Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

2 ล้านล้าน! ชัชชาติ สานฝัน ดันไทยผงาด ศูนย์กลางขนส่งอาเซียน

สัมภาษณ์นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
RED POWER ฉบับที่ 34 เดือน มีนาคม  2556



          ด้วยชัยภูมิที่ได้เปรียบเพื่อนบ้านอาเซียน ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้านของภูมิภาค โดยเฉพาะการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ แต่การพัฒนาหลายสิบปีที่ผ่านมายังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง เพราะไร้ทิศทางที่ชัดเจน ขาดยุทธศาสตร์ชาติที่เหมาะสม ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานไม่พัฒนาเท่าที่ควร รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติหลายด้านเพื่อก้าวพ้นจากภาวะหยุดนิ่งทางการพัฒนาอันยาวนานนี้ ตลอดจนผลักดันเป็นนโยบายทางการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือโครงการเมกกะโปรเจ็กใช้เงินลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท หากโครงการนี้สำเร็จโฉมหน้าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับทั้งด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา และการเมือง(อ่านบทวิเคราะห์ด้านการเมืองเพิ่มเติมใน หน้า 5 เรื่อง “2 ล้านล้าน...ล้อม/ล้างไดโนเสาร์”) Red Power ขอนำท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับมุมมอง แนวคิด วิสัยทัศน์ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักขับเคลื่อนโครงการนี้

 

Red Power :  มีข่าวว่าจะกู้เงินลงทุนมากถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์เคยทำโครงการกู้แค่ 8 แสนล้าน แต่ใช้จริงแค่ 4 แสนล้าน โครงการนี้วางยุทธศาสตร์อะไรยังไง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : 2 ล้านล้านบาท อย่าเพิ่งตกใจ ไม่ได้ลงทุนรวดเดียว ทยอยลงทุน 7 ปี ปีที่สูงสุดแค่ 3 แสนกว่าล้าน เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีถือว่าไม่สูงนัก ต้องเรียนว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยถูกละเลยมานาน โดยทั่วไปตามหลักสากล งบประมาณแผ่นดิน 100 บาทควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 25 บาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะช่วงปี 38 -39 ประมาณ 35 เปอร์เซ็นของงบประมาณแต่ละปี แต่พอวิกฤติต้มยำกุ้ง การลงทุนเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานทรุดโทรมมาก เอาง่ายๆ คนที่ไปภาคใต้ ถนนเพชรเกษมด้านล่างพังทั้งเส้น ถามว่าทำไมไม่ซ่อม การซ่อมต้องค่อยๆ ซ่อมเป็นช่วง อาจใช้เวลา 20-30 ปี กว่าจะเสร็จทั้งเส้น ต้นทุนลอจิสติกส์สูง หรือรถไฟที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระราชทานมาร้อยกว่าปี สภาพย่ำแย่มาก ครั้งนี้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อเอาเงินที่ประหยัดจากการขนส่งมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ถือว่าคุ้มเกินคุ้มเพราะที่ประหยัดได้มีมูลค่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เยอะ

Red Power:  โครงการหลักๆ ที่คาดว่าจะพลิกประเทศมีอะไรบ้าง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ที่มีปัญหาจริงๆ คือระบบลอจิสติกส์ ปัจจุบันสินค้าทั้งหมดในประเทศขนส่งทางถนนประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ขนส่งทางรางประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ประเทศที่เจริญแล้วการขนส่งทางรางกับทางน้ำรวมกันประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเราขนส่งทางรางกับทางน้ำรวมกันประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ ขนส่งทางถนนแพงที่สุดเพราะมีค่าบำรุงรักษา น้ำมัน อุบัติเหตุ มลภาวะ ต้นทุนลอจิสติกส์ของไทยจึงสูง เราต้องปรับไปใช้ระบบรางเพื่อลดต้นทุน 2 ล้านล้าน จะเน้นระบบราง มี 3 ส่วน คือ หนึ่ง รถไฟเดิมที่มีอยู่กว่า 4,000 กิโลเมตร ต้องปรับเป็นทางคู่ ปัจจุบัน 3,700 กิโลเมตร จาก 4,000 กิโลเมตร เป็นทางเดี่ยว รถขาขึ้น ขาล่อง ต้องรอกัน ทำให้ควบคุมการเดินรถยาก ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าปัจจุบันอยู่ที่ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงต้องปรับให้เป็นรางคู่จาก 300 กิโลเมตร เป็น 3,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศ   สอง รถไฟความเร็วสูง จะสร้างรถไฟความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 4 เส้นทาง  สาม รถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย เพราะกรุงเทพคือหัวใจ รถติดในเมือง เส้นเลือดอุดตัน เดินทางลำบาก เผาผลาญน้ำมัน รถไฟฟ้าสิบสายจะช่วยแก้ปัญหา ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเมืองจะเป็นตัวเปลี่ยนโฉมหน้าการขนส่งของประเทศ

