จาก ข่าวสดออนไลน์
การเมืองไทยมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งเริ่มจากนายเกษม นิมมลรัตน์ ยื่นลาออกจากส.ส.เชียงใหม่ โดยมีเบื้องหลังเป็นที่รับรู้กันว่า เพื่อเปิดทางให้ "เจ๊แดง"เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ลงสมัคร
รีเทิร์นการเมืองเต็มตัว
เข้ามาบริหารจัดการงานในสภาในจังหวะที่รัฐบาล "น้องปู" ตั้งท่าเตรียมลุยงานใหญ่หลายต่อหลายเรื่อง
แต่ที่ทำให้การรีเทิร์นของนางเยาวภา ถูกขยายความไกลไปถึงเรื่อง"นายกฯสำรอง"นั้น
มีสารตั้งต้นจากกระแสข่าวน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากเก้าอี้
จากคดีความ 3-4 เรื่องที่อยู่ในขั้นตรวจสอบชี้มูลของป.ป.ช.
โดยเฉพาะการแจ้งบัญชีทรัพย์สินในส่วนของการปล่อยกู้ 30 ล้านบาทให้บริษัทที่มีสามีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงปี 2549-2550
ยังไม่นับปัจจัยร้อนแรงหลายเรื่องที่โคจรมาบรรจบกันทั้งโดยนัดหมายและมิได้นัดหมาย
ไม่ใช่เฉพาะแต่เลขาธิการสมช. ในระดับชาวบ้านทั่วไปก็มองออกว่าการเมืองช่วงรอยต่อเดือนมี.ค.-เม.ย. จะมีความร้อนแรงเป็นพิเศษไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อกัน 300 กว่าคนยื่นแก้ไขแบบรายมาตรา ประกอบด้วย มาตรา 68, 190, 237 และมาตรา 117
โดยแยกยื่นเป็น 3 ร่างผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมร่วมสองสภา
เพื่อกระจายความเสี่ยงกรณีฝ่ายต่อต้านงัดมุขเดิมๆ ขึ้นมาเล่น ด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความซ้ำรอยมาตรา 291 จนแผนการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องหยุดชะงักกลางคัน
ไม่ว่ากรณีพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่ผ่านครม.เตรียมเข้าสู่สภาสัปดาห์หน้า
ที่พรรคฝ่ายค้านตั้งป้อมรอไว้อยู่แล้ว
ประเด็นร้อนถัดมาคือมีคิวที่ตัวแทนไทยต้องเข้าแถลงชี้แจงต่อศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหาร ช่วงวันที่ 15-19 เม.ย.
ที่เชื่อว่าจะเป็นประเด็นให้กลุ่มการเมืองนอกสภาออกมาชุมนุมคัดค้านอีกรอบ
ด้านเศรษฐกิจก็มีกรณีเงินบาทแข็งค่า เกินจริง จนกระทบต่อภาคการส่งออก รายได้หลักของประเทศ
ตลอดจนยุทธการทวงคืน ปตท. ที่สร้างกระแสกันมาพักใหญ่ โดยพยายามโยงเรื่องเข้าหาพ.ต.ท.ทักษิณและคนในตระกูลชินวัตร
ปัญหาไฟใต้ที่ยังเกิดเหตุรุนแรงไม่หยุดหย่อน ระหว่างรอการเจรจาตัวแทนทางการไทยกับกลุ่มผู้ก่อการ ที่จะมีขึ้นวันที่ 28 มี.ค.
