Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

เมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ 4 ล้านล้านบาท: ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่เนียนแฝงในชนบท

เกษียร เตชะพีระ
(หมายเหตุงานเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กของ "เกษียร เตชะพีระ"  สุนัยแฟนคลับเห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์)



(ข้อคิดสำคัญเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจและแง่คิดข้อสังเกตสืบเนื่องต่อยอดมาจากงานของ Andrew Walker, Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy, 2012 ผมต้องขอบคุณไว้ในที่นี้)


มีแง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาท นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจการเมืองเฉพาะหน้า ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตและบันทึกไว้ในที่นี้ โดยแยกต่างหากจากเกมการเมืองและลู่ทางผ่านสภาฯ ของ พ.ร.บ.๒ ล้านล้าน ก่อนที่มันจะถูกเสียงทะเลาะเบาะแว้งโกลาหลอลหม่านในและนอกรัฐสภากลบกลืนหายไป....


ประเด็นหลัก: ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่เนียนแฝงและสำคัญอย่างหนึ่งของเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาทคือมันอาจสร้างแรงผลักกระชากให้รัฐไทยพบทางออกจากสภาวะที่ต้องทุ่มงบประมาณเลี้ยงไข้-เลี้ยงต้อย-กระเตงอุ้ม-อุดหนุน [ชาวนารายได้ปานกลางที่มีผลิตภาพต่ำ] ในพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะเหนือและอีสานมายาวนานยืดเยื้อไม่เห็นที่สิ้นสุด


อธิบายเพิ่มเติม: นับแต่ต้นพุทธทศวรรษที่ ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบทไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ จากเดิมทีนโยบายรัฐมุ่งกดราคาผลิตผล เก็บค่าพรีเมี่ยมข้าวส่งออกของเกษตรกร เสมือนเก็บภาษีพวกเขาทางอ้อมมาอุดหนุนจุนเจืออาหารราคาถูกในเมืองเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมบนฐานค่าแรงต่ำค่าครองชีพถูก -->มาเป็นยกเลิกค่าพรีเมี่ยมข้าวและหันเหทิศทางไหลของเงินงบประมาณย้อนกลับ โดยดึงเงินภาษีที่เก็บได้จากภาคการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมและบริการในเขตเมือง เอาไปอุดหนุนจุนเจือชีวิตความเป็นอยู่และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบทด้วยประการต่างๆ, แน่นอนว่าแนวนโยบายและมาตรการการคลังเพื่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ อบต. อบจ. ฯลฯ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ยิ่งเสริมส่งแนวโน้มนี้


ผลระยะยาวของการนี้ก็คือ ชนบทเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างสำคัญ พ้นภาวะเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองที่เผชิญปัญหาหลักเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ไปเป็นเศรษฐกิจของชาวนารายได้ปานกลาง (ส่วนใหญ่) ที่ปัญหาหลักเปลี่ยนไปเป็นความเหลื่อมล้ำกับภาคเศรษฐกิจอื่น (เมือง/ชนบท, เกษตรกรรม/อุตสาหกรรม-บริการ, อีสานและเหนือ/ภาคกลางและกทม. เป็นต้น) และผลิตภาพเกษตรกรรมต่ำเรื้อรัง (แม้จะค่อยปรับดีขึ้นบ้าง แต่เทียบไม่ได้กับการเกษตรของประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันหรือแม้แต่ด้อยกว่า)


ชนบทของชาวนารายได้ปานกลางที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (ไม่ได้ทำเกษตรเป็นกิจกรรมหรือรายได้หลักอีกต่อไป อีกทั้งมีเครือข่าย extralocal residents หรือ “ชาวบ้านนอกถิ่น” อันหมายถึงผัว/เมีย/ลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นต่างแดนแล้วส่งเงินรายได้มาจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัวที่เหลือในหมู่บ้านให้มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษาดีขึ้น ไม่ว่ามอไซค์, ทีวี, มือถือ, คอมพิวเตอร์, ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, ปลูก/ซ่อม/ต่อเติมบ้านใหม่, ส่งเสียให้เรียนสูงๆ ฯลฯ)