Red Power:  ท่านบอกได้ไม๊ว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นอย่างไรจึงจะคุ้มกับ 2 ล้านล้านบาทนี้

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : เราต้องประหยัดต้นทุนลอจิสติกส์ให้ได้ ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 15.2 เปอร็เซ็น มี 3 ส่วนคือ การบริหารสินค้าคงคลัง การบริหารจัดการ และการขนส่ง เรามีจีดีพีประมาณ 10 ล้านล้าน เสียค่าขนส่งประมาณ 1.5 ล้านล้าน สมมุติถ้ามีเป้าหมายจะลดให้ได้  2 เปอร์เซ็นต์ จาก 15.2 เหลือ 13.2 เปอร์เซ็น คือหนึ่งปีลดได้ 2 แสนล้าน สิบปีก็ 2 ล้านล้าน ลดต้นทุนลอจิสติกส์ได้ 2 เปอร์เซ็นต์ แค่สิบปีก็คืนทุน นี่ยังไม่พูดถึงผลดีอื่นๆ ทั้งมลภาวะ คุณภาพชีวิต ฯลฯ   

Red Power:  สิ่งที่นายกยิ่งลักษณ์มอบหมายยุทธศาสตร์ของประเทศมีอะไรบ้าง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : มี 4 ด้าน หนึ่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน สองลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้น สามลดมลภาวะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  สี่เอานโยบายแห่งรัฐ ปรับปรุงการบริหารงานภาครัฐ ยุทธศาสตร์จังหวัดมาพัฒนา 2 ล้านล้านตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้าน เพราะว่าอันแรกสร้างความสามารถในการแข่งขัน ถ้าลอจิสติกส์ดี นักลงทุนมาแน่นอน ลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าระบบขนส่งดี พี่น้องที่ปลูกผักในต่างจังหวัด บนภูเขา เอาสินค้ามาขายในเมืองได้ดีขึ้น ราคาสินค้าดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลงแน่นอน อันที่สามเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ระบบรางลดมลภาวะได้มาก ลดการเผาผลาญน้ำมัน อันที่สี่ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เราเอายุทธศาสร์จังหวัดมาเชื่อมโยงกับระบบคมนาคม ตรงไหนเป็นคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยว การเกษตร คมนาคมก็จะเข้าไปสอดรับตรงนี้ 

Red Power:  เท่ากับว่ากระทรวงคมนาคมผูกขาดทำยุทธศาสตร์ชาติอยู่คนเดียว แล้วกระทรวงอื่นล่ะ

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ไม่ล่ะครับ ยุทธศาสตร์หนึ่งองค์มีหลายองค์ประกอบ เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม คมนาคมเปลี่ยนโหมดจากรถเป็นรางก็ส่วนหนึ่ง กระทรวงอื่นช่วยได้ในแต่ละส่วนของตัวเอง ทุกกระทรวงต้องร่วมกัน ดูในองค์รวม เช่น ยุทธศาสตร์จังหวัดมหาดไทยรับผิดชอบ ต้องคุยกับเขาต้องการอะไร จะให้เชื่อมโยงตรงไหน จังหวัดไหน อะไรคือจุดเด่น จุดไหนเป็นฮับเป็นศูนย์กลาง สภาพัฒน์คุมภาพรวมทั้งประเทศ สาธารณสุขอยากเชื่อมอย่างไรให้คนไปโรงพยาบาลได้สะดวก กระทรวงเกษตรแหล่งผลิตอยู่ไหน ข้าวอยู่ที่ไหน เกี่ยวเนื่องทุกกระทรวง เราเหมือนผู้ให้บริการ ทุกกระทรวงต้องใช้บริการกับคมนาคม

