Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

โปรเจ็กต์ยักษ์ 2.2 ล้านล้าน พลิกโฉม "คมนาคมไทย"

จากหน้า 2 มติชนรายวันฉบับวันที่ 9 มี.ค. 56

หมายเหตุ - ส่วนหนึ่งการเสวนาหัวข้อ "ยุทธศาสตร์และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ "ในงานนิทรรศการ "Thailand 2020 ก้าวใหม่ เชื่อมไทยสู่โลก" ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

การจัดนิทรรศการในครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นภาพรวมการดำเนินโครงการภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงความจำเป็นในการลงทุน จะชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยแย่ขนาดไหน เช่น ราง น้ำ ถนน อากาศ เป็นอย่างไร เราละเลยการลงทุนมานานแค่ไหน ตำแหน่งการแข่งขันของประเทศอยู่ตรงไหน ทำไมต้องลงทุน หากเข้าไปชมแล้วก็จะเข้าใจว่าทำไมต้องลงทุน หากไม่มีการลงทุนก็คงจะไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้าน และชาวโลกได้แน่นอน

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะเป็นการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท รวมระยะยาว 7 ปี ซึ่งนอกจาก พ.ร.บ.เงินกู้แล้ว ในภาพรวมของการลงทุนจะไม่ได้มีวงเงินเพียงแค่ 2 ล้านล้านบาท แต่จะมีวงเงินลงทุนถึง 4 ล้านล้านบาท โดยจะมีส่วนอื่นที่จะนำมาช่วยในการลงทุนด้วย เช่น งบประมาณลงทุนปกติของภาครัฐวิสหกิจ รัฐบาลต้องกู้ให้ การลงทุนของภาคเอกชน การลงทุนแบบพีพีพี ก็มีหลายส่วนประกอบกันแล้วรวมเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด

ในการจัดนิทรรศการจะบอกอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันถนนเป็นอย่างไร รางเป็นอย่างไร น้ำ อากาศ เป็นอย่างไร จะทำอะไรเพิ่มตรงไหน บริเวณไหน จะมีการลงทุนในเรื่องอะไรบ้าง ทางรางจะเป็นการก่อสร้างรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ รวม 3,000 กว่ากิโลเมตร ทำเส้นทางรถไฟใหม่อีก 3 เส้น รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) อีก 4 สาย วิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ ก็สามารถดูได้จากนิทรรศการนี้ เส้นทางรถไฟที่ทำเพิ่มในภาคเหนือ อีสาน และกลาง คือตรงไหน ก็มีรายละเอียดให้ดู รถไฟฟ้า 10 สายอยู่ตรงไหน ถนน 4 เลน ที่ทำเพิ่มอยู่ตรงไหน จะปรับปรุงใหม่ตรงไหน ถนนเชื่อมด่าน 12 โครงการอยู่ที่ไหน ถนนที่เรียกว่าเป็นรอยัลโคด อยู่ที่ไหนก็จะเจอ เพราะมีทุกโครงการในนี้

ยังมีการสรุปให้เห็นด้วยว่าลงทุนแล้วจะได้อะไร ลดต้นทุนเท่าไหร่ ชีวิตจะดีขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกันจะมีหน่วยคลินิกคมนาคม จะมีเจ้าหน้าที่รับฟังความติดเห็นของผู้ที่เข้าชมนิทรรศการรอรับฟังความคิดเห็นภายหลังเดินชมนิทรรศการด้วยว่า คิดอย่างไร มีข้อเสนออย่างไร ท่านจะถูกเวนคืนที่ดินสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ สามารถสอบถามได้เลย ถนนตัดผ่านบ้านท่านหรือเปล่า สถานีรถไฟฟ้าอยู่ตรงไหน ไปถามได้ หรือถนนที่บ้านเน่ามาก อยากให้ไปทำให้ใหม่เพิ่มก็บอกได้ ไปลงชื่อไว้ได้ ตรงไหนปรับปรุง ป้ายรถเมล์ไหนปรับปรุง สถานีรถไฟไหนปรับปรุง ไปบอกไว้ได้

นอกจากนี้ยังจะแยกเป็นรายภูมิภาคให้ทราบชัดเจนด้วยว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างไร เช่น กรุงเทพฯและภาคกลาง มีรถไฟฟ้า 10 สาย มีกี่สถานี มีอะไรบ้าง อยู่ใกล้บ้านท่านหรือเปล่า จะซื้อคอนโดซื้อตรงไหน ไปดูได้ หรือจะซื้อที่ดินตรงไหน เป็นต้น

นายสมชัย สัจจพงษ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ปัจจุบันขีดความสามารถการแข่งขันของไทยยังไม่ดีเท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่มานานแล้ว หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานที่กำหนดจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นอย่างแน่นอน มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ในขณะที่ภาพรวมการลงทุนจะช่วยให้รายได้ประชาชาติของไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ในเรื่องนี้กระทรวงการคลังได้ประเมินว่าหากมีการพัฒนาโครงสร้างของไทยตามแผนงานที่กำหนดจะช่วยเพิ่มรายได้ประชาชาติอีกประมาณ 1% ในช่วง 7-8 ปีข้างหน้า บางปีอาจจะมีรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น 1.5% หรือ 1.3% โดยเห็นว่าปีนี้จะเป็นเรื่องของการกำหนดรายละเอียดการกู้เงินเป็นหลัก ส่วนการนำเงินมาใช้คงจะยังไม่มาก แต่จะทยอยให้เกิดการจ้างงาน และส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังจะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง เมื่อการก่อสร้างระบบรางแล้วเสร็จ สามารถประหยัดพลังงาน และการนำเข้าเชื้อเพลิงต่างๆ จากต่างประเทศด้วย

