Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

นักวิชาการญี่ปุ่นเปรียบ "จักรพรรดิ" เป็น "อากาศ" - "ขาดไม่ได้" แต่ "เบา" มากจนเหมือนไม่มี

ข้อมูลจากมติชนออนไลน์
เรียบเรียงโดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2555 ศาสตราจารย์โยชิฟูมิ ทามาดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต แห่งประเทศญี่ปุ่นบรรยายสาธารณะ เรื่อง "ประชาธิปไตยใต้ร่มพระบารมี: กรณีศึกษาจักรพรรดิญี่ปุ่น" ที่ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ทามาดะ บรรยายตอนหนึ่งเปรียบเทียบบทบาทของ อดีตจักรพรรดิญี่ปุ่น 3 พระองค์ ประกอบด้วย จักรพรรดิเมจิ (Meiji) จักรพรรดิไทโช (Taisho) และจักรพรรดิโชวะ( Showa) ว่า รัฐธรรมนูญ 1889 สมัยเมจิไม่ได้กำหนดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ไม่ได้บอกว่าเป็นของประชาชน คนเข้าใจหรือตีความว่าเป็นของจักรพรรดิ แต่นักวิชาการด้านกฎหมายตีความว่าเป็นของรัฐไม่ใช่จักรพรรดิ อย่างไรก็ตามสมัยนั้นอำนาจการปกครองของจักรพรรดิมีมากทั้ง 3 อย่าง



ในอำนาจ "นิติบัญญัติ" จักรพรรดิร่างกฎหมายร่วมกับรัฐสภา คนที่ยุบสภาก็เป็นจักรพรรดิ

สำหรับอำนาจ "บริหาร"รัฐธรรมนูญเขียนว่า จักรพรรดิใช้อำนาจบริหารโดยผ่านคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ให้คำแนะนำและรับผิดชอบ ขณะที่ในทางปฏิบัติ จักรพรรดิตั้งนายกรัฐมนตรี ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาส่วนตัว ไม่ใช่คำแนะนำของที่ปรึกษาหรือคณะรัฐมนตรี ฉะนั้น จักรพรรดิเลือกใครก็ได้ ปลดก็ได้ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงมีฐานะเท่ากับรัฐมนตรี เพราะคนที่ควบคุมรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี แต่เป็นจักรพรรดิ แล้วนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อจักรพรรดิ ไม่ใช่รับผิดชอบต่อรัฐสภา ไม่ใช่รับผิดชอบต่อประชาชน ถ้าผิดอะไรก็ต้องขอโทษต่อจักรพรรดิ ไม่ใช่ขอโทษรัฐสภาหรือประชาชน

อำนาจที่ 3 "ตุลาการ"ศาลใช้อำนาจในนามของจักรพรรดิ นอกจากนั้น จักรพรรดิยังมีอำนาจพิเศษ คือเป็นจอมทัพ ควบคุมทหาร หมายความว่า รัฐสภา จะยุ่งเกี่ยวกับทหารไม่ได้ แล้วคณะรัฐมนตรีก็ยุ่งไม่ได้ ส่วนรัฐมนตรีก็มีทั้งรัฐมนตรีฝ่ายทหารบกและรัฐมนตรีฝ่ายทหารเรือ อาจจะเห็นไม่ตรงกันถึงตัวคนที่จะตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นับว่ามีเรื่องยุ่งยาก จึงขึ้นอยู่กับอำนาจจักรพรรดิ ถ้าจักรพรรดิตั้งใครก็โอเค แต่อำนาจจักรพรรดิในสมัยจักรพรรดิโชวะ จะแตกต่างกัน

Meiji_Emperor
ที่ปรึกษาของจักรพรรดิเมจิมี 3 ส่วน ประกอบด้วย "องคมนตรี" แต่องคมนตรีของญี่ปุ่น มีบทบาทไม่มาก ที่สำคัญคือ อีก 2 ส่วน ได้แก่ "ราชเลขา" และ "รัฐบุรุษอาวุโส" 2 ส่วนนี้สำคัญมาก
ราชเลขาและรัฐบุรุษอาวุโส เป็นสถาบันนอกรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจมาก มีบทบาทสูงมาก ที่สำคัญคือ รัฐบุรุษอาวุโส หารือกับ จักรพรรดิเมจิ บ่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งตั้งให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี หรือจะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ หรือจะแต่งตั้งใครเป็นผู้บัญชาการทหารบก

นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อธิบายว่า จักรพรรดิไม่ใช่เผด็จการ แต่เป็นผู้ประสานงาน เพราะผู้นำฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ต้องมีคนประสานประนีประนอมให้คุยกัน ฉะนั้น บทบาทที่สำคัญคือเป็นผู้ประสาน
"คุณสมบัติของผู้ประสาน คือ ทุกฝ่ายต้องมองว่า คนนี้มีความเป็นกลาง มีความยุติธรรม ยอมรับได้ ถ้าไม่เป็นกลาง แล้วถูกคนมองว่าทำเพื่ออีกฝ่าย ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือ เกิดการไม่ยอมรับจักรพรรดิ แต่ถ้าทุกฝ่ายยอมรับในตัวจักรพรรดิ เรื่องอะไรสำคัญก็จะตกลงกันได้ เพราะฉะนั้น จักรพรรดิต้องระมัดระวังมาก ต้องเป็นกลาง ต้องเป็นธรรม กับทุกฝ่าย"

อีกอย่างหนึ่งสมัยเมจิถูกมองว่า แรกๆ ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ต่อมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คือมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาล สาเหตุสำคัญที่รีบตั้งรัฐสภา เพื่อเก็บภาษี เก็บภาษีเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างกองทัพเข้มแข็ง เป็นการตั้งรัฐสภาอย่างมีเป้าหมาย ส่วนประชาชนก็ยอมเสียภาษีเพื่อให้นำไปสู้กับจีนและรัสเซีย แต่ภาษีสมัยนั้น การเสียภาษีก็แพงมาก ต้องประนีประนอมโดยตั้งรัฐสภา เพื่อให้มีสิทธิที่จะพูดอะไรในรัฐสภา เพื่อให้มีการเสียภาษี
ถ้าเทียบเป็นสมัยของจักรพรรดิ 3 พระองค์ ก่อนสงคราม บางยุคจักรพรรดิมีอำนาจ หรือบทบาทเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ คือรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้จักรพรรดิมีอำนาจเท่านี้ แต่จริงๆ จักรพรรดิมีอำนาจมากกว่า แล้วก็เรียกนายกรัฐมนตรีไปเข้าพบ และสื่อสารกับนายกรัฐมนตรีว่าอยากจะทำอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ โดยเป็นบทบาทนอกขอบเขตรัฐธรรมนูญ
จักรพรรดิเมจิสื่อสารกับนายกรัฐมนตรีมาก ส่วนจักรพรรดิไทโชไม่สื่อสารอะไรเลย ไม่ได้ให้ผู้นำเข้าเฝ้า ส่งผลให้ยุคที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด คือยุคที่จักรพรรดิมีบทบาทน้อยที่สุด
ต่อมา เมื่อถึงยุคจักพรรดิโชวะ ก็กลับมาสื่อสารกับผู้นำประเทศมากอีกครั้ง หลังสงคราม แม้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้จักรพรรดิไม่มีบทบาททางการเมือง แต่จักรพรรดิโชวะก็ยังเรียกนายกรัฐมนตรีให้เข้าเฝ้าอยู่บ่อยๆ

"ถ้าเทียบจักรพรรดิ 3 พระองค์ จะเห็นได้ว่าบทบาทจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับตัวจักรพรรดิ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเฉพาะรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จักรพรรดิเป็นปัจจัยที่สำคัญ"

