Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

"ธงชัย" ไขปริศนา "6 ตุลา" มาจากไหน กับ ข้อเสนอ "วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ชนิดใหม่" ในอาเซียน

ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์


ชมคลิปประกอบตอนท้าย

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา และสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เดินทางมาปาฐกถาหัวข้อ "ประวัติศาสตร์อันตราย" ในอุษาคเนย์ ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในงานประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ในสมัยที่เราเป็นเด็ก จะรู้สึกว่า "ประวัติศาสตร์" เป็นวิชาที่น่าเบื่อ เรียนเพื่อทำข้อสอบให้ผ่านไป แต่ครั้นพอโตขึ้นมา เวลามีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องประวัติศาสตร์ จะเป็นจะตายกันให้ได้ ทุกคนสามารถจะเข้าร่วมโกรธแค้นและเจ็บปวดได้ ใช่ไหมครับ

เราจะเสียดินแดนเมื่อไหร่ กี่ครั้ง เกิดอะไรขึ้นในกรณีความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหาร ทุกคนเป็นผู้รู้ดีไปหมดเลย ตอนเรียนหนังสือ เราแทบจะ.. ถ้าใครชอบประวัติศาสตร์ คนนั้น เป็นคนประหลาด ภูมิใจมากที่ได้สอบให้พ้นๆ ไป แต่พอเรียนจบออกมาแล้ว มีความขัดแย้งในบ้านเมือง มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องความรู้ทางประวัติศาสตร์ เราอ้างด้วยความภาคภูมิใจว่า มันต้องเป็นอย่างนั้น และมันต้องเป็นอย่างนี้ หรือเวลาเกิดความขัดแย้งในประเทศของเราเอง คนที่เสนอความคิดเห็น หรือตีความประวัติศาสตร์ แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยเราสามารถจะเป็นเดือดเป็นแค้น อินกับมันมาก ราวกับ เราเป็นผู้รู้ดี ทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง

พูดง่ายๆ ว่า ประวัติศาสตร์ เป็น "ความรู้" ที่ไม่ต้องรู้เรื่อง ก็สามารถอวดรู้ได้ เป็นความรู้ที่ไม่ต้องรู้ดีอะไร ก็อวดรู้ได้ เป็นความรู้ที่ democratized (เป็นประชาธิปไตย) มาก ใครๆ ก็อวดรู้ได้ อันนี้เป็นข้อดี ใครๆ ก็สามารถบอกว่าตัวเองรู้ประวัติศาสตร์ ไม่จำกัด ไม่ต้องมี ดีกรี ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น เป็นความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึง แล้วสามารถจะอินเป็นเดือดเป็นแค้น หรือมีความภาคภูมิใจได้ โดยที่ไม่ต้องรู้อะไรเลย

เพราะเอาเข้าจริง ประวัติศาสตร์ แบบที่เราพูดถึงกัน ไม่ใช่เรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของความเชื่อ อุดมการณ์ ที่ไม่เกี่ยวกับความรู้ เป็นเรื่องของความสามารถที่จะเข้าใจสปิริต ความสามารถที่จะเข้าใจ ลักษณะวิญญาณแบบนั้น กว้างๆ เพื่อนำมาเข้าใจอัตลักษณ์ของเราเอง
 
โดยปกติ ความรู้นี้ ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ มีคนเอามันไปจากเรา เราก็จะบอกว่าทนไม่ได้ เมื่อไหร่ที่มีคนแย้งขึ้นมา ท้าทายขึ้นมา เราจะรู้สึกว่าถูกท้าทาย ถูกลบหลู่ รู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้น นี่คือประวัติศาสตร์ ชนิดที่เป็น "ความเชื่อ" ถูกท้าทาย ถูกสั่นคลอนไม่ได้ เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของความเป็นตัวเรา

บ่อยครั้ง เราเรียกสิ่งนี้ว่า เป็นความรู้ประวัติศาสตร์ เหมือนๆ กับที่เราเรียกว่า แขนงวิชาที่เราเรียนรู้เพื่อรู้จักคิดรู้จักวิเคราะห์ ว่าก็เป็นความรู้ประวัติศาสตร์เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริง 2 อย่างนี้เป็นประวัติศาสตร์ คนละชนิด ผมคงไม่สามารถบอกว่า เป็นความรู้แตกต่างกันขนาดไหน ต่างกันในทางคุณภาพ หรือต่างกันในทางดีกรี ต่างกัน 2 ขั้วในสเปกตรัมเดียวกัน หรือต่างคนละเรื่องคนละราว คนละโลกคนละภาษากันเลย

เราเรียกความรู้ทั้ง 2 อย่างว่าประวัติศาสตร์เหมือนกัน อย่างหนึ่งคือความเชื่อ ที่ประกอบเป็นตัวเราอัตลักษณ์ของเรา อีกอย่างคือ ความสามารถในการคิดและวิเคราะห์ และบ่อยครั้งที่ผมแยก 2 อย่างนี้ไม่ออกว่าต่างกันแค่ไหน ก็เพราะบ่อยครั้ง 2 อย่างนี้ มันปะปนกัน


