Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555

ขวางปรองดองจะก้าวข้าม‘ทักษิณ’...หรือฆ่ากันให้หมด?

เรื่องจากปกจากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 7 ฉบับที่ 352 ประจำวัน จันทร์ ที่ 26 มีนาคม 2012


ถ้ายอมรับกันไม่ได้ ก็ต้องทำกันต่อไป ไม่ใช่มาถามว่าได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ฆ่ากันหมดทั้งประเทศจะเอาไหม

เป็นคำตอบอย่างมีอารมณ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อผู้สื่อข่าวถามความ เห็นเรื่องข้อเสนอแนวทางปรองดองของฝ่ายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และย้ำว่าไม่ใช่ เรื่องของทหาร คนมีหน้าที่ก็ทำไป เพราะความปรองดองคือการที่ทุกฝ่ายต้องยอม รับในกติกา กฎหมายบ้านเมือง และต้องยอมรับด้วยความพอใจ ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาต่อไปเรื่อยๆ

ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าลูกผู้ชายอย่าง พ.ต.ท. ทักษิณคิดเองได้ถ้ามาแล้วตาย จะมาทำไม
พระปกเกล้าจุดประเด็นร้อน

เรื่องความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอรายงานผลการศึกษาวิจัยเรื่องการสร้างความ ปรองดองแห่งชาติกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสา มัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย เพราะแทน ที่จะมองภาพรวมของบ้านเมืองเพื่อยุติความแตก แยก แต่กลับถูกดึงไปรวมศูนย์อยู่ที่คนคนเดียวเหมือน เดิมคือ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะพรรคประชาธิ ปัตย์ที่ประกาศจะปลุกระดมคนใต้ออกมาต่อต้านไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาโดยไม่มีความผิด เช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มขาประจำทั้งกลุ่มสลิ่มและ ส.ว.ลากตั้ง

เพราะหนึ่งในข้อเสนอของสถาบันพระปก เกล้าคือ การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย และยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคืนความถูกต้องและความชอบธรรมบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

ประชาธิปัตย์ค้านหัวชนฝา
แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านว่ารายงานของสถาบันพระปกเกล้าไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ และไม่ควรนำมาอ้างเพื่อเคลื่อนไหวช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ รายงานฉบับนี้จึงไม่ใช่การปรองดองฉบับ บังแต่เป็นฉบับ บังหน้าจึงเป็นห่วงว่า กมธ.ปรองดองควรแสวงหาจุดร่วมเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง ไม่ใช่มีข้อเสนอที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ เหมือนคนทะเลาะกันอยู่ 2 คน ถ้าใช้วิธีถามแต่ละฝ่ายว่าคิดอย่างไร คนหนึ่งบอกว่าอีกฝ่ายผิด อีกคนก็บอกว่าอีกฝ่ายผิด แล้วก็บอกว่าให้เอาเสียงข้างมากมาตัดสิน นี่ไม่ใช่กระบวนการปรองดอง

เวลานี้มีการเข้าใจผิดว่าสิ่งที่คิดเป็นข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า ความจริงแล้วเป็นแค่การรวบรวมข้อเสนอของคนที่สถาบันพระปกเกล้าไปสัมภาษณ์มา ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ถูก คตส. เล่นงานก็ต้องอยากล้มคดีของ คตส.

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังเขียนบันทึกตอบโต้รายงานของสถาบันพระปกเกล้าว่าเหมือนการทำ ลายหัวใจที่เป็นต้นทางในการร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ โดยอ้างรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงมีต้นเหตุเพราะการแทรกแซงตุลาการจนเกิดการละเมิดหลักนิติธรรมในคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อปี 2544 รวมทั้งปัญหาการฆ่าตัดตอนซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2,500 ศพ จากนโยบายสงครามกับยาเสพติด และอาจเข้าข่ายการเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แม้แต่ พ.ต.ท.ทัก ษิณยังเคยยอมรับข้อผิดพลาดดังกล่าว รวมถึงปัญหาเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เช่น กรณีกรือเซะ ตากใบ แต่รัฐบาลมิได้พยายามแก้ไขหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งงานวิจัยกลับไม่เอ่ยถึงเลย จึงอาจทำให้เกิดการตั้งโจทย์ผิดจนนำไปสู่การหาคำตอบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาได้

