Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

เปิดแผนพัฒนาระบบรางทั้งประเทศ

ข้อมูลจาก Voice TV

                 

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มากถึงร้อยละ 80 เป็นการลงทุนในระบบราง ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นการสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงคมนาคม ยังมีแผนลงทุนระบบรางอีก 2  ประเภทด้วย 



เมกะโปรเจคมูลค่า 2 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนที่ถือเป็นการเปลี่ยนประเทศครั้งสำคัญ โดยเฉพาะระบบการขนส่งที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงเพื่อลดต้นทุนและบรรเทาผลกระทบ จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสัดส่วนงบประมาณ ร้อยละ 81.4 ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะนำไปลงทุนก่อสร้างระบบราง ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 15 จะใช้ในการปรับปรุงถนน ร้อยละ 1.5 จะใช้ในการปรับปรุงระบบขนส่งทางน้ำ และร้อยละ 0.5 เพื่อการพัฒนาด่านการค้าชายแดน ที่เหลืออีกร้อยละ 1.5 กันไว้เพื่อสำรองจ่าย

การรถไฟแห่งประเทศไทย  ถือเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการเปลี่ยนประเทศด้วยระบบขนส่งทางราง หลังจากที่ผ่านมา การรถไฟฯ เป็นหน่วยงานที่ไม่มีการพัฒนาด้านการให้บริการภาคประชาชนมานานหลายสิบปี

โดยในครั้งนี้ การรถไฟฯ จะใช้งบประมาณปรับปรุงระบบราง 3 ประเภท ได้แก่
- รถไฟความเร็วสูง วงเงิน 4 แสน 8 หมื่นล้านบาท
- ระบบรถไฟสายใหม่ วงเงิน 1 แสน 4 หมื่นล้านบาท
- รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง วงเงิน 1 แสน 3 หมื่นล้านบาท

รถไฟทางคู่ ที่หลายคนเคยได้ยินเรื่องนี้บ่อยครั้ง คือ การเพิ่มรางรถไฟอีก 1 เส้น คู่ขนานไปกับรางรถไฟเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้รถไฟที่วิ่งอยู่เดิม สามารถวิ่งสวนทางกันได้ คล้ายกับเลนของรถยนต์ ที่มีทั้งขาไปและกลับ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะความเร็วของรถไฟ จากเดิมที่ใช้ความเร็ว ในการขนส่งผู้โดยสารที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเปลี่ยนมาใช้รางคู่ จะทำให้รถไฟเร่งความเร็วได้ถึง 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

และในอีก 7 ปีข้างหน้า  ที่การรถไฟจะเปลี่ยนระบบรางเดียวให้เป็นรางคู่ จะทำให้รางรถไฟมีระยะทางเพิ่มขึ้น รวม มีระบบรางคู่เพิ่มขึ้น สามารถเดินรถไฟผ่านจังหวัดต่างๆ ได้มากขึ้น สามารถเพิ่มขบวนเที่ยววิ่งต่อวันได้มากขึ้น 4 เท่า สามารถขนส่งสินค้าได้อีกกว่าเดิมเกือบ 5 เท่า  และบรรทุกผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านคนต่อปี จากเดิมที่ 45 ล้านต่อปี

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีว่า หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาภายในเดือนมีนาคมนี้ การรถไฟพร้อมเดินหน้าโครงการในความรับผิดชอบทันที ทั้งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ซึ่งคาดว่า การหาผู้รับเหมาทั้ง 2 โครงการ จะทำได้ภายในปีนี้ โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟรางคู่รวม 6 เส้นทาง ระยะทางว่า 4,000 กิโลเมตรทั่วประเทศนั้น คาดว่าจะเปิดประกวดราคาแบบอี อ๊อกชั่นได้ภายในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้ ลงนามสัญญาการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีเช่นกัน

ตามแผนงาน การรถไฟฯได้บรรจุ 28 โครงการไว้ใน 6 กลุ่มการลงทุน วงเงินรวมกว่า 1 ล้าน 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 62.13 ของวงเงินงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท

ซึ่งประกอบด้วย แผนลงทุนระยะเร่งด่วน  จำนวน 9 โครงการ เช่นการปรับปรุงอุปกรณ์ของรถไฟทั้งหมด และโครงการระบบรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 799 กิโลเมตร เช่นสายลพบุรี-ปากน้ำโพ สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน และสายประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2560

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างทางคู่  ระยะที่ 2 ที่วางแผนว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 อีก 6 โครงการ รวมระยะทาง กว่า 1,300 กิโลเมตร เช่น สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ สายชุมพร-สุราษฎร์ธานี สายสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ 339 กิโลเมตร สายขอนแก่น-หนองคาย

นอกจากเพิ่มรางรถไฟให้เป็นรางคู่แล้ว ยังมีโครงการสร้างทางรถไฟใหม่ แบบทางคู่ อีก 3โครงการ ระยะทาง 696 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จในปี 2563 เช่นกันได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สายบ้านไผ่-นครพนม กิโลเมตร และสายภาชี-อำเภอนครหลวง

นอกเหนือจากการลงทุนระบบรางให้เป็นแบบรางคู่ ตาม ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทแล้ว ยังต้องมีการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ 20 หัว และต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรเดิมที่ยังสามารถใช้การได้อยู่อีก 40 หัว จากจำนวนหัวรถจักรทั้งหมดที่มีอยู่ 200 หัว นอกจากนี้ยังต้องจัดซื้อตู้โดยสารใหม่อีก 115 ตู้ ด้วย ซึ่งทั้งหมดใช้งบประมาณประจำปีตามปกติ

การพัฒนาระบบรถไฟเดิมให้มีประสิทธิภาพ ไปพร้อมกับการสร้างระบบรถไฟแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างรถไฟความเร็วสูง จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในด้านการค้า การลงทุน และคุณภาพชีวิตประชากรในประเทศที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคยยืนยันว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ตัวเลขเศรษฐกิจ ที่จะเห็นเป็นรูปธรรม คือ คนไทยจะมีค่าขนส่งที่จะลดลงร้อยละ 2 ในช่วงของการลงทุน มูลค่า GDP  จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 1 ต่อปี และการจ้างงานที่จะเกิดขึ้น ประมาณ 500,000 อัตรา ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง และเกิดการหมุนเวียนภายในประเทศอย่างเข้มแข็ง

 

เก็บประเด็น ปมร้อน 2.2 ล้านล้าน อภิปรายสภา

ข้อมูลจาก ประชาไท



28 มี.ค.56 ที่รัฐสภา มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏรเป็นพิเศษ มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฏร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ จำนวน 2 ล้านล้านบาท

โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้คือจะให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มูลค่ารวมกันไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยจะเชื่อมโยงฐานการผลิตกับฐานการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งในภูมิภาค เพื่อให้การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสำเร็จตามเป้าหมายจึงต้องลงทุนโดยวางแผนเงินทุนระยะยาว ซึ่งต้องวางแผนหาแหล่งเงินทุนที่มีศัยกภาพ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินการเป็นการเฉพาะนอกเหนือจากแผนกู้เงินในการจัดการหนี้สาธารณะ

จากนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจพัฒนาให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า โดยมีความจำเป็นที่ต้องเสนอการลงทุนขนาดใหญ่ ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ หลังจากปัจจัยการเมืองที่มีความขัดแย้งในปี 2549 ทำให้ประเทศมีการพัฒนาถดถอย และไม่ได้รับการยอมรับ มิติในการลงทุนขนาดใหญ่ไม่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนในการขนส่งสูงถึงร้อยละ 15  ทำให้ความสามารถในการแข่งขันถดถอย การขนส่งส่วนใหญ่ใช้ถนนเป็นหลัก ซึ่งขีดความสามารถทางด้านการขนส่งของไทยลดลง ส่วนแนวคิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาที่เชื่อมโยงการลงทุนทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า แนวคิดการลงทุนได้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเน้นการเชื่อมฐานเศรษฐกิจเดิมต่อยอดกับการเชื่อมฐานเศรษฐกิจใหม่ เท่ากับเป็นการเสริมฐานรายได้ใหม่ที่จะมีการลงทุนกับประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงทุนระบบรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่เน้นการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือสินค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาด่านเข้าของประเทศให้มีความมั่นคงและทันสมัยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยคำนึงถึงการกระจายความเจริญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น มีการกระจายความเจริญจากหัวเมืองไปยังเมืองรอบนอกเพื่อขยายความเจริญออกไปจากเมืองกรุง พร้อมกับการเชื่อมโยงไปยังเมืองใหญ่ในชนบท

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนโดยเชื่อมห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรม การผลิตและการส่งออกเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและการส่งออก รวมถึงลดเวลาในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังใช้หลักการเชื่อมเมืองไปสู่แหล่งท่องเที่ยว เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ไปยังเมืองใกล้เคียง เชื่อมเมืองต่อเมืองของการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานขึ้น ซึ่งแนวคิดทั้งหมด เชื่อมโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายกฯ กล่าวว่า ยังมีหลายคนมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องกู้เงินผ่านการออก พ.ร.บ.แทนการใช้งบประมาณประจำปี ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าระบบงบประมาณรายปีไม่สามารถเอื้อต่อการลงทุนขนาดใหญ่เป็นระยะเวลายาวนาน หลายตัวอย่างในอดีตเช่น การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลเห็นว่าโครงการลงทุนเหล่านี้เป็นโครงการสำหรับประชาชนที่แท้จริง จึงไม่ควรถูกแปรเปลี่ยนในสภาวะการเมืองที่มีความผกผัน นอกจากการลงทุนด้วยเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ยังเสริมด้วยงบประมาณประจำปีและการเชิญชวนเอกชนมาลงทุนด้วย ทั้งนี้รัฐบาลมีความมั่นใจว่ามีเครื่องมือการลงทุนที่หลากหลาย โดยจะเน้นการกู้เงิระยะยาว และใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม เชื่อว่าการกู้เงินระยะยาวจะไม่กระทบกับฐานะทางการคลัง แม้การกู้เงินอาจทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น แต่การลงทุนจะทำให้จีดีพีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะลดลง ในภาพรวมแล้วหนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับที่บริหารได้ อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถรองรับกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดความผันผวนในอนาคตได้ สำหรับความโปร่งใส ขอยืนยันว่าการดำเนินการจะมีความโปร่งใสและเข้มงวดกว่างบประมาณประจำปี โดยจะยึดการดำเนินการตามระเบียบการใช้เงินของสำนักนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้ทำเอกสารประกอบและบัญชีแนบท้ายที่มีความละเอียดเสนอแล้ว  ส่วนการดำเนินโครงการได้ให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ดูแลตรวจสอบ โดยสภาฯ สามารถตรวจสอบผ่านคณะกรรมการธิการ ซึ่งจะมีการรายงานผลการดำเนินการทุกปี ประกอบกับการที่จะจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตั้งแต่ระดับชุมชน รวมถึงจัดนิทรรศการเสนอโครงการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น
“ขอยืนยันว่าโครงการจะมีการติดตามตรรวจสอบและดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ขอยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลมีเจตจำนงทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนสามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดิฉันไม่อยากให้ถกเถียงว่าใครจะริเริ่ม แต่อยากเห็นประชาชนร่วมกันมีส่วนร่วมในการวางรากฐานเพื่อนาคตของลูกหลานคนไทยต่อไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว



รมว.คมนาคม แจงยุทธศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่อการแข่งขัน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงพร้อมทั้งเปิดวีดีทัศน์ ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 2020 โดยอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานประเทศเพื่อการแข่งขันในเวทีโลกว่า ขณะนี้เราใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลักของประเทศ ที่ทั้งแพงสุดและเกิดมลภาวะมากที่สุด การขนส่งทางรางจะถูกลงมาเกือบครึ่ง ขณะที่ทางน้ำมีราคาถูกสุด ซึ่งหากปล่อยไปอย่างนี้อนาคตเราจะแข่งกับเพื่อนบ้านและชาติอื่นลำบาก เราจะยิ่งถอยหลังและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่วนทางอากาศนั้นเขาเข้มแข็งดูแลตัวเองได้ เราหวังว่าในอนาคตรถไฟจะเป็นเช่นนั้น แต่ตอนแรกเราต้องดูแลเขาก่อน หากเอาจุดอ่อนตรงนี้มาเป็นโอกาสได้เราจะพลิกประเทศ ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อยลงทุกปี ตัวเลขทั่วโลกงบลงทุนในงบรายจ่ายประจำปีอย่างน้อยต้อง 25% แต่ของไทยระยะ 4-5 ปีหลังมานี้เหลือเพียง 12-15% โจทย์ที่เราต้องทำคือ การปรับรูปแบบขนส่งไม่ให้มีคอขวด รถติด ต้องยกคุณภาพชีวิตประชาชน งบฯ จากพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ เป็นกระดูกสันหลังประเทศ ส่วนงบฯ ปกติจะเป็นเส้นเลือดฝอย เมื่อรวม 2 งบฯ นี้ประเทศเราจะสมบูรณ์แบบ

