Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

ส่องประชาธิปไตยไทย - อเมริกา : ฟ้ากับดิน(ตอนที่ 3)

จาก RED POWER ฉบับที่ 33 เดือนกุมภาพันธ์  2556
โดย ส.ส.ดร.สุนัย  จุลพงศธร




6. ประวัติทูตไทยบอกความในการเมืองไทยผูกติดกับอเมริกา

                   สถานทูตไทยในวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นประเด็นที่ต้องกล่าวถึงในการไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เพราะไม่เพียงแต่คณะของผมที่ได้รับบริการข้อมูลการเมืองอเมริกันเป็นอย่างดีจากสถานทูตแล้วยังมีผลพลอยได้ทำให้รู้ถึงการเมืองไทยที่ผูกติดกับอเมริกามายาวนาน รวมถึงการรัฐประหารที่เป็นหนามยอกอกสังคมไทยในอดีตกว่า 50 ปีที่ผ่านมา    (ในอนาคตยังไม่แน่จะต้องมีรัฐประหารอีก) ล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญบอกว่ารัฐบาลอเมริกันให้ความเห็นชอบด้วยทุกครั้ง
 
                   ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่เกิดใหม่มีประวัติศาสตร์ที่สถาปนาการเป็นรัฐจากการต่อสู้ปลดปล่อยตัวเองเพื่อเอกราชจากอังกฤษมาประมาณ 200 กว่าปี (ตรงกับยุคต้นของราชวงศ์จักรี) ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเทศมหาอำนาจหรือเป็นรัฐจักรวรรดิหลังเพื่อนหมดและเป็นจักรวรรดิที่ไม่เคยมีกษัตริย์มาก่อนเลยเมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และรัสเซีย ดังนั้น อเมริกาจึงเป็นมหาอำนาจเดียวที่ไม่เคยมีประเทศเมืองขึ้นเป็นอาณานิคมอย่างจักรวรรดินิยมในสมัยโบราณที่กล่าวถึงข้างต้น (แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศจักรวรรดินิยมแผนใหม่ที่สร้างอาณานิคมทางเศรษฐกิจขึ้นภายหลัง ส่วนรายละเอียดอาณานิคมแผนใหม่จะยังไม่ขอกล่าวในที่นี้) อีกทั้งเวลาแห่งประวัติศาสตร์และปรัชญาของรัฐอเมริกาก็ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่อยู่ในฐานะที่จะออกตระเวนล่าเมืองขึ้นเหมือนจักรวรรดิโบราณแบบอังกฤษและฝรั่งเศสได้ ดังนั้นรัฐไทยในอดีตซึ่งเป็นรัฐระบอบศักดินาที่ผู้ปกครองเป็นกษัตริย์และถูกจักรวรรดินิยมอังกฤษและจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเข้ามาเขมือบกินดินแดนจึงวางใจกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพวกฝรั่งจมูกโด่งมากกว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส ดังนั้นราชวงศ์จึงมีนโยบายหวังพึ่งพิงที่จะใช้รัฐฝรั่งพันธุ์อเมริกันมาถ่วงดุลกับรัฐฝรั่งพันธุ์อังกฤษ และพันธุ์ฝรั่งเศส ที่มีเป้าหมายมาล่าเมืองขึ้นโดยตรงและก็เขมือบดินแดนไทยไปไม่น้อยที่ทำให้ราชสำนักไทยต้องเจ็บปวดกับการเสียดินแดนและก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังมาถึงวันนี้ เช่นกรณีข้อพิพาทเขาพระวิหาร เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การเข้ามาในรัฐสยามของฝรั่งพันธุ์อเมริกันจึงได้รับการต้อนรับจากราชสำนักราชวงศ์จักรี จึงมีประวัติศาสตร์ของฝรั่งพันธุ์อเมริกันเข้ามาในยุคต้นของราชวงศ์จักรีที่มีชื่อเสียงเป็นหมอสอนศาสนา เช่น พวกมิชชันนารีหลายคนโดยเฉพาะคนที่นำเทคโนโลยีด้านการแพทย์และด้านการพิมพ์เข้ามาในกรุงเทพฯ เช่น หมอบรัดเลย์ หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า หมอปลัดเล โดยนำเสนอการแพทย์ด้านการผ่าตัด เช่น การตัดขาในกรณีที่ชาวสยามได้รับอุบัติเหตุซึ่งเป็นที่ตกใจกันมากเพราะในขณะนั้นใครขาหักเราก็มีแต่หมอพระเสกน้ำหมาก ขากน้ำมนต์ ทาน้ำมัน เท่านั้น และหมอปลัดเลย์ท่านนี้ก็เป็นคนเปิดหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ชื่อหนังสือพิมพ์ว่า บางกอกรีคอร์เดอร์