สนธิยันต้องเคารพผลวิจัย
ข้อโต้แย้งของนายอภิสิทธิ์กลับไม่พูดถึงกรณีพันธมิตรฯที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยอ้างสถาบันจนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงกระ บวนการตุลาการภิวัฒน์ที่นำไปสู่การยุบพรรคการ เมืองต่างๆจนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล และนำมาสู่เหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า โดยไม่ได้เน้นที่ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯพยายามใช้ปลุกระดมให้กลุ่มที่เกลียดทักษิณออกมาต่อต้าน

รายงานจึงระบุชัดเจนว่ามุ่งตอบคำถามว่า อะไรคือปัจจัยหรือกระบวนการสร้างความปรองดองที่ทำให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ?” โดยเฉพาะการศึกษาประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองจากประเทศต่างๆที่คัดเลือกมา 30 กรณีศึกษาในหลายทวีปที่มีปัญหาแตกต่างกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย (เฉพาะกรณีอาเจะห์) เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ รวันดา โมร็อกโก โคลอมเบีย ชิลี โบลิเวีย สหราชอาณาจักร (เฉพาะกรณีไอร์แลนด์เหนือ) และเยอรมนี รวมทั้งประมวลวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นความขัดแย้งถึง 47 คน อาทิ นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น

นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งนำคณะผู้วิจัยมาแถลงข่าว ยืนยันว่า ไม่อึดอัดกับเสียงวิจารณ์ เพราะทำโดยไร้การแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือเป็นเครื่องมือของใคร ซึ่งข้อเสนอไม่ใช่ยาสูตรสำเร็จของการปรองดอง แต่เป็นข้อเสนอแนะที่มีเหตุผล และคงไม่มีการทบทวน ซึ่งตรงกับความเห็นของ พล.อ.สนธิที่ให้เคารพผลการศึกษารายงานทางวิชาการและต้องรับฟัง ส่วนใครที่เห็นเป็นอย่างอื่น สถาบันพระปกเกล้าจะเห็นเป็นอย่างไรก็สุดแล้วแต่ ทั้งฝ่ายค้านก็อยู่ในการประชุมกรรมาธิการทุกครั้ง ซึ่งความเห็นต่างมีแน่นอน แต่ต้องนำปัญหาหรือความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นมาร่วมพูดคุยกันถึงจะเดินไปได้
พระปกเกล้าไม่ทบทวน

อย่างไรก็ตาม นายวุฒิสารยอมรับว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2548 ที่บางคนมองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาที่มีอิทธิพลเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและการตรวจสอบคอร์รัปชัน แต่อีกกลุ่มมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่เป็นกลุ่มนอกระบอบประชา ธิปไตย หรืออำมาตย์ หรือเผด็จการทหาร ทำให้มีการใช้สถาบันตุลาการมาทำลายความเป็นธรรมในสังคมอย่าง คตส. ผลการศึกษาวิจัยจึงเห็นว่าสังคมยังมีปัญหาความขัดแย้งสูง ไม่มีบรรยากาศการปรองดอง เพราะแต่ละฝ่ายต้องการชนะ ดังนั้น ข้อเสนอที่นำไปสู่ความสำเร็จในการปรองดองรัฐบาลต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงใจ เพื่อลดความหวาดระแวงต่อความเชื่อมั่นในระบบต่างๆ พร้อมกับการให้อภัยที่เสนอให้มีการนิรโทษกรรม

ข้อเสนอของสถาบันจึงเสนอให้อภัยและออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมืองที่เกิดจากผู้ชุมนุมทางการเมืองและคดีอาญาจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือไม่นิรโทษกรรมในคดีอาญาที่เกิดจากแรงจูงใจทั้งหมด ดังนั้น คอป. ต้องนิยามต่อไปว่าอะไรคือแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมนั้นผู้ทรงคุณวุฒิเห็นตรงกันว่าควรเว้นคดีเกี่ยวกับความผิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้ดำเนินการตามปรกติ

นายวุฒิสารกล่าวและสรุปข้อเสนอผลวิจัยที่มีทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่า รัฐบาลต้องดำเนินการ ค้นหาความจริงควบคู่ไปกับการนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ และเพื่อให้ประชาชนร่วมกันสร้างบรรยากาศ ความปรองดองให้สำเร็จโดยเร็ว ซึ่งจากการศึกษาแนว ทางปรองดองจากต่างประเทศรวบรวมได้ 7 ข้อคือ