อย่างที่ 1) เป็นความเชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ แล้วเราก็เน้นว่า เป็นส่วนที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เป็นตัวของตัวเอง เน้นข้อนี้มาก เห็นด้านที่เป็นคุณมาก แต่เราลืมด้านที่เป็นอันตรายของประวัติศาสตร์ชนิดนี้ ก็คือว่า ถ้าหากเมื่อไหร่ เราถูกกระทบ ถูกท้าทาย เราจะรู้สึกเดือดร้อน เป็นเดือดเป็นแค้น เพราะเราขาดมันไม่ได้เหมือนกัน

อย่างที่ 2) เป็นเครื่องมือทางปัญญา เป็นเครื่องมือในการคิดและวิเคราะห์ และผมอยากจะเรียนว่า ยิ่งยึดเอาประวัติศาสตร์ชนิดที่เป็นเครื่องมือทางปัญญา ในการคิดวิเคราะห์ มากขึ้นเท่าไหร่ จะเกิดปรากฎการณ์คือเป็นคนที่เชื่ออะไร ยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆแตกต่างกัน อย่างแรก"ประวัติศาสตร์" ในฐานะที่เป็นความเชื่อ และอัตลักษณ์ของเรา เป็นอุดมการณ์ทางสังคม ทางการเมือง และอีกอย่าง เป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ และเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรา sceptic (เป็นคนช่างสงสัย)

ทั้ง 2 อย่างนี้ ไม่เหมือนกันเลย แต่ความต่างในระนาบไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องลองคิดกันดู ประวัติศาสตร์ที่เป็นความเชื่อที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของเรา ถ้าเราเปรียบเทียบของแต่ละคน มันคือเรื่องราวที่บอกเล่าชีวิตของสังคม บอกเล่าชีวิตของชนชาติเรา ไม่ใช่ด้วยรายละเอียดเหตุการณ์หนึ่งๆ แต่ด้วยโครงเรื่อง เช่น เรารู้ว่า ยังไงๆ เราก็ไม่รู้ประวัติศาสตร์ไทยเท่าไหร่ แต่เรารู้แน่ๆ ว่าสังคมไทยเนี่ย เวลาเกิดปัญหา สุดท้ายจะมีวีรบุรุษ วีรสตรี ขึ้นมากอบกู้ แล้วทำให้เราสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

 แต่จะจริงหรือเปล่า ก็ไม่รู้ จะจริงในเหตุการณ์ไหนบ้างก็ไม่รู้ หรือจะเคยจริงหรือเปล่า ก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าโครงเรื่องประวัติศาสตร์เป็นแบบนั้น ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ ไม่ได้อยู่ด้วยรายละเอียดของเหตุการณ์หนึ่งๆ แต่อยู่ด้วยโครงเรื่อง อยู่ด้วยสาระที่เล่าซ้ำๆ กัน


เพราะฉะนั้น จึงมีชาวบ้านบางระจัน ทั้งที่บางระจัน อยู่จังหวัดไหน เกิดปีไหน เราอาจจะจำไม่ได้ เกิดตอนเสียกรุงครั้งที่ 1 ครั้งที่2 อาจจะจำไม่ได้ เรารู้ว่า ชาวบ้านบางระจัน ก็แล้วกัน เพราะเรารู้ว่ามันมีโครง ประวัติชาวบ้านบางระจัน สอดคล้องกับโครงเรื่องหลักๆ อันนั้น เป็นพอ เราไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียด เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา รายละเอียดเป็นไงไม่รู้ละ เราเรียก 16 ตุลา ก็ได้ เพราะสุดท้าย 2 อย่าง สามารถจะแมทช์กันได้


ในโครงเรื่องแบบนี้ รายละเอียดของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จำนวนมาก พูดขึ้นมา นักประวัติศาสตร์ ก็จะหงุดหงิด เอ๊ะ! ทำไม จำปะปนกันไปหมด ก็เพราะ เอาเข้าจริง ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ ข้อสำคัญ ไม่ได้อยู่ตรงรายละเอียด รายละเอียดเป็นเพียงการตอกย้ำโครงเรื่องที่เหมือนๆ กัน ให้เรามีความมั่นใจว่า รายละเอียดเหล่านั้น หรือประวัติศาสตร์ในอดีตเหล่านั้น เป็นไปอย่างที่เรารู้ เป็นไปอย่างที่เราเชื่อว่ามันเป็น ตอกย้ำความเชื่อที่เป็นมาตรฐานจำนวนหนึ่ง


ในแง่นี้ ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้รายละเอียด ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างวิพากษ์วิจารณ์ ขอให้เราสามารถจับสาระที่เป็นจิตวิญญาณ สปิริต ของสังคมแห่งชาตินั้นได้ ไม่ต้องรู้รายละเอียด ไม่ต้องรู้ใจความสำคัญก็ได้ ขอให้เรามั่นใจว่า เรื่องเหล่านั้น ตอกย้ำ โครงเรื่องซ้ำๆ ซากๆ ที่เป็นสปิริต หรือวิญญาณสังคมนั้นๆ ก็พอส่วนประวัติศาสตร์ ที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์นั้น จะทำให้เรา ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จะทำให้เราไม่เชื่ออะไรเลย


ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อนร่วมวิชาชีพสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทย จะมีนักประวัติศาสตร์ชนิดที่สังกัดประวัติศาสตร์ชนิดแรก จำนวนไม่น้อย อาจจะเกินครึ่ง ของภาควิชาประวัติศาสตร์ที่หนึ่งๆ ส่วนเพื่อนร่วมวิชาชีพ ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน จะมีแนวคิดซ้าย ขวา หน้า หลัง จะคอนเซอร์เวทีฟ หรือลิเบอรัล ก็เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ เป็น sceptic (ช่างสงสัยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ)เกือบทั้งนั้นเลย ผมได้ตั้งข้อสังเกตเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทำให้ตั้งคำถาม หรือว่า เขาทั้ง 2 ฝ่าย สมาทาน หรือ ศึกษาประวัติศาสตร์ คนละชนิดกัน ไม่ใช่แต่เพียงประวัติศาสตร์ไทย อเมริกา หรือยุโรป แต่หมายความว่า ศึกษา หรือสนใจประวัติศาสตร์ ในแง่ที่เป็นความรู้ คนละอย่าง คนละชนิดกัน

มีนักเขียนคนหนึ่งชาวฝรั่งเศส เขียนบทความ ที่เป็นบทความคลาสสิคของเขา เมื่อปี 1982 ชื่อ "What is the Nation?" เขาเขียนไว้ว่า มีของ 2 สิ่ง ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นหลักการ หรือเป็นสปิริตของชาติหนึ่งๆ อันหนึ่งคือ การเป็นเจ้าของมรดกอันร่ำรวย หรือมีความทรงจำ อันร่ำรวยเกี่ยวกับสังคมนั้น และอันที่ 2 คือ ความเห็นร่วมกัน ในระยะปัจจุบัน ข้อแรก สิ่งที่ประกอบเป็นชาติที่สำคัญ คือ มีมรดกร่วมกันอันร่ำรวย มีความทรงจำอันร่ำรวยเกี่ยวกับชาติหนึ่งๆ แต่ท้ายบทความบอกว่า การลืม เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก สำหรับการก่อร่างสร้างชาติขึ้นมา การหลงลืม เป็นความจำเป็น ก็เพราะว่ายิ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ เดินหน้าไป คืบหน้าไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นอันตราย ต่อหลักวิญญาณหรือสปิริต ของชนชาตินั้น


ประวัติศาสตร์ เป็นส่วนประกอบของชนชาติหนึ่ง และในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์เป็นอันตราย ผมเห็นว่า เป็นเพราะบทความกำลังพูดถึงประวัติศาสตร์ คนละชนิด กำลังพูดถึงอย่างแรกคือ ประวัติศาสตร์ ความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ ขณะเดียวกัน พูดถึงอันที่ 2 ประวัติศาสตร์ ที่เป็นการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์


ประวัติศาสตร์ชนิดที่เป็นความเชื่อหรืออัตลักษณ์ เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าชีวิตของสังคมหนึ่งเหมือนบอกเล่าชีวิตแต่ละคน โดยปกติ เรื่องราวทำนองนี้ เป็นชีวประวัติ ของสังคมหรือของชาติหนึ่ง มีสาระสำคัญ 2-3 อย่าง ในบรรดาความรู้ประวัติศาสตร์สารพัดเรื่อง


1. บอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่ ถือเอาตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ


2. บอกเล่าเรื่องราว การถูกรังแก ความเจ็บปวด แล้วก็เอาตัวรอดมาได้



3. ปกปิดเรื่องราวเลวๆ อัปยศ ที่ตัวเองเคยทำไว้กับคนอื่นเอาไว้


ประวัติศาสตร์แบบนี้มีอยู่3 อย่างเท่านั้น ตัวอย่างเช่น แทบทุกประเทศในอาเซียน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว แต่ขอยกตัวอย่างไทย


1. บอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ขยายอำนาจเมื่อไหร่ เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่เมื่อไหร่ ซึ่งเอาเข้าจริง การขยายอำนาจเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่นั้น หมายถึงการทำให้คนอื่นเจ็บปวด การไปตีเอาปัตตานี มาเป็นของสยาม คือความยิ่งใหญ่ที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก แต่เราลืมไปว่า นี่คือความเจ็บปวดของคนปัตตานี


2. ประวัติศาสตร์ของคนถูกรังแก อันนี้เคยมีคนให้นิยามคำนี้ว่า เรื่องราวของการถูกกระทำย่ำยี อับอาย จากผู้อื่น ประวัติศาสตร์ในประเทศหนึ่งๆ ก็จำเป็นต้องมีเรื่องราวทำนองนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน ไม่ว่าประวัติศาสตร์การเสียดินแดน จะจริงหรือไม่จริงสักเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นมายาคดิ 100% เลย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่ประกอบเป็นอัตลักษณ์ของเรา คือต้องให้เรารู้ ว่าเราถูกรังแก เจ็บปวด เสียดินแดนมาแล้วกี่ครั้ง

