Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิกิลีกส์ในจักรวรรดิ

กระแสทรรศน์ มติชน 11 มีนาคม 2556
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ 



สิบโทแบรดลีย์ แมนนิง กำลังขึ้นศาลอยู่ในสหรัฐ หลังจากถูกจองจำ (และอาจถูกทรมานระหว่างนั้น) มาเป็นเวลานาน ความผิดของเขาก็คือนำเอกสารลับของราชการไปเปิดเผยผ่านวิกิลีกส์ การกระทำกรรมเดียวนี้ เมื่อแปรเป็นอาชญากรรมตามกฎหมาย เขาถูกฟ้องกว่า 20 กระทง และบางกระทงก็อาจทำให้เขาต้องถูกจำคุกตลอดชีวิต เช่น นำความลับราชการไปเผยแพร่แก่ศัตรู ทั้งๆ ที่เขาทำการครั้งนี้ด้วยเจตนาที่เป็นมิตรกับสหรัฐ (ถ้าสหรัฐยังมีความหมายถึงประชาชนอเมริกัน) ส่วน "ศัตรู" ของสหรัฐอาจพลอยได้ประโยชน์ไปด้วย ไม่อยู่ในเจตนาของเขา

เขาแถลงต่อศาลว่า เขาทำการครั้งนี้เพราะต้องการให้ชาวอเมริกันรู้ราคาที่แท้จริงของสงคราม... ผมคิดว่าเขาไม่ได้หมายความแต่เพียงราคาที่เป็นตัวเงินเท่านั้น หากรวมถึงราคาที่เป็นเกียรติยศ ความน่าเชื่อถือ และศีลธรรมของสหรัฐเองด้วย

ในฐานะผู้วิเคราะห์การเมืองของกองทัพ แมนนิงสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการจำนวนมากที่คนอเมริกันทั่วไปเข้าไม่ถึง และจากข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เองที่แมนนิงคิดว่า ภาระทางศีลธรรมของเขายิ่งใหญ่กว่าการเอาชนะสงครามรุกรานในอิรัก นั่นคือทำให้คนอเมริกัน (และชาวโลก) รู้ว่า เราต่างอยู่ใต้ระบอบปกครองที่ผู้ปกครองไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ใต้ปกครองอีกต่อไป ด้วยการดำเนินการสำคัญๆ ทั้งหมดหลังม่าน "ความลับราชการ"

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการกระทำของเขาอย่างยิ่ง และผมเชื่อว่ามีคนอีกมากทั้งในสหรัฐและในโลกที่ได้ประโยชน์อย่างเดียวกับผม หรือยิ่งกว่าผมเสียอีก จึงอยากเขียนถึงเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่เขา แต่ผมอยากทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าวีรกรรมของผู้กล้าคนหนึ่ง

อันที่จริงแมนนิงไม่ใช่คนแรกที่ทำอะไรอย่างนี้ เคยมีผู้อื่นทำมาแล้วหลายครั้งและหลายคน ที่มีชื่อเสียงมากคือ ดร.แดเนียล เอลสเบิร์ก ซึ่งนำเอกสารลับกระทรวงกลาโหมออกเผยแพร่ทางสื่อในระหว่างสงครามเวียดนาม ด้วยสำนึกทางศีลธรรมอย่างเดียวกัน ในสมัยนั้นโลกดิจิตอลยังไม่เริ่มขึ้น เอกสารลับที่นำมาเผยแพร่จึงมีปริมาณจำกัดกว่าครั้งนี้มาก (ในบันทึกของเขาซึ่งเขียนขึ้นภายหลังบอกว่าเขาใช้เครื่องซีรอกซ์)

จากประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ค่อนข้างแน่ใจได้ว่า แมนนิงจะไม่ใช่คนสุดท้าย



เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างไร ผมอยาก (ทดลอง) อธิบายเรื่องนี้จากมุมมองเกี่ยวกับจักรวรรดิ ตามข้อเสนอของ Michael Hardt และ Antonio Negri ในเรื่อง Empire

ทำไมเรื่องเช่นนี้จึงเกิดในสหรัฐบ่อยที่สุด คำตอบก็คือสหรัฐเป็นประเทศแนวหน้าของระบบจักรวรรดิ

ระบบจักรวรรดิกับระบบจักรวรรดินิยมไม่เหมือนกัน จักรวรรดินิยมตั้งอยู่บนฐานอธิปไตยของรัฐชาติ ฉะนั้นจึงมีพื้นที่หรือรัฐที่เป็นเจ้าเหนือ "อาณานิคม" แต่ระบบจักรวรรดิได้ก้าวข้ามอธิปไตยของรัฐชาติไปแล้ว ระบบจักรวรรดิไม่มีศูนย์กลางที่คอยกำกับควบคุมพลโลก สหรัฐอาจเป็นประเทศแนวหน้าของระบบ แต่ไม่ใช่ศูนย์กลางที่มีอำนาจกำกับควบคุมทั่วทั้งแผ่นดินโลกาภิวัตน์