นอกจากนั้น นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อธิบายว่า ถ้าเทียบจักรพรรดิกับนายกฯ แล้ว จักรพรรดิมีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า เพราะว่ามีตำแหน่งตลอดชีวิต แต่นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งแค่ไม่กี่ปี
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับจักรพรรดิเมจิแล้ว จักรพรรดิโชวะไม่มีที่ปรึกษาที่ดี เพราะที่ปรึกษาก็มาจากคนในรุ่น 2-3 นับจากสมัยเมจิ ฉะนั้น ความรู้หรือแนวความคิดอะไรต่างๆ ก็เปลี่ยนไปแล้ว
คนรุ่น 2-3 มองจักรพรรดิเมจิเป็นจักรพรรดิในอุดมคติ ที่เป็นเหมือนเทวดา รู้อะไรหมด ทำอะไรได้หมด มองอย่างนั้น เพราะว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว คนรุ่นหลังก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นยังไง ได้แต่สร้างภาพพจน์ที่ดีมาก และมองจักรพรรดิโชวะว่าต้องเป็นจักรพรรดิตามอุดมคติแบบนั้น ทำให้จักรพรรดิเข้าใจผิดว่า พระองค์เองต้องทำตัวเป็นจักรพรรดิที่อยู่ในอุดมคติ เพราะฉะนั้นจักรพรรดิโชวะจึงถูกนักประวัติศาสตร์ มองว่ามีความผิดพลาด 3 ครั้ง เป็นสาเหตุใหญ่ให้เกิดสงคราม

จักรพรรดิโชวะ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
 
เหตุการณ์ที่ 1 โชวะขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิในปี 1926 ปี 1929 จักรพรรดิบังคับนายกฯ ให้ออกจากตำแหน่ง นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่จักรพรรดิบังคับนายกฯ ให้ออก ทั้งที่ถ้าอยากจะให้ออกต้องคุยกันก่อน ต้องตกลงกันก่อน หลังจากนั้น จักรพรรดิถูกทหารกับฝ่ายขวาโจมตีว่าผิดประเพณี ผิดระเบียบ ไม่รักษาหน้าฝ่ายบริหาร แล้วก็นายกฯ ที่ถูกบังคับให้ออกก็เป็นอดีตทหารด้วย เพราะฉะนั้น ทหารจึงไม่พอใจอย่างมาก แต่หลังจากนั้น จักรพรรดิก็ไม่กล้ากระทำเช่นนั้นอีก เพราะถูกโจมตีมาก

เหตุการณ์ที่ 2 คือในปี 1930 ประเทศมหาอำนาจคุยเรื่องลดจำนวนเรือรบ เช่น ญี่ปุ่นกับอังกฤษคุยกัน ญี่ปุ่นก็ยอมลดจำนวนเรือรบ แต่ว่าทหารเรือญี่ปุ่นไม่ยอม จึงกลายเป็นทหารเรือค้านรัฐบาลญี่ปุ่น แต่จักรพรรดิไม่ประสานงานประนีประนอม

เหตุการณ์ที่ 3 ปี 1931 เป็นเรื่องใหญ่มาก ทหารญี่ปุ่นบุกจีนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจักรพรรดิเป็นครั้งแรก เป็นเรื่องผิดกฎหมายอย่างรุนแรงมาก แต่ว่าจักรพรรดิไม่ต่อว่าอะไร เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้จักรพรรดิจะคุมทหารไม่ได้ ทหารจะทำอะไรตามใจ คือบุกจีนต่อ ควบคุมไม่ได้ แล้วก็ทหารชั้นล่างก่อกบฎ 2 ครั้ง รัฐบาลควบคุมทหารไม่ได้อีกด้วย เป็นสมัยที่ยุ่งยากมาก และสมัยนั้น ปี 1935 มีนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งประกาศว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่จักรพรรดิ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ แต่ว่าในช่วงนั้น คือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกฝ่ายขวาและทหารกลับกดดันให้นายกรัฐมนตรีประกาศหลักการดังกล่าว ต่อมาปี 1936 เกิดการกบฏ ทหารรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ เพราะทหารรัฐประหารโดยต้องการจักรพรรดิที่เป็นเผด็จการ ไม่เอารัฐสภา ต้องการให้จักรพรรดิและทหารจับมือกันปกครองญี่ปุ่น จักรพรรดิบอกว่า ไม่เอา ทหารจึงทำไม่สำเร็จ

