Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มต้น!

จาก web thai e-news


ประเด็นการต่อสู้ทางความคิดที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คือ การวิพากษ์เครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ซึ่งเผด็จการใช้ควบคุมและบ่อนทำลายพลังที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่เป็นการรุกที่สำคัญ เพื่อบั่นทอนการครอบงำทางอุดมการณ์ของพวกเผด็จการแฝงเร้นในระยะยาว..โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า การต่อสู้ทางความคิดประชาธิปไตยนั้นสามารถก่อผลสะเทือนได้อย่างกว้างขวาง และเป็นแนวรบที่ฝ่ายประชาชนมีความเหนือกว่าอย่างชัดเจน


โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
2 มีนาคม 2555

ในที่สุดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทั้งสามฉบับก็ผ่านการเห็นชอบในวาระแรกจากที่ประชุมรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555

จุดประสงค์ของการแก้ไขนี้ก็คือ ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นการ แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นใดบ้าง

แม้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ถึงกระนั้น ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่อาจถกเถียงได้ เช่น หมวด 10 ว่าด้วยศาล และหมวด 11 ว่าด้วย องค์กรตามรัฐธรรมนูญ


รัฐธรรมนูญคือ กติกากลางของสังคมที่ระบุการจัดสรรปันส่วนอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในสังคมและวิธีการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติหากการจัดสรรปันส่วนนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุต่าง ๆ

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญจึงมิใช่เอกสารทางกฎหมายที่ลอยอยู่ในสุญญากาศ หากแต่ถูกกำหนดจากดุลกำลังทางการเมืองที่ครอบงำอยู่ในขณะนั้น
การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มากน้อยเพียงใด จึงย่อมถูกกำหนดจากดุลกำลังในการเมืองไทยที่เป็นอยู่ขณะนี้

รัฐธรรมนูญ 2550 มีกำเนิดมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในเงื่อนไขที่ฝ่ายเผด็จการกุมอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และไม่ต้องการซ้ำรอยกับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดช่องให้พลังที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ พรรคการเมืองและนักการเมืองมีบทบาทเป็นอิสระนอกเหนือการควบคุมของพวกเขา

รัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีลักษณะเผด็จการแฝงเร้นที่เลวร้ายที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่เคยมีมาคือ โครงสร้างที่ให้พวกเผด็จการแฝงเร้นใช้อำนาจตุลาการ ผ่านสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาล มาควบคุมและกำหนดความเป็นความตายของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่เมื่อฝ่ายประชาชนและพรรคฝ่ายประชาธิปไตยดำเนินการต่อสู้ขับเคี่ยวกับเผด็จการ ได้เติบใหญ่เข้มแข็งขึ้น ผ่านการสังหารหมู่เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 และชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ดุลกำลังทางการเมืองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นประสบความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสาตร์ที่สำคัญ และจำต้องยอมประนีประนอมชั่วคราวเพื่อรอคอยโอกาส

นี่เป็นสภาวะของการพักรบชั่วคราวที่ฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด ขณะที่ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นก็ยังคงกุมอำนาจรัฐที่แท้จริงไว้อย่างมั่นคง

ฉะนั้น แม้ประชาชนจะตั้งความหวังไว้สูงเพียงใด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะยังไม่อาจเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นเพียงฉบับระยะผ่าน เท่านั้นจนกว่า ดุลกำลังในอำนาจรัฐที่แท้จริงจะเปลี่ยนแปลงในขั้นรากฐาน

ถึงกระนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยอาจคาดหวังประโยชน์จากการเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ในสองระดับ

ในระดับแรก ฝ่ายประชาชนอาจใช้โอกาสนี้ดำเนินการรุกทางความคิด เสนอประเด็นปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่แหลมคม โดยมุ่งเน้นไปที่เครือข่ายอำมาตยาธิปไตยคือ กองทัพ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาล

รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้นมีข้อจำกัดในการแสดงท่าทีต่อประเด็นรูปธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ แต่ประชาชนย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้แย้งได้ภายในกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ทั้งในเวทีสาธารณะและเวทีสภาร่างรัฐธรรมนูญ

โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของคณะนิติราษฎร์ในกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า การต่อสู้ทางความคิดประชาธิปไตยนั้นสามารถก่อผลสะเทือนได้อย่างกว้างขวาง และเป็นแนวรบที่ฝ่ายประชาชนมีความเหนือกว่าอย่างชัดเจน

ประเด็นการต่อสู้ทางความคิดที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คือ การวิพากษ์เครือข่ายอำมาตยาธิปไตย อันได้แก่ กองทัพ สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาล ซึ่งเผด็จการใช้ควบคุมและบ่อนทำลายพลังที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่เป็นการรุกที่สำคัญ เพื่อบั่นทอนการครอบงำทางอุดมการณ์ของพวกเผด็จการแฝงเร้นในระยะยาว


ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มีอาวุธทางความคิดเหล่านี้อยู่ในมือแล้วระดับหนึ่ง จากผลงานของนักวิชาการทางกฎหมายที่เรียกว่า คณะนิติราษฎร์ซึ่งเสนอออกมาอย่างเป็นระบบในเรื่อง การล้างผลพวงของรัฐประหารครอบคลุมทั้งการลบล้างผลทางกฎหมายของรัฐประหาร 19 กันยายน และการเสนอหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรอบของรัฐธรรมนูญสามฉบับของคณะราษฎร

ฝ่ายประชาธิปไตยจึงมีความพร้อมระดับหนึ่งที่จะดำเนินการต่อสู้ทางความคิดภายใต้การเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนประโยชน์ระดับสองที่ฝ่ายประชาธิปไตยอาจคาดหวังจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็คือ การลดทอนอำนาจของเผด็จการที่อยู่เหนือพลังจากการเลือกตั้งลงไประดับหนึ่ง และเป็นเป้าหมายที่อาจบรรลุได้ภายใต้ดุลกำลังสองฝ่ายปัจจุบัน

นี่ยังเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็คือ การรื้อฟื้นดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ปฏิรูปศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลปกครอง เป็นต้น มิให้อำนาจตุลาการครอบงำเหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอีกต่อไป เพื่อลดโอกาสที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องซ้ำรอยชะตากรรมของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งสำหรับฝ่ายประชาชนที่จะศึกษา อภิปราย ยกระดับความรับรู้ และต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย ช่วงชิงให้ได้รัฐธรรมนูญที่ลดทอนอำนาจบทบาทของเครือข่ายอำมาตยาธิปไตยที่เป็นมือเท้าของเผด็จการลงระดับหนึ่ง

ตระเตรียมพร้อมรับกับศึกใหญ่ เพื่อบรรลุประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น