ระบบจักรวรรดิควบคุมประชากรอย่างไร รัฐสมัยใหม่เป็นรัฐวินัย ควบคุมประชากรด้วยวินัย และมีเครื่องมือในการสร้างและรักษาวินัยหลายอย่าง เช่น คุก, ตำรวจ, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลบ้า ฯลฯ แต่รัฐหลังสมัยใหม่หรือจักรวรรดิไม่ได้ควบคุมประชากรด้วยวินัยอีกแล้ว หากควบคุมสมองของคนโดยตรง ควบคุมให้ยึดถือค่านิยมและมองเห็นความสัมพันธ์ในโลกไปในทางเดียวกัน ด้วยเหตุดังนั้น เรื่องของข้อมูลและการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญชนิดคอขาดบาดตายของจักรวรรดิ

กบฏของจักรวรรดิคือ กบฏข่าวสารข้อมูล เครื่องมือสื่อสารคมนาคมสำหรับการแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูล เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่มีข้อเสียซึ่งเครื่องมือสื่อสารในรัฐวินัยไม่มี นั่นก็คือไม่มีใครสามารถควบคุมข่าวสารข้อมูลกับเครื่องมือใหม่ได้จริง เปรียบเทียบกับวิทยุ, โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ ฯลฯ อำนาจของรัฐและจักรวรรดิสามารถคุมได้ โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม แต่อินเตอร์เน็ตเป็นคนละเรื่อง เปิดโอกาสให้การผูกขาดข้อมูลข่าวสารเป็นไปไม่ได้ มี "ข้อมูลทวนกระแส" จำนวนมากไหลผ่านช่องทางนี้

ที่ผมคาดเดาว่า แมนนิงจะไม่ใช่คนสุดท้ายก็ด้วยเหตุนี้ นั่นคือจักรวรรดิขาดเครื่องมือสื่อสารชิ้นนี้ไม่ได้ แต่จักรวรรดิไม่อาจใช้เครื่องมือนี้ในการควบคุมสมองคนอย่างได้ผล ยิ่งต้องพึ่งเครื่องมือนี้มากเท่าไร "ข้อมูลทวนกระแส" ก็จะถูกใส่ลงไปในเครื่องมือนี้มากเท่านั้น

นี่เป็นหนึ่งใน "ข้อแย้ง" ภายในของระบบจักรวรรดิ (ผมต้องการใช้คำว่า contradiction แต่จะสร้างศัพท์ใหม่ว่า ปฏิวาท ก็ฟังเป็นแขกเกินไปจนต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที จะใช้ว่าความย้อนแย้งก็ดูเหมือนถูกใช้ไปในความหมายอื่นแล้ว จึงขอใช้คำว่าข้อแย้ง) ซึ่งนักคิดทั้งสองท่านที่เอ่ยข้างต้น เสนอไว้หลายประเด็นด้วยกัน

ไม่แต่เฉพาะการเปิดเผยเอกสารหวงห้ามของทางราชการเท่านั้น แต่ข้อมูลทวนกระแสกล่นเกลื่อนในสังคมของจักรวรรดิทุกสังคม โดยไม่เกี่ยวกับว่าสังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการด้วย (นั่นเป็นความคิดของสมัยใหม่ ไม่ใช่หลังสมัยใหม่) จักรวรรดิจะจัดการกับข้อมูลทวนกระแสนี้อย่างไร

การนำตัวผู้เปิดเผยข้อมูลขึ้นศาล ช่วยได้เพียงการข่มขู่มิให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง ซึ่งการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้ผล เพราะจะมีคนทำตามอีกอย่างแน่นอน อย่างน้อยนับตั้งแต่เอลสเบิร์กมา ก็ยังมีแมนนิงตามมา แต่การลงทัณฑ์ผู้ให้ข้อมูลทวนกระแส ไม่อาจทำให้ความจริงของฝ่ายจักรวรรดิน่าเชื่อถือด้วยความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้น เท่าที่ผมเข้าใจ ระบบจักรวรรดิยังไม่พบวิธีจัดการกับข้อมูลทวนกระแสอย่างได้ผล

การแข่งขันของข้อมูลตามกระแส (ของจักรวรรดิ) และข้อมูลทวนกระแส คือการแข่งขันกันของ "ความจริง" การแข่งขันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงว่าเรื่องไหนจริงและเรื่องไหนไม่จริง แต่ยังรวมถึงเรื่องที่จริงทั้งคู่ แต่อาจมองจากมุมที่แตกต่างกัน เรื่องที่จริงแต่บอกไม่หมด หรือเรื่องจริงที่บอกหมด แต่บอกจากสายตาของฝ่ายเดียว ฯลฯ