ส่วนประวัติศาสตร์ ที่ต้องปกปิด เรื่องอัปยศของตัวเอง ก็รู้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง 6 ตุลา หรืออะไรก็แล้วแต่ เราไม่สามารถจะพูดได้ ถ้าพูดขึ้นมา ก็ขายขี้หน้าทุกฝ่าย และขายขี้หน้ากันอย่างมโหฬาร รื้อกันขนานใหญ่ว่าอะไรคือศีลธรรม อะไรคือหลักจริยธรรมของสังคมเราเอง


ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มอาเซียน เรามีประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ชนิด ยกตัวอย่าง ประวัติศาสตร์เสียดินแดน เขมรเขาก็บอกว่าเขาเสียดินแดน ลาวก็บอกเขาเสียดินแดน ทุกคนบอกว่าตัวเองเสียดินแดนเสียจนผมก็ไม่รู้ว่า หลักฟิสิกส์ ที่บอกว่า อะไรที่เสียไป มันต้องไปอยู่อีกที่ แต่ดินแดนเสียไปไม่มีประเทศไหนได้สักที่ ทุกคนบอกตัวเองเสียหมด ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็เน้นการถูกรังแกมาก


เช่น การบอกว่าตัวเองตกอยู่ภายใต้อาณานิคม ขณะเดียวกันประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็มีประวัติศาสตร์ที่เน้นความยิ่งใหญ่ของตัวเองอยู่ด้วยกัน เหมือนๆ กัน ทั้งๆ ที่ความยิ่งใหญ่ตัวเอง ได้มาด้วยความเจ็บปวดคนอื่น หรือเอาเข้าจริง ยิ่งใหญ่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ตัวอย่างที่ชัดๆ ก็คือว่า คุณไปดูอนุสาวรีย์ประเทศต่างๆ จะเน้นเฉพาะอาณาจักรตัวเอง ยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เช่น พม่า มีอนุสาวรีย์กษัตริย์ 3 ยุค แต่ไม่ทำอนุสาวรีย์ของกษัตริย์ยุคตกต่ำ ลาวก็มี 3 ยุค และอีกยุคไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ แต่บันทึกความเจ็บปวดของประเทศตัวเอง เขมรก็มี แล้วเวลาเขาเล่าเรื่องเสียดินแดน เขาเล่าจากยุคอังกอร์ กระทั่งต่อมาถูกไทยตีแตก ทำให้เขมรเสียมวลชนแล้วหนีลงไปเรื่อยๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีประวัติศาสตร์ เน้นความยื่งใหญ่ของตัวเอง และเน้นความเจ็บปวดไม่ต่างกัน


แล้วค่อนข้างแน่ ถ้าเราเอาประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาเรียงกัน เราก็จะเจอประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นปะทะกัน ขัดแย้งกัน และทางที่ดีคือ ต่างคนต่างอยู่ ขณะที่อาเซียน เราเน้นว่า เราต้องมีอะไรหลายอย่างร่วมกัน แต่ผมคิดว่ามีบางส่วนที่สำคัญพอๆ กับอธิปไตยเหนือดินแดน คืออธิปไตยของประวัติศาสตร์

 ฉะนั้น ก็คือว่า ต่างคนต่างอยู่ เพราะถ้าขืนเอาประวัติศาสตร์มาแชร์กัน เอามาพยายามให้ลงรอยกัน มีหวังได้ทะเลาะกัน นี่เป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่อยู่ในอันดับต้นๆ รองจากอธิปไตยเหนือดินแดน ที่เราจะยอมสูญเสียไม่ได้ แม้แต่ตารางนิ้วเดียว


ไทยกับพม่าเคยทะเลาะกัน3-4 ปีก่อน ก็เพราะเรื่องนี้ ไทยเขมรทะเลาะเรื่องเขาพระวิหารและอีกหลายเรื่อง เขมรกับเวียดนามก็ทะเลาะกัน เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องประวัติศาสตร์ไม่มีใครถอยให้กับใครแม้แต่ก้าวเดียว ในประเทศต่างๆ ก็มีประวัติศาสตร์ ที่ตัวเองต้องปกปิดความอัปยศของตัวเองเอาไว้ หรือปกปิดเรื่องราวที่น่าเกลียด เพราะถ้าหาก รื้อฟื้นขึ้นมา จะกลายเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดและยังเน่าเฟะ เป็นสะเก็ดที่ยังสดอยู่ เช่น ในอินโดนีเซีย 1965 มาเลเซีย 1969ในเวียดนาม เช่น การปราบปรามชนกลุ่มน้อยทางด้านศาสนา ชนกลุ่มน้อยในด้านชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนไทย ก็มีเรื่องเดือนตุลาทั้งหลาย กำลังจะเพิ่มพฤษภาอีก 2 รายการ


