสต์
เขามองว่าประเทศไทยมีบางมิติที่คล้ายกับเกาหลีเหนืออย่างน่าตกใจ เขายังกล่าวอีกว่า
อย่าให้คนรักเจ้าแบบไม่รู้จักพอเพียงผูกขาดความรักเจ้า เขาเห็นว่าการแก้ไข ม.112
จะช่วยลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นกับสถาบันกษัตริย์ ม.112 ทำให้การใช้เหตุผลของสาธารณะผิดเพี้ยน
และส่งผลต่อความก้าวหน้าของคนรุ่นต่อไป
สื่อกระแสหลักมีบทบาทในการเซ็นเซอร์ข้อมูลที่เท่าทันเจ้า
สื่อต่างชาติมากมายที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์
แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่มีการนำเสนอในสื่อหลักของไทย สื่อถูกทำให้เชื่อว่ามีหน้าที่เสนอข้อมูลด้านเดียว
เพราะคนไทยรักในหลวง จะเกิดผลกระทบกระเทือนต่อคนทั้งแผ่นดิน
ซึ่งแย่กว่าเกาหลีเหนือที่สามารถทำให้เกิดมายาคติว่าสื่อไทยมีเสรีภาพ เขารับไม่ได้กับการเสแสร้งว่าสังคมไทยสื่อมีเสรีภาพ
ประชาชนต้องมีเสรีภาพ มีที่ทางให้กับการใช้เหตุผลและการวิพากษ์ มีที่ทางสำหรับข้อมูลที่เท่าทันเจ้า
และรอว่าเมื่อไหร่สมาคมนักข่าวจะออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคดีคุณสมยศ #
วาด
รวี จาก ครก. 112 กล่าวว่า การตีความบทความของจิตร พลจันทร์ ว่า ศาลพิพากษาจากการตีความของพยานโจทก์ที่กว้างและมีปัญหา
พยานตีความบทความทั้งสองมีทั้งหมิ่นและไม่หมิ่น ศาลอ่านบทความแล้วไม่สามารถตัดสินได้ด้วยตัวเองว่าผิด
ต่างกับคดีอากงที่ศาลวินิจฉัยได้เองว่าเอสเอ็มเอสหมิ่น จึงอาศัยการตีความของพยานโจทก์
สมมุติถ้าศาลเป็นบรรณาธิการและอ่านบทความนั้นแล้วเห็นว่าไม่หมิ่นก็ย่อมปล่อยให้เผยแพร่ได้เช่นกัน
การเบิกความของพยานเพื่อเอาผิดกับสมยศจึงมีปัญหา นอกจากนั้นในฐานะที่เขาเป็นบรรณาธิการคนหนึ่ง
ไม่สามารถจะยอมรับคำตัดสินแบบนี้ได้ เมื่อพิจารณาคำพิพากษาก็ไม่พบว่า
สามารถจะพิสูจน์เจตนาของผู้เขียนว่าจงใจหมิ่น
ไม่สามารถชี้ได้ว่าอะไรคือหลักฐานว่านายสมยศเจตนาหมิ่น เขาเห็นว่าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมครอบงำผู้พิพากษา
และเป็นคำพิพากษาไม่มีเหตุผล #
ปิยบุตร
แสงกนกกุล จาก กลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า
แนวตัดสินคดีนี้ ถ้าสารภาพโดน 3 ปี ถ้าไม่สารภาพก็ 5 ปี
คดีนี้มีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ม.112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลวินิจฉัยว่าไม่ขัดหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ปิยบุตร อธิบายว่า แนวคิดพื้นฐานของมาตรา 8 คือ หลัก The King can
do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่ทำอะไรผิดเพราะไม่ต้องทำอะไรเลย
ในระบบประชาธิปไตยใครทำอะไรต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่อยากให้กษัตริย์รับผิดชอบ
ถูกวิจารณ์ ถูกตรวจสอบ ก็ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส่วนคำว่าทรงเป็นที่เคารพสักการะ ต้องตีความว่า เป็นการเขียนเพื่อเชิดชู
ไม่ใช่มีผลในการบังคับให้ติดคุก หรือบังคับให้กราบไหว้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสะท้อนให้เห็นอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในระบบตุลาการและสะท้อนว่าประเทศปกครองด้วยระบอบอะไร
