ข้อมูลจาก ประชาไท
28 มี.ค.56 ที่รัฐสภา มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏรเป็นพิเศษ มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฏร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ จำนวน 2 ล้านล้านบาท
โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้คือจะให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มูลค่ารวมกันไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจะเชื่อมโยงฐานการผลิตกับฐานการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งในภูมิภาค เพื่อให้การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสำเร็จตามเป้าหมายจึงต้องลงทุนโดยวางแผนเงินทุนระยะยาว ซึ่งต้องวางแผนหาแหล่งเงินทุนที่มีศัยกภาพ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินการเป็นการเฉพาะนอกเหนือจากแผนกู้เงินในการจัดการหนี้สาธารณะ
จากนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจพัฒนาให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โดยมีความจำเป็นที่ต้องเสนอการลงทุนขนาดใหญ่ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ หลังจากปัจจัยการเมืองที่มีความขัดแย้งในปี 2549 ทำให้ประเทศมีการพัฒนาถดถอย และไม่ได้รับการยอมรับ มิติในการลงทุนขนาดใหญ่ไม่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนในการขนส่งสูงถึงร้อยละ 15 ทำให้ความสามารถในการแข่งขันถดถอย การขนส่งส่วนใหญ่ใช้ถนนเป็นหลัก ซึ่งขีดความสามารถทางด้านการขนส่งของไทยลดลง ส่วนแนวคิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่เชื่อมโยงการลงทุนทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า แนวคิดการลงทุนได้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเน้นการเชื่อมฐานเศรษฐกิจเดิมต่อยอดกับการเชื่อมฐานเศรษฐกิจใหม่ เท่ากับเป็นการเสริมฐานรายได้ใหม่ที่จะมีการลงทุนกับประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงทุนระบบรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่เน้นการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาด่านเข้าของประเทศให้มีความมั่นคงและทันสมัยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยคำนึงถึงการกระจายความเจริญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น มีการกระจายความเจริญจากหัวเมืองไปยังเมืองรอบนอกเพื่อขยายความเจริญออกไปจากเมืองกรุง พร้อมกับการเชื่อมโยงไปยังเมืองใหญ่ในชนบท
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนโดยเชื่อมห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรม การผลิตและการส่งออกเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและการส่งออก รวมถึงลดเวลาในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังใช้หลักการเชื่อมเมืองไปสู่แหล่งท่องเที่ยว เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ไปยังเมืองใกล้เคียง เชื่อมเมืองต่อเมืองของการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานขึ้น ซึ่งแนวคิดทั้งหมด เชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายกฯ กล่าวว่า ยังมีหลายคนมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องกู้เงินผ่านการออก พ.ร.บ.แทนการใช้งบประมาณประจำปี ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าระบบงบประมาณรายปีไม่สามารถเอื้อต่อการลงทุนขนาดใหญ่เป็นระยะเวลายาวนาน หลายตัวอย่างในอดีตเช่น การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลเห็นว่าโครงการลงทุนเหล่านี้เป็นโครงการสำหรับประชาชนที่แท้จริง จึงไม่ควรถูกแปรเปลี่ยนในสภาวะการเมืองที่มีความผกผัน นอกจากการลงทุนด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังเสริมด้วยงบประมาณประจำปีและการเชิญชวนเอกชนมาลงทุนด้วย ทั้งนี้รัฐบาลมีความมั่นใจว่ามีเครื่องมือการลงทุนที่หลากหลาย โดยจะเน้นการกู้เงิระยะยาว และใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม เชื่อว่าการกู้เงินระยะยาวจะไม่กระทบกับฐานะทางการคลัง