Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

เสียงครวญสดศรี ชี้บอกว่า “ตุลาการวิบัติ” : ถ้ายังไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญก็เชิญเลย

นายทหารเอก กรุงธน

            บทสัมภาษณ์ของ  กกต.สดศรี สัตยธรรม ในมติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่           2 มีนาคม 2555 หากพิจารณาเชิง รัฐศาสตร์วิเคราะห์ถือว่าเป็นการสารภาพอย่างชัดเจนว่า ศาลมีส่วนสำคัญในการร่วมทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 อย่างดิ้นไม่หลุดและบอกเป็นนัยว่า ตุลาการวิบัติแล้ว
            ดูบทสัมภาษณ์เต็มๆของเธอตอนสำคัญตอนหนึ่งในหน้า 12 โดยไม่ตัดทอนเลยว่า

เมื่อเอาท่านมาเล่นด้วย ท่านก็ออกไปไหนไม่ได้ จะเห็นได้ว่าองค์กรอิสระต่างๆจะมีผู้พิพากษาเข้ามาสู่ตำแหน่งกันมาก เหมือนกับว่าผู้พิพากษายอดเยี่ยม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...) ศาลรัฐธรรมนูญก็มาจากผู้พิพากษา แต่ลืมมองว่าท่านมาอยู่แวดวงนี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับการปกป้องดูแลอะไร  เขาดึงท่านเป็นบุคคลสาธารณะที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ การละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มี ไม่เหมือนศาลทั่วไป กกต.ยิ่งไม่มีใหญ่ ไม่มีการคุ้มครองอะไรเลย ไม่มีว่าเวลาเราเดือดร้อนอะไรมีใครมาช่วยเราไหม ม็อบมาก็ฝ่าเท้าหนีเอาเองหนีให้ทัน หนีไม่ทันก็โดน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ไม่เคยส่งคนมาดูแลเรา ตอนนั้นมีการใช้คำว่าตุลาการภิวัฒน์ แต่ดิฉันถามว่าระวังนะมันจะผันชื่อไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับผู้พิพากษาเลย

            จากบทสัมภาษณ์ข้างต้นถ้าใครอ่านแล้วไม่แกล้งโง่ก็วิเคราะห์ได้ตรงไปตรงมาตามนี้
            ประเด็นที่ 1 ใครนะที่มีบารมีดึงเอาผู้พิพากษามาเล่นการเมือง ?”
            ประเด็นนี้เสียดายที่มติชนไม่ถามเสียให้ชัดเจนสะเด็ดน้ำว่าใครคือผู้มีบารมีที่สั่งให้บรรดาศาลทั้งหลายลงมาเล่นการเมืองที่เริ่มต้นจากการยึดอำนาจในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ในนาม ตุลาการภิวัฒน์ หรือถึงแม้มติชนจะถามคุณสดศรีก็คงจะแปลงกายให้เป็นคนใบ้ไม่ยอมตอบและปล่อยให้ประชาชนคิดเองรู้เอง ทั้งๆที่เธอก็รู้เต็มอกว่า ใครคือผู้เอาท่านมาเล่น?
            เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดั้งเดิมมาประกอบจากกรณีการชุมนุมปรึกษาเตรียมการรัฐประหารที่บ้านนายปีย์ มาลากุล แถวสุขุมวิท คงยังจำข้อมูลส่วนนี้ได้นะครับ บุคคลที่มานั่งร่วมวางแผนกันมีทั้งองคมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ , ประธานศาลฎีกา นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ , ประธานศาลปกครองสูงสุด นายอักขราทร จุฬารัตน , เลขานุการประธานศาลฎีกา นายจรัญ ภักดีธนากุล , ตัวแทนพันธมิตร นายปราโมทย์ นาครทรรพ  บุคคลเหล่านี้เคยถูกกล่าวหาจากพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ซึ่งเป็นหนึ่งในวงสนทนาที่มานั่งสุมหัวด้วยกัน (แต่ภายหลังแตกคอกัน) การกล่าวหานี้เป็นข่าวใหญ่โตมากผ่านมาหลายปีแล้วผู้มีรายชื่อที่ถูกกล่าวอ้างถึงเหล่านี้ก็ไม่มีใครกล้าฟ้องร้องพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี เลยจนถึงวันนี้ก็น่าจะจบข่าวได้แล้วว่าผู้นำระดับสูงขององค์กรตุลาการเอากับเขาด้วยมาตั้งแต่ต้น ปัญหาต่อไปจึงเป็นคำถามที่บรรดาผู้พิพากษาก็ไม่อยากจะตอบว่า ใครคือผู้สั่งการให้ผู้พิพากษาลงมาเล่นการเมือง?
            พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี วันนี้ยังมีชีวิตอยู่ ก็น่าจะเปิดเผยเสียให้ชัดเจนเป็นประวัติศาสตร์ให้แก่ลูกหลานที่จะต้องเผชิญชีวิตต่อไปเพื่อให้เขาได้มีข้อมูลทางการเมืองที่ถูกต้องเสียทีว่า ใครคือผู้สั่งการยึดอำนาจ เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าใจผิดกันอีกต่อไปและลูกหลานไทยจะได้จัดการวางระบบการเมืองที่ถูกต้องกันเสียทีโดยเอาคนผิดที่เป็นตัวการมาลงโทษทางการเมืองด้วยการประณามเสียให้หลาบจำคนรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันโดยเข้าใจผิดกันจนถึงขนาดจะต้องมาฆ่ากันเองด้วยความเข้าใจผิด อย่างน้อยที่สุดก็คงจะไม่เกิดกรณี 2 ฝาแฝดปีศาจรับจ้างใครบางคนมาต่อย             อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่เป็นเรื่องอื้อฉาวในขณะนี้
            ประเด็นที่ 2 ถ้าศาลไม่ร่วมด้วยใครเขาจะแบ่งอำนาจให้
            หลังการฉีกรัฐธรรมนูญและยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ไม่เพียงแต่ผู้มีชื่อข้างต้นที่นั่งวางแผนกันที่บ้านนายปีย์ มาลากุล ในฐานะผู้ก่อการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองจริงนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี แล้วเท่านั้นหากแต่ยังดึงผู้พิพากษาทั้งแผงลงมาเป็นผู้ทรงอำนาจจริงตามที่คุณสดศรีบอกว่า องค์อิสระต่างๆจะมีผู้พิพากษาเข้ามาสู่ตำแหน่งกันมาก และจากความเป็นจริงตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็กำหนดให้บุคคลเหล่านั้นอยู่ในอำนาจยาวนานรวมเบ็ดเสร็จ 10 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ผู้พิพากษาเข้ามาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพื่อวางโครงสร้างอำนาจให้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมพรรคพวกกันลงมาสวมอำนาจเป็นศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระผู้ทรงอำนาจ โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ 2550 เลยว่า ให้มีอำนาจยาวนานถึง 9 ปี รวมกับปีที่ยึดอำนาจ 1 ปี เป็น 10 ปีพอดี โดยผู้ทรงอำนาจเหล่านี้ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเลย ซึ่งระยะเวลา 10 ปี เป็นเวลายาวนานมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิตัดสินใจใดๆ และก็ได้แสดงอำนาจจริงในการทำลายนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเพื่อสนองกิเลสของผู้ยึดอำนาจแล้วด้วย
            เรียกได้ว่า ชงเอง  ชิมเอง  และกินเอง พร้อมเลย