ดังนั้น พลังของข้อมูลทวนกระแสจึงไม่ได้อยู่ที่การบอกว่าฝ่ายจักรวรรดิโกหก แต่อยู่ที่ทำให้ความจริงของฝ่ายจักรวรรดิหมดความศักดิ์สิทธิ์ อาจจะจริงก็ได้ แต่เป็นจริงฝ่ายเดียว จริงที่บอกไม่หมด จริงที่ผิวไม่ใช่จริงที่เนื้อใน ฯลฯ



ผมไม่รู้จะยกตัวอย่างการตอบโต้ของฝ่ายจักรวรรดิต่อข้อมูลทวนกระแสได้อย่างไรให้ดีไปกว่าที่เกิดกับตัวผมเองในเมืองไทย

ผู้ใหญ่ฝ่ายกษัตริย์นิยมท่านหนึ่ง แสดงความเห็นต่อเนื้อความบางส่วนในวิกิลีกส์ที่เกี่ยวกับประเทศไทยว่า ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนเป็นข่าวลือซึ่งคนไทยก็เคยได้ยินมาแล้ว แต่ไม่มีทางรู้ว่าจริงหรือไม่

นี่คือการแข่งขันกันของความจริงอย่างที่ผมกล่าวแล้ว การผลักข้อมูลในวิกิลีกส์ให้เท่ากับข่าวลืออาจเป็นหนทางที่จะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของความจริงฝ่ายจักรวรรดิได้ และคงจะได้ผลหากคำกล่าวนี้ทำให้ผู้ฟังเลิกคิดที่จะไปอ่านวิกิลีกส์ แต่จะไม่ได้ผลอะไรเลย หากไม่อาจหยุดยั้งความอยากรู้อยากเห็นของผู้ฟังได้ (เช่น เอ๊ะ เขาลือกันว่าอย่างไรบ้างวะ กูยังไม่เคยได้ยินเลย)

และใครที่ลงมืออ่านวิกิลีกส์ก็จะพบว่า เราไม่อาจมองเนื้อหาเหล่านั้นเท่ากับข่าวลือที่ได้ยินได้ฟังจากวงสนทนาของคนชั้นกลางผู้มีการศึกษา อันเป็นสาวกของประชาธิปัตย์ได้ เพราะ 1/ บางเรื่องเป็นประสบการณ์จริงที่เกิดกับผู้เล่า (เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ หรือกงสุลอเมริกันประจำเชียงใหม่ หรือผู้บอกข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่สหรัฐ) 2/ มีเนื้อความหลายส่วนที่ไม่ตรงกับข่าวลือในวงสนทนา แม้จะออกไปในทิศทางไม่ต่างกันนัก 3/ ผู้ "ลือ" เนื้อหาเหล่านั้น ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเรื่องที่เขา "ลือ" มากเป็นพิเศษ

โดยสรุปก็คือ วิธีที่ฝ่ายจักรวรรดิใช้ในการแข่งขันกันของความจริง ไม่บรรลุผล กระทรวงไอซีทีจึงพยายามปิดกั้นข้อมูลในวิกิลีกส์ แต่โดยทางเทคโนโลยี ก็ตามไม่ทัน และใครที่อยากอ่านก็สามารถเข้าไปอ่านได้ไม่ยากอยู่นั่นเอง ศาลอาจลงโทษผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลทวนกระแสในวิกิลีกส์ด้วยโทษจำคุกเป็นเวลานาน

จักรวรรดิพ่ายแพ้ในสนามการแข่งขันกันของความจริง และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้กำลังอำนาจอย่างที่รัฐวินัยเคยใช้มาแล้ว นั่นคือ คุก, การเซ็นเซอร์อย่างเปิดเผย, วิทยุ, ไทยพีบีเอส และ สสส. จักรวรรดิกำลังเสื่อมสลายกลับไปเดินตามจักรวรรดินิยมซึ่งพังสลายไปแล้ว

ผมเดาไม่ถูกว่า คุณแมนนิงจะถูกพิพากษาอย่างไรในที่สุด หากจับเขาจำคุก ก็จะซ้ำรอยกับที่แมนเดลลา, โฮจิมินห์, ฮัตตา, คานธี ฯลฯ เคยโดนมาแล้ว และในที่สุดก็นำมาซึ่งการล่มสลายของระบบจักรวรรดินิยม แต่สหรัฐในฐานะประเทศแนวหน้าของระบบจักรวรรดิจะต้องคิดให้ออกว่า กลวิธีเอาชนะในสนามแข่งขันกันของความจริงที่มีประสิทธิภาพ

ควรทำอย่างไร ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะข้ามพ้นข้อแย้งภายในของระบบจักรวรรดิข้อนี้ลงได้ และยืดอายุของระบบจักรวรรดิต่อไปได้อีกช่วงหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น