Red Power:  เมื่อใช้เงินหมด 2 ล้านล้านใน 7 ปี คาดหวังว่าประเทศจะพลิกเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร สมมุติว่านอนหลับไป 7 ปี ตื่นขึ้นมาจะจำประเทศไทยได้ไม๊ ความเจริญของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ตื่นขึ้นมาอาจจะงงๆนะ อีก 7 ปี เช้านั่งรถไฟไปกินข้าวซอยที่เชียงใหม่ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เย็นกลับมาได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชีวิตใกล้กันมากขึ้น ไปมาหาสู่สะดวก กรุงเทพมีรถไฟฟ้า 400 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นใช้รถยนต์น้อยลง มีเมืองใหม่ ผังเมืองใหม่ๆ พัฒนาตามเส้นทางรถไฟ ต้นทุนขนส่งลดลง  เราใช้รถไฟขับเคลื่อนเชื่อมโยงเข้าหากัน 2 ล้านล้าน เป็น back bone เป็นกระดูกสันหลัง แต่ในงบรายจ่ายประจำปีจะมีเงินลงทุนอีกก็จะเป็นเส้นเลือดฝอยที่ลงทุนเพิ่มกระจายไปทุกภูมิภาค หลัง 7 ปี จะมีโครงการใหม่พัฒนาต่อไปอีกเพื่อให้เติมเต็ม ครั้งนี้คือการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อพัฒนาระบบเชื่อมโยงที่เป็นกระดูกสันหลังให้แข็งแรงขึ้น

Red Power:  คนรากหญ้าจะได้อะไรจาก 2 ล้านล้าน

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : โครงการนี้เราทำให้คนรากหญ้าจริงๆ เพราะเป็นการนำความเจริญออกจากกรุงเทพไปสู่พื้นที่ทั่วไป รถไฟคือรากหญ้าจริงๆ รถไฟปกติก็ขยายไปทั่วประเทศ รถไฟความเร็วสูงก็ช่วยในการขนส่งพืชผักที่มูลค่าสูง การที่เราเน้นระบบรางเป็นตัวชี้ว่าเรามุ่งกระจายความเจริญไปสู่คนรากหญ้า

Red Power:  ถ้าสำเร็จท่านคิดว่าจะเป็นยังงั้น โอกาสไม่สำเร็จมีไม๊

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : รัฐบาลตั้งใจทำเต็มที่ การออกเป็นพระราชบัญญัติเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้มั่นใจในความสำเร็จมากขึ้น ที่ผ่านมาถามว่าโครงการพวกนี้เราทำไม๊ เราทำ แต่ทำเป็นโครงการๆ ไป ไม่มีใครเห็นภาพรวมว่าแผน 7 ปี เป็นอย่างไร การทำเป็นพระราชบัญญัติก็เพื่อให้ทุกคนเห็น road map  ให้สภาเห็น ได้โหวตกัน ให้มีการยอมรับว่านี่คือยุทธศาสตร์ชาติ พอเป็นยุทธศาสตร์ชาติ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งจำเป็น ถามว่าเป็นเรื่องการเมืองไม๊ เป็นการเมืองนิดหน่อย แต่เรื่องประเทศชาติสำคัญกว่า พอเราเอาเข้าไปในพระราชบัญญัติปุ๊บ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ถ้าเค้ายังเห็นว่าดีเดินหน้าต่อได้เลย แต่ไม่ได้บังคับว่ารัฐบาลใหม่มาต้องเอาตามนี้ เขาไม่เอาก็ได้ ถ้าจะเอาก็กู้ได้ตามกรอบนี้ มันทำให้ความต่อเนื่องชัดเจนมากขึ้น

Red Power:  โครงการใหญ่ขนาดนี้นี้ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ รัฐบาลที่แล้วพยายามสร้างโครงการไทยเข้มแข็งด้วยงบ 8 แสนล้าน แต่ทำจริงได้ครึ่งเดียว ในสถานการร์นี้จะถูกขัดขวางอย่างไรหรือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ต้องเรียนว่าโครงการนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เราต้องเริ่มจากปัญหาของประเทศก่อน เราไม่ได้เริ่มจากเรื่องการเมือง นี่คือปัญหาของประเทศจริงๆ มันคือต้นทุนของประเทศในการขนส่ง เป็นการกระจายโอกาสให้พี่น้องประชาชน เราไม่ได้พูดเรื่องการเมืองเลย เราพูดถึงนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ทุกคนน่าจะเห็นร่วมกันได้ โครงการไทยเข้มแข็งต่างกับโครงการนี้ตรงที่ไทยเข้มแข็งตอนนั้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจมีปัญหาก็ต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน แต่ 2 ล้านล้านไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นโครงการวางแผนระยะยาวของประเทศ เป็นโครงการวางโครงสร้างพื้นฐาน แต่มีผลพลอยได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน จีดีพีอาจเพิ่มขึ้น จุดมุ่งหมายหลักจริงๆ คือการวางโครงสร้างหลักของประเทศในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เมืองไทยเคยมีโครงการทำนองนี้เหมือนกันอย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด สนามบินสุวรรณภูมิ ก็คล้ายๆ กันแต่ยังไม่ใหญ่ขนาดนี้ แต่เราต้องการโครงการลักษณะนี้ครับเพื่อพลิกโฉม

