Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

เปิดสำนวน396 โรงพัก ส่งถึงมือ ป.ป.ช.

หน้า 2,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 6 มีนาคม 2556



หมายเหตุ - นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 เรื่องการกล่าวโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการทุจริต กรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง มีลักษณะการกระทำเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 โดยมีนายธานินทร์ เปรมปรีดิ์ รองผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการทุจริต เป็นหัวหน้าคณะทำงานสอบสวน ต่อไปนี้เป็นการสรุปรายละเอียดรายงานการสอบสวนคดีพิเศษดังต่อไปนี้

คดีนี้ จากการสืบสวนสอบสวน สำนักงบประมาณได้เสนอความเห็นเพื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 27 พ.ย.2551 อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจแห่งชาติ (ทดแทน) เป็นโครงการผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2552-2554 และมีความเห็นว่า ตร.มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้เอง หากมีการกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานตามพื้นที่ที่ดำเนินการจะทำให้โครงการสำเร็จได้เร็วขึ้น

ต่อมา ตร.ทำหนังสือลงวันที่ 9 ม.ค.2552 ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ขออนุมัติดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี อนุมัติหลักการและให้นำเสนอ ครม. ตร.ยังมีหนังสือลงวันที่ 29 พ.ค.2552 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบแนวทางการจัดจ้างโครงการนี้ วงเงิน 6,672 ล้านบาท โดยให้การดำเนินการประกวดราคาเปิดกว้างและเปิดโอกาสให้ผู้รับจ้างในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมเสนอราคาด้วยความเป็นธรรม เห็นสมควรจัดจ้างโดยส่วนกลางแบบรวมการครั้งเดียว แยกเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) ซึ่ง นายสุเทพได้ให้ความเห็นชอบ

จากนั้น ตร.ทำหนังสือลงวันที่ 16 มิ.ย.2552 แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) งานก่อสร้าง และคณะกรรมการกำหนด ร่างฯ มีมติเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2552 การก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง ให้เป็นไปตามแบบแผนการจัดหาในห้วงเวลาที่กำหนด ให้แยกรายละเอียด เรียงแต่ละภาค 1-9 พร้อมระบุคุณสมบัติและวงเงินให้ชัดเจน เป็นการประมูลแต่ละภาคๆ

ต่อมา ไม่มีผู้ใดวิจารณ์หรือให้ข้อเสนอแนะ ตร.จึงมีหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอความเห็นชอบประกวดราคาโครงการ ลงวันที่ 22 ต.ค.2552 ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็นการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ดังนี้

ภาค 1 จำนวน 33 หลัง ผลงานก่อสร้างวงเงินไม่น้อยกว่า 266.5 ล้านบาท, ภาค 2 จำนวน 29 หลัง 240 ล้านบาท, ภาค 3 จำนวน 61 หลัง 431 ล้านบาท, ภาค 4 จำนวน 99 หลัง 811 ล้านบาท, ภาค 5 จำนวน 48 หลัง 363.5 ล้านบาท, ภาค 6 จำนวน 52 หลัง 430 ล้านบาท, ภาค 7 จำนวน 21 หลัง 179 ล้านบาท, ภาค 8 จำนวน 26 หลัง 288.5 ล้านบาท และภาค 9 จำนวน 27 หลัง 296 ล้านบาท