จึงต้องการรัฐและทุน - ไม่ใช่ไม่ต้องการหรือต่อต้าน - พวกเขาปรารถนาจะดึงโครงการรัฐและธุรกิจเอกชนเข้ามาเพื่ออาศัยเงินงบประมาณและทรัพยากรของรัฐ รวมทั้งทุนและเทคโนโลยีของธุรกิจเอกชน มาเพิ่มผลิตภาพของตนในแง่ต่าง ๆ สูงขึ้น ประคองรักษาฐานะชาวนารายได้ปานกลาง (คนชั้นกลางระดับล่าง) กระทั่งยกฐานะของตนให้สูงขึ้นไป
ความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐและทุน ไม่ใช่เรื่องของการอุปถัมภ์หรือขูดรีดแบบทื่อ ๆ ง่าย ๆ อีกต่อไป หากเป็นความจำเป็นเพื่อประคองรักษาฐานะปานกลางที่ได้มาเอาไว้ท่ามกลางภาวะผลิตภาพต่ำ และพวกเขาก็มีวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น (Andrew Walker เรียกว่า rural constitution หรือธรรมนูญชนบท) และทางเลือกอันหลากหลายพอจะต่อรอง กดดัน หลอกล่อ เอาใจเพื่อช่วงใช้รัฐและทุนให้เป็นประโยชน์กับตนได้พอสมควร (เหมือนศรีธนญชัย มากกว่า ตาสีตาสายายมียายมา)


ปัญหาก็คือภาวะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผู้เปลี่ยนมาเป็นแหล่งอุดหนุนงบประมาณและโครงการต่างๆ เพื่อพยุงฐานะปานกลางของชาวนาชนบท กับ ชาวนารายได้ปานกลางแต่ผลิตภาพต่ำส่วนใหญ่ของชนบทเหล่านี้ ค่อนข้างอับตันและไม่ค่อยเห็นอนาคตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพการเกษตรต่ำเรื้อรัง พัฒนาอย่างไรก็ไม่ขึ้นสักที และโครงการเสกแปลงตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ SMEs ในกิจกรรมเกษตรนอกภาคชนบทก็ประสบความสำเร็จจำกัด รัฐจะเลี้ยงไข้-เลี้ยงต้อย-กระเตงอุ้มชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำไปได้อีกนานสักกี่น้ำกันในทางเศรษฐกิจ (นี่คือที่มาสุดท้ายของนโยบายจำนำข้าวและค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาททั่วประเทศ)? ขณะที่ในทางการเมืองแล้ว นี่เป็นวิถีที่ทั้งรัฐไทยทั้งรัฐ และรัฐบาลกับพรรคทักษิณ ณ ไทยรักไทยอาศัยเดินมาจนประสบชัยชนะในการเมืองระบบรัฐสภาจากการเลือกตั้งหลายครั้งต่อกัน จึงจำเป็นที่จะต้องเดินต่อไปในวิถีนี้ในทางการเมือง


ในมุมหนึ่ง เมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาท จึงอาจถือเป็นความพยายามของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และทีมที่ปรึกษาที่จะสร้างแรงผลักกระชากทางเศรษฐกิจที่แผ่กว้างกระจายจากทางรถไฟความเร็วสูง การปรับปรุงทางรถไฟเดิม และเส้นทางถนนสายต่าง ๆ ที่พาดผ่านครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวาง ทุกภาคทั่วประเทศ (เหนือ, อีสาน, ใต้) ที่อาจช่วยหนุนส่งประชากรชนบทจำนวนมากให้หลุดพ้นจากภาวะชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำออกจากอ้อมอกภาครัฐที่ต้องอาศัยงบประมาณและโครงการรัฐโอบอุ้มกระเตงไว้อย่างไม่เห็นที่สิ้นสุด ให้พวกเขาสามารถลุกมายืนในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น