สงครามโลกครั้งที่2

จักรพรรดิโชวะ ตัดสินใจ "อย่างเป็นทางการ" ในชีวิต 2 ครั้ง ในขณะที่มีอำนาจมาก แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการพูดคุยแบบปิดลับ หนึ่งในการตัดสินใจนั้น คือกรณีกบฏ 1936 จักรพรรดิบอกว่าตัวเองจะปราบปรามทหารที่เป็นกบฏซึ่งเป็นทหารรักษาพระองค์ คือคนที่ใกล้กับจักรพรรดิมากที่สุด เพราะฉะนั้น จักรพรรดิต้องปราบปรามคือไม่ยอมรับการกบฏ

หลังเหตุการณ์นั้น นายทหารหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏก็โยกย้ายไปอยู่ประเทศจีน เพราะฉะนั้น นายทหารชั้นผู้ใหญ่จึงเหลือน้อยลง นอกจากนี้ นายทหารชั้นผู้น้อยก็ไม่เชื่อฟังทหารชั้นผู้ใหญ่ เพราะเมื่อครั้งที่เขารัฐประหาร นายทหารชั้นผู้ใหญ่บอกว่า โอเคดีแล้ว เราจะทำด้วย แต่เมื่อทำแล้ว กลับมีแต่ทหารชั้นผู้น้อยเข้าร่วมเท่านั้น ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่มีใครเข้าร่วม ดังนั้น ทหารชั้นผู้น้อยก็เลยไม่พอใจกับทหารชั้นผู้ใหญ่ ด้วยเหตุ 2 อย่างนี้ ทหารจึงควบคุมกันไม่ได้

ขณะเดียวกัน นายทหารที่ขึ้นมามีตำแหน่งสูงๆ ก็กลายเป็นนายพลที่คุยภาษาข้าราชการพลเรือน เพราะทหารอาชีพที่เก่งด้านการสู้รบก็คุยเรื่องอื่นไม่ได้ เช่น คุยงบประมาณไม่ได้ แต่ถ้าเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนก็อธิบายได้ แต่ทหารบางคนก็มีความสามารถด้านนี้ คนแบบนี้ขึ้นมามีตำแหน่งสูงๆ นายพลคนหนึ่งที่จักรพรรดิโชวะโปรดที่สุด คือนายพลที่มีความสามารถด้านนี้คือ เป็นทหารที่มีความสามารถอย่างข้าราชการพลเรือน ขณะที่ทหารชั้นผู้น้อยเมื่อยืนในสนามรบก็มองว่าทหารชั้นผู้ใหญ่แบบนี้ ใช้ไม่ได้ ทหารจึงควบคุมกันไม่ได้อีก

ก่อนเกิดสงคราม มีปัญหาโครงสร้างอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญสมัยเมจิต้องอาศัยจักรพรรดิ ถ้าไม่มีจักรพรรดิ แต่ละฝ่ายก็ทะเลาะกัน ไม่จบ ถ้าไม่มีจักรพรรดิ ก็ต้องมีรัฐบุรุษอาวุโส แต่รัฐบุรุษอาวุโสรุ่นแรกเสียชีวิตไป ส่วนรุ่นสองคนที่ใช้ได้ก็ไม่มีแล้ว ฉะนั้น ไม่มีใครควบคุมใครได้

การตัดสินใจครั้งที่ 2 คือจักรพรรดิโชวะ คือยอมจบสงคราม หลายคนคิดว่าทำไมไม่หยุดทหารทำสงครามตั้งแต่แรก ซึ่งบัดนี้ก็ยังไม่ทราบคำตอบ ว่าทำไมไม่ห้ามตั้งแต่แรก
ศาสตราจารย์ทามาดะ กล่าวถึงกรณีที่ว่าถ้าหากญี่ปุ่นไม่แพ้สงคราม แล้วสถาบันจักรพรรดิจะเป็นอย่างไร ว่า ถ้าญี่ปุ่นชนะสงคราม ภาพอาจจะน่ากลัว ขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีการปฏิวัติจากรัสเซียเข้ามา ถ้ารัสเซียเข้ามา จะมีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย จับมือกันไม่เอาระบบ "เผด็จการจักรพรรดิ" แต่เมื่อแพ้สงครามแล้ว จักรพรรดิก็หมดอำนาจไปแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีการปฏิวัติ จึงเป็นการรักษาสถาบันจักรพรรดิเอาไว้ได้
จักรพรรดิยอมแพ้สงคราม