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการภายใต้แผนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศนั้นมี 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า วงเงิน 354,560.73 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นโครงข่ายการขนส่งหลักของประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 11 สาย ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ โครงการติดตั้งและปรับปรุงเครื่องกั้นถนนที่เป็นจุดตัดทางรถไฟ ปรับปรุงอาณัติสัญญาณไฟสี ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ก่อสร้างโรงรถจักรแห่งใหม่ที่แก่งคอย สร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 83 แห่ง แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางลำน้ำและชายฝั่ง อาทิ โครงการก่อสร้างท่าเรือชุมพร สร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 สร้างสถานีขนส่งทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงานที่จ.อ่างทอง สร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจ.สตูล และแผนงานพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงกับฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญของประเทศ

นายชัชชาติ กล่าวว่า 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน วงเงิน 1,042,376.74 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาประตูการค้าหลักและประตูการค้าชายแดน อาทิ โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านศุลกากร พัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ พัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเชื่อมต่อด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง แผนงานพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อภูมิภาค วงเงิน 994,430.90 ล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ วงเงิน 387,821 ล้านบาท กรุงเทพฯ-หนองคาย วงเงิน 170.450 ล้านบาท กรุงเทพฯ - ปาดังเบซาร์ วงเงิน 124,327.9 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ชลบุรี พัทยา-ระยอง โครงการสร้างรถทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สายบ้านไผ่-นครพนม โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว วงเงิน 593,801.52 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมือง อาทิ รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต แอร์พอร์ตลิ้งค์ช่วงดอนเมือง-พญาไท รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-บางแค รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม แบริ่ง-สมุทรปราการ-บางปู และหมอชิต-คูคต รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และแผนงานพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลัก อาทิ เร่งรัดขยาย 4 ช่องจราจร เวลาที่เหลืออีกกว่า 2 ปีมันง่ายมากที่จะไม่ทำอะไร เรามีแผนรายละเอียดชัดเจนอยู่ในเอกสารแนบท้ายว่า ปีไหนทำอะไร งบประมาณเท่าไหร่ ที่กังวลเรื่องความโปร่งใสนั้น เราก็กังวลไม่แพ้กัน หากเกิดคำถามเรื่องความไม่โปร่งใสนั้น ครม.มีมติออกมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เปิดเผยราคากลางการจัดซื้อจัดจ้าง การแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของบริษัทนิติบุคคลที่จะเข้าเสนองานต่อรัฐ และระบบอีอ็อกชั่น ซึ่งระบบเหล่านี้จะช่วยตรวจสอบได้



อภิสิทธิ์ยันไม่รับหลักการ พ.ร.บ. เห็นด้วยลงทุนพื้นฐานแต่ไม่เห็นด้วยที่จะกู้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายถึง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า พรรคมีมติชัดเจนไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ ดังกล่าว หากถามว่าทำไมเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะถ้าดูจากสิ่งที่รัฐบาลชี้แจงถึงความจำเป็นในการกู้เงิน ก็อาจสรุปได้ว่าที่ต้องทำเพราะไม่สามารถเดินหน้าในการลงทุนพื้นฐานได้ ด้วยเหตุผล  3 ประการ คือ 1.เงินงบประมาณไม่พอ 2.กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายไม่เอื้ออำนวยที่จะให้ลงทุน และ 3.ปัญหาเรื่องการเมือง
“วันนี้ที่พวกเราทุกคนยืนขึ้นคัดค้านกฎหมายนี้ ไม่มีใครไม่ต้องการเห็นรถไฟรางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น แต่กำลังบอกว่าท่านทำได้ เงินมี กฎหมายหลายฉบับก็เอื้อให้ทำได้ และทั้งหมดก็อยู่ที่การเมือง จึงต้องถามว่าหากเป็นความตั้งใจทางการเมืองที่จะทำเรื่องเหล่านี้จริง ทำไมต้องมาขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกงบประมาณปกติ”นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือปัญหาวินัยการเงินการคลัง เจตนาของท่านที่แท้จริงคืออะไร เมื่อตอนที่ตนเป็นรัฐบาล สมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านการกู้เงิน บ้างก็บอกสร้างหนี้ให้ประเทศ กู้มาโกง เก่งแต่กู้ แล้วรัฐบาลนี้ได้หาเสียงว่าจะไม่กู้เงิน ขึ้นป้ายทั่วประเทศว่าล้างหนี้ให้ประเทศ นี่ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยทำไว้ 7 พันล้านบาท อยากถามว่าทำไมวันนี้กู้

“คาดว่าปีนี้หนี้สาธารณะจะเกิน 45 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ยังไม่ได้กู้ ต้องยอมรับว่าอนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก ที่บอกว่าใช้หนี้ 50 ปี หนี้ที่คนไทยต้องใช้คือ 5 ล้านล้านบาท เป็นดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะมีดอกเบี้ยต่ำไปอีก 50 ปี อยากถามว่าหากวันข้างหน้าถ้าเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นแผนของรัฐบาลจะผิดหมด ไม่ใช่ 50 ปี ไม่ใช่ชาติหน้า แต่เป็นชาตินู้น”นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลกล้ายืนยันหรือไม่ว่า เมื่อมีพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว รัฐบาลตั้งแต่ปี 56-60 จะต้องปรับลดงบขาดดุลเท่าไหร่ และหลังปี 60 รัฐบาลจะต้องจัดงบสมดุล ตนเชื่อว่าในที่สุดรัฐบาลก็จะไม่กล้าเขียน ไม่กล้าดำเนินการตามนี้ วันนี้ที่กำลังกู้มาเชื่อว่าท่านกำลังทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่คุ้มค่า การกู้เงินนอกงบประมาณเป็นปัญหาต่อการตรวจสอบ เพราะเราไม่มีอำนาจในการพิจารณาและตรวจสอบได้เลยว่าที่จะไปสร้างถนน รถไฟ  กิโลเมตรละกี่บาท เพราะเราแปรญัตติไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ เราจะได้รับทราบว่า แต่ละปีท่านทำอะไร แต่ไม่มีอำนาจบอกเลยว่า โครงการไหนต้องปรับเปลี่ยน หรือแก้ไข
“ผมไม่ได้ระแวงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยึดถือจากประสบการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ เราเคยฟังนายกฯ พูดว่า 1.2 แสนล้านบาท ที่จะฟื้นฟูน้ำท่วมจะมีระบบตรวจสอบโปร่งใสได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ การที่นายกฯบอกไม่ต้องห่วงเพราะมีระเบียบพัสดุ ฉะนั้นนายกฯ จะสั่งให้มีการเขียนไปในกฎหมายได้หรือไม่ว่า ทุกโครงการตามกฎหมายนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายระเบียบพัสดุ จะไม่มีการไปออกมติ ครม. ยกเว้นระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเหมือนงบ 1.2แสนล้านบาท และ 3.5 แสนล้านบาท เพราะหากเป็นเช่นนี้จะน่าเชื่อถือมากขึ้น”นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า อยากถามว่า ถ้าสภาฯอนุมัติกฎหมายแบบนี้  วันข้างหน้าจะเป็นแบบอย่างหรือไม่ ต่อไปรัฐบาลอาจจะเสนอกฎหมายงบประมาณมา มีรายการเงินเดือนอย่างเดียว จะลงทุนอะไร  ก็ไปออกกฎหมายกู้เงิน ส.ส.ไม่สามารถตรวจสอบได้ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะการทำอย่างนี้ถือเป็นการเลี่ยงระบบการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ



กรณ์ท้ารัฐบาล 7 ข้อ
นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. อภิปรายว่า เรื่องที่มีความสำคัญคือรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้ถึง 2 ล้านล้านบาทหรือไม่ ฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการสร้างเงื่อนไข ไม่ต้องการถ่วงความเจริญ หากพูดถึงหลักการแล้วฝ่ายค้านไม่สามารถเห็นด้วย คือ 1.ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องการอาศัยการกู้เงินทั้งหมด เพราะสามารถให้สัปทานแก่เอกชนได้ 2. ทำไมต้องกู้นอกระบบงบประมาณ ทั้งที่สามารถกู้ในระบบได้ 3.พ.ร.บ. ฉบับนี้เสียงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจสะดุดการทำงานของรัฐบาลเอง
นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยในการออก พ.ร.บ.ฉบับนี้หลายประเด็น เช่น ที่มาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลอาจความจำเป็นในการกู้เพื่อพัฒนาระบบการขนส่ง แต่ไม่ได้มอบถึงประเด็นอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การศึกษา ด้านความมั่นคงแห่งรัฐ แต่รัฐบาลมองแต่ด้านคมนาคม ไม่มีการมองถึงการพัฒนาคน ส่วนความมั่งคงทางการคลังนั้น รัฐบาลกำลังลดความน่าเชื่อถือของประเทศโดยการกู้เงิน 2 ล้านล้าน เรื่องดังกล่าวใครจะได้ประโยชน์ซึ่งคิดว่าไม่ใช่ประชาชนแน่นอน สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ เรามีหนี้กองอยู่บนตักแน่นอน หากรัฐบาลไม่มีความพร้อม ก็จะเป็นภาระของประชาชน

นายกรณ์ กล่าวว่า  เห็นบทเรียนมาแล้วการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน3.5 แสนล้านบาท จึงไม่สามารถให้ความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนไปได้ ส่วนผลกระทบทางการคลัง ต้องถามว่าจำเป็นหรือไม่ต้องกู้ทั้ง 2 ล้านล้าน เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ส่วนกรณีที่ประเทศไทยสามารถรับภาระได้หรือไม่นั้น รัฐบาลไม่ได้พูดว่าแหล่งรายได้จะมาจากที่ใด ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป เพราะตัวภาษีมูลค้าเพิ่มแม้จะขยายตัวอยู่ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องพูดความจริงให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งเจ้าใจว่าต้องมาจากภาษีของประชาชน รัฐบาลมีแนวคิดในการปรับภาษีหรือไม่ เรายังไม่สามรถตอบได้ว่า หนี้สาธารณจะต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างจริงหรือไม่ การกู้เงินดังกล่าวไม่ได้มีผลทางเศรษฐกิจโดยรวม เพราะรัฐบาลระบุว่าจะกู้ในประเทศ เรื่องนี้จะเป็นการแย้งชิงระหว่างรัฐกับเอกชน วันนี้ประชาชนมีความสับสนกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น การคืนเงินต้น 50 ปี ซึ่งดอกเบี้ยต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก ใน 50 ปี ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นด้วย ทุก 1 เปอร์เซ็นต์ของดอกเบี้ย สุดท้ายเราไม่สารมารถรับภาระหนี้ได้หรือไม่ เช่นเมื่อมีการขาดทุนใครจะรับผิดชอบ ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบก็ไม่สามารถเห็นด้วยได้ หากรัฐบาลยังดื้อโดยใช้เสียงข้างมาก คิดว่ารัฐบาลไม่สารมารถอ้างเสียงข้างมากได้ เพราะเคยประกาศไว้ว่าต้องการล้างหนี้ให้ประชาชน แต่ที่เห็นอย่างเป็นการใช้หนี้


นายกรณ์ กล่าวว่า ขอท้ารัฐบาล 7 ข้อประกอบด้วย

1.หากมีความจริงใจขอให้ทำตามที่ผู้นำฝ่ายค้านขอไว้ โดยเอาเอกสารประกอบ พ.ร.บ. มาเป็นบัญชีแนบท้าย
2. หากมีโครงการใดก็แล้วแต่ที่หากล่าช้า ขอให้หมดสัญญาจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ไปเลย
3. โครงการใดที่จะยกเลิก ต้องไม่โอนเงินเพื่อกู้เด็ดขาด
4. ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต และต้องมีการทำอย่างเปิดเผย
5. ต้องการเห็นบทบาทภาคีการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาตรวจสอบ หากมีกรณีใดที่พบว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ขอให้โครงการนั้นหมดสิทธิ์ไปเลย
6.ขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลการขาดดุลทางงบประมาณ
7.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องดู GDP อย่างที่กล่าวอ้างไว้




