เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมนาน่า รีสอร์ท แอนด์สปา จ.เพชรบุรี สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้จัดโครงการสัมมนาสื่อมวลชน ประจำ ปี 2556 โดยมีการจัดสัมมนาและอภิปรายในหัวข้อ การรักษาดุลยภาพทางการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย โดยมีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเจษฎ์ โทณะวณิก ผู้อำนวยการมหาบัณฑิตนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมเสวนา
โดย นายนครินทร์ กล่าวว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาโดยเกิดในช่วงที่มีความผันแปรทางการเมืองสูง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 ฉบับ 2549 และ ฉบับปี2550 มีหน้าตาที่ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมาด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีความคลุมเครือจากทุกฝ่าย ซึ่งปัญหาถ้ามองจากการพัฒนาการเมือง การเมืองไทยในอดีตข้าราชการทหารเป็นใหญ่ การเมืองในระบอบดังกล่าว ข้าราชการประจำทำหน้าที่บริหารประเทศ ควบคุมกลไกนิติบัญญัติ ทำให้กฎหมายต่างๆ ต้องออกโดยข้าราชการประจำ จึงทำให้ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามาเป็นส่วนต่อขยายของกลุ่มข้าราชการ เป็นกลุ่มที่มาพึ่งพิงมาแสวงหาผลประโยชน์ แต่ขณะนี้การเมืองไทยเรากำลังเผชิญกับการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจโดยที่มีพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญ ซึ่งพรรคการเมืองที่มีนโยบายออกมาใหม่ๆตลอดก็จะสามารถระดมฐานคะแนนเสียงได้ด้วยตัวเอง
นายนครินทร์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าเห็นใจมากที่สุด เพราะสถานการณ์ท่ามกลางเวลานี้ พรรคการเมืองเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก เพราะฉะนั้นการรักษาดุลยภาพทางการเมืองต้องคำนึงด้วยกัน 2 เรื่อง คือดุลยภาพในแนวราบ หมายถึง การรักษาดุลยภาพระหว่างองค์กรกับองค์กรที่อยู่ในระนาบเดียวกัน และดุลยภาพในแนวดิ่ง หมายถึง การรักษาดุลยภาพในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและสิทธิของประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องอยู่ในดุลยภาพในแนวดิ่ง เพราะมีพรรคการเมืองและมวลชนที่คอยสนับสนุนพรรคการเมือง จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ค่อนข้างจะรักษาดุลยภาพและสภาพแวดล้อมทางการเมืองได้ยากขึ้น ดังนั้น มองว่า องค์กรทางการเมือง สถาบันการเมือง ควรเคารพกติกา ไม่ล้ำเส้นกับองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ
“หลังปี 2540 ศาลรัฐธรรมนูญเกิดเป็นแนวดิ่ง เป็นองค์กรสำคัญที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองและมวลชนที่เป็นผู้สนับสนุนเป็นเหตุที่ทำให้การรักษาดุลยภาพทางการเมืองเป็นไปได้ยาก เพราะความยุ่งยากในการรักษาดุลยภาพทางการเมืองในขณะนี้มาจากพรรคการเมืองที่มีมวลชนเป็นฐานราก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแนวร่วมฯหรือพันธมิตรของพรรคการเมืองต่างๆ มักจะไม่มีเหตุผลและไม่รับฟังผู้อื่น “นายนครินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานระหว่างการสัมมนา นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายนครินทร์ ถึงในเรื่องของบทบาทหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการให้เป็นที่ยอมรับจะต้องปรับบทบาทอย่างไร นายนครินทร์ ได้แนะนำว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีการปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับ ด้วยการเข้าถึงสื่อมวลชนให้มากขึ้น เพราะการตัดสินคดี ต้องมีการอธิบายและขยายความเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่าย ซึ่งตัวตุลาการจะพูดแต่ตัวคำวินิจฉัยอย่างเดียว คนฟังก็จะเข้าใจยาก ดังนั้นน่าจะมีกลไกมาช่วยสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจการพิจารณาคดีมากขึ้น
ขณะที่นายวสันต์ ได้แย้งขึ้น สาเหตุที่ประชาชนเกิดความเข้าใจคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายากขึ้นนั้น เกิดจากสื่อมวลชนไม่ได้มีการนำเสนอผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ ล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคชีวิตที่ดีกว่า และวินิจฉัยชี้ว่าพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา พ.ศ. 2535 มาตรา 41 ขัดกับรัฐธรรมนูญ นั้น ก็ไม่ได้มีการถูกนำไปเสนอเป็นข่าวแต่อย่างใด ทั้งที่เรื่องทั้งสองเป็นกรณีที่สำคัญ
ขณะที่ นายวสันต์ กล่าวชี้แจงว่า เราก็คำนึงถึงสังคมว่า เราไม่ควรมานั่งฟังคำวินิจฉัยของศาล แต่บางครั้งคำวินิจฉัยนั้นเข้าใจยาก เหมือนอย่าง “สุขเอาเผากิน” ดังนั้น คำวินิจฉัยต้องมีการอ่านในวันนั้น และเจ้าหน้าที่ก็ต้องยกร่างคำวินิจฉัย ณ วันนั้น ต้องเร่งทำคำวินิจฉัย ทำให้มีข้อผิดพลาดได้ง่าย ตนเห็นว่าคำวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องมีคำวินิจฉัยที่มีความจริงยุติก่อน และค่อยตามด้วยข้อกฎหมาย แต่ที่ผ่านมากลับนำเอาข้อกฎหมายขึ้นมาวินิจฉัยก่อน แล้วค่อยมาเป็นถกเถียงในเรื่องข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงไม่ต้องการเอาแบบ “สุขเอาเผากิน” อย่างกรณีคำวินิจฉัย คดีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการชิมไปบ่นไปเป็นต้น
เมื่อเราได้มติเสียงข้างมากในห้องประชุม เราก็เอาคำวินิจฉัยมาปรับปรุงและนำมาเขียนเป็นร่างคำวินิจฉัย ซึ่งจะดูเนียนกว่าเดิม และเร็วขึ้นด้วย เพราะหลังจากอ่านคำวินิจฉัยผู้ร้องและผู้ถูกร้องสามารถมาคัดลอกคำวินิจฉัยได้อีก 15 วันถัดมา ตรงกับวิธีการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงอ่านได้ทันและเร็วขึ้น เพราะมีการเตรียมการล่วงหน้า แต่ไม่ใช่เป็นการฟันธงไว้ล่วงหน้า ซึ่งเราจะมีการเขียนคำวินิจฉัยไว้หลายๆ แบบ หากผลคำวินิจฉัยที่มีการถกเถียงกันออกมาเป็นอย่างไร ก็ค่อยนำร่างที่ร่างไว้มาเขียนเป็นคำวินิจฉัย แต่ในบางครั้งคนเราหรือแม้กระทั่งตัวตุลาการแต่ละท่านก็มีความเข้าใจในคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงมีทีมโฆษกไว้ตอบคำถามสื่อมวลชน เพื่อให้หายข้อข้องใจ แต่สื่อมวลชนก็ต้องพยายามที่จะเข้าใจ
ขณะที่ นายเจตน์ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของศาลตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะอำนาจตุลาการเป็นอำนาจ 1 ใน 3 ฝ่ายของระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพียงแต่ว่าไม่ได้ที่มีมาในทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกับอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญต้องการรักษาดุลยภาพในระบอบประชาธิปไตยกับอำนาจอื่นๆนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องยอมรับกันว่า การทำหน้าที่ของตุลาการเป็นการทำหน้าที่ในทางเมืองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากปฏิเสธหรือยกตัวไว้เหนือการเมืองอำนาจตุลาการก็จะไม่มีทางคานอำนาจอื่นๆได้เลย ซึ่งการสร้างดุลยภาพก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เช่นเดียวกับประชาชนที่มักชอบมองการเมืองเป็นการสกปรก ไม่อยากเข้าไปคล่องแวะหรือไม่อยากยุ่งกับในทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงการเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนหลีกหนีไปได้ ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่าการเมืองคือเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย การเมืองคือการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งระบอบประชาธิปไตยมันมากนั้น การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การตรวจสอบการการใช้อำนาจรัฐก็เป็นเรื่องที่ต้องมีทุกวัน สิ่งเหล่านี้ถึงจะทำให้การรักษาดุลยภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้
นายเจตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ทุกคนต้องเคารพนั้น ก็ยังมีข้อความบกพร่องคือ เป็นกฎหมายที่ไม่เคยเกิดความศักดิ์สิทธิ์ได้จริง เพราะรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับของประเทศไทยมีอายุสั้น ดังนั้นการรักษาการดุลยภาพเป็นประเด็นที่สำคัญมาก และประชาชนควรจะต้องเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงจังด้วย ว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างไร และที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ประชาชนเปลี่ยนความคิดว่าประชาธิปไตยคือลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งได้ สิ่งเหล่านี้น่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาดุลยภาพของทุกฝ่ายในทางการเมืองเกิดขึ้นได้
นายวสันต์ กล่าวระหว่างงานสัมมนาตอนหนึ่งถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมา ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)บุกบ้านพักของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ซึ่งหากกขณะนั้นบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลและฝ่ายค้านจับมือกัน บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น เชื่อว่าตุลาการเสียงข้างมากคงจะใช้ดุลยพินิจไม่สั่งยุบพรรค เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะนั้นบ้านเมืองวุ่นวาย หาทางออกไม่เจอ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องวินิจฉัยเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย โดยยืนยันว่าการวินิจฉัยครั้งนั้นไม่ได้เป็นไปตามกระแสหรือตามอำนาจที่ใครกล่าวหา ทั้งนี้ก่อนการพิจารณาครั้งนั้นศาลฯได้มีการย้ายสถานที่ในการพิจารณาวินิจฉัยจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ(เดิม) เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของมวลชนที่มาปิดล้อมศาลเพื่อไม่ให้พิจารณาคดีดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้
นายวสันต์ ยังกล่าวชี้แจงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามมาตรา 68 หรือไม่ ว่า กว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะลงมติรับคำร้องใช้เวลาเถียงกันนานถึง 2 ชั่วโมงกว่า ซึ่งตอนแรกถ้าไม่รับสบายถ้ารับเป็นเรื่อง แต่เราก็กัดฟันรับไว้ก่อน เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง ไต่สวนและไม่มีไรก็จบ แต่ก็ยอมรับว่าบางครั้งศาลก็ทำงานชุ่ยเกินไป พอศาลรัฐธรรมนูญ สังเกตเลยได้ว่าช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับมันด่าคนรับทันทีเลย ไม่เห็นว่ามันจะด่าคนยื่น พอศาลอาญารับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญยื่นฟ้องแกนนำนปช.กับด่าคนยื่น นี่คือสองมาตรฐานชัดเจน
จากนั้นผู้ร่วมสัมมนาได้สอบถามนายวสันต์ถึงกรณีข้อกล่าวหาข้อครหาว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นตุลาการภิวัฒน์ โดยนายวสันต์ ยังได้ชี้แจง ว่า กรณีนี้หากไม่มีใครทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีคดีเข้ามาให้ศาลพิจารณา ตนก็พร้อมตกงาน แต่ปรากฎว่าก็มีการทำผิดกันมาเรื่อยๆ ยิ่งถ้าคนทำผิดเป็นคนของตัวเองก็อยากให้ศาลวินิจฉัยให้ชนะ แต่ถ้าไม่ใช่ก็อยากให้แพ้ อีกทั้งก็มีการกล่าวหาว่าการพิจารณาของศาลมีการตั้งธงมาก่อน ทั้งที่จริงๆแล้วกว่าที่จะตัดสินได้ เราใช้เวลานานมากพอสมควร ดังนั้นอย่ามองว่าศาลเป็นพวกของคนนี้เป็นพวกคนนั้น
“การยื่นร้องประเด็นน้ำท่วม ของแจก ต้องบอกว่าเวลาที่ชาวบ้านเดือดร้อน จะหวังให้ทุกคนทำถูกต้องตามเงื่อนไขไม่ไหวหรอก เราก็จำหน่ายคำร้องหมดทั้งคู่ เมื่อจำหน่ายเขาก็ว่าเราทั้งนั้น ไม่มีใครพอใจ จริงๆ ถ้าไม่มีใครทำผิด เราก็ไม่ต้องทำหน้าที่ เราก็สบาย เพราะฉะนั้นจะทำผิดกันทำไม สังคมอยากทำผิดแต่ไม่อยากถูกลงโทษ สังคมไทยมันเป็นอย่างนี้ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น