เมื่อวันพุธ บังเอิญผมโทรคุยกับ อ.วรเจตน์อยู่ 2 ครั้ง เพราะอยากปรึกษาหาความรู้เรื่องศาลเดี่ยว (ศาลพระภูมิ) ศาลคู่ (ศาลเจ้าพ่อศาลเจ้าแม่) แต่ไม่ทันคุยเป็นน้ำเป็นเนื้อ เพราะช่วงเช้า วรเจตน์ไปจุฬาฯ อ.ไชยันต์ ไชยพร เชิญไปบรรยายพิเศษให้นิสิตฟัง (ขอชื่นชม อ.ไชยันต์ไว้ ณ ที่นี้ ในฐานะผู้มีความเห็นต่างแต่เปิดใจกว้าง) ช่วงบ่าย ราวบ่ายสามกว่า ก็โทรคุยกันอีกครั้ง ตอนวรเจตน์แวะทำธุระส่วนตัวระหว่างเดินทางกลับธรรมศาสตร์
แค่อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา ก็มีคนโทรบอกผมว่า วรเจตน์ถูกทำร้าย อย่างอุกอาจกลางคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
สิ่งที่น่าสลดใจคือ คนร้ายไม่ได้เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกระทำเรื่องชั่วช้าเลวทราม เพราะยังบอกว่า ถ้าอยากรู้กูเป็นใครให้ไปดูในวีดิโอ (วงจรปิด)
จากนั้นก็เข้ามอบตัวอย่างสง่าผ่าเผย... พูดง่ายๆ ว่าเขาอยากโชว์ และคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ด้วยซ้ำ
แน่นอน จะมีอะไรต้องเกรงกลัวละครับ เพราะในทางกฎหมาย การทำร้ายร่างกายที่ไม่ได้รับอันตรายสาหัส ไม่ใช่โทษรุนแรง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี รับสารภาพลดครึ่ง แถมจำเลยคงคิดว่าศาลจะให้ความปรานี รอลงอาญา เพราะทำไปด้วยความจงรักภักดี (นี่ก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งที่ในเฟซบุคระบุว่า ผู้ต้องหาชอบเล่นปืน ผมเห็นด้วยว่าเขาควรได้รับการปล่อยตัว แต่ควรขอคำสั่งศาลคุมประพฤติ ห้ามครอบครองอาวุธร้ายแรง)
ขณะที่ในทางสังคม แทนที่จะประณามการกระทำดังกล่าว พวก “สลิ่ม” และ พธม.กลับแสดงความสะใจ หรือบอกว่าน้อยไปด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างสลิ่มรายหนึ่ง โพสต์ในเฟซบุคของวรกร จาติกวณิช ว่า “อยากมอบโล่ห์เกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตรให้ผู้ที่ชกวรเจตน์ ถือเป็นบุคคลแห่งปี สมควรลงหนังสือไทม์”
ขณะเดียวกันก็รีบปัดป้องว่าไม่ใช่การกระทำของพวกตัว ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการจัดฉาก สร้างสถานการณ์ เรียกความสนใจ หรือฝ่ายรัฐบาลต้องการเบี่ยงเบนประเด็น
อันนี้ไม่ใช่แค่พวกสลิ่ม แต่พวกนักข่าว นักเล่าข่าวตอนเช้า บางเจ้าก็วิเคราะห์เป็นตุเป็นตะ ว่าอาจจะมีมือที่สามที่สี่ ผมเรียกว่า “สันดานนักข่าว” คือเป็นพวกที่คิดไว้ก่อนว่าทุกอย่างต้องมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทุกคนสกปรกหมด ยกเว้นพวกกรูฐานันดรที่สี่
มีเซอร์ไพรส์จากสื่ออยู่เจ้าเดียวคือ ไทยโพสต์ บ้านเก่าผม พาดหัวข่าวแหกโผ ดีที่สุดบนแผงหนังสือพิมพ์ ดีกว่ามติชน ข่าวสด ด้วยซ้ำ เพราะประณามว่า “เถื่อนชกหน้าวรเจตน์” บุกคุกคามกลาง ‘ธรรมศาสตร์’ หลายฝ่ายผวา 112บานปลาย!