แม้การกู้เงินอาจทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น แต่การลงทุนจะทำให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลง ในภาพรวมแล้วหนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับที่บริหารได้ อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดความผันผวนในอนาคตได้ สำหรับความโปร่งใส ขอยืนยันว่าการดำเนินการจะมีความโปร่งใสและเข้มงวดกว่างบประมาณประจำปี โดยจะยึดการดำเนินการตามระเบียบการใช้เงินของสำนักนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ทำเอกสารประกอบและบัญชีแนบท้ายที่มีความละเอียดเสนอแล้ว ส่วนการดำเนินโครงการได้ให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ดูแลตรวจสอบ โดยสภาฯ สามารถตรวจสอบผ่านคณะกรรมการธิการ ซึ่งจะมีการรายงานผลการดำเนินการทุกปี ประกอบกับการที่จะจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่ระดับชุมชน รวมถึงจัดนิทรรศการเสนอโครงการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น
“ขอยืนยันว่าโครงการจะมีการติดตามตรรวจสอบและดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขอยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลมีเจตจำนงทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดิฉันไม่อยากให้ถกเถียงว่าใครจะริเริ่ม แต่อยากเห็นประชาชนร่วมกันมีส่วนร่วมในการวางรากฐานเพื่อนาคตของลูกหลานคนไทยต่อไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
รมว.คมนาคม แจงยุทธศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่อการแข่งขัน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงพร้อมทั้งเปิดวีดีทัศน์ ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 2020 โดยอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานประเทศเพื่อการแข่งขันในเวทีโลกว่า ขณะนี้เราใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลักของประเทศ ที่ทั้งแพงสุดและเกิดมลภาวะมากที่สุด การขนส่งทางรางจะถูกลงมาเกือบครึ่ง ขณะที่ทางน้ำมีราคาถูกสุด ซึ่งหากปล่อยไปอย่างนี้อนาคตเราจะแข่งกับเพื่อนบ้านและชาติอื่นลำบาก เราจะยิ่งถอยหลังและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่วนทางอากาศนั้นเขาเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ เราหวังว่าในอนาคตรถไฟจะเป็นเช่นนั้น แต่ตอนแรกเราต้องดูแลเขาก่อน หากเอาจุดอ่อนตรงนี้มาเป็นโอกาสได้เราจะพลิกประเทศ ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยลงทุกปี ตัวเลขทั่วโลกงบลงทุนในงบรายจ่ายประจำปีอย่างน้อยต้อง 25% แต่ของไทยระยะ 4-5 ปีหลังมานี้เหลือเพียง 12-15% โจทย์ที่เราต้องทำคือ การปรับรูปแบบขนส่งไม่ให้มีคอขวด รถติด ต้องยกคุณภาพชีวิตประชาชน งบฯ จากพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ เป็นกระดูกสันหลังประเทศ ส่วนงบฯ ปกติจะเป็นเส้นเลือดฝอย เมื่อรวม 2 งบฯ นี้ประเทศเราจะสมบูรณ์แบบ
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการภายใต้แผนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศนั้นมี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า วงเงิน 354,560.73 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นโครงข่ายการขนส่งหลักของประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 11 สาย ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ โครงการติดตั้งและปรับปรุงเครื่องกั้นถนนที่เป็นจุดตัดทางรถไฟ ปรับปรุงอาณัติสัญญาณไฟสี ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ก่อสร้างโรงรถจักรแห่งใหม่ที่แก่งคอย สร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 83 แห่ง แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือชุมพร สร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 สร้างสถานีขนส่งทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงานที่จ.อ่างทอง สร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจ.สตูล และแผนงานพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงกับฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญของประเทศ
นายชัชชาติ กล่าวว่า 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน วงเงิน 1,042,376.74 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาประตูการค้าหลักและประตูการค้าชายแดน อาทิ โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านศุลกากร พัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ พัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมต่อด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง แผนงานพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค วงเงิน 994,430.90 ล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ วงเงิน 387,821 ล้านบาท กรุงเทพฯ-หนองคาย วงเงิน 170.450 ล้านบาท กรุงเทพฯ - ปาดังเบซาร์ วงเงิน 124,327.9 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี พัทยา-ระยอง โครงการสร้างรถทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สายบ้านไผ่-นครพนม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว วงเงิน 593,801.52 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต แอร์พอร์ตลิ้งค์ช่วงดอนเมือง-พญาไท รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-บางแค รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม แบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู และหมอชิต-คูคต รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และแผนงานพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลัก อาทิ เร่งรัดขยาย 4 ช่องจราจร เวลาที่เหลืออีกกว่า 2 ปีมันง่ายมากที่จะไม่ทำอะไร เรามีแผนรายละเอียดชัดเจนอยู่ในเอกสารแนบท้ายว่า ปีไหนทำอะไร งบประมาณเท่าไหร่ ที่กังวลเรื่องความโปร่งใสนั้น เราก็กังวลไม่แพ้กัน หากเกิดคำถามเรื่องความไม่โปร่งใสนั้น ครม.มีมติออกมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เปิดเผยราคากลางการจัดซื้อจัดจ้าง การแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของบริษัทนิติบุคคลที่จะเข้าเสนองานต่อรัฐ และระบบอีอ็อกชั่น ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยตรวจสอบได้
อภิสิทธิ์ยันไม่รับหลักการ พ.ร.บ. เห็นด้วยลงทุนพื้นฐานแต่ไม่เห็นด้วยที่จะกู้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายถึง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า พรรคมีมติชัดเจนไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ ดังกล่าว หากถามว่าทำไมเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะถ้าดูจากสิ่งที่รัฐบาลชี้แจงถึงความจำเป็นในการกู้เงิน ก็อาจสรุปได้ว่าที่ต้องทำเพราะไม่สามารถเดินหน้าในการลงทุนพื้นฐานได้ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1.เงินงบประมาณไม่พอ 2.กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายไม่เอื้ออำนวยที่จะให้ลงทุน และ 3.ปัญหาเรื่องการเมือง
“วันนี้ที่พวกเราทุกคนยืนขึ้นคัดค้านกฎหมายนี้ ไม่มีใครไม่ต้องการเห็นรถไฟรางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น แต่กำลังบอกว่าท่านทำได้ เงินมี กฎหมายหลายฉบับก็เอื้อให้ทำได้ และทั้งหมดก็อยู่ที่การเมือง จึงต้องถามว่าหากเป็นความตั้งใจทางการเมืองที่จะทำเรื่องเหล่านี้จริง ทำไมต้องมาขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกงบประมาณปกติ”นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือปัญหาวินัยการเงินการคลัง เจตนาของท่านที่แท้จริงคืออะไร เมื่อตอนที่ตนเป็นรัฐบาล สมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านการกู้เงิน บ้างก็บอกสร้างหนี้ให้ประเทศ กู้มาโกง เก่งแต่กู้ แล้วรัฐบาลนี้ได้หาเสียงว่าจะไม่กู้เงิน ขึ้นป้ายทั่วประเทศว่าล้างหนี้ให้ประเทศ นี่ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยทำไว้ 7 พันล้านบาท อยากถามว่าทำไมวันนี้กู้