ย้ำเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านว่า ขอชี้แจง 3 ประเด็น คือ กรณีการให้เอกชนมาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มีหลักการโดยคำนึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะลดต้นทุนการขนส่งและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี โดยปกติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รัฐควรลงทุนเอง แต่อาจมีบางส่วนที่รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วให้เอกชนมาลงทุนต่อเนื่อง หากในโครงการนี้ส่วนใดที่เปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ จะตัดการใช้เงินกู้ในส่วนนั้นออกไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การจะลงนามความเข้าใจกับต่างประเทศที่จะมาลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ขอชี้แจงว่า การลงนามเอ็มโอยูไม่ได้ทำกันง่ายๆ เพราะยังมีข้อขัดแย้งของ 2 ฝ่ายอีกมาก เช่น ประเทศที่ต้องการมาลงทุนต้องการใช้เทคโนโลยีของเขา ใช้ผู้รับเหมาของเขา ให้สัญญา 50 ปี ต้องให้สิทธิการใช้ที่ดิน ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการมาลงทุนไม่มีใครไม่ต้องการผลประโยชน์ หากลงทุนแล้วต้องเสียเปรียบหรือไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เราคงทำไม่ได้ อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่จะต้องมีข้อยุติในอนาคต

นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน กรณีรถไฟความเร็วสูงจะมีการเชื่อมโยงถึง จ.หนองคาย และมีการเชื่อมถึงปาดังเบซาร์แน่นอน เพียงแต่จะทำต่อเมื่อมีความเหมาะสม โดยต้องดูความพร้อม ขอย้ำว่าเราจะเชื่อมเมื่อทุกคนพร้อม ส่วนการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไป จ.เชียงใหม่ ก่อนเป็นนโยบายของรัฐบาล และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า จ.เชียงใหม่ จะได้ประโยชน์กว่า เพราะมีผู้ที่ต้องเดินทางมากกว่า จ.หนองคาย วันละ 10,000 คน



กิตติรัตน์ยันมีระบบสกัดคอร์รัปชั่น
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในประเด็นที่ผู้นำฝ่ายค้านได้มีข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยกรณีที่จะมีผลต่อระดับหนี้สาธารณะให้ปรับสูงขึ้นและต้องใช้เวลาในการชำระหนี้ที่ยาวนานนั้น ยืนยันว่า ระดับหนี้สาธารณะจะยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง หากมีอะไรที่เหนือความคาดหมายต่อระบบเศรษฐกิจ ก็หมายความว่า เรามีช่วงห่างของการกู้เงินที่จะเข้ามาดูแลส่วนนี้ได้ ส่วนที่มองว่าจะมีระยะเวลาที่ยาวนานในการชำระนี้ แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านคือ เราก็มีทรัพย์สินที่ได้จากการลงทุน ซึ่งจะยังคงอยู่ยาวกว่าศตวรรษ
"กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายแรกที่บอกได้ว่า ถ้ากู้เงินแล้ว จะมีระยะเวลาการชำระหนี้หมดในช่วงใด ในอดีตไม่เคยมี และแม้ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายไปก่อนหน้านี้ จะไม่ได้ระบุ ระยะเวลาในการชำระหนี้ ก็เพราะเราแน่ใจว่า การก่อหนี้จะอยู่ในกรอบวินัยการคลัง"
อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะใช้หนี้ก่อนกำหนด ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแค่เพิ่มต้นเงินกู้ในการชำระ ก็จะช่วยลดดอกเบี้ยได้อีก ส่วนที่อัตราดอกเบี้ยจะสามารถพุ่งไปถึง 3 ล้านล้านบาท ก็คงเป็นเรื่องจริง เพราะเป็นระยะเวลาในการชำระหนี้ที่ยาวถึง 50 ปี แต่ด้วยแผนการกู้เงิน ที่เราจะกู้ในประเทศเกือบทั้งหมด ทั้งที่ตลาดต่างประเทศก็มีความต้องการเสนอเงินกู้ ฉะนั้น ถ้าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการระดมเงินทุน ดอกเบี้ยเหล่านี้ ก็จะตกอยู่กับคนไทยทั้งหมด

ส่วนกรณีที่มองว่า กฎหมายฉบับนี้ มีจำนวนหน้าของกฎหมายที่น้อย และกังวลกรณีที่จะเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น เขากล่าวว่า ในข้อเท็จจริง คือ เรามีบัญชีแนบท้ายร่างกฎหมายอีกจำนวน 2 หน้า แต่ก็ไม่น้อยเมื่อเทียบกับกฎหมายฉบับเดิมๆ ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ขณะที่ ในจำนวน 19 มาตราของกฎหมายนั้น ก็กำหนดสาระสำคัญในการใช้จ่ายเงิน นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการทำงานที่รอบคอบ โดยกำหนดให้กระทรวงที่รับผิดชอบโครงการต้องเสนอโครงการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ และ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนที่จะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
"ในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องจัดระบบให้มีการติดตามการลงทุน ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้น คณะรัฐมนตรีจะต้องรายงานผลการดำเนินโครงการให้แก่สภาฯและวุฒิสภาได้รับทราบภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ นอกจากนี้ ในบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ยังกำหนดยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินโครงการ และมีเอกสารโครงการลงทุนประกอบการพิจารณาถึง 231 หน้า"
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับสูตรการคำนวณราคากลางที่เป็นมาตรฐานใหม่ ซึ่งจะเพิ่มเติมการคำนวณราคากลางในสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนตามร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทด้วย เช่น การคำนวณราคากลางของระบบราง หรือสะพาน เป็นต้น และได้มีหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการให้ปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มแข็ง

รถไฟไทยอยู่ตรงไหน?​ (2/3): รถไฟไทยพัฒนาแค่ไหน?

ข้อมูลจาก ประเทศไทยอยู่ที่ไหน



หลักจากได้พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานและความเข้าถึงของรถไฟไปแล้วในตอนแรก ข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจก็คือความล้าหลัง(หรือระดับการพัฒนา)ของการรถไฟ ซึ่งอาจจะวัดได้จากความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ใช้

ดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งที่อาจจะนำมาใช้ได้คือความกว้างของราง รางที่กว้างกว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบำรุงรักษาที่สูงกว่า แต่จะทำให้การเดินทางสเถียรกว่าและรถไฟสามารถวิ่งได้เร็วกว่ามาก อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถบ่งชี้ถึงระดับการพัฒนาของการรถไฟคือการเปลี่ยนมาใช้หัวจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หัวจักรพลังงานไฟฟ้ามักจะให้ความเร็วที่สูงกว่าและ “สะอาด” กว่า (ในแง่ที่ไม่สร้างมลภาวะทางอากาศและเสียงในชุมชนแต่ไปสร้างที่โรงไฟฟ้าแทน) นอกจากนี้หัวจักรไฟฟ้ายังค่อนข้างเงียบและเดินทางได้นิ่งกว่า เหมาะแก่การโดยสาร

ตัวเลขที่สามารถวัดการพัฒนาของรถไฟโดยสารได้คือสัดส่วนของรางที่ใช้รางขนาดกว้าง (standard gauge) เทียบกับรางขนาดแคบ (narrow gauge) และรางชนิดที่ใช้ไฟฟ้า (electrified rail)[1] ประกอบกับความเร็วหัวรถจักรสูงสุด[2]



จะเห็นได้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาแม้จะมีรางรถไฟมากแต่ไม่ค่อยมีการใช้ไฟฟ้า อาจจะเป็นเนื่องมาจากรถไฟส่วนใหญ่นั้นใช้ขนส่งสินค้าและการโดยสารโดยรถไฟยังไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนไปใช้หัวรถจักรไฟฟ้าเป็นจำนวนมากสอดคล้องกับความนิยมในการโดยสารที่สูง

สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าความเร็วหัวรถจักรเรามีความเร็วที่ช้ามาก (ติดอันดับโลก) นอกจากนี้รางรถไฟของเราทั้งหมดเป็นแบบรางแคบและไม่มีกระแสไฟฟ้า (ยกเว้นแต่รถไฟสาย airport link ซึ่งคือจำนวน 29 กม.ที่เป็น standard guage ทั้งหมด) ไม่ว่าจะมองทางใด รถไฟของประเทศไทยนั้นนับจัดอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ล้าหลังเป็นอย่างมาก”
จากข้อมูลของรายการ “จอโลกเศรษฐกิจ” ในตอนที่ทำเรื่องของการรถไฟไทย[3] มีประเด็นที่เป็นใจความสำคัญดังนี้
  • รางรถไฟในไทยกว่า 94% เป็นแบบรางเดี่ยว นั่นหมายถึงรถไฟไม่สามารถวิ่งสวนทางกันได้กว่า 94% ของประเทศ จึงมีลักษณะเป็นคอขวดทำให้เกิดการล่าช้า
  • มีตู้ขบวนโดยสาร 1352 คัน ใช่ไม่ได้กว่า 500 คัน
  • หัวรถจักรมี 256 คัน รุ่นเก่าสุดอายุ 45 ปี รุ่นใหม่สุดอายุ 13 ปี
  • ความต้องการใช้งานหัวรถจักร 155 คันต่อวัน ใช้ได้จริง 137 คัน
อย่างไรก็ตามข้อมูลที่บ่งบอกถึงความ “ล้าหลัง” ที่สุดของรถไฟไทยได้ดีที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้คงจะมาจากประสบการณ์โดยตรงของทุกๆท่านกับรถไฟไทยของเราที่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา หากผู้อ่านได้ลองนั่งรถไฟมาไม่นานนี้ (หรือเมื่อนานมาแล้วก็ตามที) จะพบว่าเรายังคงอนุรักษ์เอาไว้ซึ่งหัวรถจักรดีเซลที่เหม็น ส่งเสียงดัง สั่นสะเทือน ตารางเวลาที่ไม่เคยเป็นไปได้จริง ตู้รถไฟชั้นสามที่ร้อน เหม็นฉี่ และสกปรก

วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

ค้านได้ไม่เต็มปาก ‘กู้มาโกง’ย้อนทิ่มแทงปชป.

จากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.. 2556


ปลายสัปดาห์นี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมาลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างประเทศ

เงินกู้เพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างประเทศจำนวน 2 ล้านล้านบาท ถูกพูดถึงในหลายมิติ

มุมของรัฐบาลยืนยันว่า จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการตลอดระยะเวลาจากนี้ไป 7 ปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ไม่ทำให้โครงการสะดุด

ภาพของสารพัดโครงการถูกฉายให้ประชาชนเห็นและมีความหวัง ทั้งรถไฟความเร็วสูงหลายเส้นทาง ขยายถนน เพิ่มรถไฟรางคู่ ฯลฯ

ในอารมณ์ของประชาชนก็อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะประเทศย่ำอยู่กับที่มานาน ไม่มีอะไรใหม่ๆ จนเพื่อนบ้านแซงหน้าเราไปไกล น..ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันพร้อมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการกู้เงินลงทุนต่อสภาและประชาชน พร้อมแสดงความหวังว่าสภาจะเห็นชอบกฎหมายนี้ เพราะเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาเพื่อวางรากฐานอนาคตให้ประเทศ

ข้อดี 6 ประการของการลงทุนในมุมมองของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย

1.เป็นการพัฒนาเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ขาดการลงทุนขนาดใหญ่มานาน

2.เป็นการเชื่อมโยงแนวคิดภายใต้กรอบ Connectivity ที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์เชื่อมต่ออาเซียน ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุน อันจะเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้
3.จะช่วยลดต้นทุนและย่นระยะ เวลาเดินทางขนส่งสินค้า

4.เชื่อมสถานที่ท่องเที่ยวเข้า ด้วยกัน เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่อง เที่ยว และดึงให้นักท่องเที่ยวต่าง ชาติอยู่ในไทยนานขึ้น
5.เชื่อมเส้นทางโดยสารให้คนมี ทางเลือกในการเดินทาง ซึ่งจะช่วย กระจายความเจริญจากหัวเมืองไป ยังชานเมือง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการกระจายรายได้

6.ตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นผลลัพธ์ ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ค่าขนส่งที่ลด ลง 2% ในช่วงของการลงทุนมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1% ต่อปี และมีการจ้างงานประมาณ 500,000 อัตรา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหมุน เวียนทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างเข้มแข็ง

ในมุมของคนทำโครงการมอง เห็นแต่ด้านดีของการลงทุน แต่ในมุม ของฝ่ายต่อต้านก็ยังมีความเห็นต่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็น ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังยืนยันว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องกู้ เงินมาลงทุน เพราะเงิน 2 ล้านล้าน บาทในระยะเวลา 7 ปี สามารถจัด สรรตามระบบงบประมาณปรกติได้ มุมของคนไม่เห็นด้วยยังเชื่อว่า การเสนอกฎหมายกู้เงินทำเพื่อหลีก เลี่ยงระบบงบประมาณ หลีกเลี่ยง การใช้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง หลีก เลี่ยงการตรวจสอบ เหมือนกับการ ใช้งบกลาง 120,000 ล้านบาท และ เงินกู้แก้น้ำท่วม 350,000 ล้านบาท ไม่ได้ขวางการพัฒนาประเทศ แต่ต้องพัฒนาตามระบบ ตาม กระบวนการ ไม่ใช่พัฒนาไปโกงไป เอาเงินเข้ากระเป๋าไปแล้วก็สร้างหนี้ ให้ประชาชน ไม่ขวางการพัฒนาแต่ไม่ให้กู้ แม้จะฟังดูขัดๆอยู่ในที แต่ก็เพิ่มน้ำ หนักความชอบธรรมเตะตัดขากู้เงิน ด้วยคำว่า พัฒนาไปโกงไปเอาเงิน เข้ากระเป๋าไปแล้วก็สร้างหนี้ให้ ประชาชนแม้จะยังไม่ได้กู้ แม้จะยังไม่ได้ โกง เหมือนเงินกู้โครงการไทยเข้ม แข็งที่กู้แล้วโกงแล้ว แต่ในความ รู้สึกคนไทยพูดว่าโกงเมื่อไรเชื่อแล้ว เกินครึ่งหนึ่ง กู้มาโกงจึงยังเป็นวาทกรรม เพิ่มความชอบธรรมในการขัดขวาง เงินกู้เพื่อลงทุนพัฒนาโครงสร้าง ประเทศได้เป็นอย่างดี แต่การอภิปรายในสภาพรรค ประชาธิปัตย์ก็ต้องระวังตัวเช่นกัน ข้อกล่าวหา กู้มาโกงอาจย้อน กลับเข้าตัว เพราะเงินกู้ไทยเข้มแข็ง กว่า 400,000 ล้านบาท ที่กู้แล้วโกง แล้วปรากฏหลักฐานเด่นชัดในหลาย โครงการ ข้อกังวลเรื่อง กู้มาโกงอาจ เป็นการเอามาตรฐานตัวเองไป ตัดสินคนอื่น จึงทำให้คิดไปว่าจะ กู้มาโกงเหมือนกัน หากจะใช้วาทกรรมนี้เตะตัดขา ไม่ให้รัฐบาลกู้เงินมาลงทุน พรรค ประชาธิปัตย์อาจขว้างงูไม่พ้น

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

รถไฟไทยอยู่ตรงไหน? (1/3): รางรถไฟในไทย

ข้อมูลจาก ประเทศไทยอยู่ที่ไหน

เป็นที่ทราบกันดีว่ารถไฟเป็นทางเลือกในการคมนาคมขนส่งที่มีศักยภาพสูง สามารถเดินทางได้เร็วไม่ต้องคอยหลบหรือแย่งทางกับใคร มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูง มีความปลอดภัยสูง สามารถสร้างสถานีในใจกลางเมืองได้ง่ายกว่าสนามบิน มีพื้นที่โดยสารที่กว้างขวาง การออกเดินทาง/เทียบท่าไม่ยุ่งยากเหมือนการเดินทางทางอากาศ เราจึงพบว่าในหลายๆประเทศทั่วโลกมีการพึ่งพารถไฟไม่น้อย ในระดับที่แตกต่างกันไป

สำหรับประเทศไทย รถไฟอยู่คู่คนไทยมานับร่วมร้อยกว่าปี สถานีรถไฟหัวลำโพงสร้างเสร็จและเริ่มใช้งานในสมัยรัชกาลที่ 5 ณ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศที่สองในทวีปเอเชียที่มีรถไฟใช้ ถัดจากประเทศญี่ปุ่น

ข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟนั้นมีได้ในหลากหลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือข้อมูลของระบบรางรถไฟ (Railways) ที่สะท้อนถึงศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยรวม ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่มีรางรถไฟน้อย การจะพัฒนาการรถไฟต่อไปย่อมทำได้ยาก ดังนั้นตัวเลขหนึ่งที่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ง่ายคือความยาวรางรถไฟทั้งประเทศ แต่ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละประเทศมีขนาดพื้นที่ไม่เท่ากัน เช่นประเทศรัสเซียที่มีพื้นที่กว้างอาจจะมีรางรถไฟที่ยาวกว่าเป็นธรรมดา การเทียบรางรถไฟต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่จึงบอกถึงศักยภาพของโครงสร้างรถไฟที่เข้าถึงต่อพื้นที่ในประเทศได้ดีกว่า ในขณะที่ตัวเลขความยาวรางรถไฟต่อหน่วยประชากรอาจจะบอกถึงความเพียงพอของรางรถไฟต่อหน่วยประชากร

ข้อมูลจาก Wikipedia แสดงความยาวรางรถไฟดังนี้ [1]



ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรเราได้บ้าง? จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีพื้นที่กว้างขวาง เช่น รัสเซียและจีน อาจจะมีรางรถไฟน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ (แม้ว่ารัสเซียจะมีระบบขนส่งรถไฟสาย Trans Siberian Railway ที่โด่งดัง และประเทศจีนมีโครงการรถไฟความเร็วสูงมากมายเป็นอันดับแรกๆของโลก) ส่วนประเทศญี่ปุ่นนั้นมีขนาดพื้นที่เล็กและความนิยมทางการใช้รถไฟสูงมากจึงมีอัตราส่วนรางรถไฟต่อพื้นที่สูงมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ เราอาจจะสามารถเทียบความยาวรางรถไฟประกอบปริมาณประชากรด้วยว่าโครงสร้างรางรถไฟมีเพียงพอแค่ไหนเทียบกับประชากร เช่นแม้ประเทศรัสเซียมีรางรถไฟต่อหน่วยพื้นที่ที่น้อย แต่กลับมีรางรถไฟต่อประชากรที่สูง

สำหรับส่วนของประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีความยาวรางรถไฟต่อหน่วยพื้นที่สูงเหมือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย หรือสหรัฐฯ แต่เราก็มีความยาวรางรถไฟสูงเป็นอันดับที่ 37 ของโลกและยังมีความยาวรางรถไฟต่อหน่วยพื้นที่มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย หรือประเทศอย่าง รัสเซีย เยอรมนี (ทั้งนี้ ควรพิจารณาปริมาณพื้นที่ของประเทศประกอบด้วย) ในทางกลับกันหากเทียบความยาวรางรถไฟต่อหน่วยประชากรแล้วจะพบว่าประเทศเยอรมนีกลับมีรางรถไฟมากเมื่อเทียบกับประชากร ส่วนประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรางรถไฟต่อประชากรค่อนข้างน้อย เช่นเดียวกับจีน อินเดีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย

หากเราพิจารณาข้อมูลรายละเอียดเฉพาะในส่วนของประเทศไทยแล้ว จากรายงานประจำปีของ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ประจำปี 2552 (ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ในเว็บไซต์) ระบุว่า[2]

  • ที่ดินของการรถไฟมีทั้งหมด 234,976.95 ไร่ แบ่งออกเป็น ที่ดินเพื่อการเดินรถ 198,674.76 ไร่ ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ 36,302.19 ไร่
  • รายได้เชิงพาณิชย์จากการเดินรถ 59.24 ล้านบาท/ปี รายได้เชิงพาณิชย์จากพี่ดินเพื่อการพาณิชย์ 1,495 ล้านบาท/ปี
  • รางรถไฟในประเทศไทยที่อยู่ในเกณฑ์ต้องปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐาน (Grade B) และเพื่อความปลอดภัย (Grade C) มีความยาวทั้งสิ้น 2,272 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของรางรถไฟทั้งหมด
  • สะพานที่ต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยมีทั้งสิ้น 1,648 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 61
  • หมอนรองราง ที่ต้องปรับปรุงเพื่อความปลอดภัยมีทั้งสิ้น 1,382 กม. หรือคิดเป็นร้อยละ 31

วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

เมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ 4 ล้านล้านบาท: ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่เนียนแฝงในชนบท

เกษียร เตชะพีระ
(หมายเหตุงานเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กของ "เกษียร เตชะพีระ"  สุนัยแฟนคลับเห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์)



(ข้อคิดสำคัญเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจและแง่คิดข้อสังเกตสืบเนื่องต่อยอดมาจากงานของ Andrew Walker, Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy, 2012 ผมต้องขอบคุณไว้ในที่นี้)


มีแง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาท นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจการเมืองเฉพาะหน้า ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตและบันทึกไว้ในที่นี้ โดยแยกต่างหากจากเกมการเมืองและลู่ทางผ่านสภาฯ ของ พ.ร.บ.๒ ล้านล้าน ก่อนที่มันจะถูกเสียงทะเลาะเบาะแว้งโกลาหลอลหม่านในและนอกรัฐสภากลบกลืนหายไป....


ประเด็นหลัก: ความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่เนียนแฝงและสำคัญอย่างหนึ่งของเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาทคือมันอาจสร้างแรงผลักกระชากให้รัฐไทยพบทางออกจากสภาวะที่ต้องทุ่มงบประมาณเลี้ยงไข้-เลี้ยงต้อย-กระเตงอุ้ม-อุดหนุน [ชาวนารายได้ปานกลางที่มีผลิตภาพต่ำ] ในพื้นที่ชนบทโดยเฉพาะเหนือและอีสานมายาวนานยืดเยื้อไม่เห็นที่สิ้นสุด


อธิบายเพิ่มเติม: นับแต่ต้นพุทธทศวรรษที่ ๒๕๓๐ เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบทไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ จากเดิมทีนโยบายรัฐมุ่งกดราคาผลิตผล เก็บค่าพรีเมี่ยมข้าวส่งออกของเกษตรกร เสมือนเก็บภาษีพวกเขาทางอ้อมมาอุดหนุนจุนเจืออาหารราคาถูกในเมืองเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมบนฐานค่าแรงต่ำค่าครองชีพถูก -->มาเป็นยกเลิกค่าพรีเมี่ยมข้าวและหันเหทิศทางไหลของเงินงบประมาณย้อนกลับ โดยดึงเงินภาษีที่เก็บได้จากภาคการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมและบริการในเขตเมือง เอาไปอุดหนุนจุนเจือชีวิตความเป็นอยู่และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบทด้วยประการต่างๆ, แน่นอนว่าแนวนโยบายและมาตรการการคลังเพื่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ อบต. อบจ. ฯลฯ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ยิ่งเสริมส่งแนวโน้มนี้


ผลระยะยาวของการนี้ก็คือ ชนบทเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างสำคัญ พ้นภาวะเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองที่เผชิญปัญหาหลักเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ไปเป็นเศรษฐกิจของชาวนารายได้ปานกลาง (ส่วนใหญ่) ที่ปัญหาหลักเปลี่ยนไปเป็นความเหลื่อมล้ำกับภาคเศรษฐกิจอื่น (เมือง/ชนบท, เกษตรกรรม/อุตสาหกรรม-บริการ, อีสานและเหนือ/ภาคกลางและกทม. เป็นต้น) และผลิตภาพเกษตรกรรมต่ำเรื้อรัง (แม้จะค่อยปรับดีขึ้นบ้าง แต่เทียบไม่ได้กับการเกษตรของประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันหรือแม้แต่ด้อยกว่า)


