Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

เปิดแผนพัฒนาระบบรางทั้งประเทศ

ข้อมูลจาก Voice TV

                 

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มากถึงร้อยละ 80 เป็นการลงทุนในระบบราง ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นการสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคม ยังมีแผนลงทุนระบบรางอีก 2  ประเภทด้วย 



เมกะโปรเจคมูลค่า 2 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนที่ถือเป็นการเปลี่ยนประเทศครั้งสำคัญ โดยเฉพาะระบบการขนส่งที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงเพื่อลดต้นทุนและบรรเทาผลกระทบ จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสัดส่วนงบประมาณ ร้อยละ 81.4 ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะนำไปลงทุนก่อสร้างระบบราง ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 15 จะใช้ในการปรับปรุงถนน ร้อยละ 1.5 จะใช้ในการปรับปรุงระบบขนส่งทางน้ำ และร้อยละ 0.5 เพื่อการพัฒนาด่านการค้าชายแดน ที่เหลืออีกร้อยละ 1.5 กันไว้เพื่อสำรองจ่าย

การรถไฟแห่งประเทศไทย  ถือเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการเปลี่ยนประเทศด้วยระบบขนส่งทางราง หลังจากที่ผ่านมา การรถไฟฯ เป็นหน่วยงานที่ไม่มีการพัฒนาด้านการให้บริการภาคประชาชนมานานหลายสิบปี

โดยในครั้งนี้ การรถไฟฯ จะใช้งบประมาณปรับปรุงระบบราง 3 ประเภท ได้แก่
- รถไฟความเร็วสูง วงเงิน 4 แสน 8 หมื่นล้านบาท
- ระบบรถไฟสายใหม่ วงเงิน 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท
- รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง วงเงิน 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท

รถไฟทางคู่ ที่หลายคนเคยได้ยินเรื่องนี้บ่อยครั้ง คือ การเพิ่มรางรถไฟอีก 1 เส้น คู่ขนานไปกับรางรถไฟเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้รถไฟที่วิ่งอยู่เดิม สามารถวิ่งสวนทางกันได้ คล้ายกับเลนของรถยนต์ ที่มีทั้งขาไปและกลับ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะความเร็วของรถไฟ จากเดิมที่ใช้ความเร็ว ในการขนส่งผู้โดยสารที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเปลี่ยนมาใช้รางคู่ จะทำให้รถไฟเร่งความเร็วได้ถึง 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

และในอีก 7 ปีข้างหน้า  ที่การรถไฟจะเปลี่ยนระบบรางเดียวให้เป็นรางคู่ จะทำให้รางรถไฟมีระยะทางเพิ่มขึ้น รวม มีระบบรางคู่เพิ่มขึ้น สามารถเดินรถไฟผ่านจังหวัดต่างๆ ได้มากขึ้น สามารถเพิ่มขบวนเที่ยววิ่งต่อวันได้มากขึ้น 4 เท่า สามารถขนส่งสินค้าได้อีกกว่าเดิมเกือบ 5 เท่า  และบรรทุกผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านคนต่อปี จากเดิมที่ 45 ล้านต่อปี

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีว่า หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาภายในเดือนมีนาคมนี้ การรถไฟพร้อมเดินหน้าโครงการในความรับผิดชอบทันที ทั้งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ซึ่งคาดว่า การหาผู้รับเหมาทั้ง 2 โครงการ จะทำได้ภายในปีนี้ โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟรางคู่รวม 6 เส้นทาง ระยะทางว่า 4,000 กิโลเมตรทั่วประเทศนั้น คาดว่าจะเปิดประกวดราคาแบบอี อ๊อกชั่นได้ภายในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้ ลงนามสัญญาการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีเช่นกัน

ตามแผนงาน การรถไฟฯได้บรรจุ 28 โครงการไว้ใน 6 กลุ่มการลงทุน วงเงินรวมกว่า 1 ล้าน 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62.13 ของวงเงินงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ซึ่งประกอบด้วย แผนลงทุนระยะเร่งด่วน  จำนวน 9 โครงการ เช่นการปรับปรุงอุปกรณ์ของรถไฟทั้งหมด และโครงการระบบรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 799 กิโลเมตร เช่นสายลพบุรี-ปากน้ำโพ สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน และสายประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2560

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างทางคู่  ระยะที่ 2 ที่วางแผนว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 อีก 6 โครงการ รวมระยะทาง กว่า 1,300 กิโลเมตร เช่น สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ สายชุมพร-สุราษฎร์ธานี สายสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ 339 กิโลเมตร สายขอนแก่น-หนองคาย

นอกจากเพิ่มรางรถไฟให้เป็นรางคู่แล้ว ยังมีโครงการสร้างทางรถไฟใหม่ แบบทางคู่ อีก 3โครงการ ระยะทาง 696 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จในปี 2563 เช่นกันได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สายบ้านไผ่-นครพนม กิโลเมตร และสายภาชี-อำเภอนครหลวง

นอกเหนือจากการลงทุนระบบรางให้เป็นแบบรางคู่ ตาม ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทแล้ว ยังต้องมีการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ 20 หัว และต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรเดิมที่ยังสามารถใช้การได้อยู่อีก 40 หัว จากจำนวนหัวรถจักรทั้งหมดที่มีอยู่ 200 หัว นอกจากนี้ยังต้องจัดซื้อตู้โดยสารใหม่อีก 115 ตู้ ด้วย ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณประจำปีตามปกติ

การพัฒนาระบบรถไฟเดิมให้มีประสิทธิภาพ ไปพร้อมกับการสร้างระบบรถไฟแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างรถไฟความเร็วสูง จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในด้านการค้า การลงทุน และคุณภาพชีวิตประชากรในประเทศที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยยืนยันว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ตัวเลขเศรษฐกิจ ที่จะเห็นเป็นรูปธรรม คือ คนไทยจะมีค่าขนส่งที่จะลดลงร้อยละ 2 ในช่วงของการลงทุน มูลค่า GDP  จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1 ต่อปี และการจ้างงานที่จะเกิดขึ้น ประมาณ 500,000 อัตรา ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง และเกิดการหมุนเวียนภายในประเทศอย่างเข้มแข็ง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น