“คาดว่าปีนี้หนี้สาธารณะจะเกิน 45 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ยังไม่ได้กู้ ต้องยอมรับว่าอนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก ที่บอกว่าใช้หนี้ 50 ปี หนี้ที่คนไทยต้องใช้คือ 5 ล้านล้านบาท เป็นดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะมีดอกเบี้ยต่ำไปอีก 50 ปี อยากถามว่าหากวันข้างหน้าถ้าเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นแผนของรัฐบาลจะผิดหมด ไม่ใช่ 50 ปี ไม่ใช่ชาติหน้า แต่เป็นชาตินู้น”นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลกล้ายืนยันหรือไม่ว่า เมื่อมีพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว รัฐบาลตั้งแต่ปี 56-60 จะต้องปรับลดงบขาดดุลเท่าไหร่ และหลังปี 60 รัฐบาลจะต้องจัดงบสมดุล ตนเชื่อว่าในที่สุดรัฐบาลก็จะไม่กล้าเขียน ไม่กล้าดำเนินการตามนี้ วันนี้ที่กำลังกู้มาเชื่อว่าท่านกำลังทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่คุ้มค่า การกู้เงินนอกงบประมาณเป็นปัญหาต่อการตรวจสอบ เพราะเราไม่มีอำนาจในการพิจารณาและตรวจสอบได้เลยว่าที่จะไปสร้างถนน รถไฟ กิโลเมตรละกี่บาท เพราะเราแปรญัตติไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ เราจะได้รับทราบว่า แต่ละปีท่านทำอะไร แต่ไม่มีอำนาจบอกเลยว่า โครงการไหนต้องปรับเปลี่ยน หรือแก้ไข
“ผมไม่ได้ระแวงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยึดถือจากประสบการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ เราเคยฟังนายกฯ พูดว่า 1.2 แสนล้านบาท ที่จะฟื้นฟูน้ำท่วมจะมีระบบตรวจสอบโปร่งใสได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ การที่นายกฯบอกไม่ต้องห่วงเพราะมีระเบียบพัสดุ ฉะนั้นนายกฯ จะสั่งให้มีการเขียนไปในกฎหมายได้หรือไม่ว่า ทุกโครงการตามกฎหมายนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายระเบียบพัสดุ จะไม่มีการไปออกมติ ครม. ยกเว้นระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเหมือนงบ 1.2แสนล้านบาท และ 3.5 แสนล้านบาท เพราะหากเป็นเช่นนี้จะน่าเชื่อถือมากขึ้น”นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า อยากถามว่า ถ้าสภาฯอนุมัติกฎหมายแบบนี้ วันข้างหน้าจะเป็นแบบอย่างหรือไม่ ต่อไปรัฐบาลอาจจะเสนอกฎหมายงบประมาณมา มีรายการเงินเดือนอย่างเดียว จะลงทุนอะไร ก็ไปออกกฎหมายกู้เงิน ส.ส.ไม่สามารถตรวจสอบได้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะการทำอย่างนี้ถือเป็นการเลี่ยงระบบการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ
กรณ์ท้ารัฐบาล 7 ข้อ
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. อภิปรายว่า เรื่องที่มีความสำคัญคือรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้ถึง 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ ฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการสร้างเงื่อนไข ไม่ต้องการถ่วงความเจริญ หากพูดถึงหลักการแล้วฝ่ายค้านไม่สามารถเห็นด้วย คือ 1.ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องการอาศัยการกู้เงินทั้งหมด เพราะสามารถให้สัปทานแก่เอกชนได้ 2. ทำไมต้องกู้นอกระบบงบประมาณ ทั้งที่สามารถกู้ในระบบได้ 3.พ.ร.บ. ฉบับนี้เสียงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจสะดุดการทำงานของรัฐบาลเอง
นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยในการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้หลายประเด็น เช่น ที่มาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลอาจความจำเป็นในการกู้เพื่อพัฒนาระบบการขนส่ง แต่ไม่ได้มอบถึงประเด็นอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ แต่รัฐบาลมองแต่ด้านคมนาคม ไม่มีการมองถึงการพัฒนาคน ส่วนความมั่งคงทางการคลังนั้น รัฐบาลกำลังลดความน่าเชื่อถือของประเทศโดยการกู้เงิน 2 ล้านล้าน เรื่องดังกล่าวใครจะได้ประโยชน์ซึ่งคิดว่าไม่ใช่ประชาชนแน่นอน สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ เรามีหนี้กองอยู่บนตักแน่นอน หากรัฐบาลไม่มีความพร้อม ก็จะเป็นภาระของประชาชน