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน คือ การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น เช่น การขยายถนน 2 เลน เป็น 4 เลน การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสในการทำมาหากินมากขึ้น จากการเดินทางที่สะดวกสบาย แต่ก็มีแง่ลบเหมือนกัน คือ ในเมื่อเป็นเรื่องของการก่อสร้างก็ต้องมีการนำเข้าวัสดุ อุปกรณ์ อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดดุลบ้าง แต่ถือเป็นภาพลบในเชิงบวก จึงไม่ส่งผลใดๆ ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

การดำเนินโครงการต่างๆ จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.16% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของไทย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการที่ประชาชนมีคุณภาพที่ดีขึ้นถือว่าคุ้มค่า นอกจากนี้ยังจะส่งผลดีต่อขีดความสามารถของประเทศที่จะมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนภาคการขนส่งลดลง จึงทำให้แนวโน้มการทำมาหากินของประชาชนดีขึ้น

การกู้เงินภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการกู้ปีเดียว 2 ล้านล้านบาท แต่ทยอยกู้ จะไม่ส่งผลต่อการบริหารหนี้สาธารณะ จะไม่สูงเกิน 50% แน่นอน ข้อดีของการออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบด้วย จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของไทย

ในส่วนของการดำเนินโครงการนั้น กระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินการชัดเจนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะดำเนินการได้เร็วหรือช้าเท่านั้นเอง โดยปีนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวคงจะยังไม่มาก แต่ปีหน้าการลงทุนคงจะออกเป็นชุดๆ จะช่วยให้คนไทยมีความสุขมากขึ้น โดยยืนยันว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวไม่สามารถใช้ภาษีของประชาชนอย่างเดียวได้ จะต้องใช้เงินกู้ด้วย เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่จะเป็นประโยชน์ในอนาคตของประเทศไทย

การก่อสร้างระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ หรือรถไฟความเร็วสูง จะมีเรื่องการร่วมทุนกับเอกชน หรือพีพีพีอยู่แล้ว จะช่วยให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจนในการดำเนินโครงการมากขึ้น รวมถึงการใช้นำรูปแบบกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์เข้ามาดำเนินการด้วย ปัจจุบันมีภาคเอกชนนำมาใช้แล้ว เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส มีหลายหน่วยงานที่เตรียมจะนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้เช่นเดียวกัน เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การไฟฟ้า และการประปา เป็นต้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ
มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ภาคเอกชนและหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับประชาชน ไม่กลัวเรื่องอะไรนอกจากกลัวว่าโครงการจะไม่เกิดขึ้นมากกว่า เพราะหากพิจารณาย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนจะเห็นว่าเคยมีแพคเกจการลงทุนในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง แต่ในที่สุดก็ไม่เกิด โดยครั้งแรกเป็นเรื่องของงบประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต่อมาเหมือนจะมีครั้งที่ 2 แต่ไม่มีอะไรอีก และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าต้นทุนการผลิตสินค้าของโรงงานต่างๆ ในปัจจุบันจะสูงกว่าเกาหลีใต้ประมาณ 5 เท่า โดยต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ 15% ของจีดีพี หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาทต่อปี และหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียยังมีต้นทุนที่ถูกกว่าไทย ดังนั้น หากไทยไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากจะเสียโอกาสเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการขัดขวางการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากไทยอยู่ตรงกลางที่ทุกประเทศจะต้องผ่าน เช่น หากทำถนนหรือระบบราง ถึงแม่สอด จังหวัดตาก ต้องต่อไปถึงพม่า และทางพม่าจะทำต่อเนื่องไปจะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบมากขึ้น

การลงทุนเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาไม่เคยมีดอกเบี้ยต่ำขนาดนี้ หากไทยไม่ทำตอนนี้จะสูญเสียโอกาสมาก ภาคเอกชนเกรงว่าโครงการจะไม่เกิดมากกว่าโครงการจะเกิดขึ้นมา แต่สิ่งที่กลัวมากที่สุดในตอนนี้ คือการเมือง ขณะเดียวกันทางกระทรวงการคลังต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างยั่งยืนเพื่อให้เกิดการสานต่ออย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

"การดำเนินโครงการภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ ยังไม่ง่าย เพราะกว่าจะจัดทำ พ.ร.บ.เสร็จ ประมาณไตรมาส 3 การลงทุนจริงคงจะเป็นไตรมาส 4 กว่าเงินจะออกจริงก็คงจะเป็นปีหน้า ใครบอกว่าเร็วคงไม่ใช่"

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14 มีนาคม 2556 เวลา 22:00

    เอาเงินจากไหนมาทำ หากกู้มามีแผนใช้คืนอย่างไร จะเป็นภาระแก่ลูกหลานไหม

    ตอบลบ