ภายในเวที “ศาลกับความยุติธรรมในสังคมไทย” หลังการเสวนาสิ้นสุดลง ไฮไลท์ของงานอย่างหนึ่งคือ สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฏีกา ได้เป็นตัวแทนขึ้นอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาและตุลาการทั่วประเทศ
โดยเขาได้กล่าวความในใจก่อนอ่านจดหมายเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้เป็นระยะ อธิบายถึงสาเหตุที่รับหน้าที่อ่านจดหมายว่า เนื่องจากเป็นข้าราชการเกษียณรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยากให้องค์กรตุลาการที่ตนเองสังกัดได้รับการปรับปรุงพัฒนา
สำหรับเนื้อหาของจดหมาย ระบุถึงปัญหาที่มาที่องค์กรตุลาการเข้ามาเกี่ยวพันทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา และทำให้เสียความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ใช้และตีความกฎหมายต่างๆ ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 112 และผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปที่มา ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ตลอดจนความพร้อมรับผิดต่อการใช้อำนาจของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการ
"เมื่อพิจารณาจากบทบาทขององค์กรตุลาการที่แสดงออกผ่านคำวินิจฉัยและคำพิพากษา ในคดีที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นต่างๆ ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมาแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรตุลาการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้ง ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้องค์กรตุลาการในภาพรวมมิได้ดำรงอยู่ในฐานะ “คนกลาง” ที่ทุกฝ่ายของสังคมยอมรับและนับถือให้คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นยุติอีกต่อไป หนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรตุลาการกลับมาเป็นหลักแก่สังคม คือการต้องปฏิรูปตนเอง การละเลยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการดังที่ได้เรียนมาข้างต้น ย่อมจะส่งผลให้องค์กรตุลาการถูกมองจากสาธารณชนว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ประชาธิปไตย และยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกปรับเปลี่ยนโดยพลังจากภายนอกได้ในที่สุด" ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึก
จดหมายเปิดผนึกถึงผู้พิพากษาและตุลาการ
วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๖
หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรียน ผู้พิพากษาและตุลาการ
โดยที่ปรากฏชัดว่าหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ อันเป็นการได้มาซึ่งอำนาจรัฐโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยและเป็นการแย่งชิงอำนาจที่ปราศจากความชอบธรรมนั้น องค์กรตุลาการไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ได้เข้ามามีบทบาทในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยแก่สาธารณชนว่าการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรตุลาการเป็นไปโดยสอดคล้องกับอุดมการณ์แห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอันเป็นคุณค่าพื้นฐานของหลักนิติรัฐหรือไม่
บุคคลและคณะบุคคลที่ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นขอเรียนว่า บทบาทขององค์กรตุลาการที่ก่อให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงเช่นนั้น ย่อมเห็นได้จากการที่องค์กรตุลาการได้นำเอาประกาศของคณะรัฐประหารมาใช้บังคับแก่คดีทั้ง ๆ ที่คณะรัฐประหารได้สูญสิ้นอำนาจในทางความเป็นจริงไปแล้ว ส่งผลให้สาธารณชนตลอดจนผู้พิพากษาและตุลาการที่ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมภายหลังจากการทำรัฐประหารนั้นเป็นกระบวนการที่รับเอาภารกิจของการทำรัฐประหารมาสานต่อ เพื่อทำให้การโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตยบรรลุผลอย่างสมบูรณ์ การตัดสินคดีหลายคดีที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มิใช่เป็นปัญหาเฉพาะในทางหลักการเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบในทางปฏิบัติด้วย เพราะบรรดาบุคคลตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทั้งที่ปรากฏชัดแจ้งและที่แฝงเร้นซึ่งได้รับประโยชน์จากคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ต่างอ้างคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเหล่านั้นเป็นบรรทัดฐาน โดยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า คำวินิจฉัยและคำพิพากษาดังกล่าวมีที่มาซึ่งเชื่อมโยงกับการแย่งชิงอำนาจรัฐที่ปราศจากความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น มิพักต้องกล่าวถึงเนื้อหาของคำวินิจฉัยและคำพิพากษาเหล่านั้นซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้าย หรือแม้แต่การขยายความบทบัญญัติที่มีโทษอาญาออกไปจนกระทั่งมีลักษณะเป็นการเทียบเคียงบทกฎหมายเพื่อลงโทษบุคคล การอ้างอิงคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่มีลักษณะเช่นนี้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องมาในสังคม ซึ่งความขัดแย้งเช่นว่านั้นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากองค์กรตุลาการใช้และตีความกฎหมายโดยซื่อตรงต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และปฏิเสธที่จะบังคับใช้บรรดาประกาศตลอดจนคำสั่งทั้งหลายของคณะรัฐประหาร