กระทั่ง ตร.ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 พ.ย.2552 เรียนนายกรัฐมนตรี ขอเสนอยกเลิกการจัดจ้างโดยส่วนกลาง แบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค เป็นการจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคาร (396 หลัง) รวมกันในครั้งเดียว อ้างว่า การประกวดราคาจัดจ้างในครั้งเดียว เป็นการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนทุกรายเข้าเสนอราคาและแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม ทำให้ผู้ประกอบกิจการที่มีความพร้อมและมั่นคงทางการเงิน เสนอราคาได้ต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ทางราชการกำหนดไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณของทางราชการและดำเนินการก่อสร้างได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ตร.สามารถบริหารจัดการด้านสัญญากับผู้ประกอบการรายเดียวหรือกลุ่มผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ที่ได้เสนอราคาร่วมกันในลักษณะกิจการร่วมค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ตร.จึงเสนอเป็นการจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว ส่วนโครงการก่อสร้างเรือนแถวตำรวจชั้นประทวน จำนวน 227 แห่ง ในวงเงิน 771.8 ล้านบาท ให้ตำรวจภูธรแต่ละจังหวัดเป็นผู้จัดจ้าง ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติตามที่ ตร.เสนอ

ก่อนหน้านี้ บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ร่วมกับบริษัทอื่นรวม 8 บริษัท ยื่นหนังสือลงวันที่ 13 พ.ย.2552 คัดค้านต่อ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อย่าได้ลงนามอนุมัติหรือเห็นชอบการจัดจ้างแบบรวมการก่อสร้างในสัญญาเดียว

แต่ต่อมา ตร.ได้ดำเนินการต่อ มีผู้มายื่นข้อเสนอประกวดราคา 5 ราย ปรากฏว่า บริษัท พีซีซีฯ กลับเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ 5,848 ล้านบาท

หลัง ตร.ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างกับบริษัท พีซีซีฯ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2554 ทางคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง ได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2554 ถึง ตร. ว่า บริษัท ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร้องเรียนการประมูลงานโครงการใหญ่นี้ มีข้อสังเกตว่า ครม.มีความเห็นตามที่สำนักงบประมาณเสนอการกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานตามพื้นที่ แต่ ตร.ไม่ทำตามมติ ครม. อีกทั้งเป็นสัญญาเดียว ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารสัญญา หากผู้ว่าจ้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างได้พร้อมกันทั้ง 396 แห่ง

จากข้อสังเกตทางการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวข้างต้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

1.การที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ความเห็นชอบการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารฯ แยกเสนอราคาเป็นรายภาค แต่ต่อมาได้อนุมัติจัดจ้างก่อสร้างรวมกันในครั้งเดียว เป็นการกระทำที่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่

กรณีนี้ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากขั้นตอนดังกล่าวเป็นหน้าที่ของข้าราชการประจำที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบฯ จนได้ผู้รับจ้าง จากนั้นจึงจะเสนอให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ แต่กรณีนี้ได้รายงานให้ฝ่ายการเมืองอนุมัติรับทราบตั้งแต่เริ่มขั้นตอนกระบวนการ ประกอบกับ หากอ้างว่าข้าราชการประจำเสนอมา เหตุใดจึงไม่ทักท้วงตั้งแต่ต้น กลับให้ความเห็นชอบในครั้งแรก และยกเลิกและอนุมัติให้ดำเนินการในครั้งที่ 2 ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวอ้างเพียงพอ การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157

2.การที่นายสุเทพให้ความเห็นชอบและอนุมัติให้จัดจ้างบริษัท พีซีซีฯ เป็นผู้ก่อสร้าง เป็นเงิน 5,848 ล้านบาท เป็นการกระทำที่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่

กรณีนี้เมื่อพิจารณาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 65 กำหนดให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดมีอำนาจในการสั่งซื้อสั่งจ่ายเกิน 100 ล้านบาท จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบ

3.การที่นายสุเทพเห็นชอบการจัดจ้างโครงการก่อสร้างฯ ที่ต่อมาอนุมัติให้จัดจ้างก่อสร้างรวมกันในครั้งเดียว เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 หรือไม่

เห็นได้ว่า พฤติการณ์ดังกล่าวน่าเชื่อว่าเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองของข้าราชการการเมือง เป็นการแทรกแซงการดำเนินของข้าราชการประจำ การที่ชี้นำสั่งการให้ข้าราชการประจำในการกำหนดวิธีการจัดหา อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 กล่าวคือ การกำหนดเงื่อนไขโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม โดยมีพยานบุคคลและพยานหลักฐานเชื่อมโยงสนับสนุน ดังนี้