ประวัติศาสตร์พันธุ์นี้อันตราย ก็เพราะอยู่บนความเชื่อ มีความแข็งแกร่งพอจะทนทาน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ แต่จะถูกท้าทายจากการวิพากษ์แบบประวัติศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์ตลอดเวลา ขณะที่เรามักคิดว่า ประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์วิจารณ์อันนั้นต่างหาก ที่เป็นอันตราย

 แต่ลองคิดกลับกัน เพราะประวัติศาสตร์แบบแรกต่างหากที่เป็นอันตรายเหมือนกันและอาจจะเป็นอันตรายยิ่งกว่า คือ จะดำรงอยู่ได้ ต่อเมื่อต้องให้คนในชาตินั้นๆ มีความเชื่อทำนองหนึ่งไปเรื่อยๆ เมื่อถูกสั่นคลอนด้วยเหตุผล หลักฐานต่างๆ เช่น จารึกหลักหนึ่งจริงหรือไม่ หรืออีกหลายๆ เรื่อง ประวัติศาสตร์แบบแรกจะเกิดภาวะไม่แน่นอน จะเกิดความสั่นคลอนในอัตลักษณ์ของตัวเองทันที เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ ก็เหมือนความเชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลาย อีกหลายเรื่องในแต่ละสังคมคือว่า ดูเหมือนจะไม่เป็นอันตรายและถูกท้าทายจากความรู้อื่นๆ ที่มาท้าทาย หรือใช้เหตุผล

 แต่เอาเข้าจริง ความเชื่อเหล่านั้น ที่ดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง นั่นเป็นอันตรายชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีความเชื่ออันไหน ยืนยงได้อย่างถาวรอย่างที่อาจารย์สุรินทร์ (พิศสุวรรณ) ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้น หรือที่อาจารย์เจตนา(นาควัชระ) บอกว่า เราน่าจะมีวุฒิภาวะพอ ในการเผชิญกับความจริงได้ ถ้าหากประวัติศาสตร์ที่เราเชื่ออยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องชัดเจน แต่ขอให้มันตอกย้ำตามโครงเรื่องที่เราเชื่อกันอยู่ไปเรื่อยๆ ถูกท้าทายขึ้นมา


เอาเข้าจริงประวัติศาสตร์ที่เป็นอัตลักษณ์ต่างหากที่เป็นอันตราย เพราะจะหนีไม่พ้นการถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา และจะถูกเรียกร้องให้ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะมันปรับตัวยาก จึงเกิดอันตรายขึ้นมา ประวัติศาสตร์ ทั้ง 2 อย่างนี้ ทดแทนกันไม่ได้ หมายความว่า ประวัติศาสตร์ทั้ง 2 อย่างนี้ดำรงอยู่ร่วมกันทุกสังคม แม้แต่สังคมตะวันตก แต่ประวัติศาสตร์แต่ละอย่างจะอยู่ร่วมกันอย่างไร นี่คือปัญหา จะมีเขตอิทธิพล จะมีผลต่อการคิดของเรา มากหรือน้อยแค่ไหน เมื่อไหร่ที่ประวัติศาสตร์แบบไหนถูกนำมาใช้ นี่ต่างหากที่ทำให้สังคมต่างๆ แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในวงการศึกษา การศึกษาประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยการตอกย้ำความเชื่ออัตลักษณ์ ก็จะเน้นประวัติศาสตร์ ที่ไม่ให้ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ แต่เน้นประวัติศาสตร์ที่ให้ท่องจำ



แต่ถ้าหากเราต้องการเน้นประวัติศาสตร์ที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ผลจะออกมาอีกอย่างหนึ่ง นี่พูดอย่างง่ายๆ ทั้ง 2 อย่างจะผลิตประชากรของสังคมออกมา ให้มีความรู้ประวัติศาสตร์ มีความสามารถในการคิด หรือเชื่อมั่นในอัตลักษณ์ของตัวเอง มีความเชื่ออัตลักษณ์ตัวเองแตกต่างกัน ทีนี้มาถึงข้อที่ว่า ประเทศในอาเซียน เรามีประวัติศาสตร์แบบที่เป็นความเชื่ออัตลักษณ์ค่อนข้างมาก ข่าวดีคือ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ข่าวร้ายคือ ประวัติศาสตร์ แบบแรกนี่ต่างหากที่เป็นอันตราย



ผมถึงได้กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ เป็นปริมณฑลหนึ่ง ที่เราจะไม่ยอมเสียให้ใครง่ายๆ ต่างคนต่างจะดีเฟนด์ของตัวเองไว้ แล้ววันนี้ ดร.สุรินทร์ ได้พูดแต่ต้นว่า อาเซียน เราต้องเน้นการเรียนรู้ เน้นการอยู่ร่วมกัน อาจารย์เจตนา ชี้ให้เห็นด้านที่เราสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ผมไม่ได้ต้องการมาปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น แต่ตั้งใจจะบอกให้เห็นข้อจำกัด ยกตัวอย่างเช่น ข้อจำกัดเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งเราปิดประตู ตั้งด่านทันที ยากมากที่เราจะยอมให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียว ประเทศในอาเซียนก็เหมือนกันหมด



