Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

ยุค‘ชาติชาย ชุณหะวัณ’ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 397 วันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 หน้า 4 คอลัมน์ เปิดฟ้า เปิดตา โดย ดอม ด่านตระกูล




พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัยได้ประกาศยุบสภา 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 เนื่องจากวิกฤตการณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายทหารและการเมืองส่วนหนึ่งต้องการให้แก้ไข ฝ่ายการเมืองกับภาคประชาชนคัดค้านการแก้ไข เมื่อมีการลงมติในวาระ 3 ปรากฏว่า “ไม่ผ่าน” พล.อ.เปรมจึงตัดสินใจยุบสภา

หลังการเลือกตั้ง พรรคกิจสังคมได้เสียงสูงสุด 92 เสียง พรรคชาติไทยได้ 73 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 56 เสียง พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้รวบรวมพรรคเล็กและกลุ่มอิสระรวม 108 เสียง พยายามจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติประชาธิปไตย ได้ร่วมกันสนับสนุน พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลชุดนี้มีพรรคประชากรไทยเข้าร่วมด้วย และพรรคชาติไทยได้กลายเป็นฝ่ายค้าน

ยุบสภาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2529 เพราะรัฐบาล พล.อ.เปรมแพ้มติในการประชุมสภาสมัยสามัญที่รัฐบาลเสนอพระราชกำหนดเพิ่มเติม (การขนส่งทางบก) 9 ฉบับ แต่เมื่อมีการลงคะแนน ฝ่ายรัฐบาลแพ้ พล.อ.เปรมตัดสินใจยุบสภา หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมากสุดถึง 100 ที่นั่ง ในขณะนั้นนายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้จะได้คะแนนเสียงสูงสุด นายพิชัยก็ไม่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหัวหน้าพรรคการเมือง 3 พรรคคือ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย ที่ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคราษฎร แถลงว่าควรเชิญคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก คนกลางเป็นที่เข้าใจกันดีว่าคือ พล.อ.เปรม จึงมีเสียงคัดค้านอย่างมากจากภาคประชาชน เพราะขณะนั้นกระแสต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มดังขึ้น แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2529 พล.อ.เปรมก็ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

รัฐบาลชุดใหม่ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย กิจสังคม และราษฎร ต่อมาด้วยความขัดแย้งกันในพรรคประชาธิปัตย์ที่แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งตั้งชื่อ “กลุ่ม 10 มกรา” นำโดยนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรณ์ และนายวีระ มุสิกพงศ์ รวบรวม ส.ส. ในกลุ่มได้ 45 คน (“10 มกรา” มาจากวันที่มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายพิชัยชนะคู่แข่งคือ นายเฉลิมพันธ์ ทำให้กลุ่มนายเฉลิมพันธ์แสดงปฏิกิริยาต่อต้าน)

เดือนเมษายนมีการพิจารณาพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ และผ่านด้วยคะแนน 183 ต่อ 124 โดย ส.ส. 31 คนจากกลุ่ม10 มกรา (พรรคประชาธิปัตย์) ไปลงคะแนนสนับสนุนญัตติของฝ่ายค้าน ทำให้รัฐมนตรีที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 16 คนถือว่าเป็นความบกพร่องของพรรค จึงยื่นใบลาออกเพื่อให้ พล.อ.เปรมปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ แต่ พล.อ.เปรมอ้างว่า ส.ส. ในสังกัดพรรคการเมืองยังไม่รับรู้ความคิดเห็นหรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน ก่อให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน พล.อ.เปรมจึงตัดสินใจยุบสภาเป็นครั้งที่ 3 ทำให้ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.เปรมที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติและกำหนดไว้ในวันที่ 9 พฤษภาคม เพราะยุบสภาเสียก่อน