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้บีบรัดให้พรรคเพื่อไทยต้องเร่งหาทางเสริมทัพรับมือโดยด่วน
ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าศึกครั้งนี้เป็นศึกใหญ่ ไม่ธรรมดา คือการที่"นายใหญ่"ลงมาบัญชาการรบด้วยตัวเอง
ดังที่เห็นจากการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์เข้ามายังที่ประชุมทีมยุทธศาสตร์ และที่ประชุมส.ส. พรรคอย่างถี่ยิบในช่วงหลัง
ประเด็นหลักๆ คือ การปฏิเสธว่า นางเยาวภา ไม่ใช่นายกฯสำรอง ตามที่พรรคฝ่ายตรงข้ามพยายามกุข่าวเพื่อทำลายเสถียรภาพความมั่นคงรัฐบาลยิ่งลักษณ์
การกลับมาของนางเยาวภา แค่เข้ามาช่วยงานของพรรคในสภา กวดขันดูแลไม่ให้ส.ส.โดดประชุม จนเกิดปัญหาสภาล่มซ้ำซาก
พ.ต.ท.ทักษิณยังสั่งชะลอปรับครม.ปู 4 โดยจะปรับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างเฉพาะโควตาพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนพรรคเพื่อไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น
หลังการสไกป์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ยังส่งผลให้ นายวรชัย เหมะ ส.ส.เสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ได้ประกาศเลื่อนการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ 42 ส.ส.ออกไป เพื่อพรรคจะได้ไม่ต้องเปิดศึกหลายด้าน
เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการสื่อสาร ล่าสุดพ.ต.ท.ทักษิณได้เรียกแกนนำพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งบินไปติวเข้มที่ฮ่องกงเมื่อสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมา
เพื่อวางเกมรับมือกรณีพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาวันที่ 28-29 มี.ค.
และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่างที่ต่อคิวเข้าที่ประชุมร่วมสองสภาวันที่ 1-2 เม.ย.นี้
พรรคเพื่อไทยยังตั้งทีมวอร์รูมขึ้นมา 3 ชุด รับมือประเด็นร้อน 3 เรื่องใหญ่ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และกรณีปราสาทพระวิหาร
มีมือเก๋าเกมจากอดีตบ้าน 111 เป็นหัวหน้าทีมวอร์รูม
ในส่วนพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน มีการเปิดฉากแลกหมัดกับฝ่ายค้านแบบซึ่งหน้า ผ่านการจัดนิทรรศการ"บทเรียนประเทศไทย ปฏิบัติการใคร? เข้มแข็ง"
แสดงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินตามพ.ร.ก.และพ.ร.บ.เงินกู้ 8 แสนล้านในโครงการไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายโครงการพบส่อไปในทางทุจริต
เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการชุมชนพอเพียง การจัดซื้อครุภัณฑ์กระทรวงสาธารณสุข โครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง เป็นต้น
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการตอบโต้ในแง่ที่ว่า สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เคยยื่นแก้ไขรัฐธรรม นูญรายมาตรา ในประเด็นที่เกี่ยว ข้องกับการเลือกตั้งจนสำเร็จ
โดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมขณะนั้น ที่มองทะลุถึงแก่นแท้ว่า เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในการสร้างความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งที่มีขึ้นหลังจากนั้น
สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารที่ขัดแย้งกับกัมพูชา จนกลายเป็น คดีความขึ้นไปคาอยู่ในศาลโลก
ข้อโต้แย้งก็คือชนวนเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยแค่เข้ามารับเคราะห์กรรมแทนเท่านั้น
จะเหลือก็แต่ปัญหาความไม่ลงรอยกับองค์กรอิสระบางแห่งที่เป็นกลไกให้กับการเมืองฝ่ายตรงข้าม
จ้องแต่จะ"สอย"นายกฯยิ่งลักษณ์ลงจากเก้าอี้
ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนายใหญ่และแกนนำรัฐบาลเพื่อไทย
ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์จะยืนยันขอความเป็นธรรม เพราะมั่นใจว่าชี้แจงข้อมูลทรัพย์สิน ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอน และอ้อนขอกันตรงๆ ว่าอยากได้รับโอกาสอยู่ทำงานครบเทอม 4 ปี
แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย ที่ดวงไม่ค่อยสมพงศ์กับบรรดาองค์กรอิสระ ดูได้จากกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช และกรณีถูกสั่งยุบพรรค 2 หนซ้อน
ตรงนี้ต่างหากเป็นปมน่าวิตกอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น