ดังนั้น เราจำเป็นต้องเก็บประวัติศาสตร์ไว้เป็นอย่างหลังๆ ในบรรดาอาชีพ ที่อนุญาตให้ข้ามไปข้ามมาในอาเซียนได้ หรือจะยกประวัติศาสตร์เป็นอย่างแรกที่ให้ข้ามไปข้ามมาได้ อันนี้แล้วแต่เราจะคิด แต่ตั้งใจจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่แต่ภาษาดอกไม้ ภาษาสวยหรูเท่านั้น ที่เราจะเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้



ขณะเดียวกัน กรุณาตระหนักถึงขีดจำกัด กรุณาตระหนักว่าอะไรคือลิมิต ที่พูดอย่างนี้ เพราะต้องการชี้ว่าเราต้องข้ามพ้นขีดจำกัดเหล่านี้ให้ได้ ไม่งั้น ประชาคมอาเซียน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เท่ากับว่า ทำให้ทุกประเทศ มีประวัติศาสตร์เหมือนกัน หรือลืมประวัติศาสตร์ตัวเอง



ผมคิดว่าการรวมตัวของอาเซียนจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อต้องจัดการกับปัญหาประวัติศาสตร์เหล่านี้ เราอาจกล่าวว่า ยุโรป ก็มีปัญหาเยอะแยะ เขายังรวมอยู่ได้ เพราะอะไร ประเด็นคือว่า เขาได้ก้าวข้ามวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ ที่ถือเอาประวัติศาสตร์เป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างแน่นหนาอย่างยึดมั่น ไปสู่การที่ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือ ความรู้ความเข้าใจปัจจุบัน อย่างวิพากษ์วิจารณ์



ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษไปทำเนียบขาว ขณะก่อนจะเริ่มแถลง ในการพบประธานาธิบดีโอบามา นายกรัฐมนตรีอังกฤษบอกว่า แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อ 200 ปีก่อน กษัตริย์พระองค์นั้น พระองค์นี้ของอังกฤษ ให้ปราบปรามทำลายคนอเมริกัน ให้ปราบปรามพวกกบฏ คือ เขาล้อเล่นกับประวัติศาสตร์ เขาล้อเล่นกับสิ่งที่อังกฤษได้ทำเมื่อ 200 ปีก่อน ตั้งแต่ตอนที่อเมริกาต้องการจะแยกตัวมาเป็นเอกราช เขาล้อเล่นกับอันนั้นได้



หมายความว่ายังไง ผมคิดว่า ทุกวันนี้ นอกจาก ปัญหาประวัติศาสตร์มี 2 ชนิด มีการเรียนรู้คนละอย่าง สิ่งที่สำคัญอันหนึ่งคือ ผมอยากเรียกว่าเป็น culture of history หมายถึงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ หมายความว่า เราจะมีชีวิตอยู่กับอดีต จะใช้อดีต รู้อดีต มีท่าทีต่ออดีตอย่างไร เราจะเป็นเดือดเป็นแค้นอย่างไร หรือเราจะมีระยะห่าง เรามี critical distant (ระยะห่างในการวิพากษ์วิจารณ์)เรามีความห่างที่จะวิพากษ์วิจารณ์จากอดีต เราจะถืออดีตเป็นเพียงประเทศอื่นประเทศหนึ่งได้แค่ไหน


ประวัติศาสตร์จะเป็นส่วนใดในชีวิตเราปัจจุบัน หมายความว่า การที่ชาติต่างๆ ในประชาคมอาเซียน ถือเอาประวัติศาสตร์ เป็นปริมณฑลที่ละเมิดไม่ได้ เราก็เห็นอยู่ อย่างที่อาจารย์สุรินทร์ได้กล่าวไว้กรณีไทยกัมพูชาขัดแย้ง ถ้าหากเราไม่ย้อนไปยุคก่อนอาณานิคม อีกทีเราก็ต้องถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะไม่สนใจ แต่เราจะมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นมรดกตกทอดมายังปัจจุบันด้วย ไม่ได้บอกว่า เราต้องปฏิเสธว่าประวัติศาสตร์นั้น เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

แต่การบอกว่าเป็นมรดกเป็นตัวเราในปัจจุบัน เรายังสามารถมีท่าทีต่อมรดกเหล่านั้นได้ ไม่ได้บอกว่า เมื่อพ่อหรือแม่ของเราเป็นอย่างนี้ เราต้องประกอบอาชีพเดียวกัน แต่เราสามารถบอกได้ว่าท่านมีมรดกของท่านให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน บุคลิก การศึกษา จิปาถะ เรามีมรดกของพ่อแม่ในตัวเรา ในขณะเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเดินตามรอย ทำตามพิมพ์เดียวกันทุกอย่างเหมือนพ่อแม่เราทำนองนี้ครับ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า culture of history คือสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างมาก และสิ่งที่จะเสนอต่อไปนี้ คงเป็นสิ่งที่เป็นอุดมคติ เป็นความปรารถนาที่มีชีวิต คือ ค่อยๆ ปรับไป ก็คือ

