โดย: AWACS จากRED POWER ฉบับที่ 34 เดือน มีนาคม 2556
เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่านครับ
ตั้งแต่ เรด พาวเวอร์ ฉบับนี้ไป ผมจะขอมารับใช้ผู้อ่านแทนคอลัมน์นิสต์ท่านก่อน
แต่รับรองได้ว่าเนื้อหาสาระของ ตามเหตุการณ์ ทันกระแสโลก จะยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม
หรืออาจจะมากกว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ใดที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมโลก
ผมจะเสาะหาและนำมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบครับ
ครับฉบับนี้ผมขอเริ่มด้วย
กรณีพิพาทของหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ ที่เคยมีประวัติศาสตร์การทำสงครามรบพุ่งกัน
ของสองประเทศมาแล้วในอดีต ระหว่างประเทศอาร์เจนติน่า และประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2525 โดยในสมัยนั้นรัฐบาลอังกฤษบริหารราชการโดยนายกรัฐมนตรีหญิงนามว่า
นางมาร์กาเรต แธตเชอร์ ขณะที่ทางอาร์เจนติน่าปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทางทหาร
นำโดยนายพลลีโอโพลโด กัลเทียรี นายพลบาซิลิโอ โดโซ และพลเรือเอกฆอร์เก อนายา ความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายนั้นถือได้ว่ามหาศาลเลยทีเดียว
หากเทียบกับขนาดของเกาะฟอล์คแลนด์ หรือที่ทางอาร์เจนติน่าเรียกกว่า “ลาส มาลวีนาส”
ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 12,173 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
เอาล่ะก่อนที่ผมจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของทั้งสองประเทศที่มีเหนือดินแดนแห่งนี้
ผมจะขอให้ข้อมูลท่านผู้อ่านเบื้องต้นสักนิดว่า หมู่เกาะฟอล์คแลนด์มันตั้งอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก
และมีความสำคัญอย่างไร ทำไมทั้งสองประเทศนี้จึงอยากจะครอบครองมากนัก
จนถึงขนาดยกทัพจับศึกกันเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และตอนนี้เหตุการณ์ได้กลับมาแย่งพื้นที่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์กันอีกรอบ
หมู่เกาะฟอล์คแลนด์
(อังกฤษ: Falkland Islands) หรือ หมู่เกาะมัลบีนัส (สเปน: Islas Malvinas) ตั้งอยู่อยู่บริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก
และอยู่ทางตะวันออกของอาร์เจนตินา 480 กิโลเมตร
ประกอบไปด้วยพื้นที่ที่เป็นเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือ เกาะฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก
นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยหมู่เกาะเล็ก ๆ อีกราว 700 เกาะ ปัญหาการอ้างสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะฟอล์คแลนด์
เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการค้นพบดินแดนนี้ตั้งแต่ในช่วงปี 1600 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า
ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ชาวยุโรปส่วนใหญ่กำลังเสาะแสวงหาดินแดนใหม่ๆ
หมู่เกาะฟอล์คแลนด์ก็เป็นหนึ่งในดินแดนใหม่ที่ชาวยุโรปค้นพบและอ้างสิทธิ์การครอบครองในขณะนั้น
และเป็นที่น่าตกใจว่า ประเทศที่ได้อ้างสิทธิ์บนหมู่เกาะแห่งนี้มีถึง 4 ประเทศด้วยกันคือ คือ ฝรั่งเศส สเปน อาร์เจนตินา
และอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเวลาได้ผ่านไปหลายปี
ฝรั่งเศสและสเปนก็เริ่มที่จะห่างเหินและเมินพื้นที่แห่งนี้ไปในที่สุด
ก็คงเหลือแต่เพียงอาร์เจนตินากับอังกฤษที่ยังแสดงความเป็นเจ้าของ โดยอาร์เจนติน่า
ที่นอกจากจะขอจองหมู่เกาะนี้ต่อไป โดยอ้างว่าหมู่เกาะฟอล์คแลนด์นี้อยู่ใกล้กับประเทศของตน
ยังได้เข้าไปจับจองดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษด้วย สัญญาณแห่งการเกิดสงครามแย่งชิงดินแดนจึงได้เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ในช่วงนั้น