การอ้างสรรพคุณของสถาบันกษัตริย์มากมายก็ยิ่งแสดงว่า ม.112 ไม่จำเป็นต้องมี
ถ้าคนทั้งประเทศรักกษัตริย์ กฎหมายยิ่งไม่จำเป็น มันขัดแย้งในตัวเองที่โฆษณากับคนทั้งโลกว่าคนไทยรักกษัตริย์มาก
แต่กลับมีคนติดคุกด้วยคดี 112 มากที่สุดในโลก
ปิยบุตรกล่าวอีกว่า ม.112 โดยตัวมันเองไม่ใช่แค่
ม.112 เท่านั้น แต่เป็นภาพแทนพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
ในประเทศไทยสามารถพูดถึงเสรีภาพได้ทุกเรื่อง แต่พอเป็น ม.112 ก็กลายเป็นข้อหาล้มเจ้า
การแก้ไข ม.112 กลายเป็นเรื่องกระทบต่อพระมหากษัตริย์ทั้งที่เป็นแค่กฎหมายอาญามาตราเดียว
เขายังส่งสัญญาณไปยังฝ่ายกษัตริย์นิยมว่า
การบังคับให้คนรักสถาบันกษัตริย์ด้วยการเอาคนติดคุกนั้นไม่ได้
กฎหมายไม่สามารถบังคับให้คนรักกันได้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมควรทบทวนว่าทำแบบนี้จะช่วยให้มีคนรักสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นหรือไม่
สถานการณ์ปัจจุบันไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์และศาล
อย่าสายตาสั้นคิดแต่ตักตวงประโยชน์จากระบอบเก่า
ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจะสายเกินการณ์#
สมศักดิ์
เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
เฉพาะหน้าไม่เชื่อว่าจะช่วยนักโทษคดี 112 ออกจากคุกได้ คดีสมยศต่อให้ไม่อุทธรณ์แล้วขออภัยโทษ
รวมทั้งคนอื่นที่ขอไปแล้วก็ใช้เวลาเป็นปีๆ มีทางเดียวคือต้องให้คนระดับคุณทักษิณเท่านั้นเจรจาต่อรองกับราชสำนักโดยคุยกับพลเอกเปรม
พลเอกพิจิตร(กุลละวณิชย์) ซึ่งเขายกตัวอย่างให้เห็นสมัยที่พลเอกเกรียงศักดิ์
ชมะนันท์ ตั้งใจออกกฎหมายนิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลา 19
และทำสำเร็จเนื่องจากมีทั้งกองทัพและฝ่ายการเมืองในสภาหนุนหลัง
แต่ความเป็นไปได้ที่คุณทักษิณจะทำแทบไม่มี
เพราะทักษิณเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 54 ว่าจะไม่แตะสถาบันกษัตริย์
ตอนนี้ทักษิณใช้ยุทธศาสตร์ “รอ” จะไม่ทำอะไรให้ระคายเคือง ต่างคนต่างอยู่
รวมไปถึงการประกันตัวด้วย ถามว่าทำไมแกนนำ นปช. ได้ประกัน ก็พราะปลายปี 53 ถึง
ต้นปี 54 มีการเจรจากัน อยู่ๆ ศาลก็อ้างว่าได้ข้อมูลใหม่จึงปล่อยตัวแกนนำ
หลังจากเจรจาฝ่ายทักษินไม่แตะสถาบัน ไม่แตะศาลอีกเลย แม้แต่จำนวนคดี 112 ที่ลดลงไป
อันนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์เช่นกัน คือเปลี่ยนมาเล่นงานเป็นคนๆไป แต่คนของ นปช.
ต่อให้โดนคดีก็จะได้ประกัน เพราะคนพวกนี้ว่านอนสอนง่ายกว่า
สมศักดิ์ค่อนข้างมั่นใจว่า
รัฐบาลคงช่วยนักโทษการเมืองโดยไม่รวมคดี 112 แม้แต่ นปช. ที่เสนอเป็นพระราชกำหนดก็ไม่เคยมีข้อผูกมัดว่าจะรวมคดี
112 ส่วนของนิติราษฎร์ที่เสนอนิรโทษกรรมด้วยการแก้รัฐธรรมนูญคงไม่สำเร็จเพราะรัฐบาลคงไม่เอาด้วย
สรุปคือมองไม่เห็นทางช่วยคดี 112
สมศักดิ์เชื่อว่าระยะยาวชนชั้นนำจะแก้
ม.112 แต่อาจจะทำในรัชกาลหน้า โดยถอยกลับไปก่อน 6 ตุลา 19 คือจำคุกสูงสุด 7 ปี
ไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่อาจให้สำนักพระราชวังเป็นคนฟ้อง โดยดูตัวอย่างจากรายงาน คอป.