หมอบรัดเลย์ หรือ แดน บีช แบรดลีย์
 
เมื่อครั้งที่ผมมีโอกาสเดินทางไป วอชิงตัน ดี.ซี. กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านอดิศัย โพธารามิก ในคณะของท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในปี 2545 ได้มีโอกาสไปพักบ้านพักรัฐบาลที่อยู่ข้างทำเนียบรัฐบาลของอเมริกาที่ชื่อไวท์เฮ้าส์ ได้ฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์และได้เห็นหลักฐานเอกสารทางการทูตแล้วยังตกใจว่าวิเทโศบายด้านต่างประเทศของราชสำนักไทยมีความลึกซึ้งและเอาใจอเมริกามานานแล้ว ดังนั้นเมื่อท่านผู้อ่านได้ทราบเรื่องที่จะเล่านี้ก็จะรู้ซึ้งว่า ทำไมการเมืองไทยจึงผูกพันกับอเมริกามายาวนานถึงวันนี้

                   เมื่อครั้งสหรัฐอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษแล้ว ต่อมาในสมัยประธานาธิบดี   อับราฮัม ลินคอล์น ก็เกิดสงครามกลางเมืองปลดปล่อยทาสระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ซึ่งขณะนั้นอเมริกาแตกเป็น 2 ฟาก ลินคอล์นเป็นประธานาธิบดีอยู่ในกลุ่มรัฐฝ่ายเหนือ (ซึ่งเป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้แรงงานคนเพื่อภาคอุตสาหกรรม) เป็นฝ่ายออกกฎหมายเลิกทาส ซึ่งกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ซึ่งทุนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินที่ทำการเกษตรและใช้แรงงานทาสติดที่ดินเก็บเกี่ยวพืชผล เสียประโยชน์ไม่ยินยอมจึงเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ซึ่งขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของไทยในรัชกาลที่ 4 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเราก็ทันสมัยทั้งๆ ที่มีระบบทาสสมบูรณ์แบบในไทยแต่กลับมีนโยบายช่วยรัฐบาลของท่านลินคอล์น ทำสงครามปลดปล่อยทาสโดยส่งช้างศึกไปช่วยรัฐบาลอเมริการบโดยบรรทุกเรือสำเภาไป 1 เชือกพร้อมควานช้าง พอท่านประธานาธิบดีลินคอล์นได้รับเท่านั้นก็ตกกะใจไม่รู้จะนำรถถังที่มีชีวิตตัวนี้ไปใช้อย่างไร เพราะลำพังจะเลี้ยงดูก็ยากเต็มทีจึงทำหนังสือขอบคุณขึ้นฉบับหนึ่งแล้วก็ส่งรถถังตัวนี้กลับส่งคืนประเทศสยาม ซึ่งผมยังเห็นหนังสือขอบคุณของท่านประธานาธิบดีลินคอล์นที่มีมาถึงราชสำนักด้วย

                   เมื่อไปถึงสถานทูตไทยในวอชิงตัน ดี.ซี.ปัจจุบันนี้ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองจอร์ชทาวน์ ท่านเอกอัครราชทูตชัยยงค์ สัจจิพานนท์ ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่คณะรัฐศาสตร์จุฬา ก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีนำชมสถานทูตและเล่าประวัติศาสตร์ให้ผมและคณะที่ประกอบด้วย ส.ส.อลงกรณ์ พลบุตร และอดีต ส.ส.กทม.คนดัง นางลลิตา ฤกษ์สำราญ ฟัง