ชนบทของชาวนารายได้ปานกลางที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (ไม่ได้ทำเกษตรเป็นกิจกรรมหรือรายได้หลักอีกต่อไป อีกทั้งมีเครือข่าย extralocal residents หรือ “ชาวบ้านนอกถิ่น” อันหมายถึงผัว/เมีย/ลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นต่างแดนแล้วส่งเงินรายได้มาจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัวที่เหลือในหมู่บ้านให้มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ การศึกษาดีขึ้น ไม่ว่ามอไซค์, ทีวี, มือถือ, คอมพิวเตอร์, ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, ปลูก/ซ่อม/ต่อเติมบ้านใหม่, ส่งเสียให้เรียนสูงๆ ฯลฯ)


จึงต้องการรัฐและทุน - ไม่ใช่ไม่ต้องการหรือต่อต้าน - พวกเขาปรารถนาจะดึงโครงการรัฐและธุรกิจเอกชนเข้ามาเพื่ออาศัยเงินงบประมาณและทรัพยากรของรัฐ รวมทั้งทุนและเทคโนโลยีของธุรกิจเอกชน มาเพิ่มผลิตภาพของตนในแง่ต่าง ๆ สูงขึ้น ประคองรักษาฐานะชาวนารายได้ปานกลาง (คนชั้นกลางระดับล่าง) กระทั่งยกฐานะของตนให้สูงขึ้นไป
ความสัมพันธ์ของพวกเขากับรัฐและทุน ไม่ใช่เรื่องของการอุปถัมภ์หรือขูดรีดแบบทื่อ ๆ ง่าย ๆ อีกต่อไป หากเป็นความจำเป็นเพื่อประคองรักษาฐานะปานกลางที่ได้มาเอาไว้ท่ามกลางภาวะผลิตภาพต่ำ และพวกเขาก็มีวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น (Andrew Walker เรียกว่า rural constitution หรือธรรมนูญชนบท) และทางเลือกอันหลากหลายพอจะต่อรอง กดดัน หลอกล่อ เอาใจเพื่อช่วงใช้รัฐและทุนให้เป็นประโยชน์กับตนได้พอสมควร (เหมือนศรีธนญชัย มากกว่า ตาสีตาสายายมียายมา)


ปัญหาก็คือภาวะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐผู้เปลี่ยนมาเป็นแหล่งอุดหนุนงบประมาณและโครงการต่างๆ เพื่อพยุงฐานะปานกลางของชาวนาชนบท กับ ชาวนารายได้ปานกลางแต่ผลิตภาพต่ำส่วนใหญ่ของชนบทเหล่านี้ ค่อนข้างอับตันและไม่ค่อยเห็นอนาคตทางเศรษฐกิจ ผลิตภาพการเกษตรต่ำเรื้อรัง พัฒนาอย่างไรก็ไม่ขึ้นสักที และโครงการเสกแปลงตาสีตาสาเป็นเถ้าแก่ SMEs ในกิจกรรมเกษตรนอกภาคชนบทก็ประสบความสำเร็จจำกัด รัฐจะเลี้ยงไข้-เลี้ยงต้อย-กระเตงอุ้มชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำไปได้อีกนานสักกี่น้ำกันในทางเศรษฐกิจ (นี่คือที่มาสุดท้ายของนโยบายจำนำข้าวและค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาททั่วประเทศ)? ขณะที่ในทางการเมืองแล้ว นี่เป็นวิถีที่ทั้งรัฐไทยทั้งรัฐ และรัฐบาลกับพรรคทักษิณ ณ ไทยรักไทยอาศัยเดินมาจนประสบชัยชนะในการเมืองระบบรัฐสภาจากการเลือกตั้งหลายครั้งต่อกัน จึงจำเป็นที่จะต้องเดินต่อไปในวิถีนี้ในทางการเมือง


ในมุมหนึ่ง เมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ ๔ ล้านล้านบาท จึงอาจถือเป็นความพยายามของรัฐบาลยิ่งลักษณ์และทีมที่ปรึกษาที่จะสร้างแรงผลักกระชากทางเศรษฐกิจที่แผ่กว้างกระจายจากทางรถไฟความเร็วสูง การปรับปรุงทางรถไฟเดิม และเส้นทางถนนสายต่าง ๆ ที่พาดผ่านครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวาง ทุกภาคทั่วประเทศ (เหนือ, อีสาน, ใต้) ที่อาจช่วยหนุนส่งประชากรชนบทจำนวนมากให้หลุดพ้นจากภาวะชาวนารายได้ปานกลางผลิตภาพต่ำออกจากอ้อมอกภาครัฐที่ต้องอาศัยงบประมาณและโครงการรัฐโอบอุ้มกระเตงไว้อย่างไม่เห็นที่สิ้นสุด ให้พวกเขาสามารถลุกมายืนในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้ด้วยตัวเอง

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

2 ล้านล้าน! ชัชชาติ สานฝัน ดันไทยผงาด ศูนย์กลางขนส่งอาเซียน

สัมภาษณ์นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
RED POWER ฉบับที่ 34 เดือน มีนาคม  2556



          ด้วยชัยภูมิที่ได้เปรียบเพื่อนบ้านอาเซียน ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้านของภูมิภาค โดยเฉพาะการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ แต่การพัฒนาหลายสิบปีที่ผ่านมายังไม่สามารถเป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง เพราะไร้ทิศทางที่ชัดเจน ขาดยุทธศาสตร์ชาติที่เหมาะสม ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานไม่พัฒนาเท่าที่ควร รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติหลายด้านเพื่อก้าวพ้นจากภาวะหยุดนิ่งทางการพัฒนาอันยาวนานนี้ ตลอดจนผลักดันเป็นนโยบายทางการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือโครงการเมกกะโปรเจ็กใช้เงินลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท หากโครงการนี้สำเร็จโฉมหน้าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับทั้งด้านเศรษฐกิจ การพัฒนา และการเมือง(อ่านบทวิเคราะห์ด้านการเมืองเพิ่มเติมใน หน้า 5 เรื่อง “2 ล้านล้าน...ล้อม/ล้างไดโนเสาร์”) Red Power ขอนำท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับมุมมอง แนวคิด วิสัยทัศน์ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักขับเคลื่อนโครงการนี้

 

Red Power :  มีข่าวว่าจะกู้เงินลงทุนมากถึง 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์เคยทำโครงการกู้แค่ 8 แสนล้าน แต่ใช้จริงแค่ 4 แสนล้าน โครงการนี้วางยุทธศาสตร์อะไรยังไง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : 2 ล้านล้านบาท อย่าเพิ่งตกใจ ไม่ได้ลงทุนรวดเดียว ทยอยลงทุน 7 ปี ปีที่สูงสุดแค่ 3 แสนกว่าล้าน เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีถือว่าไม่สูงนัก ต้องเรียนว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยถูกละเลยมานาน โดยทั่วไปตามหลักสากล งบประมาณแผ่นดิน 100 บาทควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 25 บาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะช่วงปี 38 -39 ประมาณ 35 เปอร์เซ็นของงบประมาณแต่ละปี แต่พอวิกฤติต้มยำกุ้ง การลงทุนเหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานทรุดโทรมมาก เอาง่ายๆ คนที่ไปภาคใต้ ถนนเพชรเกษมด้านล่างพังทั้งเส้น ถามว่าทำไมไม่ซ่อม การซ่อมต้องค่อยๆ ซ่อมเป็นช่วง อาจใช้เวลา 20-30 ปี กว่าจะเสร็จทั้งเส้น ต้นทุนลอจิสติกส์สูง หรือรถไฟที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระราชทานมาร้อยกว่าปี สภาพย่ำแย่มาก ครั้งนี้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อเอาเงินที่ประหยัดจากการขนส่งมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ถือว่าคุ้มเกินคุ้มเพราะที่ประหยัดได้มีมูลค่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เยอะ

Red Power:  โครงการหลักๆ ที่คาดว่าจะพลิกประเทศมีอะไรบ้าง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ที่มีปัญหาจริงๆ คือระบบลอจิสติกส์ ปัจจุบันสินค้าทั้งหมดในประเทศขนส่งทางถนนประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ขนส่งทางรางประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ประเทศที่เจริญแล้วการขนส่งทางรางกับทางน้ำรวมกันประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเราขนส่งทางรางกับทางน้ำรวมกันประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ ขนส่งทางถนนแพงที่สุดเพราะมีค่าบำรุงรักษา น้ำมัน อุบัติเหตุ มลภาวะ ต้นทุนลอจิสติกส์ของไทยจึงสูง เราต้องปรับไปใช้ระบบรางเพื่อลดต้นทุน 2 ล้านล้าน จะเน้นระบบราง มี 3 ส่วน คือ หนึ่ง รถไฟเดิมที่มีอยู่กว่า 4,000 กิโลเมตร ต้องปรับเป็นทางคู่ ปัจจุบัน 3,700 กิโลเมตร จาก 4,000 กิโลเมตร เป็นทางเดี่ยว รถขาขึ้น ขาล่อง ต้องรอกัน ทำให้ควบคุมการเดินรถยาก ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าปัจจุบันอยู่ที่ 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงต้องปรับให้เป็นรางคู่จาก 300 กิโลเมตร เป็น 3,000 กิโลเมตร ทั่วประเทศ   สอง รถไฟความเร็วสูง จะสร้างรถไฟความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 4 เส้นทาง  สาม รถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย เพราะกรุงเทพคือหัวใจ รถติดในเมือง เส้นเลือดอุดตัน เดินทางลำบาก เผาผลาญน้ำมัน รถไฟฟ้าสิบสายจะช่วยแก้ปัญหา ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเมืองจะเป็นตัวเปลี่ยนโฉมหน้าการขนส่งของประเทศ

Red Power:  ท่านบอกได้ไม๊ว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นอย่างไรจึงจะคุ้มกับ 2 ล้านล้านบาทนี้

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : เราต้องประหยัดต้นทุนลอจิสติกส์ให้ได้ ต้นทุนลอจิสติกส์ต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 15.2 เปอร็เซ็น มี 3 ส่วนคือ การบริหารสินค้าคงคลัง การบริหารจัดการ และการขนส่ง เรามีจีดีพีประมาณ 10 ล้านล้าน เสียค่าขนส่งประมาณ 1.5 ล้านล้าน สมมุติถ้ามีเป้าหมายจะลดให้ได้  2 เปอร์เซ็นต์ จาก 15.2 เหลือ 13.2 เปอร์เซ็น คือหนึ่งปีลดได้ 2 แสนล้าน สิบปีก็ 2 ล้านล้าน ลดต้นทุนลอจิสติกส์ได้ 2 เปอร์เซ็นต์ แค่สิบปีก็คืนทุน นี่ยังไม่พูดถึงผลดีอื่นๆ ทั้งมลภาวะ คุณภาพชีวิต ฯลฯ   

Red Power:  สิ่งที่นายกยิ่งลักษณ์มอบหมายยุทธศาสตร์ของประเทศมีอะไรบ้าง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : มี 4 ด้าน หนึ่งสร้างความสามารถในการแข่งขัน สองลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้น สามลดมลภาวะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  สี่เอานโยบายแห่งรัฐ ปรับปรุงการบริหารงานภาครัฐ ยุทธศาสตร์จังหวัดมาพัฒนา 2 ล้านล้านตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้าน เพราะว่าอันแรกสร้างความสามารถในการแข่งขัน ถ้าลอจิสติกส์ดี นักลงทุนมาแน่นอน ลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าระบบขนส่งดี พี่น้องที่ปลูกผักในต่างจังหวัด บนภูเขา เอาสินค้ามาขายในเมืองได้ดีขึ้น ราคาสินค้าดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลงแน่นอน อันที่สามเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ระบบรางลดมลภาวะได้มาก ลดการเผาผลาญน้ำมัน อันที่สี่ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เราเอายุทธศาสร์จังหวัดมาเชื่อมโยงกับระบบคมนาคม ตรงไหนเป็นคลัสเตอร์ของการท่องเที่ยว การเกษตร คมนาคมก็จะเข้าไปสอดรับตรงนี้ 

Red Power:  เท่ากับว่ากระทรวงคมนาคมผูกขาดทำยุทธศาสตร์ชาติอยู่คนเดียว แล้วกระทรวงอื่นล่ะ