 1. เรายอมรับได้ไหมว่าความรู้ประวัติศาสตร์ไม่จบสิ้น คำถามใหม่ๆ มีอยู่ตลอดเวลา ประวัติศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ท้าทายได้ เปลี่ยนได้ ไม่มีการห้ามละเมิด ไม่มีปริมณฑลที่ห้ามละเมิด ในโลกที่มีวุฒิภาวะทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบตายตัวสิ้นสุด ไม่ว่าจะในระดับรายละเอียด หรือในระดับโครงเรื่อง หรือในระดับของสปิริต ของชาตินั้น ๆ สามารถจะถูกท้าทายได้ตลอดเวลา เราจะยอมรับประวัติศาสตร์แบบนั้นได้หรือไม่ ถ้าหากเรายอมรับไม่ได้ ประวัติศาสตร์นั้นก็ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่อันตรายอยู่ แต่ถ้าเรายอมรับได้ ก็จะถอดชนวนที่สำคัญไปอันหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว มีไว้เรียนรู้ศึกษา ว่ามีอิทธิพลในปัจจุบันอย่างไร แต่ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่น ไม่จำเป็นต้องไปปกป้องรักษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แม้กระทั่งว่าเป็นสิ่งที่ผิดๆ ของเราเอง ไม่จำเป็นต้องถือว่าตัวเองถูกเสมอ พูดง่ายๆ คือ มีระยะห่างที่เป็นตัวของเราเองในปัจจุบัน
  

2. จะพูดให้ชัดอีกคือ ต้องใช้ชื่อหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งโด่งดังในต่างประเทศ คือ"เราจะกอบกู้ประวัติศาสตร์จากชาติได้หรือยัง" หมายความว่า ให้ประวัติศาสตร์คือเรื่องอดีต ไม่ได้ผูกพันกับชาติ ชาติไม่ได้เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น อดีตไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็เถียงกันไปเถอะ สุดท้ายแล้ว เราไม่มีผลประโยชน์ในความหมายต้องเป็นตายร้ายดี เพราะเป็นอดีต ที่เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ วัฒนธรรมข้อ 2 ที่ผมคิดว่าควรส่งเสริมคือ ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นประวัติศาสตร์ มีระยะห่างที่เป็นอิสระจากชาติเสีย หมายถึงว่า มีผล มีอิทธิพลต่อความเป็นชาติ แต่เราเรียนรู้มันในฐานะความรู้ชุดหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าต้องเดินตามอย่างที่เคยเป็นมา แต่ใช้วิจารณญาณของเราได้
 

3. ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่เป็นเครื่องมือ ทำให้เราคิดเป็น เราปรับตัวได้ เรารู้และเข้าใจว่าปัจจุบันเป็นผลของอดีต อย่างไรก็ตามเราเป็นอิสระ ซึ่งอิสระไม่ได้มีความหมายว่าเราไม่มีมรดกในอดีตเลย แต่หมายถึงอิสระในระยะห่าง เราไม่จำเป็นต้องยึดถือ ประวัติศาสตร์มีไว้คิด ไม่ได้มีไว้ให้ใช้ติดความภูมิใจ ถ้าคิดแล้วภูมิใจก็อีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น ต้องส่งเสริมให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องอดีต ทำให้คนรู้จักคิด ใช้ในการคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง


4. ต้องอนุญาตให้ประวัติศาสตร์ทุกอย่างแบกันบนโต๊ะให้หมด รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ท้าทาย ประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้ง เพราะโลกนี้ การที่คนมาจากคนละจุด คนละผลประโยชน์ มุมมองมาจากคนละทิศละทาง เหตุการณ์ในอดีตหนึ่งๆ มีคนได้คนเสีย มีคนชนะ มีคนแพ้ มีคนดีใจ ก็มีคนเจ็บปวด เราต้องอนุญาตให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้น แบมาให้หมด ยกตัวอย่างเช่น เราจะไปกักเก็บประวัติศาสตร์ 6 ตุลา เรื่องพฤษภา หรือ ประวัติศาสตร์ปัตตานีไว้ทำอะไร ต้องอนุญาตให้แบออกมา เพราะยิ่งเก็บเอาไว้ ยิ่งทำให้มีความลึกลับซับซ้อน แล้วทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นมีพลังเกินเหตุ ต้องแบออกมาเป็นที่ถกเถียง โดยแต่ละคนมีระยะห่าง เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ทะเลาะกันไปเถียงกันไป เราจะไม่มีวันเห็นลงรอยร่วมกัน 100% เพราะมนุษย์เป็นอย่างนั้น เราจะรับฟังประวัติศาสตร์ ซึ่งมาจากหลายทิศหลายทาง หลายผลประโยชน์ ฟังไว้ จะให้เราเป็นเดือดเป็นแค้น ก็ไม่ เรามีไว้คิด ผมเชื่อว่าในอนาคต สังคมเราทุกที่กำลังเดินสู่สังคมที่ต้องการสังคมที่รู้จักคิด มีวุฒิภาวะ และเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ
 