จากซ้ายไปขวา
ผู้เขียน ส.ส.ดร.สุนัย จุลพงศธร,
.ส.อลงกรณ์ พลบุตร,
นางลลิตา ฤกษ์สำราญ
และท่านทูตชัยยงค์ สัจจิพานนท์
 
ท่านทูตชัยยงค์ ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของสถานทูตไทยในอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นสถานทูตไทยแห่งแรกในต่างประเทศก็ว่าได้ที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงมือนับหนึ่งก่อสร้างที่ทำการเองก็ประทับใจ เพราะสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) ตามรูปที่นำมาแสดงนี้ และเมื่อสร้างเสร็จแล้วเขาก็ถ่ายรูปไว้อีกและที่อัศจรรย์ใจก็คือ เวลาผ่านไปเกือบร้อยปีแล้วรูปสถานทูตแห่งแรกกับตัวอาคารจริงๆ ที่ท่านทูตชัยยงค์พาไปดูโครงสร้างภายนอกของอาคารยังเหมือนกันแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยเพียงแต่สถานทูตเก่าแห่งนี้ยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร ได้แต่เก็บรักษาอยู่และดูแลซ่อมแซมไม่ให้ทรุดโทรมเท่านั้น เพราะพื้นที่ใช้สอยเล็กไปที่จะรองรับกับงานที่ขยายตัวไปมาก
เริ่มขุดดินก่อนสร้างอาคารสถานทูตไทยในปี ค.ศ.1920
ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 2300 ถนนคาโลรามา (Kalorama)
ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ภาพสถานทูตที่สร้างเสร็จเปิดใช้ในปี ค.ศ. 1921 และใช้จนถึงปี ค.ศ.1994 เปรียบเทียบกับตัวอาคารสถานทูตเก่าที่ผมได้ถ่ายรูปไว้ในปัจจุบันภายนอกตัวอาคารเหมือนกันเปี๊ยบ
 
แต่ที่อัศจรรย์ใจและทำให้ตาสว่างกับการเมืองไทยมากก็รูปของบรรดาเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ที่ติดไว้ยาวเหยียดแต่ละคนนั้นล้วนแล้วแต่ถูกเรียกตัวกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลและบางคนก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในช่วงของการรัฐประหารของไทยเกือบทั้งสิ้น เช่น นายถนัด คอมันตร์ ก็เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในยุคเผด็จการสมบูรณ์แบบที่สุดคือสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ปี 2501 ก็เป็นอดีตทูตที่อเมริกามาก่อน,    นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเลือกตั้งในยุคเผด็จการ รสช.เมื่อปี 2534 ที่             พลเอกสุจินดา คราประยูร ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ใช่ แถมยังได้รับบำเหน็จพิเศษได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ รอบสองในปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่มีการฆ่าประชาชนกลางท้องถนนและล่าสุดสดๆ ร้อนๆ รัฐบาลรัฐประหารพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ,นายนิตย์ พิบูลสงคราม ก็มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสมือนหนึ่งว่าเพื่อใช้เป็นคนติดต่อทำความเข้าใจกับสหรัฐอเมริกาเพื่อให้เห็นชอบกับการรัฐประหาร และนอกจากนี้ท่านทูตอเมริกาอีกหลายคนก็ถูกเรียกมารับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทในราชสำนักทุกวันนี้ในตำแหน่งสำคัญๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจนะครับว่าทำไมทูตอเมริกาจึงเป็นเสื้อเหลืองและทำไมการเมืองแบบรัฐประหารในประเทศไทยจึงผูกติดกับการเมืองอเมริกัน ก็เพราะประวัติศาสตร์การเมืองเขาผูกพันกันมาเช่นนี้แล
 
ดูรูปเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาเห็นหน้าเกือบทุกท่านคุ้นๆกับคนที่เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลรัฐประหารหลายคณะ
(ฉบับหน้ามาคุยกันต่อเรื่องสถานทูตไทยในอเมริกา นะครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น