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ไม่ล่ะครับ ยุทธศาสตร์หนึ่งองค์มีหลายองค์ประกอบ เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม คมนาคมเปลี่ยนโหมดจากรถเป็นรางก็ส่วนหนึ่ง กระทรวงอื่นช่วยได้ในแต่ละส่วนของตัวเอง ทุกกระทรวงต้องร่วมกัน ดูในองค์รวม เช่น ยุทธศาสตร์จังหวัดมหาดไทยรับผิดชอบ ต้องคุยกับเขาต้องการอะไร จะให้เชื่อมโยงตรงไหน จังหวัดไหน อะไรคือจุดเด่น จุดไหนเป็นฮับเป็นศูนย์กลาง สภาพัฒน์คุมภาพรวมทั้งประเทศ สาธารณสุขอยากเชื่อมอย่างไรให้คนไปโรงพยาบาลได้สะดวก กระทรวงเกษตรแหล่งผลิตอยู่ไหน ข้าวอยู่ที่ไหน เกี่ยวเนื่องทุกกระทรวง เราเหมือนผู้ให้บริการ ทุกกระทรวงต้องใช้บริการกับคมนาคม

Red Power:  เมื่อใช้เงินหมด 2 ล้านล้านใน 7 ปี คาดหวังว่าประเทศจะพลิกเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร สมมุติว่านอนหลับไป 7 ปี ตื่นขึ้นมาจะจำประเทศไทยได้ไม๊ ความเจริญของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ตื่นขึ้นมาอาจจะงงๆนะ อีก 7 ปี เช้านั่งรถไฟไปกินข้าวซอยที่เชียงใหม่ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เย็นกลับมาได้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชีวิตใกล้กันมากขึ้น ไปมาหาสู่สะดวก กรุงเทพมีรถไฟฟ้า 400 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นใช้รถยนต์น้อยลง มีเมืองใหม่ ผังเมืองใหม่ๆ พัฒนาตามเส้นทางรถไฟ ต้นทุนขนส่งลดลง  เราใช้รถไฟขับเคลื่อนเชื่อมโยงเข้าหากัน 2 ล้านล้าน เป็น back bone เป็นกระดูกสันหลัง แต่ในงบรายจ่ายประจำปีจะมีเงินลงทุนอีกก็จะเป็นเส้นเลือดฝอยที่ลงทุนเพิ่มกระจายไปทุกภูมิภาค หลัง 7 ปี จะมีโครงการใหม่พัฒนาต่อไปอีกเพื่อให้เติมเต็ม ครั้งนี้คือการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อพัฒนาระบบเชื่อมโยงที่เป็นกระดูกสันหลังให้แข็งแรงขึ้น

Red Power:  คนรากหญ้าจะได้อะไรจาก 2 ล้านล้าน

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : โครงการนี้เราทำให้คนรากหญ้าจริงๆ เพราะเป็นการนำความเจริญออกจากกรุงเทพไปสู่พื้นที่ทั่วไป รถไฟคือรากหญ้าจริงๆ รถไฟปกติก็ขยายไปทั่วประเทศ รถไฟความเร็วสูงก็ช่วยในการขนส่งพืชผักที่มูลค่าสูง การที่เราเน้นระบบรางเป็นตัวชี้ว่าเรามุ่งกระจายความเจริญไปสู่คนรากหญ้า

Red Power:  ถ้าสำเร็จท่านคิดว่าจะเป็นยังงั้น โอกาสไม่สำเร็จมีไม๊

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : รัฐบาลตั้งใจทำเต็มที่ การออกเป็นพระราชบัญญัติเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้มั่นใจในความสำเร็จมากขึ้น ที่ผ่านมาถามว่าโครงการพวกนี้เราทำไม๊ เราทำ แต่ทำเป็นโครงการๆ ไป ไม่มีใครเห็นภาพรวมว่าแผน 7 ปี เป็นอย่างไร การทำเป็นพระราชบัญญัติก็เพื่อให้ทุกคนเห็น road map  ให้สภาเห็น ได้โหวตกัน ให้มีการยอมรับว่านี่คือยุทธศาสตร์ชาติ พอเป็นยุทธศาสตร์ชาติ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าเป็นสิ่งจำเป็น ถามว่าเป็นเรื่องการเมืองไม๊ เป็นการเมืองนิดหน่อย แต่เรื่องประเทศชาติสำคัญกว่า พอเราเอาเข้าไปในพระราชบัญญัติปุ๊บ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ถ้าเค้ายังเห็นว่าดีเดินหน้าต่อได้เลย แต่ไม่ได้บังคับว่ารัฐบาลใหม่มาต้องเอาตามนี้ เขาไม่เอาก็ได้ ถ้าจะเอาก็กู้ได้ตามกรอบนี้ มันทำให้ความต่อเนื่องชัดเจนมากขึ้น

Red Power:  โครงการใหญ่ขนาดนี้นี้ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ รัฐบาลที่แล้วพยายามสร้างโครงการไทยเข้มแข็งด้วยงบ 8 แสนล้าน แต่ทำจริงได้ครึ่งเดียว ในสถานการร์นี้จะถูกขัดขวางอย่างไรหรือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ต้องเรียนว่าโครงการนี้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เราต้องเริ่มจากปัญหาของประเทศก่อน เราไม่ได้เริ่มจากเรื่องการเมือง นี่คือปัญหาของประเทศจริงๆ มันคือต้นทุนของประเทศในการขนส่ง เป็นการกระจายโอกาสให้พี่น้องประชาชน เราไม่ได้พูดเรื่องการเมืองเลย เราพูดถึงนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ทุกคนน่าจะเห็นร่วมกันได้ โครงการไทยเข้มแข็งต่างกับโครงการนี้ตรงที่ไทยเข้มแข็งตอนนั้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจมีปัญหาก็ต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน แต่ 2 ล้านล้านไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นโครงการวางแผนระยะยาวของประเทศ เป็นโครงการวางโครงสร้างพื้นฐาน แต่มีผลพลอยได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน จีดีพีอาจเพิ่มขึ้น จุดมุ่งหมายหลักจริงๆ คือการวางโครงสร้างหลักของประเทศในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เมืองไทยเคยมีโครงการทำนองนี้เหมือนกันอย่างอีสเทิร์นซีบอร์ด สนามบินสุวรรณภูมิ ก็คล้ายๆ กันแต่ยังไม่ใหญ่ขนาดนี้ แต่เราต้องการโครงการลักษณะนี้ครับเพื่อพลิกโฉม

Red Power:  พรบ.กู้เงินต้องผ่านสภา รัฐบาลมีเสียงข้างมากคงผ่านไม่ยาก แต่วุฒิสภาครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งและมีแนวโน้มต่อต้านโครงการที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ท่านมั่นใจแค่ไหนว่าจะผ่านได้

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : อย่างที่บอก เราไม่มองว่าเป็นเรื่องของพรรคแต่เป็นเรื่องของประเทศ ตั้งแต่ต้นผมไม่ได้พูดเรื่องพรรคเลย ผมพูดแต่ว่าเป็นยุทธศาสตร์ประเทศ เป็นความจำเป็นของประเทศ ถ้าอธิบายสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจทั้งวุฒิสมาชิกและประชาชน ถ้าเห็นประโยชน์ประเทศตรงกันแล้ว คิดว่าไปได้ ขอให้กำแพงความเชื่อ ทิฐิลดลง ช่วยดูเนื้อหาจริงๆ ดูความต้องการของประเทศจริงๆ เชื่อว่าทุกท่านมีวุฒิภาวะ เราให้เกียรติท่าน ผมไปชี้แจงกับกรรมาธิการมาหลายรอบ ถ้าวุฒิสภาท่านเชิญไปเราก็ไปชี้เจง ต้องสื่อสารกันครับ

Red Power:  ทำไมทำเป็นพระราชบัญญัติฉบับเดียวทำให้ควบคุมยาก ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย ทำไมไม่ทำฉบับละ 5 แสนล้าน จะได้ดูเป็นระยะว่า คืบหน้าไปแบบนี้ ถ้าดีก็จะให้อีก 5 แสนล้าน ถ้าไม่ดีก็ไม่ให้ ทำนองนี้

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : การควบคุมทุกอย่างมีระบบอยู่ อย่างอีไอเอก็ยังมีการทำอยู่ จริงๆ ไม่ต่างกัน ที่ผ่านมาเราขออนุมัติเป็นโครงการๆ ไปอยู่แล้ว รถไฟหนึ่งสายก็ขออนุมัติ ครม. อย่างงั้นไม่ต้องผ่านสภายิ่งง่ายใหญ่ เพราะรัฐบาลอนุมัติเป็นโครงการๆ ไป ต้องเรียนว่าเป็นโครงการระยะยาว บางโครงการ 3-4 ปี หลายโครงการเริ่มเวลาใกล้ๆ กัน และทยอยเสร็จ ถ้ากู้ทีละ 5 แสนล้าน ทำให้ต้องรอโครงการนี้เสร็จก่อน แล้วพอมาต่อกันมันไม่ใช่  7 ปี มันอาจเป็น 20 ปีก็ได้ มีประโยชน์หลายอย่างที่เห็นชัดๆ เวลาผมไปต่างประเทศ เรากู้ 2 ล้านล้าน นักลงทุนต่างชาติมั่นใจ เพราะเขาเห็นว่ารัฐบาลเอาจริง มี commitment เห็นผึงเลยว่าแผนประเทศเป็นอย่างไร ผมคิดว่ากู้ 2 ล้านล้าน กระทรวงการคลังจัดการเงินกู้ได้ดีกว่า เรากู้ก้อนใหญ่หรือเรียกว่ามี economical of scale หรือประโยชน์ด้านขนาด ทำให้สามารถเลือกเงินกู้หรือต่อรองได้ดีกว่า

Red Power:  โครงการใหญ่ขนาดนี้ ถ้าฝ่ายค้านถามว่าจะทำยังไงให้เชื่อมั่นในความโปร่งใส

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ทุกโครงการต่อให้ดีแค่ไหนถ้าไม่โปร่งใสก็ไปไม่รอด ท่านนายกย้ำชัดเจนไม่มีการออกระเบียบพิเศษ ใช้ระบียบที่เข้มข้นจัดซื้อจัดจ้างปกติ ผมเพิ่งยกทีมรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีทุกคนไปคุยกับเอกชนที่ทำเรื่องทุจริตคอรัปชั่น เราอยากให้มีเอกชนมาช่วยดู สังเกตการณ์ ตรวจสอบ เรามั่นใจว่าถ้าทำตามระเบียบโครงการที่ดีมันไปได้ ฝ่ายค้านเรายินดีให้ตรวจสอบ เราทำเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้มีการตรวจสอบที่เข้มข้น ทุกคนจะได้เห็นได้ถกกันตามระบอบประชาธิปไตย ไม่กังวลครับ

Red Power:  ข้อกังวลเรื่องจะทำให้หนี้สาธารณะสูงจนเสียวินัยการเงินการคลัง และแหล่งเงินกู้มาจากไหน

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : กระทรวงการคลังยืนยันตัวเลขจากประมาณการที่เราจะใช้เงินและดูจีดีพี หนี้สาธารณะจะสูงไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นของจีดีพี ซึ่งกรอบวินัยการเงินการคลังอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ประเทศยุโรปที่มีปัญหามันเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนั้น หนี้สาธารณะและวินัยการเงินการคลังเป็นสิ่งที่เราตระหนัก กระทรวงการคลังต้องประมาณการไม่ให้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของวงเงิน 2 ล้านล้าน ใน 7 ปี เราบริหารจัดการได้ เป็นตัวเลขที่เหมาะสม ส่วนแหล่งเงินกู้ มาจากในประเทศ เรามีสภาพคล่องประมาณ 2.4-2.5 ล้านล้านบาท ไม่มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน กระทรวงการคลังจะเป็นผู้บริหารจัดการ 