อันที่จริงก็ไม่น่าประหลาดใจถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ เพราะไทยโพสต์เคยเป็นสื่อที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพมาตลอด เคยโดนคุกคามด้วยตัวเอง ทั้งสมัย ปชป.และ ทรท. เพียงแต่ฉบับนี้สงสัยว่า จะเหลือคาแผงบานเบอะ เพราะขัดใจแฟนคลับ (เผลอๆ จะมีรายการเรียกร้องให้ทบทวนจุดยืน คริคริ)
ตลกร้ายคือในขณะที่พวกสลิ่มอ้างว่าไม่ใช่การกระทำของพวกตัว “คนรักในหลวงไม่ทำอย่างนั้น” พวกเขากลับแสดงความสะใจ เย้ยหยัน กระทืบซ้ำทางวาจา ทั้งในความเห็นท้ายข่าวผู้จัดการ ASTV ทั้งในเฟซบุคของวรกร ของหมอตุลย์
“ดีใจที่สุดเลยค่ะ” “โดนก้านคอด้วยไหมคะ” (วรกร จาติกวณิช) “อย่าดีใจค่ะ เดี๋ยวเค้าจะว่า เราโหดร้าย คนชกวรเจตน์น่ะเป็นคนร้าย แต่คนทุบรถอภิสิทธิ์เป็นคนรักประชาธิปไตยนะคะ เราต้องอย่าลืม...” “โดนชกรัวที่หน้า แตก ทั้งหน้าและแว่นตา. น่าจะเสียหล่อ” “ชกเสด น่าจะสาดน้ำกรด”
ทั้งหมดมีรายเดียวที่บอกว่า “ผมว่าเราไม่ควรสนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับคนคิดต่าง ไม่ว่าจากฝ่ายใดนะ”
คุณหมอตุลย์บอกว่า “คนไทยรักในหลวง แม้จะไม่ชอบใจการกระทำของวรเจตน์ แต่ผมเชื่อว่าไม่มีใครลงมือทำร้ายวรเจตน์หรอกครับ ผมคิดว่าวรเจตน์ถูกใช้เป็นเหยื่อสร้างสถานการณ์กลบกระแสคัดค้านการล้มล้างรธน.”
แต่ความเห็นถัดมาบอกว่า “คุณหมอก็ต้องระวังนะคะ เพราะเรากำลังเล่นงานคนที่ไม่สำนึกบุญคุณแผ่นดิน เอาง่ายๆคนที่พร้อมจะทรยศผู้มีพระคุณหนูไม่ถือว่าเป็นคนดี..โดยเฉพาะพวกที่วันๆคิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งที่กระจอก อ๋อ กรณีวรเจตน์หนูไม่เห็นด้วที่โดนชกนะคะ แต่อยากให้กระทืบให้สมองส่วนที่ทำงานมากกว่า..”
คำถามคือคนไทยรักในหลวงไม่มีใครลงมือทำร้าย แต่คนไทยรักในหลวงพร้อมจะสะใจ ยุให้กระทืบสมองเลยดีกว่า อย่างนั้นหรือครับ
นี่รักในหลวงแบบไหนกัน
ทำไมความรักในหลวงต้องมาพร้อมกับความโกรธ เกลียดชัง คลั่งแค้นผู้ที่มีความเห็นต่าง มาพร้อมกับความคับแคบ ไร้สติ ไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่แฟนคลับหมอตุลย์หรือวรกร น่าจะเป็นคนกรุงผู้มีการศึกษา ไม่ใช่ชนชั้นกลางทำมะดาๆ ด้วยซ้ำ แต่น่าจะเป็นพวกมีคลาส มีตระกูล จบปริญญาโทปริญญาเอก
ไม่ได้บอกว่าคนเสื้อแดงแสนดีมีมารยาท มวลชนเสื้อแดงที่โห่ฮาหมอตุลย์ตอนไปธรรมศาสตร์ก็ทำไม่ถูก หรืออย่างแท็กซี่ที่ตะโกนด่าพร้อมให้อวัยวะ อ.แก้วสรรกลางถนน ก็ทำไม่ถูก แต่ระหว่าง “ผู้ดีรักในหลวง” กับ “ไพร่รักทักษิณ” ผมควรจะเรียกร้องใครมากกว่ากัน
เฮ้ย คนรักในหลวงควรจะมีเมตตาธรรม มีขันติ มี ฯลฯ มากกว่าคนรักทักษิณสิ ก็คุณรักในหลวงเพราะพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนทั้งแผ่นดินไม่ใช่หรือ (คนรักทักษิณมันก็แค่ได้ผลประโยชน์ประชานิยม จริงไหม)
แล้วนี่เป็นความร้กในหลวงแบบไหนกัน 35 ปีผ่านไป จาก 6 ตุลา 2519 ที่อ้างความรักสถาบันปลุกระดมให้เกิดการเข่นฆ่ากลางเมือง เก้าอี้ฟาดศพ ใช้ไม้แทงอวัยวะเพศ จนถึงวันนี้ ก็ดูเหมือนไม่ได้เปลี่ยนไปซักเท่าไหร่เลย
อย่าลืมว่าพฤษภา 35 สุจินดาก็กล่าวหาชวลิต เป็นพวกสภาเปรสิเดียม รสช.ยึดอำนาจก็อ้างคดีลอบสังหาร ม็อบมือถือก็ถูกหาว่าขัดขวางขบวนเสด็จฯ และพวกทหาร (ของ พล.อ.สุรยุทธ์) ที่เข้าไปลุยกระทืบคนในโรงแรมรอแยล ก็ให้การว่า ถูกปลุกปั่นว่าพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อสถาบัน