Red Power:  พรบ.กู้เงินต้องผ่านสภา รัฐบาลมีเสียงข้างมากคงผ่านไม่ยาก แต่วุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งและมีแนวโน้มต่อต้านโครงการที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ท่านมั่นใจแค่ไหนว่าจะผ่านได้

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : อย่างที่บอก เราไม่มองว่าเป็นเรื่องของพรรคแต่เป็นเรื่องของประเทศ ตั้งแต่ต้นผมไม่ได้พูดเรื่องพรรคเลย ผมพูดแต่ว่าเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ เป็นความจำเป็นของประเทศ ถ้าอธิบายสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจทั้งวุฒิสมาชิกและประชาชน ถ้าเห็นประโยชน์ประเทศตรงกันแล้ว คิดว่าไปได้ ขอให้กำแพงความเชื่อ ทิฐิลดลง ช่วยดูเนื้อหาจริงๆ ดูความต้องการของประเทศจริงๆ เชื่อว่าทุกท่านมีวุฒิภาวะ เราให้เกียรติท่าน ผมไปชี้แจงกับกรรมาธิการมาหลายรอบ ถ้าวุฒิสภาท่านเชิญไปเราก็ไปชี้เจง ต้องสื่อสารกันครับ

Red Power:  ทำไมทำเป็นพระราชบัญญัติฉบับเดียวทำให้ควบคุมยาก ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ทำไมไม่ทำฉบับละ 5 แสนล้าน จะได้ดูเป็นระยะว่า คืบหน้าไปแบบนี้ ถ้าดีก็จะให้อีก 5 แสนล้าน ถ้าไม่ดีก็ไม่ให้ ทำนองนี้

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : การควบคุมทุกอย่างมีระบบอยู่ อย่างอีไอเอก็ยังมีการทำอยู่ จริงๆ ไม่ต่างกัน ที่ผ่านมาเราขออนุมัติเป็นโครงการๆ ไปอยู่แล้ว รถไฟหนึ่งสายก็ขออนุมัติ ครม. อย่างงั้นไม่ต้องผ่านสภายิ่งง่ายใหญ่ เพราะรัฐบาลอนุมัติเป็นโครงการๆ ไป ต้องเรียนว่าเป็นโครงการระยะยาว บางโครงการ 3-4 ปี หลายโครงการเริ่มเวลาใกล้ๆ กัน และทยอยเสร็จ ถ้ากู้ทีละ 5 แสนล้าน ทำให้ต้องรอโครงการนี้เสร็จก่อน แล้วพอมาต่อกันมันไม่ใช่  7 ปี มันอาจเป็น 20 ปีก็ได้ มีประโยชน์หลายอย่างที่เห็นชัดๆ เวลาผมไปต่างประเทศ เรากู้ 2 ล้านล้าน นักลงทุนต่างชาติมั่นใจ เพราะเขาเห็นว่ารัฐบาลเอาจริง มี commitment เห็นผึงเลยว่าแผนประเทศเป็นอย่างไร ผมคิดว่ากู้ 2 ล้านล้าน กระทรวงการคลังจัดการเงินกู้ได้ดีกว่า เรากู้ก้อนใหญ่หรือเรียกว่ามี economical of scale หรือประโยชน์ด้านขนาด ทำให้สามารถเลือกเงินกู้หรือต่อรองได้ดีกว่า

Red Power:  โครงการใหญ่ขนาดนี้ ถ้าฝ่ายค้านถามว่าจะทำยังไงให้เชื่อมั่นในความโปร่งใส

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ทุกโครงการต่อให้ดีแค่ไหนถ้าไม่โปร่งใสก็ไปไม่รอด ท่านนายกย้ำชัดเจนไม่มีการออกระเบียบพิเศษ ใช้ระบียบที่เข้มข้นจัดซื้อจัดจ้างปกติ ผมเพิ่งยกทีมรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีทุกคนไปคุยกับเอกชนที่ทำเรื่องทุจริตคอรัปชั่น เราอยากให้มีเอกชนมาช่วยดู สังเกตการณ์ ตรวจสอบ เรามั่นใจว่าถ้าทำตามระเบียบโครงการที่ดีมันไปได้ ฝ่ายค้านเรายินดีให้ตรวจสอบ เราทำเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้มีการตรวจสอบที่เข้มข้น ทุกคนจะได้เห็นได้ถกกันตามระบอบประชาธิปไตย ไม่กังวลครับ

