Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์จีน-อเมริกัน จะดำเนินไปในทิศทางใด

หน้า 6,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2556
โดย ชยานันต์ ศุกลวณิช Chayanandl@hotmail.com


ความเคลื่อนไหวใหม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา แม้เป็นพฤติกรรมที่คล้ายกับที่ปฏิบัติต่อโซเวียตในสมัยสงครามเย็น

แต่ในทางกลยุทธ์มีความแตกต่างกันถึง 3 ประเด็น

1.คือระบบเศรษฐกิจตลาด เป็นเหตุทำให้จีน-สหรัฐ มีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแยกกันไม่ได้เข้าทำนอง "น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า" ทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว เพื่อแก้ปัญหาของตนและของโลก

1.คือสมัยสงครามเย็น สหรัฐ-โซเวียตแย่งชิงความเป็นใหญ่ประจัญด้วยการทหาร

อีก 1 คือ วันนี้การแก้ไขปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและอิหร่าน สหรัฐต้องการให้จีนร่วมด้วยช่วยกัน ทำการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอม

การที่จีนเปิดประเทศ จุดประสงค์คือ ต้องการพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าให้ทัดเทียมกับสหรัฐและประเทศตะวันตก จึงมีแนวโน้มที่จะต้องเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน ตลอดจนการแย่งชิงตลาดการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงมีเหตุอันน่าเชื่อว่า บรรดากฎกติกาและข้อบังคับสากลที่เกี่ยวแก่ผลประโยชน์ของสหรัฐและประเทศตะวันตกจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเป็นปัญหาที่สหรัฐกังวล กังวลเพราะจีนกลายเป็นคู่แข่งที่กำลังมาแรง

จีนวันนี้กำลังอยู่ในห้วงเวลาก่อร่างสร้างตัว เป็นต้นว่า สร้างสังคมจีนให้เป็นสังคมชนชั้นกลาง ฟื้นฟูประเทศ สร้างสันติภาพและความร่วมมือกับนานาประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประเทศให้ร่ำรวย สร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะสร้าง "China Dream" ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะของจีน เป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องการลบภาพที่เกิดขึ้นเป็นเวลานับร้อยปีมาแล้ว

ภาพนั้นคือ จีนถูกต่างประเทศรุกราน เหยียดหยามดูหมิ่น ตลอดจนความล้าหลังและความยากจนของสังคมจีนให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่มีความร่ำรวย ทันสมัย และมีเอกภาพเยี่ยงอารยประเทศ

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จีนจึงต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพ อธิปไตย บูรณภาพ แห่งดินแดน ไม่สร้างศัตรู และไม่ทำตัวเป็นเจ้าโลก

โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีต่อสหรัฐ จีนต้องถนอมไว้เฉกเช่น "กัลยาณมิตร"

กระนั้น ปัญหาความขัดแย้งจีน-สหรัฐยังคงต้องเกิด เกิดเพราะเกี่ยวแก่ผลประโยชน์

แม้ "โอบามา 2" ผู้ที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ "จอห์น แคร์รี" ถูกจัดว่าเป็นพวกหัวไม่รุนแรงเอาความจริงไม่สร้างภาพ และมีความเข้าใจจีนดีกว่าผู้อื่นก็ตาม

แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศของ "แคร์รี" ก็คงต้องยึด "ผลประโยชน์" ของสหรัฐเป็นหลักและสอดคล้องกับนโยบายของประเทศด้วย

จีน-สหรัฐมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกันมหาศาล ก็เพราะผลประโยชน์ ความคิดต่างกันจึงต้องเกิดขึ้น ความขัดแย้งก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


และแน่นอนอีก 4 ปีของ "โอบามา" ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐคงไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เหตุการณ์ระหองระแหงยังต้องเกิดขึ้น อาการคุ้มดีคุ้มร้ายก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ก็เพราะคำว่า "ผลประโยชน์"

สาเหตุหลักที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์และอาการเช่นว่า

ประการสำคัญคือ เศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่ในภาวะลำบากถอนตัวไม่ขึ้น ฟื้นตัวไม่ได้ ฉะนั้น แนวโน้มที่ "โอบามา" จะใช้ลัทธิอนุรักษ์ทางการค้าจึงค่อนข้างสูง

ฉะนั้น ปัญหาความขัดแย้งทางการค้า จึงอาจเป็นเสียงระฆัง "ยกแรก"

สหรัฐจะต้องเล่นบทกดดันจีนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน และกล่าวหาจีนว่าครอบงำอัตราแลกเปลี่ยน ล้วนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทั้งนั้น

เพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องทำ และเป็นคำมั่นของ "โอบามา" ในตอนหาเสียงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

ในขณะที่จีนจะต้องเฉ่งสหรัฐเกี่ยวกับการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างต่อเนื่อง และยังดำรงอยู่โดยการพิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้เอง ทำให้เกิดความเสี่ยงในทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือ จีนจะต้องบังคับสหรัฐให้คำมั่นในประการความมั่นคงของทรัพย์สินจีน ไม่ให้เกิดความเสียหาย เพราะจีนเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ

ยังมีปัญหาเรื่องยุทธศาสตร์กลับสู่เอเชียแปซิฟิกของสหรัฐ ที่ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง มิได้ว่างเว้น ล้วนเป็นเรื่องที่ระคายเคืองต่อจีน

สภาคองเกรสยังได้โจมตีจีนในประเด็นที่อ่อนไหว อาทิ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ปัญหาทิเบต เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเก่าที่จีนเคยตอบโต้ไปว่าสหรัฐแทรกแซงกิจการภายใน

นอกจากปัญหาโดยตรงระหว่างจีน-สหรัฐ ยังมีปัญหาของฝ่ายที่ 3 อาทิ

ปัญหาไต้หวัน ปัญหาเกาะเตี้ยวอี๋ ฯลฯ

ปัญหาไต้หวันคือ ซื้อขายอาวุธ "โอบามา" ขายให้ไต้หวันล็อตสุดท้ายเมื่อไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 ถือเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่ขายอาวุธให้ไต้หวันมากที่สุด

มากเพราะว่า "โอบามา" เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าอาวุธ เมื่อได้รับเลือกก็ต้องให้พ่อค้าถอนทุน เพราะเป็น "สัญญาต่างตอบแทน"

การขายอาวุธให้ไต้หวันเป็นการกระทำละเมิด

ละเมิดต่อแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งมีสาระสำคัญพอสรุปได้ว่า

"เป็นการแสดงและยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อความสัมพันธ์ทางการทูต โดยห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแสวงหาอำนาจอันไม่ชอบธรรมในแถบเอเชียแปซิฟิก

ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่า ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน ประเทศอื่นไม่มีสิทธิแทรกแซง บรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐที่ติดตั้งอยู่ในฐานทัพไต้หวันต้องถอนกลับไปทั้งหมด

ทั้งสองประเทศยินยอมให้สหรัฐและไต้หวันมีความสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรม การค้าและธุรกิจอื่นที่มิใช่เป็นนิติกรรมสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ"

การขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน เป็นการทำนิติกรรมสัญญารัฐต่อรัฐ จึงขัดต่อแถลงการณ์

ความจริงจีนไม่ต้องระแวงมากไป เพราะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนอยู่แล้ว การที่สหรัฐขายอาวุธให้แก่ไต้หวัน จึงเป็นการเสริมกำลังกองทัพให้แก่จีนไปโดยปริยาย

และเชื่อว่า "โอบามา 2" ยังคงต้องขายอาวุธให้ไต้หวันอีก การที่เขาได้รับเลือกอีก 1 สมัย ก็เพราะเงินที่พ่อค้าอาวุธให้การสนับสนุน บุญคุณจึงต้องทดแทน

การันตีได้ว่างานเข้าจีนแน่ ไหนจะเรื่องสหรัฐขายอาวุธให้ไต้หวัน ไหนจะปัญหาแย่งชิงเกาะเตี้ยวอี๋กับญี่ปุ่น ขายอาวุธเป็นเรื่องเก่า แย่งชิงเกาะเป็นเรื่องใหม่ จึงเข้าทำนอง ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก

จีนต้องใจกว้างและต้องไม่ลืม "motto" ของจีนเอง คือ "ขันติ"

"มีขันติเพียงชั่วครู่ พายุและคลื่นก็สงบ ยอมถอยเพียงหนึ่งก้าว ทะเลกว้างนภาสดใส"

สหรัฐก็ต้องปฏิบัติต่อจีนอย่างพอเหมาะพอควร ละเว้นกระทำการเรื่องที่ระคายเคือง

อีก 4 ปีของ "โอบามา" มีปัญหารออยู่มาก ทั้ง 2 ประเทศจะต้องใช้วิธีการ "ถอยก้าว" เพื่อ "ก้าวต่อ" ความสัมพันธไมตรีจึงจะดำเนินไปได้ดีและดูสง่างาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น