เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา ร่วมจัดประชุมทางวิชาการในหัวข้อ Democracy and Crisis (ประชาธิปไตยและวิกฤติการณ์) โดยมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศร่วมอภิปรายในหัวข้อประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย
โดยในหัวข้อสุดท้าย มีผู้ร่วมนำเสนอได้แก่ เดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการอิสระ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน และปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
เดวิด สเตร็กฟัส ผู้เขียนหนังสือ Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lèse-Majesté อภิปรายหัวข้อ "Lese Majeste and Monarchies" (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเหล่าสถาบันพระมหากษัตริย์) นำเสนอแบบอย่างของสถาบันกษัตริย์ในยุโรป ในฐานะที่สามารถดำรงมาได้อย่างยาวนาน และอยู่ร่วมกับความเป็นประชาธิปไตยของรัฐได้อย่างไม่มีปัญหา โดยสเตร็กฟัสใช้กรอบ 5 ข้อเพื่อศึกษาสถาบันกษัตริย์ในยุโรปและในประเทศไทยเชิงเปรียบเทียบ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ การทำโพล ความโปร่งใสด้านงบประมาณ การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายกบฏ
ในแง่ความสัมพันธ์ของกษัตริย์ต่อรัฐธรรมนูญของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปแล้ว ยังนับว่ามีความคลุมเครืออยู่มาก โดยจะเห็นตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ มาตรา 32 ที่กำหนดให้กษัตริย์ต้องสาบานตนต่อสาธารณะว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรือประเทศนอร์เวย์ มาตรา 19 ในรัฐธรรมนูญกำหนดว่ากษัตริย์ต้องสาบานต่อรัฐสภาว่าจะปฏิบัติตามธรรมนูญของประเทศ ในขณะที่ในประเทศไทย ยังไม่มีการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
อีกแง่มุมที่สถาบันกษัตริย์ไทยมีความแตกต่างกับสถาบันฯของยุโรปอย่างเห็นได้ชัด คือการทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ทำขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นเรื่องปรกติ โดยเสตร็กฟัสส์กล่าวว่า ในระยะสองปีที่ผ่านมา เดนมาร์คได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ของตนเองอย่างน้อยสิบครั้ง โดยมีคำถามเช่น ราชินีควรสละราชบัลลังค์หรือไม่ เมื่อไร ทรงงานดีเพียงไหน ส่วนในสวีเดนก็มีการทำโพลเช่นกัน และถามคำถามที่หลากหลาย เช่น กษัตริย์ควรสละราชบัลลังค์ให้กับฟ้าชายเมื่อใด ใครในราชวงศ์ทีชื่นชอบมากที่สุด ไปจนถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ โดยในครั้งนั้นแบบสำรวจพบว่ามีชาวสวีเดนแสดงความไม่เชื่อมันในสถาบันกษัตริย์ถึงร้อยละ 35 ในขณะที่มีผู้เชื่อมันคิดเป็นร้อยละ 39
ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์
สเตร็กฟัสชี้ว่า การทำแบบสำรวจเช่นนี้ จะช่วยให้สถาบันกษัตริย์ได้ทราบว่าตนเองอยู่ตรงไหนในสังคม และทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนในประเทศไทย การทำสำรวจเช่นนี้ ยังคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ
สเตร็กฟัสยังชี้ให้เห็นด้านความโปร่งใสด้านงบประมาณในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งในระยะที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ในยุโรปก็มีแนวโน้มเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ โฆษกของพระราชวังบักกิงแฮมก็ได้ออกมากล่าวว่า ราชวงศ์ของอังกฤษนั้นนับว่ามีราคาถูก โดยมีภาระด้านการเงินต่อประชาชนคิดเป็นหัวละ 66 เพนซ์เท่านั้น (ราว 1.04 ดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่หากเปรียบเทียบกับของไทย จะคิดเป็นหัวละราว 5 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เสตร็กฟัสส์ชี้ว่า ยังมีงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยส่วนมากที่ยังไม่ถูกเปิดเผย และอยู่กระจัดกระจายในหลายกระทรวงและหน่วยงาน อีกทั้งสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ยังมีความคลุมเครือในตัวเองด้วย
ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์
ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์
สำหรับการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บางประเทศในยุโรป ได้บรรจุกฎหมายนี้อยู่ในส่วนของความมั่นคงของรัฐ เช่น ในรัฐธรรมนูญของนอร์เวย์ ระบุว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ จะถูกฟ้องร้องมิได้ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการวิพากษ์วิจารณ์สามารถเป็นไปได้อย่างอิสระ เช่น ประเทศนอร์เวย์ เสปน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม ซึ่งมีบทลงโทษระหว่าง 2-5 ปี ในขณะที่ประเทศเดนมาร์คและสวีเดน กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายธรรมดาเทียบเท่าได้กับกฎหมายหมิ่นประมาท และมีการยกเว้นความผิดหากพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ หรือหากการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ กฎหมายหมิ่นฯ ในยุโรปก็ไม่ค่อยได้ถูกใช้แล้ว โดยในเดนมาร์คไม่ได้ใช้แล้วตั้งแต่ปี 1934 (2477) หรือหากว่ามีการใช้ ก็เป็นแค่การปรับหรือจำคุกเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น
เมื่อเทียบกับการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ของประเทศไทย จะเห็นว่านอกจากสถิติการใช้จะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ยังมีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลกด้วย ถึงแม้ว่าสถิติของปีที่ผ่านมา (2554) จะมีจำนวนการดำเนินคดีหมิ่นฯ 85 คดี จาก 478 คดีในปี 2553 แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนคดีก่อนปี 2549 ที่มีเพียง 2-3 คดีต่อปี ก็นับว่ายังเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมาก
ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์
สเตร็กฟัสเปรียบเทียบการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย กับกฎหมายหมิ่นศาสนา (Blaspheme) ว่าแท้จริงแล้วไม่ต่างกันนัก เนื่องจากเป็นเรื่องของการดูหมิ่น “ศรัทธา” หรือ “ความเชื่อ” โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าหากดูจากกระแสที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกลุ่มนักวิชาการ ทหาร หรือสว. โดยอ้างเรื่อง “ความรู้สึก” “จิตวิญญาณ” และ “ความศรัทธา” ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
“[การคัดค้านของกลุ่มดังกล่าว] ไม่ได้พูดถึงว่ากฎหมายนี้ควรจะถูกปฏิรูปหรือไม่ แต่พวกเขากลับพูดคนละภาษาเหมือนกับว่ามาจากมุมองคนละโลก ไม่ว่าจะเรื่องความ “ศรัทธา” หรือ “ความรู้สึกของประชาชน” เปรียบได้กับการหมิ่นศาสนาเพราะคุณไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ซึ่งขัดแย้งกับหลักสากลที่คุ้มครองเรื่องสิทธิการแสดงออกของพลเมืองตามหลักสหประชาชาติ และเป็นการโจมตีคนที่ไม่ยอมรับคนที่เห็นตางจากอุดมการณ์ต่างของรัฐ” สเตร็กฟัสกล่าว
สำหรับตัวชี้วัดข้อสุดท้าย เขากล่าวถึงการใช้กฎหมายกบฏในยุโรป ที่แยกจากการนิยมสาธารณรัฐออกจากการกำหนดความผิดฐานเป็นกบฏ เช่นในประเทศสวีเดน การจับกุมประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการมีสถาบัน ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน โดยรัฐมองว่า การที่ประชาชนนิยมการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยและเป็นความใฝ่ฝันทางการเมืองมากกว่า ซึ่งสเตร็กฟัสชี้ว่า ถึงแม้รัฐจะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ได้ แต่แนวโน้มการเติบโตของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมก็ไม่ได้เติบโตขึ้นเท่าใดนัก ในทางตรงกันข้าม ความนิยมของสถาบันกษัตริย์เอง จะเสื่อมลง ก็ต่อเมื่อมีประเด็นเรื่องการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น
เขากล่าวว่า ข้อสังเกตที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยาวนาน ก็คือ การไม่ทำอะไรที่ผิดเกินไป ควรทำให้สถาบันโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเอื้อให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออก ดังจะเห็นตัวอย่างจากหลายประเทศในยุโรปที่ประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ ติดลำดับประเทศที่มีเสรีภาพสื่อสูงมากที่สุดในโลก เช่น ในประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์
ที่มา: จากสไลด์นำเสนอของเดวิด สเตร็กฟัสส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น