            ความเป็นจริงข้างต้นยิ่งตอกย้ำว่า ศาลเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการทำรัฐประหารอย่างแน่นอนเพราะถ้าไม่ลงแรงไฉนเลยจะได้รับผลตอบแทนมากมายเช่นนี้และหากจะเจาะลึกตามเข้าไปดู สว.ที่มาจากการแต่งตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการปี 50 ที่ให้อำนาจศาลและองค์กรที่มาจากศาลเป็นผู้สรรหาก็จะเห็นชัดเจนว่า สว.จำนวนหนึ่งก็เป็นลูกเมียของศาลโดยตรงหรือเป็นสายสัมพันธ์ของศาลก็เข้าทำนองที่พวกลูกสมุนเผด็จการอำมาตย์เคยโจมตีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มาจากการเลือกตั้งจนเป็นเหตุของการยึดอำนาจว่าเป็นสภาผัวเมียนักการเมือง วันนี้ สว.แต่งตั้งก็เป็นสภาผัวเมียศาลเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่ไม่ได้เลือกตั้ง หรือนัยหนึ่งก็คือประชาชนเจ้าของอำนาจไม่มีส่วนรู้เห็นเลยและศาลก็ดิ้นไม่หลุดต่อคำถามว่า ถ้าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือถูกบังคับให้มาอย่างจำใจทำไมจึงสนุกอยู่กับพวกเขามาแล้ว 5 ปีและยังไม่คิดจะออกจากอำนาจ? และยังสนุกกับเรื่องที่ขัดกับหลักการนิติธรรมอย่างตำตา อาทิเช่น ดึงเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ให้ช้าแต่เร่งยุบพรรคพลังประชาชนให้ไว,วินิจฉัยตัดสินเพื่อล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์,รวมทั้งการอนุญาตให้ประกันตัวได้หรือไม่ได้ทำไมจึงมีสีเสื้อเข้ามาเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมด้วย และยังมีอีกสารพัดเรื่องสุดจะพรรณนาจนถึงล่าสุดแสดงการจองล้างจองผลาญ ..เสื้อแดงบางคนโดยต้องการจะถอดถอนออกจากส..ด้วยความเกลียดชังของใครบางคนให้ได้ ทำไมคนเป็นผู้พิพากษาเขาถึงทำกันได้ถึงขนาดนี้
            ประเด็นที่ 3 กรรมตามสนอง
            เมื่อศาลร่วมกระทำการยึดอำนาจอันเป็นบาปทางการเมืองและยังร่วมกระทำบาปต่อกระบวนการยุติธรรมอันเป็นวิชาชีพของตนเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองอันไม่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยต่อไปดังที่กล่าวข้างต้น เวรกรรมก็เริ่มตามสนอง
            แรงต่อต้านของประชาชนก็พุ่งตรงไปที่ศาลยุติธรรม ต่อกรณีการวินิจฉัยที่ไม่เป็นธรรม เช่นกรณีการไม่ให้ประกันตัวนักโทษการเมืองในกลุ่มสีเสื้อหนึ่งแต่ในความผิดฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับอีกกลุ่มสีเสื้อหนึ่งกลับอนุญาตให้ประกันตัวได้  
            พุ่งตรงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญต่อการพิจารณาปลดนายสมัคร สุนทรเวช และยุบพรรคพลังประชาชนแต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์โดยหาทางออกให้แบบน้ำขุ่นๆ
            พุ่งตรงไปที่ กกต.และปปช.ในฐานะผู้ชงเรื่องจนคุณสดศรีออกปากร้องครวญครางว่าไม่มีใครมาช่วยดูแล
แน่นอนที่สุดหากศาลจะลงมามีอำนาจดังที่เป็นอยู่นี้ตามครรลองประชาธิปไตยโดยได้รับอำนาจจากประชาชนก็คงจะไม่มีใครว่าเพราะโดยระบบก็จะมีการตรวจสอบโดยประชาชนด้วยการกำหนดเวลาหรือวิธีการถอดถอนซึ่งเป็นเสมือนเบรกก็จะทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจของศาลได้แต่เพราะศาลเข้ามามีอำนาจในฐานะอำนาจแห่งเผด็จการโดยไม่มีอำนาจใดๆตรวจสอบได้จึงเกิดความเลอะเทอะในการใช้อำนาจประกอบกับไม่ยึดถือคุณธรรมแห่งการใช้อำนาจอีกด้วยจึงเกิดภาวะ 2 มาตรฐาน จนพวกไพร่ตาสว่าง,ดังนั้นคุณสดศรียิ่งบ่นก็ยิ่งแต่จะมีคนสมน้ำหน้ากับภาวะกรรมตามสนอง