จักรพรรดิยอมแพ้ช่วงสงคราม เพราะคนญี่ปุ่นเสียชีวิตประมาณ 3 ล้านกว่าคน แต่ยังชนะสงครามไม่ได้ ถ้าไม่หยุดก็เสียชีวิตอีก ถ้าไม่มีประชาชน ก็ไม่มีประเทศ จักรพรรดิก็มีไม่ได้ จึงต้องตัดสินใจ โดยคิดเรื่องประชาชนและประเทศด้วย

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่นที่เขียนขึ้นหลังสงคราม มาตราแรกๆ พูดถึงจักรพรรดิ กำหนดให้จักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ มาตรา 4 เขียนว่าจักรพรรดิไม่มีอำนาจเกี่ยวกับการเมืองและรัฐบาล มาตรา 8 ห้ามบริจาคและรับบริจาคทรัพย์สินเกินกำหนด

สำหรับเรื่องงบประมาณต่อปี เนื่องจากจักรพรรดิไม่มีทรัพย์สิน จึงต้องอยู่ด้วยงบประมาณของรัฐบาล โดยแบ่งเป็นสำหรับใช้ส่วนตัว 324 ล้านเยน กิจกรรมทางการ 5,683 ล้านเยน เงินเพื่อรักษาศักดิ์ศรีตระกูลจักรพรรดิ 288 ล้านเยน ดูเหมือนไม่มากเท่าไหร่ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นรู้สึกว่ามากพอสมควร อีกเรื่องคือ ห้ามบริจาคและรับทรัพย์สินเกินข้อกำหนด คือ ห้ามบริจาคให้ใครเกิน 18 ล้านเยน รับบริจาคได้ 6 ล้านเยน ถ้าสมมติรับบริจาครถคันเดียวก็ครบแล้ว ส่วนพระราชโอรสและพระราชธิดาของจักรพรรดิ ให้บริจาคได้ไม่เกิน 1.6 ล้าน ถ้าอายุยังไม่ถึง 20 ให้ได้แค่ 1.35 ล้านเยน
ศาสตราจารย์ทามาดะ กล่าวว่า สถานะจักรพรรดิญี่ปุ่นถูกโจมตีจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดย "ฝ่ายซ้าย"มองว่าไม่ควรต้องมีจักรพรรดิแล้ว แล้วก็ตำหนิจักรพรรดิว่าไม่รับผิดชอบเรื่องสงคราม ขณะที่ "ฝ่ายขวา" พยายามจะใช้จักรพรรดิเป็นเครื่องมือ บางทีก็วิจารณ์ว่าจักรพรรดิองค์ปัจจุบันทรงอ่อนแอมากไป ต้องกล้ามากกว่านี้ แล้วฝ่ายขวาไม่ยอมให้ผู้หญิงเป็นจักรพรรดิ
ส่วนกลุ่มผู้มีอำนาจที่แวดล้อมจักรพรรดิ ทั้ง 3 กลุ่มในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันจะไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง "รัฐบุรุษอาวุโส" อีกแล้ว


อย่างไรก็ตาม จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อทรงถูกโจมตีมากก็ไม่โต้ตอบกับฝ่ายซ้ายและไม่ยอมถูกฝ่ายขวาใช้ โดยพยายามอย่างมากในการวางตนให้เป็นกลาง
"จักรพรรดิระมัดระวังมากเป็นพิเศษหลังสงคราม สาเหตุเพราะอะไรนั้น ผมคิดว่า จักรพรรดิอยู่ได้เพราะมีประชาชน ถ้าไม่มีประชาชนแล้ว จักรพรรดิก็อยู่ไม่ได้ แล้วถ้าประชาชนไม่สนับสนุนก็อยู่ลำบาก เพราะฉะนั้น พยายามไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ยอมรับจักรพรรดิแล้ว อยากจะให้คิดว่า ต้องมีจักรพรรดิ แต่จักรพรรดิไม่ต้องมีอำนาจมาก อยากจะให้คิดว่า จักรพรรดิเหมือนอากาศ ที่ขาดไม่ได้ แต่ไม่รู้สึกว่ามี มันเบามาก จักรพรรดิจะระมัดระวังมาก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น