1.รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าต้องการสร้างความปรองดอง ซึ่งจะทำให้เห็นถึงเจตนารมณ์
2.ต้องสร้างให้สังคมตระหนักว่าเวลานี้เราต้องการสร้างความปรองดอง
3.รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อบุคคลที่สูญเสียในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการเยียวยาต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรมทั้งสังคมและความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องของตัวเงินอย่างเดียว
4.ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางสังคมที่อยู่ภายนอกจำเป็นต้องยุติความเคลื่อนไหวที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีหลักนิติรัฐ เช่น การชุมนุมขับเคลื่อนด้วยวิธีการกดดันโดยใช้เสียงข้างมากที่ผิดกฎหมาย
5.ควรหยุดการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสังคม เช่น เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่เปราะบาง
6.สื่อควรทำหน้าที่และบทบาทอย่างเป็นกลาง ไม่ควรเป็นตัวเร่งให้สังคมเกิดความขัดแย้ง เพราะขณะนี้มีสื่อจัดตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทำให้สังคมมองว่าสื่อเลือกข้างไปแล้ว
7.สังคมต้องเลิกเอาผิดรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะ จะเป็นการรื้อฟื้นทำให้เกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

กระแส ทักษิณกลับบ้าน
ที่สำคัญกระแสการเมืองขณะนี้ได้กลับมารวมศูนย์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณอีกครั้ง ไม่ใช่เป็นเพราะนายธีรยุทธ บุญมี เสื้อกั๊กขาประจำ หายป่วยกลับมาวิพากษ์การเมืองอีกครั้งหลังจากที่ไม่เคยออกมาวิพากษ์การเมือง ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยวิจารณ์ว่าหลังปี 2500 มีนักการเมืองไทยที่มีบารมีเพียง 3 คนคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และวิกฤตการเมืองที่ยังแตก แยกอย่างรุนแรงเพราะความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สินและอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณเองไม่ได้เชื่อมั่นในการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้า แต่เป็นผู้นำการตลาดที่ทำให้รากหญ้าเป็นลูกค้าประจำได้เท่านั้น แม้แต่นโยบายประชานิยมก็จะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต รวมทั้ง พ.ต.ท. ทักษิณจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้ง จึงร้องขอในฐานะเพื่อนเก่าขาประจำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมารับโทษและสู้คดี

แต่ที่น่าสนใจคือนายขวัญชัย ไพรพนา ประ ธานชมรมคนรักภาคอีสาน 20 จังหวัด พร้อมคณะกรรมการบริหาร ได้ออกมาแถลงข่าว คนเสื้อแดง 20 จังหวัดนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยโดยกล่าวว่า เคยบอกว่าจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยทางฝั่งลาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี

นี้ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางมาที่ลาว และมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ตอบโต้ว่าขวัญชัยไม่รู้กฎหมาย พูดจาเลอะเทอะจึงต้องเชิญแกนนำเสื้อแดง 20 จังหวัดในภาคอีสานในนามของ ชมรมคนรักภาคอีสานมาประชุมทำความเข้าใจและไปพูดคุยกับสมาชิกคนเสื้อแดงในแต่ละจังหวัดของภาคอีสาน เพื่อนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศไทยให้เร็วที่สุด เพราะพวกเราคนเสื้อแดงในภาคอีสานไม่สามารถรอต่อไปได้อีกแล้ว โดย พ.ต.ท. ทักษิณจะเดินทางผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมาอย่างวีรบุรุษ เพื่อให้ความขัดแย้งในบ้านเมืองจบ และประชาชนไม่ต้องเผชิญหน้ากันอีก

ขอบอกให้ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณถ้าอยากกลับ มาบ้านที่ประเทศไทยก็ขอให้กลับมาเลย ไม่ต้องไปอยู่ ต่างประเทศอีกต่อไป ขอบอกว่าประชาชนคนเสื้อแดงภาคอีสาน 20 จังหวัด ซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านคน จะรอรับ พ.ต.ท.ทักษิณกลับเข้ามาในประเทศไทย แล้ว ไปยื่นหนังสือทูลเกล้าฯเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษคดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติรัฐประหาร

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณคงพิจารณาหาข้อสรุปได้ด้วยตัวเองว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร และพร้อมเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อไร ส่วนท่าทีของนายขวัญชัยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการแสดงออกอย่างคนที่รักและห่วงใย พ.ต.ท.ทักษิณที่ย้ำมาโดยตลอด แต่ พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่กลับในช่วงเดือนเมษายนอย่างที่นายขวัญชัยพูด

ทักษิณศูนย์กลางจักรวาล
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าศูนย์กลางการเมืองของไทยตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันก็ยังวนเวียนอยู่ที่คนคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะอยู่ในฐานะอะไรก็ยังมีบทบาทต่อการเมืองไทย และเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งตลอดมา
แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณก็ถูกมองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเงาที่เป็นผู้มีอำนาจตัวจริงคอยคุมเกมการเมืองทั้งในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยต้องพยายามเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณที่ต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องการกุมอำนาจและเกมการเมืองช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปในตัว เพื่อไม่ให้เกิด ความผิดพลาดเหมือนครั้งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และปัญหา งูเห่าอย่างกรณีนายเนวิน ชิดชอบ

และที่สำคัญต้องยอมรับว่าวันนี้ยังไม่มีคู่แข่งทางการเมืองที่มีบารมีและความสามารถเทียบเท่า พ.ต.ท.ทักษิณ ฝ่ายตรงข้ามจึงกลัวการกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณ และไม่เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะวางมือทางการเมืองจริง เพราะวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังทำงานเบื้องหลังช่วยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะด้านต่างประเทศที่เดินทางเยือนผู้นำการ เมืองและนักธุรกิจประเทศต่างๆก่อนหรือหลังการเยือนอย่างเป็นทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่ว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ

อย่างที่นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประ จำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณมาจากอำนาจในระบบและทำในสิ่งที่นายกฯคนอื่นไม่เคยทำจำนวนมาก เสียงข้างมากในสภาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว กล้าทุบโต๊ะข้าราชการประจำต้องทำตาม ซึ่งในอดีตไม่เคยมีมาก่อน จึงไม่แปลกที่มีคนกล่าวถึงมาก แม้หลังรัฐประหารก็พุ่งเป้าไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ทุกวันนี้อะไร ก็เป็น พ.ต.ท.ทักษิณไปหมด เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯก็อดไม่ได้ที่ทุกคนต้องกล่าวถึง เพียงแต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รักษาสถานภาพตรงนั้นไว้ ถ้าตัดเรื่องรอบตัว เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน หรือผลประ โยชน์ทับซ้อนได้จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศมาก
พ.ต.ท.ทักษิณจึงเป็นศูนย์กลางการเมืองและศูนย์กลางของความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ฝ่ายตรงข้ามนำมาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม ตัว พ.ต.ท.ทักษิณเองก็เป็นจุดอ่อนที่สร้างศัตรูทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับประเทศจึงไม่ง่าย แม้วันนี้จะมีการเกี๊ยะเซียะกับผู้มีอำนาจหลักหลายกลุ่มแล้วก็ตาม

จึงไม่แปลกที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะบอกว่าข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าในการสร้างความปรองดองไม่มีวันสำเร็จ ไม่ว่าจะตั้งกรรมาธิการให้มีการวิจัย หรือหาเหตุผลต่างๆ ก็ไม่มีใครจะเคารพ ต่อให้ประชุมกันอีก 50 กรรมาธิการ สรุปสุดท้ายก็ไม่มีใครฟังใคร เพราะต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แม้แต่ครั้ง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เดินสายพบคนนั้นคนนี้เพื่อชวนให้ปรองดองก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ประชาธิป ไตยต้องใช้กฎหมายเป็นหลักเท่านั้น

ที่สำคัญการปฏิวัติรัฐประหารยังเป็น วงจรอุบาทว์ที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก และการ รัฐประหารก็ไม่จำเป็นต้องลากรถถังออกมาเหมือนในอดีต เพราะใช้แค่กระบวนการตุลาการภิวัฒน์จากมือที่มองเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง หรือยืมมือวิเศษขององค์กรอิสระที่มีที่มาด้วยวิธีพิ เศษ สารพิษที่ตก ค้างมาจากการรัฐ ประหารหลงยุค 19 กันยายน 2549 ก็สามารถล้มรัฐ บาลได้แล้ว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 352 วันที่ 24 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น