“คนดี” อย่างสุเมธ ตันติเวชกุล หรือ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ช่วยชี้แจงทีว่า ท่านปลูกฝังความรักในหลวงแบบไหนกัน รักแล้วต้องคลั่ง ต้องยกย่องเทิดทูนสดุดีสถานเดียว โดยไม่สามารถพูดกันอย่างมีเหตุผลอย่างนั้นหรือ แค่สดุดีน้อยหน่อย ก็อาจถูกเขม่น แค่บอกว่าอย่าคลั่งมากนัก ก็เห็นเป็นศัตรู
ที่พูดนี่ไม่ใช่ไม่เคยเห็นคนรักในหลวงที่มีเมตตาธรรม รับความรักมาเผื่อแผ่ให้ทุกสีทุกขั้ว มีเหมือนกันครับ แต่น้อยนิด ยกตัวอย่าง คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย เป็นคนที่ผมชื่นชม เพราะแกไม่เคยเอาความรักมาใช้เพื่อเกลียดใคร แต่ทำไมคนแบบนี้มีน้อยจังหว่า
เรื่องแปลกแต่จริงคือ “สลิ่ม” ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงคนชั้นกลาง ที่ปลาบปลื้มกับภาพถ่ายเก่าๆ หรือภาพในจอทีวี ที่ในหลวงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เสด็จเยี่ยมคนชนบท ไม่ใช่คนเหล่านี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณด้วยตัวเองซักหน่อย แต่พวกเขาได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กจนโต
กระนั้นมันน่าจะเป็นเรื่องดี ที่มีคน “รักในหลวง” เยอะๆ แล้วยึดมั่นในพระบรมราโชวาท ในวัตรปฏิบัติที่พระองค์เป็นแบบอย่าง สมมติเช่น รถติดสติกเกอร์ “รักในหลวง” ก็ควรขับรถถูกกฎ เคารพวินัยจราจร (ผมจะได้ปาดง่ายหน่อย-ฮา) แต่ที่ไหนได้ บางคันทาสีเป็นตัวหนังสือตัวใหญ่ๆ “รักในหลวงทั้งครอบครัว” ฝ่าไฟแดงเฉยเลย
ความรักในหลวงควรเป็นความรักที่สูงส่ง ไม่ใช่หรือครับ ควรเป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ทำความดี ไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่เป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ฆ่ากัน ทำร้ายกัน อย่างบ้าคลั่ง แต่ทำไมมันกลายเป็นเหมือนความคลั่งศาสนา หรือคลั่งลัทธิ แบบตาลีบัน ซึ่งอันที่จริง ตัวศาสนาก็สอนให้ทำดี แต่การปลูกฝังด้านเดียวทำให้คลั่ง
ธงชัย วินิจจะกูล จึงบอกว่า “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” เป็นกึ่งศาสนา คือไม่ใช่ศาสนา แต่บางด้านหนักกว่าศาสนา เพราะเรายังมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ปรากฏการณ์ของพวกสลิ่ม “รักในหลวง” ถ้าให้ผมเทียบในฐานะคนออกจากป่า ก็คล้ายกับพวกเรดการ์ด ที่ชูสรรนิพนธ์ประธานเหมา เข้าไปลากคอคนออกมาติดป้ายประจานว่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ ถึงแม้พฤติกรรมจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่ในเชิงความคิดครอบงำ ก็คล้ายๆ กัน หรือถ้าเทียบอเมริกา ก็คือยุคแมคคาร์ธี ที่กีดกันผู้ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ แบบเดียวกับที่มหาวิทยาลัยไม่ยอมรับก้านธูปเข้าเป็นนักศึกษา หรืออาจารย์แจ้งจับลูกศิษย์ข้อหาหมิ่นสถาบัน
ช่วยวิเคราะห์หน่อยสิครับ คนรักในหลวงทั้งหลาย คนดีๆ ที่ได้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท อย่าง ดร.สุเมธ อย่าง พล.ต.อ.วสิษฐ หรือใครก็แล้วแต่ ความรักในหลวงที่ควรจะสร้างสุขสันติแก่สังคมกลายเป็นสร้างความเกลียดชังได้อย่างไร หรือพวกท่านอยากให้เป็นอย่างนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น