Red Power: เวลาใครจะปฏิรูปรถไฟจะถูกต่อต้านจากภายในจนทำไม่ได้จนเรื้อรังมานาน มักมีข้ออ้างว่านี่คือสิ่งที่ ร.5 พระราชทานมา อย่าไปแปรรูป โครงการนี้กำลังจะไปแตะโครงสร้างรถไฟ อันนี้จะมีปัญหารือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : เรื่องรถไฟ ต้องเรียกว่าเป็นการพัฒนาให้ดีขึ้นไม่ใช่การแปรรูป ปัญหาในอดีตส่วนหนึ่งคือเรื่องสื่อสารกันไม่เข้าใจ ต้องคุยกับพนักงานกับสหภาพให้ต่อเนื่อง สำคัญที่สุดรัฐต้องไม่ผิดสัญญา สัญญาอะไรไว้ต้องทำตามนั้น เรื่องบำเหน็จ บำนาญอะไรต่างๆ  ไม่ใช่ว่าพอจะเปลี่ยนก็ตัดสิทธิประโยชน์เค้า ยังงี้คุยกันไม่รู้เรื่อง รัฐต้องมีจุดยืนมั่นคง มีหลักการ เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน พนักงานรถไฟก็รักองค์กร ไม่อยากให้ใครมาหาผลประโยชน์ วิธีการสื่อสารจึงสำคัญ การเปลี่ยนแปลงรถไฟ หลักการคือเราต้องคิดภาพใหญ่ว่าเราจะเปลี่ยนให้ดีขึ้นอย่างมาก แต่เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้พนักงานปรับตัวทัน

Red Power:  โครงการใหญ่ๆ เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า ภาคประชาสังคมจะกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและทางสังคม โครงการนี้รัฐบาลจะจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการพัฒนาอย่างไร

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ที่ผ่านมามีปัญหาอยู่ อย่างรถไฟก็มีประชาชนอาศัยอยู่ในเขตทาง มีสองส่วนคือ ส่วนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ กับส่วนที่เป็นผลประโยชน์ธุรกิจต้องแยกจากกัน อันไหนคือประชาชนที่เดือดร้อนเป็นคนจนได้รับผลกระทบจริงต้องดูแลให้ละเอียด ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ห้ามละเลย อย่าคิดว่าจะละเลยขั้นตอนสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้ครบถ้วน ผมเริ่มให้ทำประชาพิจารณ์รถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศแล้ว ทำตามขั้นตอนแต่เร่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีปัญหาต้องรีบแก้รีบคุยให้จบ แล้วเดินหน้าต่อ ได้บ้างเสียบ้างต้องยอม  เราไม่กังวลเราต้องยึดตามหลักการ ระเบียบ ให้แม่น คิดว่าไปได้ครับ

Red Power:  โครงการนี้เป็นการเตรียมประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยหรือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : แน่นอนครับ ตอนนี้ชายแดนคึกคักมาก เราคือจุดศูนยย์กลาง ไทย-ลาว ไทย-พม่า ผมเพิ่งลงนามเรื่องการขนส่งไทย ลาว เวียดนาม เขาต้องการเอาสินค้าออกแหลมฉบัง ต้องเปิดเส้นทางรถบรรทุกวิ่ง ตอนนี้เรารักกับเพื่อนบ้านมาก มีนัดเตะฟุตบอลกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม ต้องสนิทสนมกันเข้าไว้ มีปัญหายกหูคุยกัน สุดท้ายความเจริญจะกระจายจากไทยไป อันนี้สำคัญ เออีซีก็เป็นตัวช่วยครับ

Red Power:  เสียงสะท้อนจากเพื่อนบ้านอาเซียนเป็นยังไงบ้าง บ้านเค้ารู้สึกว่าต้องปรับตัวอะไรบ้าง

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : เค้าตื่นเต้นครับ ลาวตื่นเต้นกับรถไฟความเร็วสูงของเรา เขาอยากจะเชื่อมไปถึงคุณหมิง ลองนึกดูว่ารถไฟจากกรุงเทพไปหนองคาย ผ่านเวียงจันท์เชื่อมไปคุณหมิง ประชากรจีนพันล้านคนนั่งรถไฟความเร็วสูงมาเที่ยวกรุงเทพ สินค้าตู้คอนเทนเนอร์เป็นล้านๆตู้จากตะวันตกของจีนที่ออกทะเลยาก ลงปื้ดมาออกแหลมฉบังไปยุโรป ทุกคนตื่นเต้น เราคือจุดศูนย์กลางเชื่อมโยง เป็นสี่แยกอาเซียน จะไปมาเลเซีย ลาว กัมพูชา พม่า ถนนทุกเส้นผ่านเราหมด เพื่อนบ้านกำลังดูว่าเราจะทำอะไร เราคือตัวสำคัญว่าจะเอาทิศทางไหน เค้าถามว่ารถไฟเราจะเอารางแบบไหน หนึ่งเมตรไม๊ หนึ่งเมตรก็หนึ่งเมตรด้วยกัน รถไฟความเร็วสูงจะเอาแบบไหน จะเชื่อมอย่างไร เราให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านมาก ผมไปลาวก็คุยกันเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ห้าที่บึงกาฬ ที่นั่นมีสวนยางแปดแสนไร่ ส่งออกยางทางแหลมฉบัง ส่วนหนึ่งส่งจีน ถ้าทำสะพาน ยางพาราก็สามารถส่งผ่านลาวไปท่าเรือที่เวียดนามไปเมืองจีน ประหยัดเวลาได้สองสามวัน ลาวสนใจมาก ลาวอยากให้รถไฟจากอุบลข้ามไปปากเซ อยากให้รถไฟจากบ้านท่านาแล้ง หนองคาย ไปถึงเวียงจันท์  อยากให้ทำสะพานรถไฟเชื่อมไป ตอนนี้คึกคักมาก มีโปรเจ็กเชื่อมเพื่อนบ้านเยอะมาก

Red Power:  ท่านพูดว่าเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่เรื่องการเมือง หลายปีนี้มีความขัดแย้งทางการเมืองมาก รัฐบาลเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ท้ายที่สุดจะช่วยให้ความขัดแข้งคลี่คลายลงได้บ้างหรือไม่

รมว.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ผมว่ามีความเป็นไปได้เพราะท่านนายกทำตัวอย่างให้เราเห็น ท่านไม่พยายามพูดเรื่องความขัดแย้ง มุ่งแต่ทำงาน กระทรวงคมนาคมจะทำแนวทางเดียวกับท่านนายกครับ เรื่องขัดแย้งเราทะเลาะกันนานพอสมควร ถ้าเราทำงานกันจริงๆ เราคุยกันที่เนื้องาน ที่ผลงาน ผมว่าทุกคนแฮปปี้  ถ้าเราจะดูโครงการจริงๆ ดีไม่ดีดูที่เนื้องาน ยังงี้ประเทศไปได้ มีคนเก่งๆ เยอะที่พร้อมจะพัฒนาประเทศไปด้วยกัน พยายามลดทิฐิ ความขัดแย้งลง มาคุยเรื่องประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาชาติมากขึ้น ต่อไปพอเห็นความเจริญมากขึ้น คนก็จะเริ่มลืม คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ผมว่าเราร่วมมือกันทำเพื่อประเทศชาติได้ #

          โครงการลงทุนนี้จะสำเร็จหรือไม่ยังไม่มีใครรู้ แต่เดิมพันของโครงการนี้สูงลิ่ว คือ ประเทศไทยจะอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างล้าหลังแบบนี้ต่อไป หรือจะยกระดับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

…………………………………………….

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ศึกกลางฤดูร้อน เขย่าเก้าอี้ "ปู" : การเมืองไทยมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง

จาก ข่าวสดออนไลน์



การเมืองไทยมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งเริ่มจากนายเกษม นิมมลรัตน์ ยื่นลาออกจากส.ส.เชียงใหม่ โดยมีเบื้องหลังเป็นที่รับรู้กันว่า เพื่อเปิดทางให้ "เจ๊แดง"เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ลงสมัคร

รีเทิร์นการเมืองเต็มตัว


เข้ามาบริหารจัดการงานในสภาในจังหวะที่รัฐบาล "น้องปู" ตั้งท่าเตรียมลุยงานใหญ่หลายต่อหลายเรื่อง

แต่ที่ทำให้การรีเทิร์นของนางเยาวภา ถูกขยายความไกลไปถึงเรื่อง"นายกฯสำรอง"นั้น

มีสารตั้งต้นจากกระแสข่าวน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากเก้าอี้

จากคดีความ 3-4 เรื่องที่อยู่ในขั้นตรวจสอบชี้มูลของป.ป.ช.

โดยเฉพาะการแจ้งบัญชีทรัพย์สินในส่วนของการปล่อยกู้ 30 ล้านบาทให้บริษัทที่มีสามีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงปี 2549-2550

ยังไม่นับปัจจัยร้อนแรงหลายเรื่องที่โคจรมาบรรจบกันทั้งโดยนัดหมายและมิได้นัดหมาย

ไม่ใช่เฉพาะแต่เลขาธิการสมช. ในระดับชาวบ้านทั่วไปก็มองออกว่าการเมืองช่วงรอยต่อเดือนมี.ค.-เม.ย. จะมีความร้อนแรงเป็นพิเศษ
ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อกัน 300 กว่าคนยื่นแก้ไขแบบรายมาตรา ประกอบด้วย มาตรา 68, 190, 237 และมาตรา 117

โดยแยกยื่นเป็น 3 ร่างผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมร่วมสองสภา


เพื่อกระจายความเสี่ยงกรณีฝ่ายต่อต้านงัดมุขเดิมๆ ขึ้นมาเล่น ด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความซ้ำรอยมาตรา 291 จนแผนการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องหยุดชะงักกลางคัน

ไม่ว่ากรณีพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่ผ่านครม.เตรียมเข้าสู่สภาสัปดาห์หน้า

ที่พรรคฝ่ายค้านตั้งป้อมรอไว้อยู่แล้ว

ประเด็นร้อนถัดมาคือมีคิวที่ตัวแทนไทยต้องเข้าแถลงชี้แจงต่อศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหาร ช่วงวันที่ 15-19 เม.ย.

ที่เชื่อว่าจะเป็นประเด็นให้กลุ่มการเมืองนอกสภาออกมาชุมนุมคัดค้านอีกรอบ

ด้านเศรษฐกิจก็มีกรณีเงินบาทแข็งค่า เกินจริง จนกระทบต่อภาคการส่งออก รายได้หลักของประเทศ

ตลอดจนยุทธการทวงคืน ปตท. ที่สร้างกระแสกันมาพักใหญ่ โดยพยายามโยงเรื่องเข้าหาพ.ต.ท.ทักษิณและคนในตระกูลชินวัตร

ปัญหาไฟใต้ที่ยังเกิดเหตุรุนแรงไม่หยุดหย่อน ระหว่างรอการเจรจาตัวแทนทางการไทยกับกลุ่มผู้ก่อการ ที่จะมีขึ้นวันที่ 28 มี.ค.

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้บีบรัดให้พรรคเพื่อไทยต้องเร่งหาทางเสริมทัพรับมือโดยด่วน

ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าศึกครั้งนี้เป็นศึกใหญ่ ไม่ธรรมดา คือการที่"นายใหญ่"ลงมาบัญชาการรบด้วยตัวเอง

ดังที่เห็นจากการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์เข้ามายังที่ประชุมทีมยุทธศาสตร์ และที่ประชุมส.ส. พรรคอย่างถี่ยิบในช่วงหลัง

ประเด็นหลักๆ คือ การปฏิเสธว่า นางเยาวภา ไม่ใช่นายกฯสำรอง ตามที่พรรคฝ่ายตรงข้ามพยายามกุข่าวเพื่อทำลายเสถียรภาพความมั่นคงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การกลับมาของนางเยาวภา แค่เข้ามาช่วยงานของพรรคในสภา กวดขันดูแลไม่ให้ส.ส.โดดประชุม จนเกิดปัญหาสภาล่มซ้ำซาก

พ.ต.ท.ทักษิณยังสั่งชะลอปรับครม.ปู 4 โดยจะปรับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างเฉพาะโควตาพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนพรรคเพื่อไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น

หลังการสไกป์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ยังส่งผลให้ นายวรชัย เหมะ ส.ส.เสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ได้ประกาศเลื่อนการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ 42 ส.ส.ออกไป เพื่อพรรคจะได้ไม่ต้องเปิดศึกหลายด้าน

เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการสื่อสาร ล่าสุดพ.ต.ท.ทักษิณได้เรียกแกนนำพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งบินไปติวเข้มที่ฮ่องกงเมื่อสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมา

เพื่อวางเกมรับมือกรณีพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาวันที่ 28-29 มี.ค.

และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่างที่ต่อคิวเข้าที่ประชุมร่วมสองสภาวันที่ 1-2 เม.ย.นี้

พรรคเพื่อไทยยังตั้งทีมวอร์รูมขึ้นมา 3 ชุด รับมือประเด็นร้อน 3 เรื่องใหญ่ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และกรณีปราสาทพระวิหาร

มีมือเก๋าเกมจากอดีตบ้าน 111 เป็นหัวหน้าทีมวอร์รูม

ในส่วนพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน มีการเปิดฉากแลกหมัดกับฝ่ายค้านแบบซึ่งหน้า ผ่านการจัดนิทรรศการ"บทเรียนประเทศไทย ปฏิบัติการใคร? เข้มแข็ง"

แสดงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินตามพ.ร.ก.และพ.ร.บ.เงินกู้ 8 แสนล้านในโครงการไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายโครงการพบส่อไปในทางทุจริต

เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการชุมชนพอเพียง การจัดซื้อครุภัณฑ์กระทรวงสาธารณสุข โครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง เป็นต้น

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการตอบโต้ในแง่ที่ว่า สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เคยยื่นแก้ไขรัฐธรรม นูญรายมาตรา ในประเด็นที่เกี่ยว ข้องกับการเลือกตั้งจนสำเร็จ

โดยไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมขณะนั้น ที่มองทะลุถึงแก่นแท้ว่า เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในการสร้างความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งที่มีขึ้นหลังจากนั้น

สำหรับกรณีปราสาทพระวิหารที่ขัดแย้งกับกัมพูชา จนกลายเป็น คดีความขึ้นไปคาอยู่ในศาลโลก

ข้อโต้แย้งก็คือชนวนเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยแค่เข้ามารับเคราะห์กรรมแทนเท่านั้น

จะเหลือก็แต่ปัญหาความไม่ลงรอยกับองค์กรอิสระบางแห่งที่เป็นกลไกให้กับการเมืองฝ่ายตรงข้าม

จ้องแต่จะ"สอย"นายกฯยิ่งลักษณ์ลงจากเก้าอี้

ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนายใหญ่และแกนนำรัฐบาลเพื่อไทย

ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์จะยืนยันขอความเป็นธรรม เพราะมั่นใจว่าชี้แจงข้อมูลทรัพย์สิน ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอน และอ้อนขอกันตรงๆ ว่าอยากได้รับโอกาสอยู่ทำงานครบเทอม 4 ปี

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย ที่ดวงไม่ค่อยสมพงศ์กับบรรดาองค์กรอิสระ ดูได้จากกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช และกรณีถูกสั่งยุบพรรค 2 หนซ้อน

ตรงนี้ต่างหากเป็นปมน่าวิตกอย่างแท้จริง

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2556

ก้าวข้ามแกนนำ

การเมืองฉบับชาวบ้าน RED POWER ฉบับที่ 34 เดือน มีนาคม  2556
โดย ดอม   ด่านตระกูล

 

          ข่าวความแตกแยก และรอยร้าวในหมู่แกนนำคนเสื้อแดงนั้น ช่วงนี้เราคงได้ยินกันถี่ขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่ว่า “ถี่ขึ้น”เพราะไม่ใช่ว่าแต่ก่อนในหมู่แกนนำกันเองจะกลมเกลียวกอดคอ จุ๊บปากกันทุกวันโดยไม่เคยมีความขัดแย้ง ความขัดแย้งในหมู่แกนนำและในกลุ่มก้อนคนเสื้อแดงแต่ละเฉดสีก็มีมาเป็นระยะๆอย่างที่เราเคยได้ยินกันมา แต่คราวนี้ดูเหมือนจะหนักหนารุนแรงถึงขั้นตัดขาดกันเลยหรืออย่างไร มวลชนคนเสื้อแดงฟังข่าวแล้วอย่าเพิ่งท้อแท้ โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจที่เห็นแกนนำทะเลาะกันเอง

          ความขัดแย้งเป็นของธรรมดาโลก ในอดีต “คณะราษฎร” ที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมา เมื่อก่อการสำเร็จ ลักษณะนิสัยส่วนตัว ทัศนคติและภูมิหลังที่แตกต่างก็ยังทำให้ “คณะราษฎร” ต้องขัดแย้งกันเองเป็นหลายกลุ่มหลายฝ่าย เช่น พระยาทรงสุรเดช ฝ่ายหนึ่ง  พระยาพหลพลพยุหเสนา กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนหลวงพิบูลสงคราม (จอมพลป.) ตอนแรกก็อยู่ฝ่ายเดียวกับท่านปรีดี ต่อมาไปรับคำเชิญของคณะรัฐประหาร 2490 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามกวาดล้างกลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนท่านปรีดี เรียกว่าปฏิบัติการทุกอย่างอยู่ตรงข้ามกับท่านปรีดีทั้งสิ้น  แต่สุดท้ายเมื่ออยู่ในภาวะที่ไว้ใจใครไม่ได้ ความที่เคยเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันมา และจอมพลป. คงทราบดีว่าท่านปรีดีเป็นคนซื่อสัตย์ และทำทุกอย่างเพื่อชาติบ้านเมืองโดยไม่มีอะไรเคลือบแฝง จึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปหาท่านปรีดี และเตรียมจะแก้ไขกฎหมายเพื่อรื้อฟื้นคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 ขึ้นมาใหม่ก็เพื่อให้ท่านปรีดีได้พ้นมลทินจากข้อกล่าวหานี้นั่นเอง แต่ยังไม่ทันจะได้ดำเนินการอะไรเมื่อข่าวคราวแพร่งพรายออกไปท่านก็ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจวบจนสิ้นลมหายใจเช่นเดียวกับท่านปรีดี วัฎจักรการต่อสู้ก็เป็นเช่นนี้แล

          จากบทเรียนในอดีต เราจะเห็นได้ว่าทุกๆการต่อสู้ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย ในทุกๆประเทศล้วนมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา  บางประเทศเมื่อสามารถปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศได้สำเร็จ ก็ยังมีปัญหาจิปาถะเรื่องการจัดการ ดำเนินงาน จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขัดแย้ง ต่อสู้กันเองอีกหลายครั้ง กระทั่งในบางประเทศต้องใช้เวลาเป็นหลายสิบปี กว่าจะชัดเจนกับการค้นหาวิธีจัดการรูปแบบการเมืองภายในประเทศที่เหมาะสม ลงตัวที่สุด

ที่สำคัญอยู่ที่ “เป้าหมาย” ถ้าในกลุ่มนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังมี “เป้าหมาย” อันเดียวกัน นั่นหมายถึง “จุดร่วม” เดียวกัน เราก็สามารถร่วมทางกันได้ ส่วนความขัดแย้งหรือวิธีการที่แตกต่างหรืออาจจะเรียกว่า “จุดต่าง” นั้น ขอให้มวลชนคนเสื้อแดงมองอย่างเข้าใจ และจุดต่างนั้นจะไม่สร้างปัญหาใดๆในการต่อสู้เลย เพราะการเดินทางเพื่อไปสู่จุดหมายแห่งใดแห่งหนึ่งนั่นย่อมมีหลายหนทางด้วยกัน อย่างที่พูดกันว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”

แต่ว่า..หาก “จุดหมาย” ไม่ใช่ที่เดียวกันเสียแล้ว ก็คงจะเดินทางร่วมกันลำบาก เพราะถ้า “ฝืน” เดินต่อ มีแต่จะทำให้หลงทิศหลงทางกันไปเปล่าๆ

มวลชนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกคนที่ปวารณาตัวว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ที่สำคัญสามารถ “ก้าวข้ามแกนนำ”  และวิเคราะห์ แยกแยะด้วยตัวเองได้ว่าผู้ใดที่ยังมี “จุดหมาย” เดียวกันกับมวลชน และมุ่งเดินทางไปสู่ “ความก้าวหน้า”

ถ้าเป็นแกนนำที่มุ่งประโยชน์ของมวลชนเป็นหลัก ต้องสามารถนำขบวนการ ประคับประคอง ยืดหยุ่นตามจังหวะเวลา ปล่อยให้มวลชนเรียนรู้ สร้างสรรค์ และพัฒนาการไปสู่ความคิดที่ดีกว่า สูงกว่ายิ่งๆขึ้นแม้จะอยู่ภายใต้โครงครอบของผู้ปกครองที่พยายามควบคุมมวลชน ปิดหู ปิดตา ปิดปากไว้ด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม แต่แกนนำก็จะพาฝ่าข้ามไปยังที่ถูกที่ควรที่เหมาะสม เพื่อสังคมอารยะจนได้

การเดินทางไปสู่ “ความก้าวหน้า” จะเป็นไปตามธรรมชาติ และสนับสนุนให้มวลชนเป็นผู้ที่เติบโตทางความคิด ขับเคลื่อนด้วยพลังความรู้สึกจากภายในเปี่ยมล้นไปด้วยความต้องการ “สิทธิ และเสรีภาพอันเท่าเทียม” นั่นคือระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพื่อให้เกิดคลื่นพลังมวลชนที่มีทั้งคุณภาพและอานุภาพจนสามารถทำลายล้าง “ระบบเก่า”  ได้อย่างถอนรากถอนโคน ไม่ใช่ยอมตามเป็นมวลชนที่ว่านอนสอนง่าย แต่เป็นมวลชนที่แกร่งกล้าด้วยความรู้ และความคิด รู้ตัวตนว่า “เรากำลังจะเดินไปไหน เรากำลังต่อสู้กับใคร? และเราควรทำอย่างไร”  

โลกเปลี่ยนไปแล้ว เรื่องราวในประเทศเราไม่ใช่ส่งผลสะเทือนแค่ภายในประเทศ เราไม่ได้สู้อยู่อย่างเดียวดาย ทุกวันนี้เราแค่เปิดคอมพิวเตอร์ เปิดมือถือ หรือเครื่องมือสื่อสารชนิดต่างๆมากมายหลากหลายชื่อ ทั้งไอแพด ไอโฟน สมาร์ทโฟน แท็บเลต ฯ แค่พริบตาเราก็สามารถติดต่อกับคนขั้วโลกใต้ ขั้วโลกเหนือได้อย่างง่ายดาย ข้อมูลข่าวสารอันเร้นลับที่เคยถูกบิดเบือน ปิดบัง อำพราง มาบัดนี้ข้อมูลมากมายเหล่านั้นได้ถูกเปิดเผยและแลกเปลี่ยนกันอย่างฉับไว ไม่สามารถซ่อนเร้นไว้ในมุมมืดได้อีกต่อไป

การต่อสู้ของมวลชนคนเสื้อแดงหลากหลายเฉดสียังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องพร้อมไปกับการให้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ อันจะสั่งสมความ “ตาสว่าง” ให้กระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้น ฉะนั้นมวลชนที่อาจจะกำลังหนักใจ กลุ้มใจในเรื่องราวความขัดแย้งของแกนนำ โปรดวางใจ ทำใจให้สบายไม่ต้องกังวลใจแต่อย่างใด คิดเสียว่า “ความขัดแย้ง” เป็นของธรรมดาโลก ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรม การพิจารณามาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยระบอบการปกครองของประเทศนั้น จักต้องเกิดขึ้นภายใต้ระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ตราบใดที่ประเทศนี้ยังไม่มีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น  แต่อย่าเพิ่งท้อกับการต่อสู้ที่ดูเหมือนเส้นทางจะยาวไกล เราต้องเดินกันต่อไปทำกันเต็มกำลัง ก้าวไปทีละก้าวอย่างน้อยถึงยังไม่ได้ประชาธิปไตยแต่สิ่งที่ควรจะได้ และขอแรงมวลชนร่วมกันสนับสนุนคือ ขอให้ได้สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์กลับคืนมาบ้าง นั่นคือ “สิทธิในการประกันตัว” ของผู้ต้องหาคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเฉพาะคดี 112 ควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัวเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคดีอื่นๆ

ส่วนในเรื่องการแก้ไขตัวบทกฎหมาย ผู้เขียนเชื่อว่าถ้ามวลชนยืนหยัดที่จะมุ่งหน้าเดินทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแน่วแน่และมั่นคง  สุดท้ายแล้วกฎหมายอันเป็นประชาธิปไตยก็จะค่อยๆตามมา ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งได้ เพราะเมื่อมวลชน “ตาสว่าง” แล้ว ย่อมเรียกร้องโหยหา “สิทธิและเสรีภาพ” อันเท่าเทียม และพลังอธรรมอันใดก็จะไม่สามารถหยุด “ไฟพลังมวลชน” ได้ 

....................................................................................................................................................