Red Power:  ข้อกังวลเรื่องจะทำให้หนี้สาธารณะสูงจนเสียวินัยการเงินการคลัง และแหล่งเงินกู้มาจากไหน

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : กระทรวงการคลังยืนยันตัวเลขจากประมาณการที่เราจะใช้เงินและดูจีดีพี หนี้สาธารณะจะสูงไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นของจีดีพี ซึ่งกรอบวินัยการเงินการคลังอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ประเทศยุโรปที่มีปัญหามันเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนั้น หนี้สาธารณะและวินัยการเงินการคลังเป็นสิ่งที่เราตระหนัก กระทรวงการคลังต้องประมาณการไม่ให้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของวงเงิน 2 ล้านล้าน ใน 7 ปี เราบริหารจัดการได้ เป็นตัวเลขที่เหมาะสม ส่วนแหล่งเงินกู้ มาจากในประเทศ เรามีสภาพคล่องประมาณ 2.4-2.5 ล้านล้านบาท ไม่มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน กระทรวงการคลังจะเป็นผู้บริหารจัดการ 

Red Power: เวลาใครจะปฏิรูปรถไฟจะถูกต่อต้านจากภายในจนทำไม่ได้จนเรื้อรังมานาน มักมีข้ออ้างว่านี่คือสิ่งที่ ร.5 พระราชทานมา อย่าไปแปรรูป โครงการนี้กำลังจะไปแตะโครงสร้างรถไฟ อันนี้จะมีปัญหารือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : เรื่องรถไฟ ต้องเรียกว่าเป็นการพัฒนาให้ดีขึ้นไม่ใช่การแปรรูป ปัญหาในอดีตส่วนหนึ่งคือเรื่องสื่อสารกันไม่เข้าใจ ต้องคุยกับพนักงานกับสหภาพให้ต่อเนื่อง สำคัญที่สุดรัฐต้องไม่ผิดสัญญา สัญญาอะไรไว้ต้องทำตามนั้น เรื่องบำเหน็จ บำนาญอะไรต่างๆ  ไม่ใช่ว่าพอจะเปลี่ยนก็ตัดสิทธิประโยชน์เค้า ยังงี้คุยกันไม่รู้เรื่อง รัฐต้องมีจุดยืนมั่นคง มีหลักการ เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน พนักงานรถไฟก็รักองค์กร ไม่อยากให้ใครมาหาผลประโยชน์ วิธีการสื่อสารจึงสำคัญ การเปลี่ยนแปลงรถไฟ หลักการคือเราต้องคิดภาพใหญ่ว่าเราจะเปลี่ยนให้ดีขึ้นอย่างมาก แต่เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้พนักงานปรับตัวทัน

Red Power:  โครงการใหญ่ๆ เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า ภาคประชาสังคมจะกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและทางสังคม โครงการนี้รัฐบาลจะจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาอย่างไร

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ที่ผ่านมามีปัญหาอยู่ อย่างรถไฟก็มีประชาชนอาศัยอยู่ในเขตทาง มีสองส่วนคือ ส่วนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ กับส่วนที่เป็นผลประโยชน์ธุรกิจต้องแยกจากกัน อันไหนคือประชาชนที่เดือดร้อนเป็นคนจนได้รับผลกระทบจริงต้องดูแลให้ละเอียด ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ห้ามละเลย อย่าคิดว่าจะละเลยขั้นตอนสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้ครบถ้วน ผมเริ่มให้ทำประชาพิจารณ์รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศแล้ว ทำตามขั้นตอนแต่เร่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีปัญหาต้องรีบแก้รีบคุยให้จบ แล้วเดินหน้าต่อ ได้บ้างเสียบ้างต้องยอม  เราไม่กังวลเราต้องยึดตามหลักการ ระเบียบ ให้แม่น คิดว่าไปได้ครับ