            เมื่อมาโดยไม่ชอบก็ต้องได้รับผลกรรมอันไม่ชอบนั้น
            ประเด็นที่ 4 ตุลาการภิวัฒน์กลายเป็นตุลาการวิบัติ
            วันนี้ศาลยิ่งถลำลึกเมื่อนำพรรคพวกลงมาเล่นการเมืองในนามศาลที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเผด็จการปี 50 กลไกแห่งศาลยุติธรรมทั้งขบวนเลยเป๋ไปด้วย ,ศาลที่นั่งบนบัลลังค์เลยกลายเป็นผู้มีฝักฝ่ายในความเข้าใจของประชาชนจึงไม่อาจจะประสาทความยุติธรรมได้แล้ว
ยิ่งคดีคนเสื้อแดงไม่ให้ประกันตัว,เสื้อเหลืองยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ประกันตัวได้รวมทั้งล่าสุด นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต้องโทษคำพิพากษาหนักถึง 20 ปี แต่ประกันตัวได้ปร๋อโดยไม่ต้องร้องขออย่างโอดครวญเหมือนพวกเสื้อแดงที่นั่งโอดครวญขอความเป็นธรรมด้วยการอดอาหารแต่ก็ยังไร้ความปราณี , ถนนทุกสายจึงเดินมาถึงวัดสิ้นศรัทธาธรรม
ตอนท้ายของคำสัมภาษณ์คุณสดศรีคงอยากจะบอกอะไรกับประชาชนเกี่ยวกับคำว่า ตุลาการภิวัฒน์ด้วยคำว่า ระวังนะมันจะผันชื่อไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับผู้พิพากษาเลย
บ้านนี้เมืองนี้พูดกันตรงๆไม่ได้หรือครับว่าวันนี้ตุลาการภิวัฒน์ผันไปเป็น ตุลาการวิบัติ แล้ว
            วิกฤติตุลาการวิบัติจะหาทางออกอย่างไร?
ผลจากรัฐธรรมนูญเผด็จการปี 50 ที่พวกศาลช่วยกันร่างขึ้นเองได้ทำให้สถาบันศาลวิบัติแล้วยังจะไม่แก้ไขกันอีกหรือพรรคประชาธิปัตย์และท่านผู้พิพากษาทั้งหลาย
มติในรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ก็เห็นพิษร้ายของรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วยมติ 399 : 199 ชนะกันถึง 200 เสียงขนาดนี้ท่านผู้พิพากษาในองค์กรอิสระอย่างผู้ตรวจการรัฐสภาและองค์กรอำนาจต่างๆยังจะออกมาขัดขวางอีกหรือรวมทั้งแกนนำประชาธิปัตย์ยังมีหน้าจะประกาศปฏิญญาหาดใหญ่ , หนุนพันธมิตรและสยามประชาภิวัฒน์ ทำการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเผด็จการปี 50 ด้วยการบิดเบือนว่าทำเพื่อทักษิณคนเดียว และบิดเบือนต่างๆนาๆอีกหรือ?
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริงท่านต้องการอะไรกันแน่?, ท่านต้องการที่จะทำลายระบบศาลยุติธรรมใช่หรือไม่?ถึงได้สั่งให้สานุศิษย์ออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจะใช้ศาลทำงานให้ตัวเองต่อไปจนสถาบันศาลตายคามืออย่างนั้นหรือ?
เอาให้สนุกเลยท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริง , พวกเสื้อแดงอย่าไปตกอกตกใจกับพวกที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ , ขอให้ ใจเย็นๆเพราะภาวะวิบัติของสังคมอำมาตย์ใกล้มาถึงแล้ว
ความวิบัติของระบอบอำมาตย์ไม่ได้เกิดจากคนเสื้อแดง แต่เกิดจากลูกสมุนของอำมาตย์เองที่เปิดโปงตัวเองว่าพวกเขาไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น