และอ้างจากคำพูดของนายจอน อึ้งภากรณ์ ในการสัมมนาที่จัดโดยสหภาพยุโรป
และนายจอนกำลังเขียนรายงานเรื่องนี้ให้กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ
นอกจากนั้นนายสมศักดิ์กล่าวถึงข้อเสนอของ
ครก.112 และนิติราษฎร์ว่า ถึงแม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
แต่ก็ยอมรับว่ายังดีกว่า ม.112 ที่เป็นอยู่ เขาวิจารณ์ว่า นิติราษฎร์และ ครก.112
ยอมรับแนวคิดที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐเป็นพิเศษกว่าคนธรรมดาซึ่งผิดพลาดในเชิงหลักการอย่างร้ายแรง
ถ้ากฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาดีพอที่จะคุ้มครองชาวบ้านธรรมดาก็ต้องดีพอสำหรับเจ้าด้วย
ฐานวิธีคิดของนิติราษฎร์และ ครก.112 เหมือนกับพวก royalist
(กษัตริย์นิยม) ต่างกันเล็กน้อยคืออัตราโทษ ถ้าประมุขได้รับการคุ้มครองพิเศษเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าชาวบ้านธรรมดา
เท่ากับยืนยันว่ามีความสำคัญกว่าชาวบ้าน สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่
สังคมประชาธิปไตยได้ ต้องยืนยันหลักการว่าเจ้ากับคนธรรมดามีฐานะเท่ากัน
บางคนอาจแย้งว่าฝรั่งก็มีการคุ้มครองแบบนี้ เขาเห็นว่าบางประเทศมีจริง
บางประเทศไม่มี แต่ประเทศที่มีเขาแทบไม่ได้ใช้ บางประเทศก็เรียกร้องให้ยกเลิก
เขาเสนอว่าในที่สุดต้องกลับมาแก้ที่สถานะของสถาบันกษัตริย์
บางประเทศมี 112 แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่มีอีกด้านที่ประเทศไทยมี คือสถาบันกษัตริย์มีบทบาททางสังคม
เศรษฐกิจ การเมืองอย่างมหาศาลโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุม ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์
ซึ่งขัดแย้งกับสังคมสมัยใหม่ ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย ลำพังถ้ามีแต่กฎหมาย
112 แต่ไม่มีด้านที่สองเหมือนเนเธอร์แลนด์ก็ไม่ค่อยเป็นปัญหา คนก็ไม่อยากวิจารณ์เพราะเจ้าไม่มีบทบาทอะไร
มันจึงเป็นปัญหาของสถานะสถาบันกษัตริย์ทั้งแพคเกจ(package) ดังนั้น 112 ไม่มีทางยกเลิกหรือเปลี่ยนได้โดยตัวมันเอง ถ้าไม่เสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์พร้อมกันทั้งแพคเกจด้วย
คนที่คัดค้านไม่ให้แก้ไข 112 เขาไม่ได้ค้านเพราะตัวกฎหมายนี้ แต่เพราะสถานะของกษัตริย์ที่ถูกให้ข้อมูลด้านเดียวทำให้เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์มีความพิเศษ
ปัญหา 112 มันมาพร้อมกับบทบาทสถาบัน มาพร้อมกับมาตรา 8 มาพร้อมกับกฎหมาย สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
รวมถึงวิธีปฏิบัติสารพัดอย่าง มันมาพร้อมกันทั้งระบบ
ถ้าไม่แก้ทั้งระบบก็ไม่มีทางแก้ได้
ม.112 ไม่ใช่เรื่องกฎหมายโดยตรง
ไม่ใช่แม้เรื่องเครื่องมือทางการเมืองโดยตรง แต่มันโยงกับบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์
ตราบใดที่นักวิชาการไม่พูดเรื่องนี้ตรงๆ ว่า สถานะของกษัตรย์เป็นแบบนี้ไม่ได้ มันขัดกับโลกความเป็นจริง
อีกสิบปีก็ไม่มีอนาคต#
การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมเป็นมหากาพย์เรื่องยาวที่ยังหาจุดจบไม่เจอ
ไม่มีใครตอบได้ว่าจะลงเอยอย่างไร คงต้องสู้จนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งเดิมพันด้วยชีวิตของผู้ต้องคดีการเมือง
กับอีกฝ่ายเดิมพันด้วยโครงสร้างอันใหญ่โตของความยุติธรรมที่มืดบอด
สองสิ่งนี้ใครจะตายก่อนกัน?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น