สำหรับบทบาทขององค์กรตุลาการที่มีลักษณะไม่สนับสนุนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้น ย่อมเห็นประจักษ์ชัดจากกรณีของการใช้และการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อันบัญญัติถึงความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดฐานนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในหลายประการและหลายระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราโทษที่สูงเกินสมควรแก่เหตุ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้สามารถเป็นผู้กล่าวโทษบุคคลอื่นต่อเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมนั้น หากได้รับการปรับใช้ไปตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐแล้ว ก็ย่อมมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายเช่นว่านั้นได้ แต่เท่าที่ปรากฏต่อสาธารณชน การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีข้อที่เห็นได้ว่าน่าจะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ถูกต้อง เช่น การที่ศาลใช้ดุลพินิจในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา ๑๑๒ แตกต่างไปจากคดีความผิดฐานอื่นที่มีอัตราโทษใกล้เคียงกัน ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๐ (๗) ได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗ สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ย่อมผูกพันองค์กรของรัฐในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ซึ่งหมายความว่าหากศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา ๑๑๒ ซึ่งจะมีผลเป็นการปฏิเสธสิทธิในทางรัฐธรรมนูญของผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว ศาลจะต้องให้เหตุผลที่หนักแน่นมั่นคงในอันที่จะปฏิเสธสิทธิในทางรัฐธรรมนูญเช่นว่านั้น แต่เท่าที่ปรากฏต่อสาธารณะ คำสั่งปฏิเสธคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา ๑๑๒ จำนวนหลายคำร้องไม่ว่าจะเป็นคำสั่งของศาลในชั้นใด ศาลไม่ได้ให้เหตุผลโดยการชั่งน้ำหนักสิทธิในทางรัฐธรรมนูญของจำเลยกับข้อกฎหมายที่ศาลอาจใช้อ้างในการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวเลย นอกจากนี้ ในหลายกรณียังปรากฏด้วยว่า ศาลได้ก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติโดยการกำหนด “เหตุ” แห่งการปฏิเสธการปล่อยชั่วคราวขึ้นเสียเอง เช่น “คดียังอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์” หรือ “เป็นความผิดที่สะเทือนจิตใจประชาชน” เป็นต้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น หากพิเคราะห์คำพิพากษาในบางคดีโดยละเอียดแล้วจะพบว่ามีลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายหลายประการ เช่น คดีนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ที่ศาลพิพากษาลงโทษนายอำพล ด้วยเหตุผลประการหนึ่งว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความ ฯลฯ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น” ซึ่งขัดกับหลักเรื่องภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ในอันที่จะต้องพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้ชัดแจ้ง และขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น” และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” การวินิจฉัยในลักษณะที่เป็นปัญหาเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ศาลพิพากษาจำคุกนายสมยศ ๑๐ ปี ด้วยข้อสันนิษฐานว่า เมื่อจำเลยเป็นบรรณาธิการ จำเลยย่อมต้องรู้ข้อความ รวมทั้งความหมายในบทความที่เขียนขึ้นโดยบุคคลอื่นอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อสันนิษฐานในลักษณะนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดรองรับ
นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๘-๒๙/๒๕๕๕ ที่วินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อพิเคราะห์คำวินิจฉัยโดยตลอดแล้วย่อมเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยนี้แสดงให้สาธารณชนเห็นถึงทัศนะที่ยึดถืออุดมการณ์กษัตริย์นิยมเหนืออุดมการณ์นิติรัฐประชาธิปไตยของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการจำนวนหนึ่งอย่างชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันในคำวินิจฉัยฉบับนี้โดยปราศจากเหตุผลทางกฎหมายที่มีน้ำหนักว่า มาตรา ๑๑๒ จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างพอสมควรแก่เหตุแล้ว นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัยด้วยว่าบทลงโทษจำคุกตั้งแต่ ๓ ปี ถึง ๑๕ ปีกรณีดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิด โดยให้เหตุผลว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะพิเศษเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร และพรรณนาความแสดงให้เห็นถึงคุณงามความดีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งการพรรณนาเช่นนั้นย่อมไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมายที่ศาลจะนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังนำมาตรา ๑๑๒ มาปะปนกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๘ ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” โดยมิได้พิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่ของบทบัญญัติมาตรานี้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงแสดงให้เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญย่อมปราศจากค่าบังคับทันทีเมื่อเผชิญหน้ากับกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ โดยศาลให้ความสำคัญกับพระมหากษัตริย์มากกว่าระบอบประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ทั้งๆที่ระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หาใช่อยู่เหนือระบอบประชาธิปไตยไม่