หลังการเลือกตั้งพรรคชาติไทย ประชาธิปัตย์ กิจสังคม และราษฎรมีเสียงรวมกัน 210 เสียง โดยพรรคชาติไทยมีเสียงมากที่สุด 87 เสียง หัวหน้าพรรคทั้ง 4 พรรคร่วมกันสนับสนุน พล.อ.เปรมให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม แต่กระแสเสียงคัดค้าน พล.อ.เปรมดังกระหึ่ม มีตัวแทนนักศึกษาไปเข้าพบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการสนับสนุน พล.อ.เปรม โดยมีการรวมตัวกันของภาคประชาชนเดินขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ กระแสการคัดค้านเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกองทัพก็วางตัวเฉย ไม่ได้แสดงตนว่าสนับสนุน พล.อ.เปรมเช่นที่ผ่านมาหรือไม่ ในที่สุด พล.อ.เปรมก็ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จึงเป็นโอกาสให้ พล.ต.ชาติชาย หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งได้คะแนนเสียงสูงสุดได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 สิงหาคม 2531 จากนั้นไม่นานได้เลื่อนยศเป็น “พลเอก” เป็นกรณีพิเศษ

พล.อ.ชาติชายเป็นบุตรของ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ผู้นำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 สมรสกับท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ท่านผู้หญิงบุญเรือนเคยติดตามเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมกับพระพี่เลี้ยงเนื่อง และตามเสด็จฯเดินทางกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2481 มาเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ

พล.อ.ชาติชายมีภาพลักษณ์เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส อารมณ์ดี คำติดปากที่ได้ยินเสมอคือ “No Problem” ช่วงที่ พล.อ.ชาติชายบริหารประเทศอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่วัฒนธรรมตะวันตกไหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยอย่างทะลักล้น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเฉลี่ยสูงเกิน 10% การเติบโตเรื่องเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วลอยฟูฟ่องทั้งหุ้น ราคาที่ดิน มีเศรษฐีหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย รัฐบาล พล.อ.ชาติชายยังมีนโยบายใหม่ๆหลายอย่าง เช่น การผลักดันกฎหมายประกันสังคม ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูป ฉบับที่ 42 เพื่อคืนเสรีภาพให้แก่หนังสือพิมพ์ คืนเงินอายัดของขบวนการนักศึกษาที่รัฐบาลยึดไว้ตั้งแต่กรณี 6 ตุลา และนำเงินส่วนนี้มาเป็นกองทุนเริ่มต้นสำหรับโครงการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ยอมรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อเปิดเสรีด้านการซื้อขายและโอนเงินเพื่อการชำระสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และนโยบายต่างประเทศที่สำคัญคือ “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

รัฐบาล พล.อ.ชาติชายเป็นรัฐบาลที่ริเริ่มวิธีการบริหารแบบใหม่ เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชนยิ่งขึ้น แม้พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ใกล้ชิดประชาชน แต่กลับมีการประท้วงของประชาชนหลายครั้งหลายกลุ่ม โดยเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรพัฒนาเอกชนเห็นว่าต้องแก้ไขเร่งด่วน เช่น การคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูล ทั้งในปี 2531 เกิดอุทกภัยใหญ่ที่อำเภอพิปูน นครศรีธรรมราช ปรากฏว่ามีท่อนซุงนับหมื่นต้นไหลตามน้ำมาถล่มหมู่บ้านหลายร้อยหลังคาเรือน ยังความเสียหายให้ผู้คนบาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก ทำให้รัฐบาล พล.อ.ชาติชายมีมติยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2532 เป็นต้นไป

ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้น แต่ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของรายได้ก็ยิ่งห่างขึ้นทุกทีเช่นกัน รวมทั้งปัญหาเดิมๆคือ ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ

ยุคแรกของรัฐบาล พล.อ.ชาติชายใช้นโยบายประสานประโยชน์กับกองทัพ เช่น นิรโทษกรรมกบฏ 9 กันยายน คืนยศให้กับ พ.อ.มนูญ รูปขจร และนายทหารอื่นๆที่ถูกถอดยศ ทั้ง พล.อ.ชวลิตที่ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ไม่มีความคิดหรือเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร กองทัพและรัฐบาลจึงไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาเมื่อ พล.อ.ชวลิตลาออก เพราะน้อยใจที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมใหญ่ของกรรมกรท่าเรือ ทำให้ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ที่ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นผู้บัญชาการทหารบก หลังการโยกย้ายทหารเดือนตุลาคม พ.ศ. 2533 ทำให้นายทหารรุ่น จปร. 5 ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่างๆ และสามารถควบคุมอำนาจได้อย่างเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ความปรารถนาในอำนาจและการแก้ปัญหาด้วยกำลัง จึงทำให้รัฐบาล พล.อ.ชาติถูกยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 และลุกลามไปสู่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น