Red Power:  โครงการนี้เป็นการเตรียมประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยหรือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : แน่นอนครับ ตอนนี้ชายแดนคึกคักมาก เราคือจุดศูนยย์กลาง ไทย-ลาว ไทย-พม่า ผมเพิ่งลงนามเรื่องการขนส่งไทย ลาว เวียดนาม เขาต้องการเอาสินค้าออกแหลมฉบัง ต้องเปิดเส้นทางรถบรรทุกวิ่ง ตอนนี้เรารักกับเพื่อนบ้านมาก มีนัดเตะฟุตบอลกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม ต้องสนิทสนมกันเข้าไว้ มีปัญหายกหูคุยกัน สุดท้ายความเจริญจะกระจายจากไทยไป อันนี้สำคัญ เออีซีก็เป็นตัวช่วยครับ

Red Power:  เสียงสะท้อนจากเพื่อนบ้านอาเซียนเป็นยังไงบ้าง บ้านเค้ารู้สึกว่าต้องปรับตัวอะไรบ้าง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : เค้าตื่นเต้นครับ ลาวตื่นเต้นกับรถไฟความเร็วสูงของเรา เขาอยากจะเชื่อมไปถึงคุณหมิง ลองนึกดูว่ารถไฟจากกรุงเทพไปหนองคาย ผ่านเวียงจันท์เชื่อมไปคุณหมิง ประชากรจีนพันล้านคนนั่งรถไฟความเร็วสูงมาเที่ยวกรุงเทพ สินค้าตู้คอนเทนเนอร์เป็นล้านๆตู้จากตะวันตกของจีนที่ออกทะเลยาก ลงปื้ดมาออกแหลมฉบังไปยุโรป ทุกคนตื่นเต้น เราคือจุดศูนย์กลางเชื่อมโยง เป็นสี่แยกอาเซียน จะไปมาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า ถนนทุกเส้นผ่านเราหมด เพื่อนบ้านกำลังดูว่าเราจะทำอะไร เราคือตัวสำคัญว่าจะเอาทิศทางไหน เค้าถามว่ารถไฟเราจะเอารางแบบไหน หนึ่งเมตรไม๊ หนึ่งเมตรก็หนึ่งเมตรด้วยกัน รถไฟความเร็วสูงจะเอาแบบไหน จะเชื่อมอย่างไร เราให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านมาก ผมไปลาวก็คุยกันเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ห้าที่บึงกาฬ ที่นั่นมีสวนยางแปดแสนไร่ ส่งออกยางทางแหลมฉบัง ส่วนหนึ่งส่งจีน ถ้าทำสะพาน ยางพาราก็สามารถส่งผ่านลาวไปท่าเรือที่เวียดนามไปเมืองจีน ประหยัดเวลาได้สองสามวัน ลาวสนใจมาก ลาวอยากให้รถไฟจากอุบลข้ามไปปากเซ อยากให้รถไฟจากบ้านท่านาแล้ง หนองคาย ไปถึงเวียงจันท์  อยากให้ทำสะพานรถไฟเชื่อมไป ตอนนี้คึกคักมาก มีโปรเจ็กเชื่อมเพื่อนบ้านเยอะมาก

Red Power:  ท่านพูดว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่เรื่องการเมือง หลายปีนี้มีความขัดแย้งทางการเมืองมาก รัฐบาลเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ท้ายที่สุดจะช่วยให้ความขัดแข้งคลี่คลายลงได้บ้างหรือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ผมว่ามีความเป็นไปได้เพราะท่านนายกทำตัวอย่างให้เราเห็น ท่านไม่พยายามพูดเรื่องความขัดแย้ง มุ่งแต่ทำงาน กระทรวงคมนาคมจะทำแนวทางเดียวกับท่านนายกครับ เรื่องขัดแย้งเราทะเลาะกันนานพอสมควร ถ้าเราทำงานกันจริงๆ เราคุยกันที่เนื้องาน ที่ผลงาน ผมว่าทุกคนแฮปปี้  ถ้าเราจะดูโครงการจริงๆ ดีไม่ดีดูที่เนื้องาน ยังงี้ประเทศไปได้ มีคนเก่งๆ เยอะที่พร้อมจะพัฒนาประเทศไปด้วยกัน พยายามลดทิฐิ ความขัดแย้งลง มาคุยเรื่องประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาชาติมากขึ้น ต่อไปพอเห็นความเจริญมากขึ้น คนก็จะเริ่มลืม คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ผมว่าเราร่วมมือกันทำเพื่อประเทศชาติได้ #

          โครงการลงทุนนี้จะสำเร็จหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ แต่เดิมพันของโครงการนี้สูงลิ่ว คือ ประเทศไทยจะอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างล้าหลังแบบนี้ต่อไป หรือจะยกระดับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

…………………………………………….

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น