ตัวอย่างที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ ย่อมทำให้สาธารณชนทั่วไปเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในระบบกฎหมายในเวลานี้มีปัญหาอย่างไร ปัญหาทั้งปวงข้างต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในระดับอุดมการณ์เป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยระบบการอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา อีกทั้งไม่สามารถแก้ไขได้โดยระบบของการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะในเชิงโครงสร้าง องค์กรตุลาการในระบบกฎหมายไทยเป็นระบบปิดหรือกึ่งปิด ระบบเช่นนี้ทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการมีลักษณะเป็นการตรวจสอบกันเองภายในเป็นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นความผิดอาญาในกรณีที่ผู้พิพากษาหรือตุลาการตีความกฎหมายอย่างบิดเบือนก็ยังไม่มีปรากฏในระบบกฎหมายไทย การแก้ปัญหาเรื่องนี้ในระยะยาวย่อมจะต้องกระทำโดยการปฏิรูปองค์กรตุลาการทั้งระบบให้องค์กรตุลาการมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐเป็นอุดมการณ์ที่จารึกอยู่ในจิตใจของผู้พิพากษาและตุลาการทุกคน ประการสำคัญคือต้องทำให้ผู้พิพากษาและตุลาการทุกคนตระหนักว่าอำนาจตุลาการที่ตนใช้อยู่นั้น แม้จะกระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ หากแต่ตามรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจดังกล่าวเป็นของประชาชน หาใช่เป็นของบุคคลอื่นใดไม่
ในชั้นต้นนี้ บุคคลและคณะบุคคลที่ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้น ขอเรียกร้องไปยัง ผู้พิพากษาและตุลาการดังนี้
1. ขอให้ผู้พิพากษาและตุลาการตระหนักว่า ท่านเป็นผู้พิพากษาและตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ในการใช้และการตีความกฎหมายทั้งปวงนั้น ผู้พิพากษาและตุลาการทุกคนจะต้องใช้และตีความกฎหมายโดยยึดถือเอาอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักรและพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง อีกทั้งจะต้องถือว่าหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมเป็นคุณค่าสูงสุดในระบบกฎหมายด้วย
2.ขอให้ผู้พิพากษาและตุลาการทบทวนแนวทางการใช้และการตีความกฎหมายที่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและคุณค่าของหลักนิติรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาและการพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
3.ขอให้ผู้พิพากษาและตุลาการที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเคารพต่อหลักนิติรัฐ ดำเนินการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปที่มา ระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ตลอดจนความพร้อมรับผิดต่อการใช้อำนาจของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนะของบรรดาผู้พิพากษาและตุลาการอื่นๆ ให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ เป็นอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ในจิตใจของผู้พิพากษาและตุลาการเหล่านั้น
บุคคลและคณะบุคคลที่ได้ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นขอเรียนว่า เมื่อพิจารณาจากบทบาทขององค์กรตุลาการที่แสดงออกผ่านคำวินิจฉัยและคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเด็นต่างๆ ภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมาแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรตุลาการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้องค์กรตุลาการในภาพรวมมิได้ดำรงอยู่ในฐานะ “คนกลาง” ที่ทุกฝ่ายของสังคมยอมรับและนับถือให้คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นยุติอีกต่อไป หนทางเดียวที่จะทำให้องค์กรตุลาการกลับมาเป็นหลักแก่สังคม คือการต้องปฏิรูปตนเอง การละเลยนิ่งเฉยไม่ดำเนินการดังที่ได้เรียนมาข้างต้น ย่อมจะส่งผลให้องค์กรตุลาการถูกมองจากสาธารณชนว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกปรับเปลี่ยนโดยพลังจากภายนอกได้ในที่สุด
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้พิพากษาและตุลาการจะได้ครุ่นคิดตรึกตรองถึงประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดในสารที่ส่งมาด้วยความปรารถนาดีฉบับนี้ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปองค์กรตุลาการเพื่อให้องค์กรตุลาการเป็นหลักให้แก่สังคมไทยต่อไป
คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ (ครก. ๑๑๒)
กลุ่ม ๒๔ มิถุนา ประชาธิปไตย
คณะนักเขียนแสงสำนึก
กวีราษฎร์
ปฏิญญาหน้าศาล
คณะนิติราษฎร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น