แต่มาปะทุรุนแรงขึ้นจากการที่อาร์เจนติน่าตัดสินใจทำสงครามที่คิดว่าจะทำให้สามารถยึดดินแดนบนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
โดยสำคัญว่าประเทศของตนเองอยู่ใกล้กับหมู่เกาะฟอล์คแลนด์มากกว่าทางฝั่งของอังกฤษที่ต้องยกกำลังมาไกลกว่า 12,000 กิโลเมตร ในขณะที่ประเทศอาร์เจนติน่าอยู่ห่างไปเพียง 500 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น แต่อาร์เจนตินาคิดผิด
และสำคัญผิดที่ว่าระยะทางจะมีผลต่อการทำสงครามมากกว่าความพร้อมด้านการส่งกำลังบำรุงและเทคโนโลยีทางการรบที่เหนือกว่าของอังกฤษ
กอรปกับอังกฤษได้รับความช่วยเหลืออย่างลับๆ
จากสหรัฐอเมริกาในการดักฟังการสื่อสารและเรด้าร์ตรวจจับ
จึงทำให้กองทัพอังกฤษมีข่าวกรองที่ดีกว่าอาร์เจนติน่า
สุดท้ายแล้วจึงทำให้อาร์เจนติน่าพ่ายแพ้สงครามไปในที่สุด โดยสูญเสียไพร่พลสูงถึง 649 นาย ยอดเกือบครึ่งหนึ่งมาจากเหตุเรือลาดตระเวน
“เจเนรัล เบลกราโน่”
ถูกเรือดำน้ำอังกฤษจมด้วยตอร์ปิโดขณะพยายามถอนตัวออกจากพื้นที่ทำการรบ
ขณะที่เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ถูกยิงตกเกินกว่า 60 ลำ ส่วนทางฝั่งอังกฤษสูญเสียไพร่พลทั้งหมด 258 นาย เรือพิฆาตและเรือฟรีเกตถูกจม 4 ลำ เรือลำเลียงพลถูกจม 3 ลำ ขณะที่เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ตกรวม 34 ลำ สุดท้ายแล้วสงครามที่ยาวนาน 74 วัน ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอังกฤษ
ในด้านมิติด้านยุทธศาสตร์การทหารและการเมืองนั้น
หมู่เกาะฟอล์คแลนด์ยังคงเป็นประเด็นร้อนในการประชุมระหว่างประเทศระหว่างกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและสหภาพยุโรป
โดยประเทศส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกา อาทิเช่น กลุ่ม MERCOSUR ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจากประเทศในลาตินอเมริกามีท่าทีสนับสนุนอาร์เจนตินาทุกประเทศ
ส่วนประเทศในสหภาพยุโรปมีท่าทีในการสนับสนุนประเทศอังกฤษ ยกเว้นชาติเดียวคือสเปนที่สนับสนุนอาร์เจนติน่า
และยิ่งมาเป็นประเด็นความขัดแย้งมากขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ที่รัฐบาลท้องถิ่นของหมู่เกาะฟอล์คแลนด์จะจัดให้มีการทำประชามติ
(Referendum) เพื่อให้ชาวหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ได้ใช้สิทธิ์ในการกำหนดใจตัวเอง
(Self Determination) ขึ้นในระหว่างวันที่ 10 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งประเทศอังกฤษได้แสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนหลักการนี้
เพราะประชากรส่วนใหญ่บนเกาะมีเชื้อสายอังกฤษอยู่ถึง 61% และมีแบบแผนการดำเนินชีวิตแบบบริติชหรือแบบอังกฤษ
ดังนั้นอังกฤษจึงค่อนข้างจะมั่นใจว่า การทำประชามติดังกล่าว ชาวหมู่เกาะฟอล์คแลนด์จะยินดีที่อยู่ภายใต้อาณัติของดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ
หรือ British Oversea Territory ต่อไป ซึ่งตรงกันข้ามกับอาร์เจนติน่าที่มีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการทำประชามติที่จะให้ประชาชนบนหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ได้กำหนดใจตัวเอง
เพราะอาร์เจนติน่า ยังคงเห็นว่าหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เจนติน่าที่ถูกอังกฤษยึดครองไป
ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1833 ดังนั้นหลักการดังกล่าวจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้
และเรียกร้องให้อังกฤษคืนหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ให้กับอาร์เจนติน่า โดยเร็ว
ปัจจุบันประเด็นข้อขัดแย้งและการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ยังคงดำเนินต่อไปเมื่อที่ประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอเมริกาใต้
หรือ MERCOSUR
ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศบราซิล อาร์เจนติน่า และอุรุกวัย ไม่อนุญาตให้เรือใดๆ