(1) สำนักงบประมาณ ที่เสนอความเห็นให้ ครม. หากมีการกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปยังหน่วยงานตามพื้นที่จะทำให้โครงการสำเร็จเร็วขึ้น ประกอบกับคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีความเห็นไปยัง ตร. การไม่ดำเนินการตาม ครม.ได้กำหนดไว้ เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามมติ ครม. อีกทั้งนายสุเทพไม่ดำเนินการตามมติ ครม.แต่ให้ข้าราชการฝ่ายประจำเสนอเรื่องให้ฝ่ายการเมืองอนุมัติและไม่มีการทักท้วง

(2) เดิม ตร.เสนอจัดหาเป็นรายภาค ต่อมาได้ยกเลิก และมีการอนุมัติให้จัดจ้างก่อสร้างรวมกันในครั้งเดียวกัน เป็นการกีนกัดมิให้ผู้ประกอบการรายเล็กมีสิทธิเข้าเสนอราคาได้

(3) การลงประกาศร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) เดิม ในเว็บไซต์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลาง ไม่มีผู้ใดวิจารณ์ แต่เมื่อนำร่างทีโออาร์ใหม่ลงประกาศ ปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับการรวมสัญญาเดียว จำนวน 13 ราย แต่ ตร.ยังดำเนินการตามร่างทีโออาร์ที่ให้จัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว

(4) บริษัท พีซีซีฯ รวมกับบริษัทอื่น รวม 8 บริษัท ได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ว่าอย่าได้ลงนามอนุมัติหรือเห็นชอบการจัดจ้างแบบรวมการก่อสร้างในแบบสัญญาเดียว ซึ่งกลับอนุมัติให้ ตร.จัดจ้างแบบรวมการก่อสร้างในแบบสัญญาเดียว

(5) การอนุมัติให้จัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่ง จัดจ้างก่อสร้างรวมกันในครั้งเดียว แต่มีการอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารเรือนแถวตำรวจชั้นประทวน จำนวน 227 แห่ง วงเงิน 771.8 ล้านบาท โดยให้ตำรวจภูธรจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการจัดจ้างกันเอง ซึ่งขัดกันและไม่สมเหตุผลที่กล่าวอ้างไว้

(6) คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2554 เคยได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเปลี่ยนมาเป็นจัดจ้างก่อสร้างเป็นสัญญาเดียว

(7) จากคำให้การของพยานรายหนึ่ง ทราบเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการนี้ โดยมีการแสดงหลักฐานของบุคคลคนหนึ่งที่โชว์เอกสารเห็นลายเซ็นข้าราชการฝ่ายการเมืองคนหนึ่งในที่ประชุมของบริษัทแห่งหนึ่ง

ดังนั้น การให้ความเห็นชอบและอนุมัติของนายสุเทพเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยระเบียบฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการที่ผู้ประกอบการ รวม 8 บริษัท ยื่นหนังสือคัดค้านการจัดจ้างแบบรวมการก่อสร้างในสัญญาเดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ได้มีการสั่งการแก้ไขแต่ประการใด อันเป็นสาเหตุทำให้อาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ยังไม่แล้วเสร็จ และ ตร.ได้รับความเสียหาย ไม่มีสถานที่ ทำงาน ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ

ส่วนการจัดหารวมเป็นสัญญาเดียว เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรณีนี้มีการรายงานให้ฝ่ายการเมืองอนุมัติรับทราบตั้งแต่เริ่มขั้นตอนกระบวนการจัดหา เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และขัดต่อมติ ครม. ซึ่งการ

กระทำดังกล่าว เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ดังนั้น จึงเห็นสมควรส่งสำนวนการสอบสวนให้ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ อาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชนร่วมสนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อไป
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น