นายกรณ์ กล่าวว่า เห็นบทเรียนมาแล้วการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน3.5 แสนล้านบาท จึงไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนไปได้ ส่วนผลกระทบทางการคลัง ต้องถามว่าจำเป็นหรือไม่ต้องกู้ทั้ง 2 ล้านล้าน เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ส่วนกรณีที่ประเทศไทยสามารถรับภาระได้หรือไม่นั้น รัฐบาลไม่ได้พูดว่าแหล่งรายได้จะมาจากที่ใด ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป เพราะตัวภาษีมูลค้าเพิ่มแม้จะขยายตัวอยู่ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องพูดความจริงให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งเจ้าใจว่าต้องมาจากภาษีของประชาชน รัฐบาลมีแนวคิดในการปรับภาษีหรือไม่ เรายังไม่สามรถตอบได้ว่า หนี้สาธารณจะต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างจริงหรือไม่ การกู้เงินดังกล่าวไม่ได้มีผลทางเศรษฐกิจโดยรวม เพราะรัฐบาลระบุว่าจะกู้ในประเทศ เรื่องนี้จะเป็นการแย้งชิงระหว่างรัฐกับเอกชน วันนี้ประชาชนมีความสับสนกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น การคืนเงินต้น 50 ปี ซึ่งดอกเบี้ยต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก ใน 50 ปี ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นด้วย ทุก 1 เปอร์เซ็นต์ของดอกเบี้ย สุดท้ายเราไม่สารมารถรับภาระหนี้ได้หรือไม่ เช่นเมื่อมีการขาดทุนใครจะรับผิดชอบ ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบก็ไม่สามารถเห็นด้วยได้ หากรัฐบาลยังดื้อโดยใช้เสียงข้างมาก คิดว่ารัฐบาลไม่สารมารถอ้างเสียงข้างมากได้ เพราะเคยประกาศไว้ว่าต้องการล้างหนี้ให้ประชาชน แต่ที่เห็นอย่างเป็นการใช้หนี้
นายกรณ์ กล่าวว่า ขอท้ารัฐบาล 7 ข้อประกอบด้วย
1.หากมีความจริงใจขอให้ทำตามที่ผู้นำฝ่ายค้านขอไว้ โดยเอาเอกสารประกอบ พ.ร.บ. มาเป็นบัญชีแนบท้าย
2. หากมีโครงการใดก็แล้วแต่ที่หากล่าช้า ขอให้หมดสัญญาจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ไปเลย
3. โครงการใดที่จะยกเลิก ต้องไม่โอนเงินเพื่อกู้เด็ดขาด
4. ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต และต้องมีการทำอย่างเปิดเผย
5. ต้องการเห็นบทบาทภาคีการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบ หากมีกรณีใดที่พบว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ขอให้โครงการนั้นหมดสิทธิ์ไปเลย
6.ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลการขาดดุลทางงบประมาณ
7.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องดู GDP อย่างที่กล่าวอ้างไว้
ย้ำเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านว่า ขอชี้แจง 3 ประเด็น คือ กรณีการให้เอกชนมาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีหลักการโดยคำนึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะลดต้นทุนการขนส่งและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี โดยปกติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รัฐควรลงทุนเอง แต่อาจมีบางส่วนที่รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วให้เอกชนมาลงทุนต่อเนื่อง หากในโครงการนี้ส่วนใดที่เปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ จะตัดการใช้เงินกู้ในส่วนนั้นออกไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจะลงนามความเข้าใจกับต่างประเทศที่จะมาลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ขอชี้แจงว่า การลงนามเอ็มโอยูไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะยังมีข้อขัดแย้งของ 2 ฝ่ายอีกมาก เช่น ประเทศที่ต้องการมาลงทุนต้องการใช้เทคโนโลยีของเขา ใช้ผู้รับเหมาของเขา ให้สัญญา 50 ปี ต้องให้สิทธิการใช้ที่ดิน ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการมาลงทุนไม่มีใครไม่ต้องการผลประโยชน์ หากลงทุนแล้วต้องเสียเปรียบหรือไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เราคงทำไม่ได้ อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่จะต้องมีข้อยุติในอนาคต
นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน กรณีรถไฟความเร็วสูงจะมีการเชื่อมโยงถึง จ.หนองคาย และมีการเชื่อมถึงปาดังเบซาร์แน่นอน เพียงแต่จะทำต่อเมื่อมีความเหมาะสม โดยต้องดูความพร้อม ขอย้ำว่าเราจะเชื่อมเมื่อทุกคนพร้อม ส่วนการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไป จ.เชียงใหม่ ก่อนเป็นนโยบายของรัฐบาล และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า จ.เชียงใหม่ จะได้ประโยชน์กว่า เพราะมีผู้ที่ต้องเดินทางมากกว่า จ.หนองคาย วันละ 10,000 คน
กิตติรัตน์ยันมีระบบสกัดคอร์รัปชั่น
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในประเด็นที่ผู้นำฝ่ายค้านได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยกรณีที่จะมีผลต่อระดับหนี้สาธารณะให้ปรับสูงขึ้นและต้องใช้เวลาในการชำระหนี้ที่ยาวนานนั้น ยืนยันว่า ระดับหนี้สาธารณะจะยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง หากมีอะไรที่เหนือความคาดหมายต่อระบบเศรษฐกิจ ก็หมายความว่า เรามีช่วงห่างของการกู้เงินที่จะเข้ามาดูแลส่วนนี้ได้ ส่วนที่มองว่าจะมีระยะเวลาที่ยาวนานในการชำระนี้ แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านคือ เราก็มีทรัพย์สินที่ได้จากการลงทุน ซึ่งจะยังคงอยู่ยาวกว่าศตวรรษ
"กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายแรกที่บอกได้ว่า ถ้ากู้เงินแล้ว จะมีระยะเวลาการชำระหนี้หมดในช่วงใด ในอดีตไม่เคยมี และแม้ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายไปก่อนหน้านี้ จะไม่ได้ระบุ ระยะเวลาในการชำระหนี้ ก็เพราะเราแน่ใจว่า การก่อหนี้จะอยู่ในกรอบวินัยการคลัง"
อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะใช้หนี้ก่อนกำหนด ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแค่เพิ่มต้นเงินกู้ในการชำระ ก็จะช่วยลดดอกเบี้ยได้อีก ส่วนที่อัตราดอกเบี้ยจะสามารถพุ่งไปถึง 3 ล้านล้านบาท ก็คงเป็นเรื่องจริง เพราะเป็นระยะเวลาในการชำระหนี้ที่ยาวถึง 50 ปี แต่ด้วยแผนการกู้เงิน ที่เราจะกู้ในประเทศเกือบทั้งหมด ทั้งที่ตลาดต่างประเทศก็มีความต้องการเสนอเงินกู้ ฉะนั้น ถ้าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการระดมเงินทุน ดอกเบี้ยเหล่านี้ ก็จะตกอยู่กับคนไทยทั้งหมด
ส่วนกรณีที่มองว่า กฎหมายฉบับนี้ มีจำนวนหน้าของกฎหมายที่น้อย และกังวลกรณีที่จะเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น เขากล่าวว่า ในข้อเท็จจริง คือ เรามีบัญชีแนบท้ายร่างกฎหมายอีกจำนวน 2 หน้า แต่ก็ไม่น้อยเมื่อเทียบกับกฎหมายฉบับเดิมๆ ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่ ในจำนวน 19 มาตราของกฎหมายนั้น ก็กำหนดสาระสำคัญในการใช้จ่ายเงิน นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการทำงานที่รอบคอบ โดยกำหนดให้กระทรวงที่รับผิดชอบโครงการต้องเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนที่จะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
"ในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องจัดระบบให้มีการติดตามการลงทุน ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้น คณะรัฐมนตรีจะต้องรายงานผลการดำเนินโครงการให้แก่สภาฯและวุฒิสภาได้รับทราบภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ นอกจากนี้ ในบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ยังกำหนดยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินโครงการ และมีเอกสารโครงการลงทุนประกอบการพิจารณาถึง 231 หน้า"
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับสูตรการคำนวณราคากลางที่เป็นมาตรฐานใหม่ ซึ่งจะเพิ่มเติมการคำนวณราคากลางในสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนตามร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทด้วย เช่น การคำนวณราคากลางของระบบราง หรือสะพาน เป็นต้น และได้มีหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการให้ปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น