ที่ติดธงสัญลักษณ์เกาะฟอล์คแลนด์เข้าเทียบท่าในประเทศเหล่านี้โดยเด็ดขาด ซึ่งอังกฤษก็ตอบโต้ด้วยการส่งเรือรบฟริเกตสำหรับต่อต้านอากาศยานรุ่นใหม่
“เอชเอ็มเอส ดอนต์เลสส์ มุ่งหน้าสู่เกาะฟอล์คแลนด์ในเดือน มีนาคม ปีที่ผ่านมา
โดยอ้างว่าเป็นขั้นตอนการปฏิบัติการตามปกติ ยิ่งไปกว่านั้น
ทางอาร์เจนติน่ายังกล่าวหาว่าอังกฤษได้ทำการขุดเจาะเพื่อหาน้ำมันบนเกาะซึ่งเป็นการกระทำเพียงฝ่ายเดียว
โดยไม่ได้ขออนุญาตหรือบอกกล่าวไปยังรัฐบาลอาร์เจนติน่า อีกทั้งยังมีการเสด็จเยือนของเจ้าชายวิลเลียมแห่งราชวงศ์อังกฤษเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา เพื่อปฏิบัติหน้าที่นักบินกู้ภัยของกองทัพอากาศ
และจะประจำการอยู่นานประมาณ 6 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าอังกฤษได้ส่งสัญญานอย่างชัดเจนว่าได้เป็นเจ้าของเกาะฟอล์คแลนด์แล้ว
และถือว่าเป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของอังกฤษอีกหนึ่งที่ไปโดยปริยาย
ในแง่ของยุทธศาสตร์ทางทะเลแล้ว
หมู่เกาะฟอล์คแลนด์ถือว่าเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ใกล้ขั้วโลกใต้มากที่สุด และอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งมีเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิค
และมหาสมุทรแอตแลนติก ดังนั้นหากอังกฤษสามารถที่จะครอบครองดินแดนตรงจุดนี้ได้
ในอนาคตสามารถที่จะทำการควบคุมการสัญจรทางทะเลในคาบมหาสมุทรทั้งสองฝั่งได้โดยง่าย ซึ่งง่ายทั้งในแง่ของการพาณิชย์และทางการทหาร
หากมีกรณีข้อพิพาทเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ อังกฤษก็สามารถใช้เกาะฟอล์คแลนด์เป็นฐานบิน
และฐานทัพเรือในการส่งกำลังบำรุงทางทหารให้กับกองกำลังของตนเองที่จะไปปฏิบัติการณ์ในทุกประเทศทั่วโลก
ซึ่งในปัจจุบัน อังกฤษได้ส่งกำลังทหารมาประจำที่หมู่เกาะฟอล์คแลนด์นี้แล้วบางส่วน
โดยตั้งเป็นกองพลน้อยโพ้นทะเล (Oversea Brigade Combat Force) โดยมีทั้งเครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียงพล เรือฟริเกต
ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน จรวด และกำลังพลภาคพื้นดิน จึงดูเหมือนว่าอังกฤษได้ครอบครองดินแดนทั้งหมดของหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ไปหมดแล้วครับ
ความขัดแย้งหรือข้อพิพาทของหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ระหว่างอาร์เจนติน่าและอังกฤษยังคงจะดำเนินต่อไปตราบใดที่ทางอาร์เจนติน่ายังคงคิดว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของตัวเอง
อังกฤษก็เช่นเดียวกัน และนี่ก็จะเป็นจุดไต้ตำตอและข้อบาดหมางตามไปสู่เวทีโลก
การประชุมนานาชาติทุกเวทีที่สองประเทศนี้เป็นสมาชิกและเข้าร่วม
และยิ่งจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดทั้งช่วงก่อนและหลังการทำประชามติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 – 11 มีนาคม 2556 ว่านโยบายของทั้งอาร์เจนติน่า
และอังกฤษจะเป็นไปในทางใด จะมีท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นหรือจะมีช่องทางในการเจรจา
อันนี้ก็ยากที่จะคาดเดาได้ ขึ้นชื่อว่าผลประโยชน์ของชาติแล้วก็คงไม่มีใครยอมใคร
เพราะนอกเหนือจากผลประโยชน์ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่พอจะแบ่งสรรค์ปันส่วนหากคุยกันดีๆ
ได้แล้ว ยังมีเรื่องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของความเป็นมหาอำนาจเก่า ก็คงไม่ง่ายที่จะทำให้ต่างฝ่ายต่างยอมถอย
โดยเฉพาะอังกฤษที่มาไกลถึงเพียงนี้ และยังจะต้องการเดินทางไปอีกไกลเพื่อรักษา
“ดินแดนโพ้นทะเล อาณานิคมแห่งองค์ราชินี” ให้สมดั่งที่เราๆ ท่านๆ ได้คุ้นเคยกับคำว่า
“ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” ต่อไปครับ สวัสดี.
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
ตอบลบ