ในภาวะแบบนี้ อัตลักษณ์ จะไม่ใช่เชิงเดี่ยวอีกต่อไป แต่จะหลากหลายปนเป จนนับไม่ถ้วน อัตลักษณ์สารพัดเหล่านั้นจะไม่ต้องการ single narrative (เรื่องเล่าเชิงเดี่ยว)อีกต่อไปแล้ว อัตลักษณ์เหล่านั้น จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีเรื่องเล่าหลายเรื่องหลายราวด้วยกัน สังคมที่มีวุฒิภาวะ ต้องยอมให้มีอดีตหลายเรื่องหลายราวเหล่านั้นดำรงอยู่ด้วยกัน ใครจะภูมิใจและเสียใจ ใครจะดีใจและเจ็บปวดกับประวัติศาสตร์ต่างๆ กัน เราก็ฟังไว้ โดยให้เขายึดถืออย่างนั้นได้
 

ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ที่ให้พูดแต่ภาษาดอกไม้ ลดการสงครามระหว่างประเทศให้หมด แล้วอาเซียนจะอยู่ด้วยกันอย่างมีไมตรีจิตร ไม่ใช่ แต่ต้องเป็นประวัติศาสตร์ที่แบให้หมด รบกันมากี่ครั้ง แบกันออกมา ใครทำอัปยศไว้ปีไหน กับพ่อแม่ใคร แบกันออกมา ถ้ายังมีอายุความก็จัดการตามกฎหมาย ถ้าพ้นอายุความไปแล้ว ก็เป็นประวัติศาสตร์ไป


แม้กระทั่งลูกของผม ก็ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่อง 6 ตุลา แบบเดียวกับผม ไม่จำเป็น แล้วยิ่งคนที่ไม่ได้ผูกพันทางสายเลือด ยิ่งไม่จำเป็นเลย เราต้องการวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์แบบนั้น เราจะอยู่ร่วมกันได้ ในแง่ความเป็นประชาคม ต้องการประชากรที่สามารถ มีขันติธรรม ในความหมายเฉพาะ คือ ยินดีที่จะอยู่ร่วมกับคนที่มีประวัติศาสตร์ต่างๆ นานา ต้องเคารพเขา


แล้วไม่ใช่ละเลยด้านอัปลักษณ์ แต่ต้องเคารพเขา อย่างที่มีด้านอัปลักษณ์ของเราและของเขาด้วย นั่นหมายถึงประวัติศาสตร์ที่ยอมรับความจริง เรามีธรรมะในหัวใจได้ เราจึงต้องการสังคมที่มีเงื่อนไขในการเปิดให้มีเสรีภาพ แบกันออกมาได้ ยิ่งแบออกมา มีหลากหลายเวอร์ชั่น หลากหลายเรื่องเล่า ก็จะยิ่งลดความน่าอันตรายลงไป


ผมคิดว่ายิ่งทำให้ประวัติศาสตร์เปิดขึ้นมาโดยไม่มีใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ สปิริตของ nation (ชาติ)จะยิ่งลดความอันตรายลงไป แม้อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่าในอาเซียน มีวุฒิภาวะพอที่จะให้ฟังกัน แน่นอน เราไม่สามารถลบความขัดแย้ง โกรธแค้น ชั่วข้ามคืน เพราะประวัติศาสตร์ ฝังมานาน
แต่ถ้าหาก เราจะถือว่าเราเป็น living (กลุ่มคนที่มีชีวิตอยู่)ผมคิดว่า ต้องเริ่มต้น ไม่ใช่ปล่อยให้อาเซียนเป็นเพียงประชาคมทางธุรกิจอย่างเดียว การที่จะมีมิติของมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน จะต้องฟังกันในเชิงประวัติศาสตร์ด้วย ขอย้ำว่า ไม่ใช่พูดกันภาษาดอกไม้ ลดอัตลักษณ์ที่เจ็บปวดลงไป แต่ตรงข้าม หมายถึงปล่อยให้ประวัติศาสตร์เลวร้ายอัปยศโผล่ออกมา โดยเราไม่เอาตัวเองเข้าไปโกรธแค้น หรือดีอกดีใจกับประวัติศาสตร์เหล่านั้น เรายินดีฟังอย่างมีวิจารณญาณ นี่ต่างหาก คือความหวังว่าจะหล่อหลอมประชากรที่มีคุณภาพของประชาคมอาเซียน ซึ่งอาเซียนจะมีอุดมคติยังไงก็แล้วแต่ แต่นี่คือ เงื่อนไขอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ชนิดใหม่


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 มีนาคม 2555 เวลา 10:37

    อ่านไม่รู้เรื่องเลยค่ะ ตัวหนังสือมันซ้อนกับโฆษณาด้านขวาสุดค่ะ

    ตอบลบ